รู้จัก “โนโรไวรัส” เชื้อไวรัสตัวเดิมที่มักระบาดในฤดูหนาว
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าในปี 2567 สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ธ.ค. 2567 พบการระบาด 85 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในโรงเรียน จำนวน 12 เหตุการณ์ โดยมีผู้ป่วย 991 ราย
ขณะที่กรมอนามัย สธ. เตือนถึงการเผยแพร่ข่าวปลอมว่าเกิดการระบาดของเชื้อโนโรไวรัสที่โรงเรียนใน จ.ระยอง โดยมีผู้ป่วยนับพันคนว่า ไม่เป็นความจริง แต่อาการท้องเสียของเด็กนักเรียนแบบกลุ่ม เกิดจากเชื้ออีโคไล และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย เป็นส่วนใหญ่
รู้จักโนโรไวรัส
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อได้ง่ายไม่ว่าจะมาจากการสัมผัสผ่านอาหารและน้ำดื่ม การติดต่อผ่านอากาศด้วยการหายใจรับเชื้อเข้าไป หรือการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อโรค โดยเฉพาะในสภาพอากาศเย็น ใช้เวลาไม่นานก็แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว อีกทั้งเชื้อยังมีความทนต่อสิ่งแวดล้อมสูง ไม่ว่าความร้อน หรือน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ รวมถึงแอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
โนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-forty eight ชั่วโมง หลังการรับเชื้อ
Skip เรื่องแนะนำ and proceed discovering outเรื่องแนะนำ
Discontinuance of เรื่องแนะนำ
ปัจจุบันยังไม่มีทั้งวัคซีนป้องกัน ไม่มียาต้านไวรัสตัวนี้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องรักษาตามอาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ไม่ใช่ไวรัสใหม่ รู้จักกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว” โดยจะระบาดมากในหน้าหนาวของทุกปี อุณหภูมิยิ่งลดต่ำมากเท่าไหร่ก็จะมีโอกาสระบาดมากเท่านั้น และจะระบาดเป็นกลุ่มก้อน ทำให้ดูคล้ายอาหารเป็นพิษ เป็นไวรัสไม่มีความหลากหลายในพันธุกรรมอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นแล้วเป็นได้อีก ถึงแม้จะเป็นปีที่แล้ว ปีนี้ก็เป็นได้อีก
อาการเป็นอย่างไร
ไวรัสนี้พบได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อน จะมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
- ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีไข้ต่ำ
- อ่อนเพลีย
ทว่า อาการจะรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีภาวะขาดน้ำ
การตรวจวินิจฉัยโรค ทำได้ด้วยการเก็บตัวอย่างอุจจาระไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะรักษาตามอาการ กรณีผู้ป่วยมีภูมิต้านทานที่ดี อาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 3-4 วัน แต่กรณีผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ/ร่างกายอ่อนแอมาก ๆ อาการอาจรุนแรง ถ่ายตลอดเวลา ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันภาวะช็อก ความดันตก และอาจเสียชีวิตได้
ไทยพบการระบาดมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มใด
ในส่วนของไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อออนไลน์ว่าเกิดการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ที่ จ.ระยอง นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
กรมอนามัยระบุว่า กรณีที่ จ.ระยอง เป็นเหตุการณ์ เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2567 เป็นอาการท้องเสียของเด็กนักเรียนซึ่งเกิดจากเชื้อ อีโคไล (E.coli) และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 1,436 ราย โดยพบการติดเชื้อโนโรไวรัส จำนวน 2 ราย เท่านั้น และปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
“กรณีพบผู้ป่วย ยังไม่พบอาการรุนแรง และเสียชีวิต ดังนั้น การที่สื่อออนไลน์ นำเพียงจำนวนตัวเลขการพบอาการอุจจาระร่วงในนักเรียนมาเผยแพร่ และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจผิดและหวาดกลัว” แถลงจากกรมอนามัยระบุ
ก่อนหน้านี้ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ถึงการสอบสวนโรคอุจจาระร่วงระบาดในนักเรียน 2 โรงเรียน อ.แกลง จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. รวมจำนวนมากกว่าพันคน ข้อมูลจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง พบผู้ป่วยจากทั้ง 2 โรงเรียนรวมทั้งหมด 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย จากทั้งหมด 4,559 คน ครูและบุคลากร 18 ราย และผลการสอบสวนโรคชี้ให้เห็นว่า น้ำและน้ำแข็งที่บริโภคในโรงเรียนในสัปดาห์กีฬาสีเป็นปัจจัยเสี่ยงของการป่วย
จากการสอบสวนโรคพบว่า โรงโม่น้ำแข็งเป็นจุดที่พบความเสี่ยงที่ไม่ได้มาตรฐาน คือ ถังใส่น้ำแข็งมีการแช่วัสดุอื่นในถังด้วย รถที่ขนน้ำแข็งใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นกระบะเพื่อวางน้ำแข็ง และจะโม่เมื่อมีผู้มาซื้อโดยบรรจุใส่กระสอบอาหารสัตว์ที่ล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงของกรมควบคุมโรค ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) โดยระบุว่าสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 – 2567 พบผู้ติดเชื้อ Norovirus GI, GII จำนวน 729 ราย เป็นเพศชาย 422 ราย เพศหญิง 307 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
ส่วนในปี 2567 สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัส ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 13 ธ.ค. 2567 พบการระบาด 85 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในโรงเรียน จำนวน 12 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยทั้งหมด 991 ราย
ป้องกันได้อย่างไร
เมื่อฤดูหนาวมาถึง สธ. จึงออกคำเตือนถึงประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีภูมิต้านทานต่ำเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อโนโรไวรัส โดยแนะนำให้ปฏิบัติตนอย่างถูกสุขอนามัย ดังนี้
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำไม่สะอาด
ส่วนองค์กรและสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ที่พบเชื้อได้ง่าย อาทิ โรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว แนะนำให้มีมาตรการควบคุมป้องกันเชื้อไวรัสนี้ ดังนี้
- เติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
- ตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
- จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
การระบาดในต่างประเทศ และการทดลองวัคซีนจะได้ใช้เร็ว ๆ นี้หรือไม่
ไม่เพียงแต่ไวรัสชนิดนี้จะเกิดการระบาดในไทย แต่ยังมีการระบาดในประเทศอื่นด้วย เช่น จีน สหราชอาณาจักร
เมื่อเดือน พ.ย. เว็บไซต์ไชนาเดลี รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อโนโรไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ทั้งในโรงเรียนชั้นประถมและอนุบาลหลายแห่งในมณฑลเจ้อเจียง ส่านซี ยูนนาน และหูเป่ย จนต้องมีการหยุดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
เผิง จือ ปิน นักวิจัยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน กล่าวว่าโนโรไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการอักเสบเฉียบพลันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ตลอดทั้งปี แต่จะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดสูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. ถึง มี.ค.
ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขของเขตปกครองตนเองเกาะไอล์ออฟแมน ซึ่งอยู่ระหว่างไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ออกกฎงดเยี่ยมคนไข้ในโรงพยาบาล เนื่องจากมีการระบาดของโนโรไวรัส
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้สำหรับการป้องกันไวรัสชนิดนี้ แต่ที่สหราชอาณาจักร กำลังมีการสรรหาอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกสำหรับการวิจัยวัคซีนที่ชื่อว่า Nova 301 Trial ซึ่งจะใช้เวลาประมาณสองปี โดยมีบริษัทยาโมเดอร์นา ร่วมศึกษาวิจัย
การทดลองนี้มีการดำเนินการในหลายเมืองทั่วสหราชอาณาจักร เช่น บอร์นมัธ, เวย์มัธ, พอร์ทสมัธ และออกซ์ฟอร์ดเชียร์
การวิจัยทางคลิกนิกของโครงการทดลอง Nova 301 Trial กำลังหาอาสาสมัครทั่วโลกราว 25,000 คน เพื่อทดสอบว่า การฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอนเอ (mRNA) ที่กำลังทดลองอยู่นี้ สามารถป้องกันผู้คนจากอาการที่เกิดจากเชื้อโนโรไวรัสได้หรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับวัคซีนที่กำลังทดลองหรือยาหลอก
นพ.แพทริก มัวร์ หัวหน้าผู้วิจัยระดับประเทศในโครงการทดลอง Nova 301 Trial กล่าวว่า “การระบาดของโนโรไวรัสมีผลกระทบอย่างมากทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ หากคุณสนใจที่จะช่วยพัฒนาการดูแลสุขภาพ กรุณามาร่วมการทดลองนี้”
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการทดลอง Nova 301 Trial จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคทางเดินอาหารเรื้อรัง
ที่มา BBC.co.uk