วิเคราะห์ 3 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของอนาคตซีเรีย
Article recordsdata
- Author, ลูอิส บาร์รูโช
- Feature, บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส
การล่มสลายลงของระบอบการปกครองที่โหดร้ายของตระกูลอัสซาดที่กินเวลาหลายทศวรรษ หลังจากปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม หรือ เอชทีเอส (Hayat Tahrir al-Sham-HTS) ทำให้เกิดคำถามต่อประเทศนี้ว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร
อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี ผู้นำกลุ่ม HTS ได้ให้คำมั่นว่าจะหลอมรวมซีเรียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเขาจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่
เกียร์ เพเดอร์เซน ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำซีเรีย ออกมาเน้นย้ำว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกกลุ่มในซีเรียต้องร่วมมือกัน
“โดยรวมแล้ว เราได้เห็นแถลงการณ์ที่สร้างความมั่นใจจาก HTS และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ” เพเดอร์เซน กล่าว แต่ก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ล้วน “เกี่ยวข้องกับการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย”
ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตของซีเรียจึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกกับบีบีซีว่า มีสรุปที่เป็นไปได้ต่อเส้นทางที่กำลังมุ่งไปของซีเรียแบ่งออกได้เป็น 3 ฉากทัศน์ดังนี้
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Cessation of เรื่องแนะนำ
1. ซีเรียที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือ กลุ่ม HTS อนุญาตให้องค์กรทางการเมืองภาคพลเรือนอื่น ๆ สามารถปกครองร่วมกันกับกลุ่ม HTS ได้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยประเทศควรประคับประคองหรือสนับสนุนสถานการณ์หลังสงคราม ให้เอื้อต่อการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองแห่งชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงวงจรการแก้แค้นและการแย่งชิงอำนาจกัน ดังที่เคยปรากฏให้เห็นในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ ๆ
จนถึงตอนนี้ โจลานีได้เรียกร้องให้เกิดความสามัคคีและความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มความเชื่อต่าง ๆ ในซีเรีย อย่างไรก็ตาม หลายกลุ่มในประเทศนี้ต่างก็มีวาระของตัวเองที่แตกต่างกัน
“ในความเป็นจริงแล้ว เรามาถึงจุดที่ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น และทาง HTS ได้วางตำแหน่งตัวเองที่เปิดกว้างให้กับความเป็นไปได้ต่าง ๆ รวมถึงต้องการเปลี่ยนผ่านภายในซีเรียโดยสันติ แต่สถานการณ์ในตอนนี้มีความผันผวนอย่างมาก” คริสโตเฟอร์ ฟิลลิปส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำ ม.ควีนแมรี ของสหราชอาณาจักร กล่าว
ทางตอนใต้ กองกำลังชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยยอมรับอำนาจตระกูลอัสซาด มีแนวโน้มว่าอาจไม่ทำตามแนวทางของรัฐบาลใหม่ในกรุงดามากัส
ส่วนภาคตะวันออก ยังเต็มไปด้วยกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลามหรือไอเอส (Islamic Declare-IS) ที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และยังคงเป็นภัยคุกคาม กระตุ้นให้เกิดการโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐอเมริกาอยู่เนือง ๆ
ขณะที่กลุ่มที่นำโดยชาวเคิร์ด ซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยสหรัฐฯ ก็ควบคุมพื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
กลุ่มเหล่านี้ยังสู้รบกับกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกีซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของซีเรียมานานหลายปีแล้ว และเพิ่งเกิดการสู้รบครั้งใหม่ในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อไม่นานนี้
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มต่อต้านและกลุ่มการเมืองจำนวนมากที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2011 นอกซีเรีย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะกลับไปยังประเทศและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหรือไม่
โจเซฟ ดาเฮอร์ ศาสตราจารย์จาก ม.โลซานน์ในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Syria After the Uprising (แปลเป็นไทยได้ว่า ซีเรียหลังการลุกฮือของประชาชน) บอกว่า โอกาสเกิดรัฐบาลที่เป็นเอกภาพนั้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่
“ในฉากทัศน์ที่ดีที่สุดคือ ต้องเกิดการเลือกตั้งที่เสรี มีรูปแบบแบ่งปันอำนาจร่วมกันและไม่รวมศูนย์อำนาจการปกครอง ซึ่งมันจะนำไปสู่พลังที่เป็นเอกภาพมากขึ้น แต่เราก็ต้องจับตาดูกันต่อไป” เขาบอก
ดาเฮอร์ รวมถึงนักวิชาการคนอื่น ๆ พบว่า ฉากทัศน์เช่นนั้นไม่น่าเป็นไปได้ โดยชี้ให้เห็นความย้อนแย้งของแถลงการณ์ต่อสาธารณะครั้งแรกของโจลานี
“โจลานีประกาศครั้งแรกว่า นายกรัฐมนตรีของอดีตระบอบการปกครองจะเข้ามากำกับดูแลการเปลี่ยนผ่าน[ทางการเมือง] หลังจากนั้นเขาได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกู้ชาติ (โมฮัมหมัด อัล-บาเชียร์) ซึ่งเป็นรัฐบาลในเมืองอิดลิบที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของ HTS”
อย่างไรก็ตาม ดาเฮอร์เชื่อว่า HTS จะพยายามดิ้นรนจัดการทุกอย่างทั้งประเทศด้วยตนเอง แม้ว่าจะมี “เจตจำนงที่ชัดเจนในการรวบอำนาจเข้าด้วยกัน” ก็ตาม
“ผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้น เพราะหากพวกเขาขยายอำนาจตนเองออกไปมาก มันก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการ” เขากล่าว
“ในตอนแรก ก็แค่จัดการในเมืองอิดลิบเท่านั้น แต่ตอนนี้กำลังเข้ามาจัดการเมืองอเลปโป ฮามา ฮอมส์ และกรุงดามากัส เมืองหลวง ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเกิดการแบ่งปันอำนาจร่วมกันในพื้นที่นี้”
2. HTS ควบคุมแบบเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
ขณะเดียวกัน มีความกลัวว่า HTS จะรวบอำนาจมาเป็นของตนเองด้วยวิธีเผด็จการ ในลักษณะเดียวกันกับระบอบการปกครองของอัสซาด
โจลานีได้สร้างฐานอำนาจในเมืองอิดลิบซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 4 ล้านคน ซึ่งหลายคนต้องพลัดถิ่นมาจากจังหวัดอื่น ๆ ของซีเรีย โดยรัฐบาลกู้ชาติ (National Salvation Govt) ทำหน้าที่บริหารงานด้านพลเรือน ขณะที่สภาศาสนาปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายชารีอะห์
โจลานีพยายามทำให้เห็นว่า HTS สามารถปกครองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพควบคู่ไปกับบริการประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขาควบคุมเมืองอิดลิบ ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มของเขาละเลยกลุ่มติดอาวุธที่เป็นคู่แข่งและปราบปรามผู้เห็นต่าง
นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดการโจมตีที่นำโดยกลุ่ม HTS เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็พบว่าเกิดการประท้วงปะทุขึ้นในเมืองอิดลิบขึ้น โดยทางกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงและนักเคลื่อนไหวชาวซีเรียกล่าวหาว่าทาง HTS ใช้อำนาจเผด็จการ
“วิธีที่ HTS ใช้ในการรวบอำนาจส่วนใหญ่มักมาจากการปราบปราม ถึงแม้ว่ามันจะรวมกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม (ในอิดลิบ) และให้บริการในด้านต่าง ๆ ก็ตาม แต่การปกครองของกลุ่มนี้ก็มีลักษณะที่เป็นการปราบปรามด้วยความรุนแรงไปพร้อม ๆ กับการคุมขังฝ่ายที่มีความคิดตรงข้ามทางการเมือง” ดาเฮอร์ กล่าว
เพื่อลบคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ทาง HTS ได้ดำเนินการปฏิรูปต่าง ๆ เช่น ยุบกองกำลังความมั่นคงที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดตั้งแผนกรับเรื่องร้องทุกข์และจัดการข้อร้องเรียนของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิจารณ์ก็ยังโต้แย้งว่า งานปฏิรูปเหล่านี้เป็นเพียงแค่ฉากหน้าเพื่อยุติการคัดค้านต่าง ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม HTS ยืนกรานว่า การรวมอำนาจในอิดลิบเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของซีเรียและการกำจัดระบอบอัสซาดออกไป ทว่า ดาเฮอร์โต้แย้งว่า HTS กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“มีความหวังเพียงเล็กน้อยในความจริงที่ว่า พวกเขาไม่มีบุคลากรและทรัพยากรทางทหารที่เพียงพอในการจัดการดินแดนเหล่านั้นทั้งหมด ด้วยการขยายอำนาจออกไปยังกรุงดามัสกัส” เขากล่าวโต้แย้ง
3. สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ
ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด คือ ซีเรียอาจตกอยู่ในความโกลาหล คล้าย ๆ กับผลพวงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อาหรับสปริงในประเทศอื่น ๆ
มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำของลิเบีย และ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำของอิรัก ถูกถอดถอนจากอำนาจโดยไม่มีผู้ที่มีความพร้อมเข้ามาแทนที่ ประกอบกับการแทรกแซงจากต่างประเทศก็มีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์หายนะถึง 2 ครั้ง
นักวิจารณ์กล่าวว่าสุญญากาศทางการเมืองที่ผู้ปกครองเผด็จการทิ้งไว้นั้น เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจ การแก้แค้น และการยึดอำนาจ รวมไปถึงการเกิดสงครามกลางเมือง
ในฉากทัศน์เช่นนี้ การแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ในซีเรีย อาจนำไปสู่ความรุนแรงในวงกว้าง ซึ่งไม่เพียงสร้างความไม่มั่นคงให้กับซีเรียเท่านั้น แต่ยังทำลายเสถียรภาพทั้งภูมิภาคด้วย
เฟราส คิลานี ผู้สื่อข่าวพิเศษของบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ รายงานจากภาคสนามว่า สุนทรพจน์ครั้งแรกของอัล-บาเชียร์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายคน และบอกเป็นนัยถึงทิศทางที่เป็นไปได้ของรัฐบาลใหม่
“สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีอยู่ 2 ธงเบื้องหลังเขา คือธงปฏิวัติและธงที่คล้ายกับตาลีบัน มันทำให้หลายคนตกใจ และมันยังชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลใหม่อาจทำตามรูปแบบของตาลีบัน โดยสร้างรัฐอิสลามที่ปกครองโดยกฎหมายชารีอะห์” ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ กล่าว
“นั่นก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ และเกิดคำถามใหม่เกี่ยวกับอนาคตของชนกลุ่มน้อยในประเทศ รวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมอื่น ๆ ” เขากล่าวเสริม
สมดุลอำนาจของต่างชาติ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลลัพธ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการกระทำของมหาอำนาจต่างประเทศ อย่างหลายทศวรรษที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีอัสซาดพึ่งพาการสนับสนุนจากอิหร่านและรัสเซีย ในขณะที่เดียวกัน ตุรกี ชาติตะวันตก และรัฐต่าง ๆ ในอ่าวอาหรับ ก็สนับสนุนกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อิสราเอลได้กำหนดเป้าหมายโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของซีเรีย และยอมรับว่ากองทัพของตนกำลังปฏิบัติการในดินแดนซีเรียนอกเหนือจากเขตกันชนปลอดทหารระหว่างซีเรียและที่ราบสูงโกลันซึ่งถูกยึดครองโดยอิสราเอล
อิสราเอลกล่าวว่า ได้ทำการโจมตีทางอากาศหลายร้อยครั้งในซีเรีย นับตั้งแต่อัสซาดหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อทำลาย “คลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ของซีเรีย”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ได้เตือนกลุ่มต่อต้านในซีเรียว่าอย่ายอมให้อิหร่านกลับมา “สถาปนา” ตัวเองในประเทศได้อีกครั้ง
สิ่งนี้ทำให้ตุรกีและประเทศในตะวันออกกลางอื่น ๆ กล่าวหาว่าอิสราเอลฉวยโอกาสจากการล่มสลายของอัสซาด
ฟิลลิปส์เตือนว่า การกระทำของอิสราเอลอาจ “ทำให้ซีเรียไม่มั่นคง โดยทำให้รัฐบาลอ่อนแอหรือทำให้กลุ่มหัวแข็งกล้าหาญ”
ทั้งฟิลลิปส์และดาเฮอร์เห็นพ้องต้องกันว่า ควรยกเลิกการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่อซีเรีย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมหาอำนาจต่างประเทศควรอำนวยความสะดวกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม[จากนานาชาติ]
“ตอนนี้ระบอบอัสซาดสิ้นสุดลงแล้ว ควรยกเลิกการมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อซีเรีย ผมคิดว่า สิ่งนี้สำคัญมากที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะรักษาระดับความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ดาเฮอร์กล่าว
ส่วนฟิลลิปส์กล่าวเสริมว่า เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอาจจะเสนอให้เป็นข้อแลกเปลี่ยนเชิงผลประโยชน์ เช่น การตรารัฐธรรมนูญใหม่ หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เป็นต้น”
ที่มา BBC.co.uk