เยือน “หมู่บ้านชีอิน (Shein)” ในนครกวางโจว บีบีซีเปิดเบื้องหลังโรงงานผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของจีน

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, บีบีซีพูดคุยกับแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ย่านปันหยูในนครกวางโจว ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “หมู่บ้านชีอิน” (Shein village)

Article files

  • Author, ลอรา บิกเกอร์
  • Aim, ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน
  • Reporting from กวางโจว, จีน

เสียงจากทำงานของจักรเย็บผ้า คือเสียงที่ดังคุ้นหูอยู่ในพื้นที่บางส่วนของนครกวางโจว เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองริมแม่น้ำไข่มุกทางตอนใต้ของประเทศจีน

เสียงจากสั่นสะเทือนนี้เคลื่อนผ่านหน้าต่างของโรงงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ ขณะที่พวกเขาตัดเย็บเสื้อยืด กางเกงขาสั้น เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว และชุดว่ายน้ำ ก่อนที่เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกส่งออกจากจีนเพื่อไปเติมเต็มตู้เสื้อผ้าของผู้คนมากกว่า 150 ประเทศ

ที่นี่คือเขตปันหยู (Panyu) ที่รู้จักกันในชื่อ “หมู่บ้านชีอิน (Shein)” แหล่งใหญ่ของโรงงานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“ถ้าเดือนหนึ่งมี 31 วัน ฉันก็จะทำงานทั้ง 31 วัน” คนงานคนหนึ่งบอกกับบีบีซี

แรงงานส่วนมากบอกว่าพวกเขามีวันหยุดแค่เดือนละ 1 วันเท่านั้น

Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ

Terminate of เรื่องแนะนำ

บีบีซีฝังตัวอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นเวลาหลายวัน เราเดินทางไปที่โรงงาน 10 แห่ง และได้พูดคุยกับเจ้าของโรงงาน 4 คน และคนงานอีกมากกว่า 20 คน บีบีซียังใช้เวลาส่วนมากสำรวจที่ตลาดแรงงานและร้านที่จัดส่งผ้าสำหรับตัดเย็บ

บีบีซีพบว่า หัวใจสำคัญของอาณาจักรแห่งนี้ คือแรงงานที่นั่งอยู่หลังจักรเย็บผ้าประมาณ 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งขัดกับกฎหมายแรงงานของจีน

ชั่วโมงการทำงานที่สูงเท่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในกวางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมในจีนที่แรงงานจากชนบทเดินทางมาหางานที่มีรายได้สูงขึ้นทำ ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตที่ไม่มีใครเทียบได้ของโลก

แต่ความเป็นไปที่นี่ได้เพิ่มคำถามหลายคำถามเกี่ยวกับแบรนด์ ชีอิน (Shein) ซึ่งเคยเป็นบริษัทจีนที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าใดนัก แต่ได้กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกในเวลาไม่ถึง 5 ปี

แม้ว่จะอยู่ในสถานะบริษัทจำกัด ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ แต่มูลค่าของบริษัท ชีอิน (Shein) คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.084 ล้านล้านบาท) และขณะนี้เล็งที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของลอนดอน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าบริษัทยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงานและข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน

เมื่อปีที่แล้ว ชีอินยอมรับว่าพบการใช้แรงงานเด็กทำงานในโรงงานของบริษัทในจีน

ชีอิน ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี แต่ชี้แจงในแถลงการณ์ต่อบีบีซีว่า “ชีอินมุ่งมั่นเพื่อรับประกันการปฏิบัติต่อคนงานอย่างยุติธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน” พร้อมบอกว่าบริษัทกำลังจะลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์[สหรัฐ]เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย”

ชีอิน ระบุด้วยว่า “พวกเรามุ่งมั่นที่จะกำหนดมาตรฐานสูงสุดในการจ่ายค่าตอบแทน และเรากำหนดว่าพันธมิตรที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของเราด้วย นอกจากนี้ ชีอินจะทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายนอกเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว”

การประสบความสำเร็จของแบรนด์ชีอินขึ้นอยู่กับปริมาณการขาย สินค้าคงคลังในระบบออนไลน์มีจำนวนนับแสนชิ้น และมีส่วนลดมากมาย อย่างเช่น ชุดเดรสราคา 10 ปอนด์ (422 บาท) เสื้อสเวตเตอร์ราคา 6 ปอนด์ (250 บาท) โดยราคาเสื้อผ้าเฉลี่ยต่อชิ้นอยู่ที่ราว 8 ปอนด์ (340 บาท)

รายได้ของชีอินทะยานขึ้นต่อเนื่องเหนือคู่แข่งอย่าง เอช แอนด์ เอ็ม (H&M) ซารา (Zara) และแบรนด์ไพรมาร์กของสหราชอาณาจักร ราคาขายที่สามารถตัดราคาคู่แข่งได้ในระดับนี้ถูกขับเคลื่อนจากสถานที่อย่าง “หมู่บ้านชีอิน” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานกว่า 5,000 แห่ง โดยส่วนใหญ่ผลิตเสื้อผ้าป้อนให้กับแบรนดิชีอิน

อาคารของโรงงานเหล่านี้ถูกเคลียร์พื้นที่ให้โล่งเพื่อตั้งจักรเย็บผ้าจำนวนมาก รวมทั้งกองม้วนผ้า และถุงใส่เศษผ้า ประตูต่าง ๆ ที่เชื่อมกับชั้นใต้ดินเปิดไว้ตลอดเวลาสำหรับการขนส่งเสื้อผ้าเหล่านี้แบบไร้รอยต่อและไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อหนึ่งวันผ่านไป ชั้นต่าง ๆ ในโรงงานเต็มไปด้วยเสื้อผ้าของคลังสินค้าขาออก ถุงพลาสติกประทับตราตัวอักษรห้าตัวของยี่ห้อ SHEIN

อย่างไรก็ดี แม้จะเลยเวลาสี่ทุ่มไปแล้ว จักรเย็บผ้าในโรงงานยังคงทำงาน และแน่นอนว่ารวมทั้งคนงานที่นั่งค่อมอยู่บนจักรเหล่านั้นด้วย พวกเขาทำงานไม่หยุดหย่อนขณะที่ผ้าถูกนำมาส่ง บนรถบรรทุกมีม้วนผ้าสีสันต่าง ๆ อัดแน่นจนล้นและร่วงลงมาบนพื้นโรงงาน

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/ BBC

คำบรรยายภาพ, การขนส่งม้วนผ้าซึ่งคอยป้อนให้สายพานการผลิตเสื้อผ้าดำเนินอย่างต่อเนื่อง

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/ BBC

คำบรรยายภาพ, ชีวิตในย่านปันหยูจะยาวนานไปจนล่วงเวลากลางคืน

“เราทำงานวันละ 10,11 หรือไม่ก็ 12 ชั่วโมง” หญิงวัย 49 ปีจากมณฑลเจียงซี ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ บอก

“ทุกวันอาทิตย์เราทำงานอย่างน้อย ๆ 3 ชั่วโมงขึ้นไป”

ตอนนั้นเธออยู่ในตรอกที่คนหลายสิบคนกำลังรวมตัวอยู่หน้ากระดานแจ้งข่าว พวกเขาอ่านประกาศรับสมัครงานที่กระดานนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ตรวจรอยเย็บบนกางเกงผ้าชิโนที่แขวนอยู่บนป้าย

นี่คือห่วงโซ่การผลิตของชีอิน โรงงานต่าง ๆ จะได้รับการติดต่อให้ผลิตเสื้อผ้าตามคำสั่งผลิต บ้างเป็นคำสั่งผลิตปริมาณน้อย บ้างเป็นล็อตใหญ่ หากกางเกงชิโนกำลังได้รับความนิยม ออร์เดอร์หรือคำสั่งผลิตจะเข้ามาแบบถล่มทลายและเป็นเสื้อผ้าที่โรงงานต้องผลิต หลังจากนั้นโรงงานต่าง ๆ จะไปจ้างคนงานชั่วคราวเพื่อมาเติมสายพานการตัดเย็บที่คนงานประจำทำไม่ทัน

แรงงานอพยพจากมณฑลเจียงซีกำลังมองหางานทำชั่วคราว และการตัดเย็บกางเกงผ้าชิโนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง

“เราหาเงินได้น้อยมาก แต่ค่าครองชีพตอนนี้สูงมาก” เธอบอก และเสริมว่าเธอหวังว่าจะได้ค่าจ้างมากพอที่จะส่งให้ลูกสองคนที่อยู่กับตายาย

“เราได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้น” เธอระบุ “มันขึ้นอยู่กับว่างานชิ้นนั้นยากแค่ไหน บางชิ้นที่ตัดง่าย ๆ อย่างเสื้อยืด ก็จะได้ค่าจ้าง 1-2 หยวน ต่อชิ้น [น้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 10 บาท] และฉันตัดได้ชั่วโมงละหนึ่งโหล”

การตรวจสอบรอยเย็บบนกางเกงชิโนถือเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกงานที่โรงงงานนั้น รอบ ๆ คนงานหญิงคนนี้ คนงานคนอื่น ๆ กำลังคำนวณว่า พวกเขาจะได้ค่าจ้างเท่าไหร่ในการตัดเย็บเสื้อผ้าแต่ละตัว และพวกเขาจะตัดได้กี่ตัวในเวลา 1 ชั่วโมง

ตรอกซอยต่าง ๆ ในย่านปันหยู เปรียบเสมือนตลาดแรงงาน ซึ่งจะเต็มไปด้วยผู้คนที่คราคร่ำในช่วงเช้า ทั้งคนงานและรถสกูตเตอร์ที่วิ่งผ่านแผงขายขนมจีบยามเช้า และร้านขายน้ำเต้าหู้ และเกษตรกรที่เปี่ยมด้วยความหวังที่กำลังขายไก่สดและไข่เป็ด

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/ BBC

คำบรรยายภาพ, โรงงานต่าง ๆ นำเสื้อผ้าตัวอย่างมาแขวนโชว์ คู่ไปกับประกาศรับสมัครงาน

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, แรงงานจะสามารถคำนวณได้ว่า พวกเขาจะผลิตเสื้อผ้าพวกนี้ได้กี่ชิ้นต่อชั่วโมง โดยดูจากความยากง่ายในการตัดเย็บ

จากการสำรวจในพื้นที่ บีบีซีพบว่า เวลาทำงานมาตรฐานของที่นี่จะอยู่ที่ 8 โมงเช้าไปจนถึง 4 ทุ่ม

เวลาทำงานเหล่านี้สอดคล้องกับรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนของสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ “พับลิก อาย” (Public Recognize) ซึ่งสัมภาษณ์คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวน 13 คน ในโรงงานต่าง ๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับชีอิน

พวกเขาพบว่า แรงงานในโรงงานจำนวนมากทำงานเกินเวลาอย่างมาก และระบุว่าค่าจ้างปกติที่พวกเขาได้รับโดยไม่มีค่าล่วงเวลา คือ 2,400 หยวน (ประมาณ 11,350 บาท) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า 6,512 หยวน (ราว 30,800 บาท) ตามที่องค์กรพันธมิตรว่าด้วยค่าจ้างพื้นฐานของเอเชีย (Asia Ground Wage Alliance) บอกว่าเป็นค่าจ้างที่เพียงพอต่อการครองชีพ

“ชั่วโมงการทำงานเหล่านี้ไม่ใช่ว่า ไม่ผิดปกติ มันชัดเจนว่า ผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” เดวิด แฮชฟิลด์ จาก Asia Ground Wage Alliance กล่าว “มันเป็นรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานขั้นร้ายแรงและเรื่องนี้จำเป็นต้องถูกตีแผ่”

ตามกฎหมายแรงงานของจีน ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยนไม่ควรเกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดเป็นเวลา 1 วันต่อสัปดาห์ หากนายจ้างคนไหนต้องการให้ทำงานเกินกว่านี้ จำเป็นต้องมีแจ้งเหตุผลพิเศษ

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, คนงานได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้น การตัดเย็บเสื้อยืดหนึ่งตัวพวกเขาจะได้เงินไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์ด้วยซ้ำ

ขณะที่สำนักงานใหญ่ของชีอินอยู่ในสิงคโปร์ บริษัทไม่ปฏิเสธว่า โรงงานการผลิตเสื้อผ้าแห่งหลักอยู่ที่ประเทศจีน

ความสำเร็จของชีอินได้เรียกความสนใจจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเพิ่มความระมัดระวังต่อบริษัทสัญชาติจีนมากขึ้น

เมื่อเดือน มิ.ย. มาร์โก รูบิโอ ผู้ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เขามี “ข้อกังวลทางจริยธรรมในระดับรุนแรง” เกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลจีน” ของแบรนด์เสื้อผ้าชีอิน

“แรงงานทาส โรงงานนรก และกลลวงทางการค้า คือความลับสกปรกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชีอิน” เขาเขียน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับคำที่นายรูบิโอใช้บรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตของชีอิน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบอกว่า ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตของคนจำนวนมากในนครกวางโจวไปแล้วเป็นความไม่ยุติธรรมและขูดรีดแรงงาน

เครื่องจักร คือกลไกที่ควบคุมจังหวะเวลาของวัน

จักรเย็บผ้าเหล่านี้จะหยุดพักตอนที่แรงงานกินข้าวมื้อกลางวันและมื้อเย็น เหล่าคนงาน พร้อมด้วยจานสังกะสีและตะเกียบในมือเติมเต็มพื้นที่ของโรงอาหารเพื่อเข้าคิวซื้ออาหาร หากที่นั่งไม่เพียงพอ พวกเขาจะไปยืนกินอยู่ตามถนน

“ฉันทำงานอยู่ในโรงงานแถบนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว” หญิงรายหนึ่งที่ใช้เวลาพักกินข้าวเพียง 20 นาที กล่าว และวันนี้เป็นเพียงวันอีกวันหนึ่งของเธอ

ที่ด้านในโรงงานที่บีบีซีไปเยือนไม่ได้คับแคบแต่อย่างใด มีแสงไฟเพียงพอและมีพัดลมอุตสาหกรรมที่ตั้งไว้เพื่อพัดเป่าให้คนงาน นอกจากนี้ยังมีโปสเตอร์ที่ประกาศคำเตือนให้คนงานแจ้งเหตุหากพบการใช้แรงงานอายุต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นนัยว่าเพื่อตอบสนองต่อกรณีที่พบการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่การผลิตเมื่อปีที่แล้ว

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, โรงงานมีขนาดกว้างขวางและมีแสงสว่าง

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, มีพัดลมขนาดใหญ่เพื่อให้ภายในอาคารเย็น

บีบีซีเข้าใจว่า บริษัทชีอินจับตาดูซัพพลายเออร์ของตัวเองอย่างเข้มงวดก่อนที่จะมีแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของลอนดอน

“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของพวกเขา” เฉิง ลู ศาสตราจารย์ด้านแฟชั่นและสิ่งทอแห่งมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ระบุ “หากชีอินเข้าไอพีโอได้สำเร็จ นั่นหมายความเขาพวกเขาจะถูกจดจำว่าเป็นบริษัทที่มีความเหมาะสม แต่หากจะต้องรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็ต้องแสดงความรับผิดชอบบางส่วน”

หนึ่งในความท้าทายหลักที่ชีอินเผชิญ คือ ข้อกล่าวหาว่า ใช้ฝ้ายที่ผลิตในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ฝ้ายจากเมืองซินเจียงเคยเป็นหนึ่งในเส้นใยฝ้ายที่คุณภาพดีที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ไม่ได้รับความนิยมแล้ว เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าผลิตโดยมีการบังคับใช้แรงงานจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอูยกูร์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลจีนปฏิเสธมาโดยตลอด

ศ.เฉิง กล่าวว่า วิธีเดียวที่จะขจัดคำวิจารณ์เหล่านี้ คือการทำตัวให้โปร่งใสกว่าเดิม

“หากคุณไม่เปิดเผยรายชื่อโรงงานที่ผลิตให้คุณ ถ้าคุณไม่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของคุณมีความโปร่งใส่ต่อสาธารณะชนมากขึ้น ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับชีอิน”

นักวิชาการด้านแฟชั่นกล่าวเสริมด้วยว่า ข้อได้เปรียบหลักคือ การที่ห่วงโซ่อุปทานของชีอินอยู่ในประเทศจีน

“มีไม่กี่ประเทศที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรเช่นนี้ แต่จีนมี และไม่มีใครเอาชนะได้”

คู่แข่งที่เกือบจะเทียบได้อย่างเวียดนาม บังกลาเทศ ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากจีนเพื่อผลิตเสื้อผ้า แต่โรงงานจีนมีวัตถุดิบทุกอย่างในประเทศ ตั้งแต่ผ้า ซิป กระดุม ดังนั้น จึงง่ายที่จะสามารถผลิตเสื้อผ้าได้อย่างหลากหลายแบบ และพวกเขาก็ผลิตได้เร็วมากด้วย”

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/BBC

คำบรรยายภาพ, โรงงานจำนวนมากในเมืองปันหยู เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของจีนที่ครองอันดับสูงสุดของโลก

ระบบอัลกอริธึมของชีอินจะช่วยในการตัดสินใจสั่งออร์เดอร์การผลิต หากลูกค้าคลิกซ้ำ ๆ หรือใช้เวลาดูสินค้าบางชิ้นนานขึ้น เช่น ชุดเดรส หรือเสื้อไหมพรม ชีอินจะทราบพฤติกรรมนี้และจะสั่งให้โรงงานผลิตสินค้าชิ้นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับคนงานในกวางโจว นี่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย

“ชีอินมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้ารายหนึ่งบอกกับบีบีซี “สิ่งที่ดีคือ ได้ออร์เดอร์จำนวนมาก แต่ที่สุดแล้วกำไรก็ได้น้อยและคงที่”

ด้วยความเป็นบริษัทใหญ่และมีอิทธิพลของชีอิน จึงต่อรองได้ยาก ดังนั้น เจ้าของโรงงานจึงต้องไปตัดต้นทุนส่วนอื่น ซึ่งโดยมากมักจะออกมาเป็นการลดค่าแรงของคนงาน

“ก่อนจะมีชีอิน พวกเราผลิตและขายเสื้อผ้าด้วยตัวเอง” เจ้าของโรงงานรายหนึ่งซึ่งมีโรงงาน 3 แห่ง ระบุ “เราสามารถประเมินต้นทุน กำหนดราคา และคำนวณกำไรได้ แต่ตอนนี้ชีอินคุมราคาทั้งหมด และคุณต้องมาคิดว่าจะลดต้นทุนยังไง”

เมื่อคำสั่งผลิตเข้ามาอย่างถล่มทลาย มันคือขุมทรัพย์มหาศาล จากข้อมูลของชิปแมททริกซ์ (ShipMatrix) บริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่งโลจิสติกส์ พบว่า ชีอินส่งแพ็กเกจเสื้อผ้าโดยเฉลี่ยวันละ 1 ล้านกล่อง

ที่มาของภาพ, Xiqing Wang/ BBC

คำบรรยายภาพ, โรงงานหลายแห่งยังเปิดทำการในช่วงกลางคืน โดยมีคนงานบางคนที่ทำงานจนถึงเที่ยงคืน

“ชีอินเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น” กัว ฉิง อี ซัพพลายเออร์รายหนึ่งของชีอิน ระบุ

“ผมเริ่มต้นธุรกิจตอนที่ชีอินเริ่มทำธุรกิจนี้ ผมเห็นว่ามันยิ่งโตขึ้น บอกตามตรง ชีอินเป็นบริษัทชั้นยอดในจีน ผมคิดว่าผมจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเพราะชีอินจ่ายตรงเวลา ผมคิดว่าความเชื่อถือมากที่สุดมันอยู่ตรงนี้”

“ถ้าหากกำหนดวันจ่ายเงินค่าสินค้าเป็นวันที่ 15 ไม่ว่าเงินที่จะจ่ายเป็นหลายล้านหรือหลายสิบล้าน เงินก้อนนั้นก็จะถูกจ่ายตรงเวลา”

ทว่าชีอิน ซึ่งมีประเด็นเรื่องชั่วโมงการทำงานยาวนานและจ่ายค่าแรงราคาถูก อาจไม่ใช่ที่ที่ดีสำหรับแรงงานทุกคน แต่บางคนก็ภูมิใจกับมัน

“นี่คือสิ่งที่พวกเราชาวจีนจะอุทิศให้กับโลกได้” หญิงวัย 33 ปี ซึ่งมีตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์จากมณฑลกวางตุ้ง กล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อ

ท้องฟ้ามืดลงแล้ว คนงานกลับเข้าไปทำงานในโรงงานหลังจากยืดเส้นยืดเส้นตอนกินข้าวมื้อเย็น หญิงรายนี้ยอมรับว่า ชั่วโมงการทำงานยาวนานจริง แต่ “พวกเราเข้ากันได้ดี พวกเราเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน”

อีกหลายชั่วโมงต่อมา หลังจากคนงานจำนวนมากกลับบ้านไปแล้วในตอนกลางคืน แสงไฟในอาคารของโรงงานหลายแห่งยังส่องสว่าง

ตามคำบอกเล่าของเจ้าของโรงงาน แรงงานบางคนทำงานยาวไปถึงเที่ยงคืน เพราะพวกเขาต้องการได้เงินมากขึ้น

แต่ในขณะที่แรงงานชาวจีนกำลังเร่งเย็บผ้าเพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่ม ลูกค้าบางคนในกรุงลอนดอน นครชิคาโก สิงคโปร์ นครดูไบ หรือที่อื่น ๆ อาจกำลังไล่ล่าส่วนลดกดซื้อเสื้อผ้าของชีอินอยู่