ทำไมไอซ์แลนด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิง อาจไม่ใช่ ‘สวรรค์' สำหรับผู้หญิงบางคน

คำบรรยายภาพ, เนิร์สเซอรีหรือโรงเรียนเตรียมอนุบาลหลายแห่งในไอซ์แลนด์ช่วยให้เด็ก ๆ ปฏิเสธอคติทางเพศแบบดั้งเดิม

Article data

  • Author, โซเฟีย เบตติซา
  • Role, BBC 100 Girls
  • Reporting from รายงานจากเมืองเรคยาวิก ไอซ์แลนด์

ประเทศไอซ์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง โดยครองตำแหน่งอันดับหนึ่งในดัชนีช่องว่างทางเพศโลก (World Gender Hole Index) มาเป็นเวลา 15 ปี ด้วยเงื่อนไขการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับพ่อแม่ที่ดีมาก ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานเกือบ 90% มีงานทำ ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของประเทศเป็นผู้หญิง

BBC 100 Girls สำรวจสิ่งที่ประเทศนี้ทำได้อย่างถูกต้อง และดูว่าสิ่งต่าง ๆ ในไอซ์แลนด์ดีสำหรับผู้หญิงอย่างที่คนนอกรับรู้หรือไม่

ในช่วงเช้าของฤดูหนาวที่มีน้ำค้างแข็งในกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ หลายสิบคนโยนท่อนไม้หนัก ๆ ลงบนพื้นด้วยความมุ่งมั่นอย่างน่าเกรงขาม

“ฉัน แข็งแกร่ง!” พวกเธอตะโกนดังสุดกำลัง

เด็กหญิงเหล่านี้เรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอนุบาลแห่งหนึ่งจาก 17 แห่งในไอซ์แลนด์ที่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบฮยัลลี (Hjalli formula) ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาอุปนิสัยบุคลิกภาพของเด็กโดยปฏิเสธการแบ่งแยกตามเพศแบบเดิม

“เด็กอายุสองขวบมีความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่มีความหมายถึงการเป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงแล้ว” มาร์เกร็ต พาลา โอลาฟสไตน์ ผู้ก่อตั้งวิธีการการเรียนรู้ประเภทนี้กล่าว “[การแบ่งแยกตามเพศ] มันจะจำกัดพวกเขาตลอดชีวิต”

ในโรงเรียนวิถีฮยัลลี เด็กชายและเด็กหญิงจะถูกแยกจากกันเกือบตลอดทั้งวัน และได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่โดยปกติแล้วเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม

คำบรรยายภาพ, โรงเรียนวิถีฮยัลลี มีการเรียนการสอนในโรงเรียนเตรียมอนุบาลของไอซ์แลนด์ 17 แห่ง

เด็กผู้หญิงจะถูกสอนให้ไม่รู้สึกอับอายหรือต้องขอโทษในสิ่งที่ทำ (unapologetic) และบ้าระห่ำ และนอกจากการมีกิจกรรมให้ทุ่มท่อนไม้ บางครั้งพวกเธอก็มีกิจกรรมเดินเท้าเปล่าบนพื้นหิมะ

ส่วนเด็กผู้ชาย กิจกรรมจะมีอย่างเช่น การหวีผมให้กันและกัน การนวดให้กัน และกล่าวคำชมให้กัน

“เด็กผู้ชายมักจะมีนิสัยชอบแยกตัวและเป็นอิสระ พวกเราฝึกให้พวกเขามีอ่อนโยน มีความห่วงใย รู้จักช่วยเหลือและรับฟังผู้อื่น” มาร์เกร็ต พาลา โอลาฟสไตน์ กล่าว

คำบรรยายภาพ, มาร์เกร็ต พาลา โอลาฟสไตน์ เชื่อว่าการเรียนรู้วิธีนี้มีผลต่อความพยายามในการลดช่องว่างระหว่างเพศ

การเรียนรู้วิถีฮยัลลีกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในไอซ์แลนด์ ประเทศซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ

จากการประเมินของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Financial Discussion board) ไอซ์แลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศได้กว่า 90% ทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจ

ในปี 2018 ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดให้นายจ้างต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาจ่ายค่าจ้างให้ผู้ชายและผู้หญิงเท่าเทียมกันสำหรับงานที่เทียบเท่ากัน ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อค่าปรับจำนวนมาก

จากข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่าเกือบ 90% ของผู้หญิงวัยทำงานในไอซ์แลนด์ต่างมีงานทำ ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราการจ้างงานในยุโรปที่มีผู้หญิงน้อยกว่า 68% อยู่ในตลาดการทำงานและเมื่อปี 2021 สถิติจากธนาคารโลกระบุว่าอัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานทั่วโลกของผู้หญิงนั้นมากกว่า 50% เล็กน้อย ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 80%

คำบรรยายภาพ, แคตรินและฟานาร์ สามีของเธอ ใช้วันลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรร่วมกันเพื่อดูแลลูก ๆ 5 คน

หลายคนมองว่านโยบายการดูแลเด็กของไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในเหตุผลของตัวเลขสถิติดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครองแต่ละคนจะได้รับสิทธิวันลา 6 เดือนโดยได้รับเงินเดือน 80% และยังมีวันหยุดเพิ่มเติมอีก 6 สัปดาห์สำหรับใช้ร่วมกัน

“ฉันไม่เคยรู้สึกกดดันในการต้องไม่มีลูก เพราะสาเหตุจากอาชีพการงานของฉัน” แคตริน ทอร์ฮอลสดอตตีร์ ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคสัตว์น้ำในบริษัทฟาร์มปลาแซลมอนแห่งหนึ่ง กล่าว โดยแคตรินมีลูก 5 คน และทุกคนอยู่ในวัยน้อยกว่า 10 ขวบ เธอแบ่งการใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเท่า ๆ กันกับฟานาร์ สามีของเธอ

‘ไม่ใช่สวรรค์ของเฟมินิสต์'

แต่มีผู้หญิงอยู่กลุ่มหนึ่งที่โกรธเคืองรัฐบาลไอซ์แลนด์ และได้ฟ้องร้องรัฐบาลต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป

ผู้ร้องทุกข์แต่ละคนเผชิญกับเรื่องราวเหมือน ๆ กัน คือ พวกเธอต่างไปแจ้งตำรวจว่าถูกข่มขืนหรือทำร้ายร่างกาย ทว่าคดีต่าง ๆ เหล่านี้กลับตกไป ก่อนที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาล

พวกเธอโต้แย้งว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศกำลังทำให้ผู้หญิงสิ้นหวังอย่างเป็นระบบ

คำบรรยายภาพ, ฮุลดา ฮรุนด์ ทำงานกับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ที่ดีกว่าเดิมให้กับลูกสาวของเธอ โดยภาพนี้เธอถ่ายรูปร่วมกับลูกสาวด้วย

สถิติขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงไอซ์แลนด์ราว 1 ใน 4 เคยถูกข่มขืนหรือเผชิญกับความพยายามข่มขืน และผู้หญิงราว 40% เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีผู้หญิงที่เผชิญเหตุเหล่านี้อยู่ที่ 30%

ผู้หญิงเหล่านี้กล่าวว่า มีผู้ชายจำนวนน้อยเกินไปถูกนำตัวเข้ากระบวนการพิสูจน์ เพราะตำรวจไอซ์แลนด์ล้มเหลวในการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการข่มขืนและทำร้ายร่างกายอย่างเหมาะสม โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากขาดเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล

“ในหลายกรณี พยานคนสำคัญไม่ได้ถูกสอบถาม รายงานจากแพทย์และนักจิตวิทยาถูกเมิน… แม้กระทั่งคำรับสารภาพของคนที่ลงมือข่มขืนเองกลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง” กุดรุน จอนสดอตติร์ จากองค์กรพัฒนาเอกชนสติกามอตต์ (Stigamot) ซึ่งให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดี กล่าว

คำบรรยายภาพ, การไว้อาลัยเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์

“มันยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งที่ข้อกล่าวหาที่ผู้หญิง [ที่เป็นเหยื่อ] เหล่านั้นเผยออกมา ไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างจริงจัง เราจะไม่ทนต่อเรื่องแบบนี้”

สถิติจากรัฐบาลชี้ว่า กรณีต่าง ๆ จำนวน 80% ที่ผู้หญิงรายงานเกี่ยวกับเหตุรุนแรงทางเพศ เป็นกรณีที่ไม่มูลเหตุ

“พวกเราได้รับการนำเสนอว่าเป็นสวรรค์สำหรับผู้หญิง ทั้งที่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น” ฮุลดา ฮรุนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Ofgar องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีที่สนับสนุนผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ กล่าว

“มันคือการสร้างภาพลักษณ์เพื่อการประชาสัมพันธ์ มันคือการบิดเบือนทางการเมือง”

มาเรีย หนึ่งในผู้หญิงที่ฟ้องร้องต่อรัฐบาลไอซ์แลนด์ กล่าวว่า เธอให้พยานหลักฐานและพยานบุคคลแก่ตำรวจ และให้ภาพถ่ายร่องรอยการบาดเจ็บที่มีผู้ชายทำร้าย รวมทั้งข้อความที่ชายผู้นั้นให้การยอมรับว่าได้กระทำการละเมิดต่อเธอ

หัวหน้าอัยการกล่าวว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี แต่ตำรวจใช้เวลานานเกินไปในการสอบสวนจนทำให้คดีหมดอายุความ

“เป็นเวลาถึง 3 ปี ที่ฉันไม่สามารถเดินออกจากบ้านได้” มาเรีย กล่าว “ฉันไม่เคยไปไหนมาไหนตอนกลางคืนคนเดียว ทั้ง ๆ ที่นี่เป็นประเทศเล็ก ๆ และฉันมักต้องระวังหลังตัวเองอยู่ตลอด”

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไอซ์แลนด์ ได้กล่าวขอโทษต่อความล้มเหลวของตำรวจในกรณีดังกล่าว

ขณะที่ผู้หญิงที่ยื่นฟ้องได้วิจารณ์ทั้งศาลและตำรวจ

ในปี 2019 ได้เกิดกระแสความโกรธเคืองในไอซ์แลนด์เมื่อเกิดกรณีชายคนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้ข่มขืนผู้หญิงได้รับการยกฟ้อง เนื่องจากผู้พิพากษามองว่าเขาคงไม่สามารถถอดกางเกงหนังทรงสูงรัดรูปของผู้หญิงรายนั้นได้ ผู้พิพากษาคนเดียวกันนี้ยังตัดสินอีกคดีหนึ่ง ซึ่งผู้หญิงผู้เสียหายเกือบจะเสียชีวิตจากการเสียเลือดจากการได้รับบาดเจ็บที่ช่องคลอด หลังถูกกระทำการร่วมเพศในลักษณะที่รุนแรง

ฮุลดา ฮรุนด์ ชี้ว่ากรณีเหล่านี้ทำให้ผู้ชายบางคนคิดว่า พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษจากการกระทำความรุนแรงทางเพศได้

“พวกผู้ชายรู้ว่าพวกเขาจะไม่โดนอะไรจากการกระทำของพวกเขา” เธอกล่าว “แม้ว่าคุณจะถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีข่มขืน โทษของคุณก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษา และคุณอาจจะไม่ต้องก้าวเท้าเข้าไปในคุกเลย”

“มันเป็นเงามืดในสังคมของเรา” กุดรุน จอนสดอตติร์ จากองค์กรพัฒนาเอกชนสติกามอตต์

‘ไม่มากพอ'

คำบรรยายภาพ, ตราบใดที่ยังมีความรุนแรงทางเพศ เราก็ยังทำได้ไม่มากพอ – นางฮัลลา โทมัสโดตทีร์ ประธานาธิบดีไอซ์แลนด์

รัฐบาลไอซ์แลนด์บอกกับบีบีซีว่า รัฐบาลสนับสนุนเป้าหมายในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

“ไอซ์แลนด์เป็นผู้นำทางด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศมาอย่างยาวนาน แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อพัฒนา” โฆษกรัฐบาลกล่าว

ทว่านางฮัลลา โทมัสโดตทีร์ ประธานาธิบดีไอซ์แลนด์ กล่าวว่ารัฐบาลยังทำไม่มากพอ

“ฉันไม่คิดว่ามีรัฐบาลไหนทำได้มากพอ เรามีความท้าทายในระบบกระบวนการยุติธรรมและในเชิงวัฒนธรรมโดยรวม” เธอกล่าว “ตราบใดที่ยังมีความรุนแรงทางเพศ เราก็ยังทำได้ไม่มากพอ มันง่ายแค่นั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม เธอยังคงเชื่อว่าไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นผู้หญิงและหวังว่าประเทศจะสามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030 ขณะที่ทางด้านสหประชาชาติได้บอกกับบีบีซีว่า ไอซ์แลนด์กำลังก้าวไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จ

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, นางฮัลลา โทมัสโดตทีร์ ประธานาธิบดีไอซ์แลนด์ หวังว่าไอซ์แลนด์จะปิดช่องว่างระหว่างเพศได้ภายในปี 2030

ถึงแม้ว่าบทบาทของฮุลดา ฮรุนด์ จะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงทางเพศ แต่เธอก็ยังมองในแง่บวกว่ามีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมไอซ์แลนด์

“ลูกสาวของฉันได้เรียนเรื่องเพศศึกษาตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียน พวกเธอรู้ว่าขอบเขตของเรื่องนี้คืออะไร และรู้เรื่องความยินยอม (consent) ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ฉันปรารถนาจะรู้ว่ามันคืออะไร ตั้งแต่วัยที่เท่า ๆ เด็ก ๆ ตอนนี้”

และอาจเป็นไปได้ว่าเด็กชายและเด็กหญิงรุ่นใหม่ ๆ ที่ผ่านการเรียนในวิถีฮยัลลี จะเข้าใจว่าความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน