หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ แนะนำบทความ “Embodying ‘Thainess’ and the post-2006 coup crisis in Buppesannivas (Fancy Future)” ของศรัณย์ภัทร์ บุญฮก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำเสนอประเด็นจากละคร “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 3 ในปี 2561
ละครโทรทัศน์เรื่องดังกล่าวเขียนบทโทรทัศน์อิงจากฉบับนวนิยายของ “รอมแพง” เล่าเรื่องราวของเกศสุรางค์ ที่ย้อนเวลาปัจจุบันกลับไปอยู่ในร่างของ “การะเกด” ย้อนกลับไปในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพแทนของขุนนางต่างชาติที่เป็น “ตัวร้าย” และจบลงด้วยเหตุการณ์ยึดอำนาจปราบฟอลคอน และตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวงโดยพระเพทราชา
และเนื่องจากฉบับนวนิยายตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2553 จึงมีจุดเชื่อมโยงกับบริบทการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 โดยบทความยังเสนอว่า “บุพเพสันนิวาส” นำเสนอเรื่องเล่าหลักของแนวคิดราชาชาตินิยม กระทั่งเปิดพื้นที่ในการสนทนากับปัญหาวิกฤติชาติที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร สะท้อนถึงความกังวลใจต่อภาวะการแบ่งขั้วทางการเมืองและการตีความเรื่อง “คนดี” ของสังคมไทย
อ่านบทความที่ Saranpat Boonhok (2024) Embodying ‘Thainess’ and the post-2006 coup crisis in Buppesannivas (Fancy Future), South East Asia Analysis, 32:3, 304-323, https://doi.org/10.1080/0967828X.2024.2436519
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )