ถือเป็นกระแสต่อเนื่องหลังจาก 15 ม.ค. 2568 ‘แสตมป์' อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข นักร้องเจ้าพ่อเพลงรัก ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวบนเวทีคอนเสิร์ต ‘Wednesday Tune dwell performance Vol.1' ถึงสาเหตุที่เขาหายหน้าหายตาไปในช่วงที่ผ่านมาว่าต้องไปจัดการปัญหาเรื่องราวส่วนตัวระหว่างตัวเขา-ภรรยา กับ ‘แจม’ คู่กรณีที่เคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับแสตมป์-‘แก๊ป’ แฟนของคู่กรณี จนถึงขึ้นมีการฟ้องร้องคดีความ
ประเด็นที่สาธารณชนและสื่อดูจะให้ความสนใจไม่น้อยคือกรณีที่แสตมป์ อ้างว่าถูกพ่อของคู่กรณีซึ่งเป็นทหารยศใหญ่ ขู่แจ้งมาตรา 112 และกลัวติดคุก ทำให้เขาถอนฟ้องแพ่งและอาญาทุกคดี รวม 3 คดี โดยมีวัตถุพยานเป็นแชทระหว่างเขา-แจม
ต่อมา เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความที่คู่กรณีของแสตมป์ปรึกษาด้านกฎหมาย ชี้แจงว่าจากการเปิดเผยของแสตมป์ ทำให้พ่อของคู่กรณีถูกเรียกเข้าไปให้ข้อมูลเรื่องการฟ้องคดีมาตรา 112 ที่กองทัพบก และกระทรวงกลาโหม ส่วนเรื่องจะฟ้องร้องมาตรา 112 หรือไม่นั้น ทนายเดชา กล่าวว่าเป็นเรื่องของกองทัพบก
เรื่องการข่มขู่ที่เกิดขึ้น ทนายเดชา อ้างว่าไม่ได้เป็นการข่มขู่ แค่เป็นการแจ้งให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็น หรือการสนทนาบางสิ่งของแสตมป์ อาจเข้าข่ายมาตรา 112 ซึ่งไม่เรียกว่าเป็นการขู่ แต่เป็นสิทธิของประชาชนในการปกป้องสถาบันฯ เพราะฉะนั้นก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย
จากการแถลงของหลายฝ่ายยังไม่แน่ชัดว่ามีการฟ้องร้องคดีความมาตรา 112 แล้วหรือยัง หรือข้อความของแสตมป์เข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงถึงปัญหาของมาตรา 112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคู่ขัดแย้งส่วนตัว
ประชาไทชวนย้อนดูคดีฟ้องร้องมาตรา 112 ในอดีตที่มีมูลเหตุมาจากการทะเลาะส่วนตัว พร้อมพูดคุยกับพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมมองอีกปัญหาของมาตรา 112 และข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สถิติประชาชนแจ้ง ม.112 กันเอง นับตั้งแต่ยุค คสช.
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ‘กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์’ คุ้มครองด้วยกัน 4 ตำแหน่ง คือ 1. กษัตริย์องค์ปัจจุบัน (แต่หลายกรณีพบว่าศาลตัดสินคุ้มครองไปยังอดีตกษัตริย์) 2. พระราชินี 3. รัชทายาท และ 4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี
ในภาพรวมคดีการฟ้องร้องคดีมาตรา 112 ช่วงปี 2557-2562 หรือยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ มีจำนวนอย่างน้อย 169 คดี แบ่งเป็นคดีแสดงออกทางการเมือง 106 คดี และส่วนที่เหลือเป็นการแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
ต่อมา ระหว่างปี 2561-2563 มีการหยุดดำเนินคดีมาตรา 112 ช่วงสั้นๆ และหันไปใช้มาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่นแทน แต่หลังจากการชุมนุมของม็อบราษฎรรุ่นใหม่ ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศใช้ทุกข้อกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและผู้เห็นต่างทางการเมือง และทำให้มาตรา 112 กลับใช้อย่างหนักหน่วงอีกครั้ง
ดังนั้น ตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 จนถึง 13 ม.ค. 2568 มีคดีการใช้มาตรา 112 พุ่งเป็นจำนวน 276 คน จากจำนวนอย่างน้อย 309 คดี แบ่งเป็น “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 163 คดี หรือจำนวนมากกว่าครึ่งนั่นเอง
ใครแจ้งความก็ได้
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มองผ่านกรณีแสตมป์ว่า ปัญหาหลักคือมาตรา 112 ถูกมองว่าเป็นคดีความมั่นคง และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปแจ้งความได้ กลายเป็นช่องทางให้คนที่มีปัญหาความขัดแย้งในทางส่วนตัว หยิบประเด็นนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับคนรู้จัก เท่าที่ศูนย์ทนายฯ เคยบันทึกไว้อาจมีอยู่ราว 10 คดีความด้วยกัน
ขณะที่ ‘บูม' จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าขายของออนไลน์ และผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกญาติฝั่งภรรยาที่เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งแจ้งความในมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์โซเชียลมีเดียช่วงปี 2564 จำนวน 3 ข้อความ ภายหลังศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกจิรวัฒน์ เป็นระยะเวลา 9 ปี ก่อนลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และเขาถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2566 – 13 ธ.ค. 2567 รวมระยะเวลากว่า 1 ปีเศษก่อนจะได้ประกัน
‘บูม' จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) (ถ่ายโดย แมวส้ม)
พ่อค้าออนไลน์เคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายฯ ว่า การฟ้องมาตรา 112 โดยเฉพาะเคสของเขาคือการกลั่นแกล้งกันอย่างชัดเจน เพราะคนแจ้งความคือญาติฝั่งภรรยาที่เคยมีปัญหาทะเลาะกับภรรยาเขามาตลอด
“คดีคนอื่นผมไม่รู้นะว่าเป็นยังไง แต่ของผมมันชัดมาก แล้วมันก็ทำให้เราเห็นจุดบกพร่องของกฎหมายนี้คือใครมันจะแจ้งความใส่กันก็ได้” จิรวัฒน์ กล่าว และระบุเพิ่มว่า การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้รู้เลยทันทีว่า แค่เราอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง เป็นญาติ เป็นเพื่อนกัน หากเรามีเฟซบุ๊กของกันและกัน ถ้ามีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ก็สามารถใช้แจ้งความกฎหมายข้อนี้ได้เลย
อีกตัวอย่างคือ ‘ยุทธภูมิ มาตรนอก' อีกหนึ่งผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งถูกพี่ชายที่เคยทะเลาะกันเรื่องการทำธุรกิจส่วนตัวและเรื่องอื่นๆ ทั่วไป ฟ้องโดยมีมูลเหตุมาจากการทะเลาะกันระหว่างดูทีวี พี่ชายกล่าวหาว่ายุทธภูมิเขียนคำหยาบลงบนแผ่น CD ใต้คำว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว'
แม้ท้ายที่สุด ยุทธภูมิได้รับการยกฟ้อง แต่ก็ต้องถูกจำคุกระหว่างพิจารณาคดีเป็นระยะเวลา 349 วัน ก่อนศาลมีคำสั่งยกฟ้อง
ฝั่งสนับสนุนมองเป็นสิทธิของประชาชน
แน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัคร สส.พิษณุโลก พรรครวมพลังประชาชาติไทย มองกรณีของ ‘แสตมป์ว่า การฟ้องร้องมาตรา 112 ไม่น่ากลัวเลยถ้าไม่ได้ทำผิด และการลงโทษส่วนใหญ่ก็รอลงอาญาให้โอกาสไปปรับปรุงความประพฤติตัวใหม่ ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการข่มขู่นั้น เธอเองคิดว่าถ้าเราไม่ได้ทำจะกลัวทำไม ถ้าเราไม่ได้ทำก็ไม่ควรกลัว
แน่งน้อยสนับสนุนให้มาตรา 112 เปิดโอกาสให้ใครฟ้องก็ได้เหมือนเดิม เพราะเป็นสิทธิของประชาชนในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์คงไม่ลดตัวลงมาฟ้องร้องด้วยตัวเอง แต่เธออยากเสนอเพิ่มเติมว่า ก่อนฟ้องร้องมาตรา 112 ควรทักไปคุยก่อนว่าให้ลบข้อความ เตือนว่าไม่ดี สุ่มเสี่ยง เพราะหากมีการฟ้องร้องจะมีผลกระทบตามมาอีกมาก แต่ถ้าคนดังกล่าวยังยืนยันว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกแล้ว เขาต้องการแบบนี้ ก็ค่อยว่ากันอีกสเตปหนึ่ง
อนึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกข้อมูลระหว่างปี 2565-2568 พบว่ามีการต่อสู้คดีและศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 87 คดี แบ่งเป็น
- ยกฟ้อง 19 คดี
- ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 50 คดี
- ลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญา 11 คดี
- ยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น 4 คดี
- ยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยที่เหลือ 3 คดี
แม้ว่าผู้สนับสนุนมาตรา 112 มักมองว่าต่อให้ถูกฟ้องร้อง แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ทำผิดจะกังวลทำไมเพราะสุดท้ายจะมีการยกฟ้อง แต่ในมุมมองของทนายเมย์ มองว่า คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 บางคนถูกศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมา ทั้งเรื่องชีวิตครอบครัว การงาน โอกาสหลายอย่าง บางคนเลิกกับแฟน สูญเสียสมาชิกครอบครัวระหว่างที่ถูกคุมขัง ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่า ต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาสุดท้ายจะชนะคดี แต่ก็เหมือนพ่ายแพ้ในชีวิตจริง เพราะว่าพวกเขาต้องสูญเสียอะไรหลายอย่าง
ย้อนดูคดีในอดีตจากความขัดแย้งส่วนตัว สู่การฟ้องร้อง
เพื่อให้ภาพการฟ้องร้องจากประเด็นความขัดแย้งส่วนตัวชัดเจนขึ้น ผู้สื่อข่าวได้สำรวจฐานข้อมูลคดีความของ iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีบางส่วนที่มีมูลเหตุลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของแสตมป์ คือการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีเหตุมาจากการทะเลาะกันส่วนตัวในเรื่องอื่น โดยมีตัวอย่างดังนี้
ปีของคดี | ชื่อผู้ถูกกล่าวหา | มูลเหตุของคดีความ | คำพิพากษา | ผลกระทบ |
2552 | ยุทธภูมิ มาตรนอก |
ถูกพี่ชายที่เคยทะเลาะเรื่องการประกอบธุรกิจส่วนตัว และเรื่องทั่วไป แจ้งความตามมาตรา 112 มูลเหตุจากการทะเลาะกันระหว่างดูทีวี และกล่าวหาว่าเขียนคำหยาบลงบนแผ่นซีดี ใต้คำว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ |
ยกฟ้อง | ถูกฝากขังเป็นระยะเวลา 349 วัน หรือเกือบ 1 ปี ก่อนยกฟ้อง |
2549 | อัศวิน (สงวนนามสกุล) | ถูกสกาวเดือน จริยากรกุล เจ้าของโครงการเอราวัณ รีสอร์ท ซึ่งเคยมีประเด็นขัดแย้งเรื่องธุรกิจ แจ้งความมาตรา 112 โดยอ้างว่า ‘อัศวิน’ เคยพูดจาพาดพิงกษัตริย์ 3 ครั้ง | ยกฟ้อง | |
2557 | ศศิวิมล (สงวนนามสกุล) |
มีประชาชนจำนวน 9 รายไปแจ้งความดำเนินคดี ‘รุ่งนภา ’ ว่าโพสต์เข้าข่ายมาตรา 112 แต่ศศิวิมลกลับเป็นผู้ถูกดำเนินคดี 112 เนื่องจากเธอเคยมีเรื่องทะเลาะกับ ‘รุ่งนภา’ ซึ่งเป็นภรรยาใหม่ของสามี เมื่อไปเล่าความขัดแย้งนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนเสนอให้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเป็นรุ่งนภาโดยเพื่อนของศศิวิมลอาสาเป็นคนดำเนินการให้แต่ใช้คอมของศศิวิมลสร้างแอ็กเคานต์ปลอมขึ้นมาพร้อมทั้งมีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 ศศิวิมล เผยว่า เธอทราบว่ามีการสร้างบัญชีปลอม แต่ไม่ทราบว่ามีการโพสต์เข้าข่ายมาตรา 112 และไม่ทราบรหัสเข้าใช้ บช.ดังกล่าว |
ศาลทหารจำคุก 28 ปี | ถูกขังตั้งแต่ชั้นพิจารณาคดี โดยศาลทหารปฏิเสธให้ประกันตัว และหลังคำพิพากษาได้รับอภัยโทษทั่วไป 3 ครั้งจนพ้นโทษออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2563 |
2558 | วิชัย (สงวนนามสกุล) |
ถูกฟ้องมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ จากกรณีที่วิชัยได้นำชื่อและภาพถ่ายของเพื่อนร่วมงานที่เคยหลอกขายพระเครื่องให้เขา มาใช้เปิดบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อน ก่อนโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ ภายหลัง เพื่อนของวิชัย ได้ไปแจ้งความที่ สภ.แม่ปิง จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดี |
ศาลทหารพิพากษาจำคุก 30 ปี 60 เดือน | ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2564 (ราว 5 ปีกว่า) เนื่องจากได้รับอภัยโทษ |
2560 | สกันต์ |
ถูกตัวแทนเรือนจำแจ้งความมาตรา 112 จากการกล่าวถ้อยคำจำนวน 3 ครั้งขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สกันต์ เคยเล่าให้ผู้สังเกตการณ์คดีฟังว่า เหตุแห่งคดีเกิดจากความขัดแย้งตอนสกันต์ ถูกคุมขัง เขาเคยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำออกกำลังกาย ซึ่งบางครั้งการเป็นผู้นำก็สร้างความไม่พอใจให้แก่นักโทษบางกลุ่ม ภายหลังนักโทษกลุ่มนั้นก็เป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ ประกอบกับความไม่ลงรอยเรื่องการเมือง |
ยกฟ้อง | การถูกร้องเรียนว่าเขาละเมิดมาตรา 112 ทำให้เขาเสียโอกาสได้รับการอภัยโทษและต้องโทษจำคุกจนครบกำหนด |
2565 | ‘บูม’ จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) | ถูกญาติของฝ่ายภรรยาที่เคยมีเรื่องทะเลาะกัน ฟ้องดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีที่ ‘บูม’ แชร์โพสต์เพจ ‘คนไทย UK’ และบุคคลทั่วไปรวม 3 โพสต์เมื่อปี 2564 |
ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 9 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 6 ปี |
ถูกจำคุกระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2566 และได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำเมื่อ 13 ธ.ค. 2567 (รวมระยะเวลาถูกฝากขังประมาณ 1 ปีเศษ) |
2565 | พลเมือง (นามสมมติ) | ทะเลาะกันทางธุรกิจ และถูกเอาแชทไลน์ไปแจ้งความ มาตรา 112 | ตัดสินจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน รอการลงโทษ 2 ปี |
ถึงเวลาทบทวน ม.112 แก้ไขสถานการณ์ได้หลายรูปแบบ
แม้ว่าจะยังไม่ทราบชัดเจนว่าข้อความของแสตมป์เข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ แต่สำหรับความเห็นของพูนสุข กรณีนี้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาเรื่องส่วนตัว และมีมาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง
ในส่วนของข้อเสนอ พูนสุขขอพูดในนามของตัวเอง โดยเธออยากเสนอเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 โดยเธอชี้แจงเพิ่มว่าการยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้แปลว่ายกเลิกการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ได้รับการคุ้มครองเทียบเท่าบุคคลทั่วไป ผ่านกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา ซึ่งจะทำให้บทลงโทษลดลง และมีหมวดยกเว้นการรับผิดรับโทษ
พูนสุข พูนสุขเจริญ
“การยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันฯ เพียงแต่การคุ้มกันในทางกฎหมายอาจจะลดลงมา ซึ่งการลดลงมาอาจจะสอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ” ทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าว
หากการเสนอยกเลิกแล้วเกิดความขัดแย้งหรือยังเป็นไปไม่ได้ พูนสุข มองว่า การแก้ไขมาตรา 112 ก็ควรกำหนดให้มีผู้กล่าวหาเป็นการเฉพาะ อย่างเช่นสำนักราชเลขาธิการฯ หรือสำนักพระราชวัง เป็นผู้ฟ้องร้องแทนกษัตริย์ หรือควรมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมากลั่นกรองเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องกลั่นแกล้งกัน
ทนายพูนสุข เชื่อว่า นอกจากบทกฎหมายแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็มีปัญหา เธออยากเรียกร้องให้หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมมีความมั่นใจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรง โดยไม่ถูกมองว่าขาดความจงรักภักดี
สุดท้าย ทนายพูนสุข มองว่า ควรมีการปรับลดเพดานอัตราโทษขั้นต่ำของมาตรา 112 ซึ่งอัตราโทษปัจจุบันสูงเกินสัดส่วนของการกระทำผิด เพื่อให้ศาลมีดุลยพินิจในการสั่งลงโทษมากขึ้น
จากการสังเกตการณ์ เธอพบว่าเวลาศาลมีคำพิพากษาส่วนใหญ่จะสั่งลงโทษเพดานขั้นต่ำสุดที่ 3 ปี นั่นแสดงว่าศาลอาจพิจารณาแล้วว่าบทลงโทษสูง เลยลงโทษต่ำสุดตามเพดานขั้นต่ำ เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ไหมที่จะกำหนดเพดานการลงโทษให้ต่ำกว่า 3 ปี
อนึ่ง ก่อนหน้าปี 2519 อัตราโทษมาตรา 112 เคยเท่ากับมาตรา 116 คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี โดยเหตุที่มาตรา 116 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เนื่องจากเป็นคดีทางการเมือง บางทีศาลอาจมีดุลพินิจไม่สั่งลงโทษ หรือไม่ลงโทษอัตราสูงมากนัก
พูนสุขมองว่า ช่วงระหว่างที่เรากำลังถกเถียงเรื่องความเหมาะสมของการใช้มาตรา 112 กระบวนการยุติธรรมควรให้สิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี หรือทำในสิ่งที่หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมเคยทำมาแล้ว คือพยายามไม่บังคับใช้มาตรา 112 (ระหว่างปี 2561-2563) ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สถานการณ์คดีความทางการเมืองคลี่คลายลง
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )