เปิด 6 ปัจจัยที่สามารถจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ได้
Article data
- Creator, อันเฆล เบอร์มูเดซ
- Role, บีบีซี นิวส์ มุนโด (ภาษาสเปน)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของเขา
หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งหลายฉบับ รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก กำหนดให้กลุ่มค้ายาเป็นองค์กรก่อการร้าย และอภัยโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021
ในช่วงหาเสียง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะทำการ “เนรเทศครั้งใหญ่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ปรับปรุงระบบราชการ ลดการเก็บภาษี และกำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่สำหรับสินค้าจากต่างประเทศ
เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ทรัมป์ต้องใช้การควบคุมสภาคองเกรสและผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ในศาลสูงสุดในส่วนของพรรครีพับลิกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล ตลอดจนความท้าทายอื่น ๆ รอเขาอยู่
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Stop of เรื่องแนะนำ
นี่คือ 6 ปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาจขัดขวางแผนการของเขาได้
1. ครองเสียงข้างมากเกินมาเพียงเล็กน้อยในรัฐสภา
แม้ว่าพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ในทั้งสภาคองเกรส ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒสภา แต่พวกเขากลับมีข้อได้เปรียบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อธิบายคือ พรรครีพับลิกันมี 220 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคเดโมเครตมี 215 ที่นั่งจากการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ต่อมาสมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน 2 คนได้ลาออก และคาดว่ายังมีอีก 1 คนที่จะลาออกเช่นกัน ทำให้คะแนนนำของพรรคเหลือเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น แม้การเลือกตั้งเพื่อเติมที่นั่งที่ว่างเหล่านั้นจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ตาม
ศาสตราจารย์ มาร์ก ปีเตอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย กฎหมาย และรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) กล่าวกับ บีบีซี นิวส์ มุมโด กล่าวว่า “เป็นเสียงข้างมากที่น้อยที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน” และแม้ว่าพรรครีพับลิกัน “เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างมาก” แต่ถึงกระนั้นก็ยากที่จะทำให้พวกเขาเห็นตรงกันทั้งหมดในประเด็นที่ซับซ้อน เขากล่าว
ในวุฒิสภา พรรครีพับลิกันมีที่นั่ง Fifty three ที่นั่ง เทียบกับพรรคเดโมแครตที่มี 47 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาขาดคะแนนเสียงข้างมากอย่างเป็นเอกฉันท์ซึ่งต้องการ 60 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางการผ่านญัตติหรือมติในสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาฝ่ายตรงข้ามอาจทำให้การลงคะแนนเสียงล่าช้าหรือแม้กระทั่งทำให้กฎหมายตกไป
อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่เรียกว่า การปรองดอง อนุญาตให้วุฒิสภาสามารถอนุมัติมาตรการด้านงบประมาณได้โดยใช้คะแนนเสียงข้างมากเพียง 51 เสียง
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันกล่าวว่า พรรครีพับลิกันอาจบรรลุเป้าหมายบางประการได้โดยการรวมนโยบายต่างๆ และใช้กระบวนการข้างต้นนี้ แต่ “พรรคเดโมแครตสามารถหยุดทุกอย่างได้เกือบทั้งหมด”
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันชี้ให้เห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของวาระแรกของทรัมป์ เขามีเสียงข้างมากในทั้งสองสภา แต่กฎหมายสำคัญฉบับเดียวของเขาที่ผ่านสภาคือ ร่างกฎหมายลดหย่อนภาษี
2.ฝ่ายตุลาการที่มีความอิสระ
โดยปกติ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้รับเลือกโดยประธานาธิบดีเมื่อตำแหน่งว่างลง
จากผู้พิพากษาทั้งหมด 9 คนในปัจจุบัน 6 คนเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ 3 คนในนั้นได้รับการเสนอชื่อโดยทรัมป์ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่นี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คำตัดสินของศาลจะเข้าข้างทุกนโยบายของทรัมป์
ศาลสูงสุดเคยยกเลิกการคุ้มครองสิทธิการทำแท้งของรัฐบาลในปี 2022 ที่ทรัมป์ได้สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงในปี 2016 โดยได้รับเสียงเห็นชอบจากผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยทรัมป์เอง
มากไปกว่านั้น ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของพรรครีพับลิกัน ศาลยังรักษาการคุ้มครองบางส่วนจากกฎหมายประกันสุขภาพฉบับเก่าของสหรัฐฯ หรือโอบามาแคร์ รวมถึงการคุ้มครองบางส่วนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ยังปฏิเสธความพยายามที่จะพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 และยุติโครงการ Daca ซึ่งคุ้มครองผู้อพยพบางส่วนที่เข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายเมื่อตอนเป็นเด็ก
นอกเหนือจากศาลสูงสุดแล้ว ตามข้อมูลของ สำนักวิจัยพิว ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ 60% ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในขณะที่มีเพียง 40% เท่านั้นที่ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรครีพับลิกัน
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันชี้ว่า ผู้พิพากษาได้รับการชี้นำจากกฎหมายและบรรทัดฐานที่ศาลสูงสุดกำหนดไว้ และกล่าวว่าฝ่ายตุลาการ “ยังคงเป็นฝ่ายที่สามที่สำคัญของรัฐบาลซึ่งมีความอิสระสูง”
3. รัฐบาลของแต่ละมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น
โครงสร้างของรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ จำกัดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจทำเนียบขาว
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 10 ให้สิทธิอำนาจที่กว้างขวางแก่รัฐบาลในระดับมลรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วจะดูแลด้านความปลอดภัย สุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม กฎหมายอาญา กฎระเบียบแรงงาน และกฎหมายทรัพย์สิน ส่วนเทศมณฑลและเมืองต่างๆ จะดูแลความปลอดภัยสาธารณะ การวางผังเมือง และการใช้ที่ดิน
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันเชื่อว่า พรรคเดโมแครตจะใช้สิทธิอำนาจเหล่านี้เพื่อท้าทายรัฐบาลทรัมป์ในระดับท้องถิ่นมากขึ้น
เขาตั้งข้อสังเกตว่า รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นที่ที่เขาอาศัยอยู่นั้นเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็น “เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับห้า” ของโลก
เขากล่าวว่า “รัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในระดับสากล เสรีนิยม หรือก้าวหน้า แต่ก็เป็นไปในทิศทางนั้นอย่างมาก”
เขาคาดหวังว่ารัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐอื่น ๆ อีกหลายรัฐจะ “ทำในสิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งต่างๆที่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ต้องการให้ทำ หรือท้าทายรัฐบาลทรัมป์ เช่นเดียวกับที่รัฐเท็กซัสและรัฐอื่นๆ เคยท้าทายรัฐบาลไบเดนและรัฐบาลโอบามาในอดีต”
ในปัจจุบัน รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ จำนวน 23 แห่งจากทั้งหมด 50 รัฐ มีผู้ว่าการรัฐที่มาจากพรรคเดโมแครต
แผนงานบางอย่างของนายทรัมป์ เช่น การเนรเทศครั้งใหญ่ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ และอาจได้รับการต่อต้านจากรัฐหรือระดับท้องถิ่น เมืองและรัฐหลายแห่งได้ประกาศตนเป็น “สถานที่หลบภัย” สำหรับผู้อพยพแล้วซึ่งเป็นการขัดขวางความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง
4. หน่วยงานราชการสหรัฐฯ
ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรกของทรัมป์ พรรครีพับลิกันพูดอยู่บ่อยครั้งว่ามีข้อจำกัดในการดำเนินการตามวาระของตนเนื่องจากถูกต่อต้านจากเจ้าหน้าที่รัฐภายในหน่วยงานราชการ
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดวาระแรกทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งซึ่งอนุญาตให้เขาไล่พนักงานรัฐออกไปหลายพันคน และแทนที่ด้วยผู้สนับสนุนของเขา
อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดนได้ยกเลิกมาตรการนี้ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้นำมาตรการที่คล้ายกันกลับมาใช้ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งวาระที่สองของเขา นอกจากนี้ เขายังสั่งให้พนักงานรัฐบาลที่ทำงานจากบ้าน กลับไปทำงานที่สำนักงานอีกด้วย
กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ใกล้ชิดกับนายทรัมป์ได้สร้างฐานข้อมูลของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมที่จะมาแทนที่เจ้าหน้าที่ราชการ
สหภาพแรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งก็คือสหภาพพนักงานกระทรวงการคลังแห่งชาติ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านคำสั่งใหม่นี้แล้ว
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันคาดว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักทั้งจากทั้งสถาบัน กฎหมาย การเมือง และสหภาพแรงงาน
5. ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากสื่อแนวเสรีนิยมและองค์กรภาคประชาสังคม เช่น สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU)
สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันซึ่งมีสมาชิกกว่า 1.7 ล้านคน กล่าวว่า จะพยายามขัดขวางข้อเสนอบางส่วนของทรัมป์ โดยให้เหตุผลว่าข้อเสนอเหล่านี้จะนำไปสู่การแยกครอบครัวผู้อพยพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้านการสืบพันธุ์ และทำให้รัฐบาลกลางสามารถปราบปรามผู้ประท้วงและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ACLU และกลุ่มอื่นๆ ได้ยื่นฟ้องเพื่อท้าทายแผนการของทรัมป์ที่จะยุติการให้สัญชาติโดยกำเนิด นโยบายนี้ให้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติกับทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ
ฝ่ายตรงข้ามของนายทรัมป์บางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับสื่อบางสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และหนังสือพิมพ์แอลเอไทมส์ตัดสินใจไม่เผยแพร่การรับรองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนการเลือกตั้งเหมือนที่เคยทำในอดีต
สื่อทั้งสองราย ได้รับการคาดว่าจะสนับสนุน กมลา แฮร์ริส คู่แข่งของทรัมป์จากพรรคเดโมแครต
เจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีเจ้าของและผู้ก่อตั้งแอมะซอนกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มองว่า “สื่อมีความลำเอียง”
ในเดือน ธ.ค. เขาได้ประกาศบริจาคเงินให้กับกองทุนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ และรับประทานอาหารค่ำกับทรัมป์ที่บ้านพักหรูที่รีสอร์ตมาร์-อา-ลาโก ในรัฐฟลอริดา
แพทริก ซุน-เชียง เจ้าของหนังสือพิมพ์แอลเอไทมส์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีเช่นกัน กล่าวว่า เขาเกรงว่า การรับรองผู้สมัครจะทำให้ความแตกแยกในประเทศรุนแรงขึ้น
6. กระแสความนิยม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์คงจะยังจับตาดูคะแนนความนิยมของเขาอีกด้วย ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันชี้ให้เห็นว่า เขาได้รับคะแนนมหาชนเพียง 49.9% ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และนำหน้าแฮร์ริสเพียง 1.5% เท่านั้น
“นั่นเป็นชัยชนะที่เฉียดฉิวที่สุดครั้งหนึ่งของประธานาธิบดี” เขากล่าว
ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันเสริมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ลงคะแนนให้ทรัมป์จะสนับสนุนนโยบายทั้งหมด
บางคนเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่ไม่ชอบทรัมป์เป็นการส่วนตัวแต่ต้องการการลดภาษีและกฎระเบียบที่น้อยลง ในขณะที่บางคนเลือกเขาเพราะเห็นว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่สูง เขากล่าว
การผสมผสานนี้อาจกดดันให้รัฐบาลต้องปรับจุดยืนบางอย่าง เพื่อรักษาทั้งความนิยมของประธานาธิบดีและโอกาสที่พรรครีพับลิกันจะได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2026
แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า คำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีทรัมป์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราเงินเฟ้ออาจถูกทำลายลงด้วยนโยบายอื่นๆ ของเขา เช่น การตั้งกำแพงภาษีและการเนรเทศผู้อพยพ
จอห์น ค็อกเครน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันฮูเวอร์ซึ่งเป็นสถาบันที่มีแนวคิดฝ่ายขวา กล่าวว่า คำถามสำคัญคือ ทรัมป์จะจัดการกับความตึงเครียดระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนธุรกิจและกลุ่ม “ชาตินิยม” ที่มุ่งเน้นในประเด็นต่างๆ เช่น การควบคุมชายแดนและการแข่งขันกับจีนในรัฐบาลผสมของเขาอย่างไร
“เห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถได้สิ่งที่ต้องการ” ค็อกเครนกล่าว “นั่นคือปัญหาสำคัญ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
ที่มา BBC.co.uk