เปิดเอกสาร “ทางแพร่งความสัมพันธ์เมียนมา-ไทย” ก่อน ทักษิณ นั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน 2568

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Photos

นักวิจัยเรื่องเมียนมาชี้วิกฤตเมียนมาส่งผลกระทบต่อไทยใน 3 มิติหลัก ท่ามกลางการจับตามองว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร หลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนในปีหน้า

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน

ผู้นำมาเลเซียประกาศข่าวนี้ในระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ผู้เป็นบุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ เมื่อ 16 ธ.ค.

เว็บไซต์ฟรีมาเลเซียทูเดย์ (freemalaysiatoday) รายงานว่า นายอันวาร์เปิดเผยในการแถลงข่าวร่วมกับ น.ส.แพทองธาร เรื่องการแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว โดยมีทีมงานมาจากสมาชิกอาเซียนหลายชาติให้การสนับสนุน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

“ผมตกลงแต่งตั้ง (นายทักษิณ) เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในฐานะประธานอาเซียน ขอบคุณที่ยอมรับการแต่งตั้งนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษแบบนี้” นายอันวาร์กล่าว

Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ

Pause of เรื่องแนะนำ

ต่อมา น.ส.แพทองธาร ออกมายืนยันข่าวนี้ทันทีที่เดินทางกลับถึงไทย โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายอันวาร์ให้เกียรตินายทักษิณเป็นที่ปรึกษาของประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เพราะมีกลุ่มผู้นำทั้งอดีตและปัจจุบันที่สนิทอยู่ และพูดคุยปรึกษากันระหว่างประเทศ รวมถึงเรื่องภายในประเทศตัวเอง ถือเป็นการช่วยทุกประเทศในอาเซียนให้เกิดการรวมพลังสมอง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน

ผู้นำรัฐบาลไทยบอกด้วยว่า นายทักษิณเคยเป็นนายกฯ มา 6 ปี และสนิทกับนายอันวาร์ตั้งแต่ตอนนั้น มีการพูดคุยอัพเดตต่อเนื่องเรื่องเศรษฐกิจมาโดยตลอด และมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านของไทยก็ช่วยสนับสนุนกันได้

ที่มาของภาพ, Thai Gov

คำบรรยายภาพ, การแถลงข่าวร่วมระหว่าง 2 นายกฯ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 16 ธ.ค.

ย้อนบทบาท ทักษิณ ก่อนนั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน

ในปี 2568 มาเลเซียจะหมุนเวียนมารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากลาว หนึ่งในวาระสำคัญที่ถูกจับตามอง หนีไม่พ้นการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงในเมียนมาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ฉันทามติดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษเมื่อ เม.ย. 2564 โดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา เข้าร่วมประชุมด้วย ขณะนั้นมีบรูไนเป็นประธานอาเซียน

เมื่อย้อนดูบทบาทของนายทักษิณหลังได้รับการพักโทษตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 จะพบว่าเขาพยายามเข้าไปมีบทบาทในทางลับต่อการคลี่คลายวิกฤตภายในเมียนมา

บีบีซี แผนกภาษาพม่า และวีโอเอ ภาคภาษาพม่า รายงานว่า นายทักษิณได้พบปะผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาหลายกลุ่มในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. โดยมีทั้งฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (The Nationwide Solidarity Government – NUG) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา และผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nationwide Union – KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni Nationwide Innovative Occasion – KNPP) และองค์การแห่งชาติคะฉิ่น (Kachin Nationwide Organization-KNO)

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Photos

คำบรรยายภาพ, ทักษิณ ชินวัตร กับ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ร่วมการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-เมียนมา ว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2544 ในช่วงที่ทั้งคู่เป็นนายกฯ

ไทยเปิดเวทีถก 6 ชาติแก้ปัญหาเมียนมา 19-20 ธ.ค.

ในวันที่ 19-20 ธ.ค. ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องเมียนมาที่กรุงเทพฯ โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่เพื่อนบ้านของเมียนมาทุกประเทศเข้าร่วมพร้อมกัน ได้แก่ จีน ลาว อินเดีย บังกลาเทศ ไทย และเมียนมา

สำหรับประเด็นหลักที่จะหารือกันในวันแรกคือ การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และอาชญากรรมข้ามแดนโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและปัญหาออนไลน์สแกม

ส่วนในวันที่สอง จะเป็นการประชุมที่แยกออกจากกัน จะเป็นการหารือในกรอบอาเซียน ทั้งนี้ลาวในฐานะประธานอาเซียนได้ส่งหนังสือเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุม โดยมี 6 ประเทศตอบรับมาแล้ว ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาว ไทย และเวียดนาม ซึ่งนายนิกรเดชระบุว่า มีวาระหารือสถานการณ์ในเมียนมา และการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนให้มีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ต่อยอดความพยายามที่ลาวทำมาทั้งปี และเพื่อให้การส่งมอบประธานอาเซียนจากลาวสู่มาเลเซียอย่างไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น

ทางแพร่งความสัมพันธ์เมียนมา-ไทย

วิกฤตของเมียนมาซี่งถูกจุดชนวนโดยการรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 ได้ลุกลามเข้าสู่ความท้าทายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของอาเซียน ส่งผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง นักวิจัยจากศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงมีข้อเสนอให้ไทยเข้าไปมีบทบาทในการคลี่คลายปัญหา ทั้งในฐานะเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบ และผู้ไกล่เกลี่ยที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูสันติภาพและการปรองดอง

ในระหว่างการนำเสนอเอกสารในหัวข้อ “ทางแพร่งความสัมพันธ์เมียนมากับไทย ข้อเสนอแนะนโยบายเชิงยุทธศาสตร์” (Myanmar and Thailand Family on the Crossroads: A Strategic Policy Suggestion) เมื่อ 16 ธ.ค. นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กรรมการศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพภูมิทัศน์การเมืองของเมียนมาและประเมินกำลังของ 2 ฝ่ายคือ กองกำลังแห่งชาติเมียนมา และฝ่ายต่อต้าน

กองทัพเมียนมา หรือทัดมาดอว์ (Tatmadaw) ที่เคยเชื่อว่ามีกำลังพล 300,000-400,000 นาย ปัจจุบันตัวเลขหลายสำนักตรงกันว่าเหลือ 150,000 นาย ในจำนวนนี้อยู่แนวหน้าในสนามรบเพียงครึ่งเดียว ขณะเดียวกันกองทัพยังต้องสูญเสียกำลังรบจากการมีทหารแปรพักตร์ และไม่สามารถเกณฑ์ทหารได้ เพราะประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานไม่อยากเข้าสู่สงคราม จึงหนีออกนอกประเทศ, ทัดมาดอว์ก็ไม่ได้มีเอกภาพ เพราะ “การรบที่ทำให้สูญเสียและเพลี่ยงพล้ำ ทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร และประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (The Disclose Administration Council – SAC) ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศได้”, การสูญเสียการควบคุมพื้นที่ไป 20-60% ของพื้นที่สู้รบทั้งหมดให้กับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations – EAOs) ทำให้การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐไปไม่ถึงประชาชน

ฝ่ายต่อต้านรัฐ ซึ่งมีอย่างน้อย 13 กลุ่ม นำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังป้องกันประชาชน (The Of us's Defence Forces – PDF) ได้รับการสนับสนุนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการประสานงานและข้อจำกัดด้านทรัพยากร อีกทั้งแต่ละกลุ่มยังมีเป้าหมายแตกต่างกันตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสถาปนาระบบสหพันธรัฐไปจนถึงการปกครองตนเอง

“ถึงแม้สถานการณ์ทัดมาดอว์เพลี่ยงพล้ำ แต่ฝ่ายต่อต้านก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ มีกำลังพลราว 70,000 ต่อ 70,000 เท่ากัน คอมมานด์ (การสั่งการ/การบังคับบัญชา) ไม่ชัด เป้าหมายไม่ชัด จึงไม่สามารถโค่นล้มระบบทัดมาดอว์ได้ ดังนั้น SAC ยังไงก็ยังปลอดภัย ยังคงรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เอาไว้ได้” นายสุภลักษณ์กล่าว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Photos

คำบรรยายภาพ, มิน อ่อง หล่าย ขึ้นเป็นผู้นำประเทศเมียนมาในปี 2564 หลังจากเขารัฐประหารขับไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งออกไป

ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปรากฏว่ามหาอำนาจระดับโลกและระดับภูมิภาคซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และจีนเข้ามามีส่วนร่วม จากการแข่งขันทางผลประโยชน์ จึงเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ที่ผันผวนอยู่แล้ว

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาผลกระทบต่อไทย นักวิจัยรายนี้ไล่เรียงให้เห็นข้อมูลใน 3 มิติ ดังนี้

มิติความมั่นคง: วิกฤตการณ์ในเมียนมาทำให้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของไทยทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ติดกับเมียนมา ความไม่มั่นคงดังกล่าวได้ก่อให้เกิดรากฐานอันอุดมสมบูรณ์สำหรับเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งนำไปสู่การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการเกิดขึ้นของเมืองหลอกลวงที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากร (สแกมเมอร์) โดยผู้ถูกค้ามนุษย์ถูกบังคับให้ทำกิจกรรมฉ้อโกง โดยมุ่งเป้าไปที่เหยื่อทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย

มิติด้านเศรษฐกิจ: การล่มสลายทางเศรษฐกิจของเมียนมาหลังรัฐประหารปี 2564 ทำให้เกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ต่อไทย ในด้านการค้า จุดตรวจชายแดนที่สำคัญ เช่น แม่สอด-เมียวดี มีการดำเนินกิจกรรมลดลงถึง 46% มูลค่าการค้าที่เคยสูงถึง 106,740 ล้านบาทในปี 2564 ลดเหลือ 60,603 ล้านบาทในปี 2567, กลุ่มติดอาวุธได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการคุ้มครองการขนส่งสินค้า บางพื้นที่อาจเจอ 20-30 ด่าน แต่ละด่านเสียค่าใช้จ่ายราว 1,000 บาท เหล่านี้ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงขึ้น 200-300% ภาคธุรกิจต้องหันไปใช้เส้นทางเดินเรือที่มีราคาแพงกว่าเป็นทางเลือก นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานครั้งใหญ่ มีชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบเข้ามาในไทยราว 4-5 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรเมียนมาอยู่ในไทย

มิติด้านมนุษยธรรม: วิกฤตการณ์ในเมียนมาก่อให้เกิดความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่เร่งด่วนที่สุดครั้งหนึ่งในอาเซียน เมื่อมีผู้พลัดถิ่นกว่า 1.18 ล้านคนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยด้วย โดยมีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนแล้วราว 90,000 คน อาศัยอยู่ใน 9 ค่ายพักแรมตามแนวชายแดนไทยใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี อีกทั้งยังมีชาวเมียนมาที่ไม่มีเอกสารมากกว่า 1.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในไทย ปัจจุบันผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับความแออัดยัดเยียด และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการบริการขั้นพื้นฐานอย่างจำกัด

ข้อเสนอแนะถึงรัฐไทย

ผู้ศึกษาวิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อการตอบสนองเชิงกลยุทธ์ของไทยต่อวิกฤตเมียนมา โดยเน้นบทบาท 2 ประการในฐานะเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบ และผู้ไกล่เกลี่ยที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูสันติภาพและการปรองดอง

1. นโยบายและมาตรการทางการทูต

  • มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และมีเป้าหมาย: ส่งเสริมการเจรจากับ SAC ในขณะที่มีส่วนร่วมกับ NUG, EAO และภาคประชาสังคมของ
  • เสริมสร้างบทบาทของอาเซียน: ให้การสนับสนุนผู้แทนพิเศษอาเซียน (ASEAN Special Envoy) เพื่อประสานงานการตอบสนองทางการทูตและมนุษยธรรม โดยเสนอให้มีผู้แทนพิเศษประจำ มีวาระ 3 ปี “ต้องคำนึงว่าปัญหาเมียนมามีความซับซ้อน ควรเอาคนที่เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตาม รมว.ต่างประเทศ”
  • ใช้ประโยชน์จากมหาอำนาจ: ร่วมมือกับจีนเพื่อใช้อิทธิพลของจีนที่มีต่อสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ในขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรภายนอกที่สำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มของไทยในการเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา

2. การรักษาความมั่นคงและการจัดการชายแดน

  • ปรับปรุงการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน: ปรับใช้โดรนและการเฝ้าระวังที่ขับเคลื่อนด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์) และระบบไบโอเมตริกซ์
  • การปฏิบัติการร่วม: ร่วมมือกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และ EAO ของเมียนมา เพื่อจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน

3. ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

  • เส้นทางการค้าที่ปลอดภัย: สร้างเขตปลอดภัยตามเส้นทางการค้าที่สำคัญ เช่น แม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง
  • สนับสนุนแรงงานข้ามชาติ: ผ่อนคลายระเบียบบางประการและลดความซับซ้อนของกระบวนการขอใบอนุญาตทำงาน และฝึกอบรมทักษะสำหรับผู้อพยพชาวเมียนมา

4. การตอบสนองด้านมนุษยธรรม

  • ความช่วยเหลือตามชุมชน: ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยตรงไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โดยไม่ใช่ลักษณะการสงเคราะห์
  • บูรณาการผู้ลี้ภัย: จัดให้มีเส้นทางทางกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัยในการเข้าถึงการจ้างงานและการศึกษา ลดการพึ่งพาค่ายกักกัน

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สุภลักษณ์ มีข้อเสนอต่อรัฐไทยเมื่อ 16 ธ.ค. หลังศึกษาวิจัยวิกฤตเมียนมาจากเอกสารและจัดโฟกัสกรุ๊ปผู้เกี่ยวข้อง

พล.อ.นิพัทธ์ วิพากษ์ “สงครามกลายพันธุ์”

ข้อความในเอกสารทางแพร่งความสัมพันธ์เมียนมากับไทยฯ ที่ระบุตอนหนึ่งว่า “วิกฤตในเมียนมาเป็นภัยคุกคามประเทศไทย” เป็นสิ่งที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่า “ตรงประเด็น”

เขายังวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของอาเซียนว่า “รู้สึกร้อนหนาวกับเราน้อยมาก” จึงคิดว่าไทยควรทำงานในส่วนของเราดีกว่า แทนที่จะพยายามเอาหลังพิงอาเซียน

นายพลทหารรายนี้ออกตัวว่าให้ความเห็นในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย โดยอธิบายว่า สถานการณ์สู้รบในเมียนมาคือ “สงครามกลางเมืองที่ยาวที่สุดในโลก” โดยมีการ “กลายพันธุ์” จากเดิมต่อสู้เพื่อชนเผ่าตัวเอง กลายเป็น “สงครามเพื่อผลประโยชน์” เป็นการทำมาหากินเป็นหลัก ใครจะได้คุมตรงไหน พื้นที่ไหนอย่างไร และการตัดสินใจจะมาจากคน ๆ เดียวเท่านั้นคือผู้นำสูงสุด ดังนั้นถ้าสื่อสารไปไม่ถึง ลูกน้องไม่กล้าบอก ลูกน้องไม่ถูกกัน ลูกน้องกันกันเอง ข่าวจะไปไม่ถึงข้างบน การสื่อสารล้มเหลว

พล.อ.นิพัทธ์ ยังเปรียบเปรยทหารไทยที่อยู่ตามแนวชายแดนเป็น “นักการทูตต้นทุนต่ำ” ซึ่งรู้จักกันหมดกับทหารเพื่อนบ้าน และสามารถใช้ประโยชน์จากคนเหล่านี้ได้

ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.นิพัทธ์ เล่าว่า มีตัวแทนองค์กรต่าง ๆ มาพูดคุยเพื่อหาทางช่วยเหลือเมียนมา โดยมีทั้งที่มาจากประเทศญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์, ผู้นำกระเหรี่ยง โดยผู้นำกระเหรี่ยงบอกว่าอยากเห็นไทยมีบทบาทตรงนี้ช่วยหน่อย วันนี้มาล้าเต็มที่ อยากมีที่ให้ลูกหลานอยู่กัน ตนจึงเสนอให้ตั้ง “เมียวดี-แม่สอดโมเดล” กำหนดให้ฝั่งเมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทดลองทำเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ 15 วัน ต้องสื่อสารไปยัง SAC ไม่มาทิ้งระเบิด ปรากฏว่าไอเดียนี้เป็นที่ถูกใจ

เมียนมาพร้อมจัดการเลือกตั้ง “เมื่อพร้อม”

พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า มีเอ็นจีโอเมียนมามาจัดสัมมนาที่ กทม. เอาทุกฝ่ายมานั่งรวมกัน 6 คน ซึ่งเขาบอกว่ามาเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งในเมียนมา โดยบอกว่า “ได้รับคำสั่งมาจาก SAC จะจัดการเลือกตั้งเมื่อพร้อม”

ด้าน ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งในเมียนมาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นความต้องการของจีน ภายหลังมีการสู้รบกันมา 3-4 ปี ต่างฝ่ายต่างล้า เบื่อ ไม่รู้จะรบกันไปทำไม

“การเลือกตั้งมีแน่นอน และจีนให้เงินมาช่วย จีนเขาหนุนแรงเพราะเขารำคาญ จีนเป็นประเภทรำคาญแล้วทำ แต่ไทยรำคาญแล้วได้แต่บ่นในวงเหล้า คนที่อยู่หน้างานไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบาย จึงอยากเน้นว่าจะเชื่อมคนในส่วนภูมิภาค คนระดับกลาง ๆ ไปถึงคนระดับสูงได้อย่างไร”

อาจารย์ลลิตาระบุว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาให้ลงทะเบียนและรับรอง forty eight พรรค ซึ่งไม่มีพรรคหลัก จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่นอน ซึ่งจะเป็น “การเลือกตั้งที่คนภายในพอรับได้ หรือผู้ปกครองพื้นที่เห็นว่าให้มีการเลือกตั้งได้” ส่วนตัวคิดว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้มีแผน 2 แผน 3 เหมือน พลเอกอาวุโส เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ซึ่งมีโรดแมปสู่ประชาธิปไตยตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้

“ตอนนี้การเลือกตั้งเหมือนเป็นการแก้ปัญหาแบบขอไปที เพื่อหาทางลงให้ มิน อ่อง หล่าย เท่านั้น จะออกหัวหรือก้อย เดาไม่ถูก เลือกแล้วจะสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดี หรือเป็นอะไร ไม่มีใครรู้ แต่คงมองการเปลี่ยนผ่านในแบบที่เขาควบคุมได้ ทำให้อุณภูมิการเมืองลดลงนิดหนึ่ง” ผศ.ดร.ลติตา กล่าวและว่า ชนกลุ่มน้อยมองการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเจรจาของ SAC ถ้ามีเลือกตั้งแล้วยังสู้รบต่อไป ก็จะกลายเป็นพวกไม่ต้องการเห็นสันติสุขเกิดขึ้นในประเทศ