เหล้าเถื่อนทำให้ถึงตายได้อย่างไร สังเกตอย่างไรว่าเครื่องดื่มนั้นเป็นพิษ ?

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เหล้าเถื่อนมักถูกขายโดยบรรจุในถุงพลาสติก

Article data

  • Author, สุเนธ เปเรรา
  • Role, บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส

เกิดเหตุต้องสงสัยว่ามีการวางยาพิษหมู่ในลาวซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวอย่างน้อย 5 คนเสียชีวิต หลังจากรายงานข่าวและหลักฐานจากโลกออนไลน์ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาอาจดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลเป็นส่วนผสม ซึ่งเป็นส่วนผสมร้ายแรงที่มักพบในเหล้าเถื่อน

ผู้เสียชีวิตดังกล่าว ได้แก่ เบียงกา โจนส์ วัย 19 ปี ชาวออสเตรเลีย, ชายชาวอเมริกัน 1 คน และหญิงชาวเดนมาร์ก 2 คน ซึ่งมีอายุ 19 และ 20 ปี โดยทั้งหมดเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การตายของพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ

ล่าสุดมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ชื่อว่า ซีโมน ไวท์ เธอเป็นทนายความชาวอังกฤษวัย 28 ปี

กรณีที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์ไปจนถึงเปรู โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 57 คนในอินเดีย หลังจากดื่มสุราที่มีเมทานอลเป็นส่วนผสม

ที่มาของภาพ, BBC Tamil

คำบรรยายภาพ, สัตยาบอกว่าเธอโชคดีที่ยังมีชีวิตรอด หลังจากดื่มเหล้าเถื่อนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน

“คนส่วนใหญ่ที่ดื่มกับฉันในวันนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นฉันคิดว่าตัวเองไม่น่าจะรอด” สัตยา หญิงสาวที่ดื่มเหล้าเถื่อนในอินเดียโดยไม่รู้ตัว กล่าว

Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ

Stay of เรื่องแนะนำ

ขณะที่มูรูกันต้องเข้ารับการรักษาตัวหลังจากดื่มเหล้าชุดเดียวกัน เขาบอกว่า “ผมเป็นหนี้แพทย์ที่ทำให้รอดมาได้ ผมไม่คิดเลยว่าจะรอดมาได้ ผมหมดสติและกลัวมากว่าจะต้องตาย”

สัตยาและมูรูกันเป็นหนึ่งใน 219 คนที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐทมิฬนาฑูซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังดื่มเหล้าที่มีส่วนผสมของเมทานอลเข้าไป

“ผมดื่มแอลกอฮอล์มากว่า 20 ปี แต่ช่วงที่อยู่โรงพยาบาลรู้สึกว่าแต่ละวันเนิ่นนานเป็นปี ผมจะไม่ดื่มอีกแล้ว” มูรูกันบอกกับบีบีซีแผนกภาษาทมิฬ

เช่นเดียวกับเหยื่อรายอื่น ๆ บนโลกนี้ ผู้ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลในทมิฬนาฑูต่างไม่รู้ตัวเลยว่าพวกเขากำลังดื่มเครื่องดื่มที่เป็นพิษ

คำบรรยายภาพ, หลังจากดื่มเหล้าเถื่อนและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

รายงานของสหภาพสิทธิผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศรัสเซีย ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 คน ทุกปี เนื่องจากดื่มเหล้าปลอม ขณะที่ในอิหร่านพบรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 44 คนจากแอลกอฮอลล์เป็นพิษเมื่อปี 2020

นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย forty five คนในอินโดนีเซียในปี 2018 หลังจากดื่มเหล้าต้มที่ผลิตเอง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้หญิงคนหนึ่งจากอินโดนีเซียถือรูปถ่ายสามีที่เสียชีวิตหลังจากเขาดื่มเหล้าเถื่อนที่เรียกว่า “โอโปลซาน” เข้าไป

เมทานอล

กรณีการเสียชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเมทานอล ซึ่งเป็นสารประกอบเป็นพิษที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย เช่น เหล้าต้มและเหล้าเถื่อน โดยเมทานอลถูกผลิตขึ้นระหว่างกระบวนการบ่มและทำให้เข้มข้นขึ้นผ่านกระบวนการกลั่นอีกครั้งหนึ่ง

ผู้ผลิตเชิงพาณิชย์จะลดระดับของมันให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค แต่นักต้มเหล้าเถื่อนมักเติมเมทานอลสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพบได้ในสีทาบ้านและสารเคลือบเงา ลงไปในเหล้าเถื่อน เพื่อทำให้เหล้าต้มมีดีกรีแอลกอฮอล์สูงขึ้น

แม้มีสารประกอบดังกล่าวในเหล้าเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ตาบอด ตับเสียหาย และตายได้

จากข้อมูลของโครงการริเริ่มเกี่ยวกับเมทานอลเป็นพิษ (Methanol Poisoning Initiative – MPi) ระบุว่า มีเหตุที่เกี่ยวข้องกับเมทานอล 60 ครั้งทั่วโลกที่ทำให้ผู้คนถึงแก่ความตาย 309 รายในปี 2023 โดยความริเริ่มนี้เกิดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยออสโลและองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์เมทานอลเป็นพิษส่วนใหญ่นั้น มักพบการรายงานจากประเทศแถบเอเชีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บางคนจากสลัมของเคนยาหันมากลั่นเหล้าแบบดั้งเดิมซึ่งมีความเป็นพิษ โดยมันมีชื่อว่า “ชานกา (Changaa)”

อาการเป็นพิษจากเมทานอลเป็นอย่างไร ?

หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ระบุว่า การบริโภคเมทานอลสำหรับภาคอุตสาหกรรมเข้าไปในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสูดดมไอระเหยหรือกลืนกิน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • โคมา
  • ชัก
  • ความเสียหายต่อระบบประสาท
  • ตาบอด
  • เสียชีวิต

ดร.เอ มูทู จากโรงพยาบาลวิทยาลัยการแพทย์ของรัฐบาลในรัฐทมิฬนาฑู อธิบายให้บีบีซีฟังว่า กรดที่ผลิตโดยเมทานอลสามารถคร่าชีวิตได้ เนื่องจาก “เมื่อกรดสะสมในไต มันขัดขวางการไหลของปัสสาวะ เกลือมีปริมาณมากขึ้น และทำให้ไตวาย”

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การบริโภคเมทานอลทำให้เกิดกรดในตับเพิ่มมากขึ้น

ตาบอด

แม้แต่เมทานอลปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเข้าไปทำลายส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาทส่วนกลางได้อย่างเฉียบพลัน และทำให้ตาบอดถาวรได้ คำเตือนนี้อยู่ในรายงานการศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสารจักษุวิทยาของอังกฤษ (British Journal of Opthamology)

นอกจากนี้ แม้แต่ระบบการแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากก็ไม่อาจกอบกู้สายตาของผู้ป่วยที่ดื่มเหล้าเถื่อน ให้กลับมาดีดังเดิมได้

วิกัส โซดิวาลา ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลลินคอล์นเคาน์ตีบอกกับบีบีซีเมื่อปี 2021 ว่า ผู้ป่วยที่มามักมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน และตาพร่ามัว โดยพวกเขาบอกว่าซื้อเครื่องดื่มจากร้านประเภทเปิดท้ายรถขายของ

“เมทานอลสามารถโจมตีเส้นประสาทตาที่ด้านหลังของดวงตาได้ นี่คือสิ่งที่อาจส่งผลต่อการมองเห็นของบุคคล และในบางกรณีมันก็ทำให้ตาบอด”

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เมทานอลสามารถทำลายเส้นประสาทตาได้ ซึ่งในภาพคือส่วนสีน้ำเงินที่เชื่อมต่อกับตาสองข้าง

สถานการณ์ทั่วโลก

พิษจากเมทานอลส่งผลกระทบต่อประชากรที่เปราะบางทั่วโลกอย่างไม่สมส่วน และมักถูกรายงานน้อยเกินไป จากรายงานของ MPi

สาเหตุหนึ่งคือราคาสุราถูกกฎหมายนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เหล้าต้มเองกลายเป็นของดึงดูดผู้มีรายได้น้อย โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 170 คนในปี 2011 ทางตะวันตกของรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ขณะที่ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิต 100 คนในมุมไบ และเมื่อปี 2022 เจ้าหน้าที่สืบสวนพบร่องรอยของเมทานอลในร่างของวัยรุ่น 21 คนที่เสียชีวิตในไนต์คลับแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, งานศพหมู่ถูกจัดขึ้นเพื่อเหยื่อจากบาร์ที่ชื่อ Enyobeni Tavern ในลอนดอนตะวันออก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2022

การห้ามดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกห้ามในประเทศมุสลิมบางประเทศ เนื่องจากถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม หรือ ฮะรอม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เช่น อิหร่านหรืออินโดนีเซีย หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่พวกเขากำลังเผชิญในการต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตจากการดื่มเหล้าเถื่อน ก็คือความเชื่อทางศาสนาที่ต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์

ในอีกด้านหนึ่ง ความเชื่อเช่นนี้อาจทำให้ผู้คนไม่กล้าขอความช่วยเหลือหากตนเองล้มป่วยจากแอลกอฮอล์ เนื่องจากอับอายหรือกลัวถูกผู้อื่นกล่าวหาในทางเสียหาย

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คนในจังหวัดสินธิ์ของปากีสถาน เนื่องจากดื่มแอลกอฮอล์ที่ปนเปื้อน

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการบาร์ต่าง ๆ ในต่างประเทศซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราสูง ก็มีความเสี่ยงอย่างมากว่าอาจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผสมเมทานอลด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศมุสลิมส่งผลให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เช่น การลักลอบนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอิรักซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่อิหร่าน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิษ ?

คุณอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ขายเหล้าเถื่อนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก

ทางอินเตอร์โพล หรือ หน่วยงานตำรวจสากลระหว่างประเทศ แนะนำให้ผู้คนซื้อเครื่องดื่มจากผู้ขายที่มีชื่อเสียง และ “หากผลิตภัณฑ์นั้นมีราคาถูกกว่าปกติ หรือดูเหมือนไม่ได้รวมภาษีสุราเข้าไปด้วย มันอาจเป็นของปลอม”

นอกจากนี้ อินเตอร์โพลยังเตือนด้วยว่า ควร “ตรวจสอบว่าบรรจุภัณฑ์ดูมีคุณภาพต่ำหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการสะกดผิด หรือขวดที่มีรูปร่างผิดปกติ” รวมถึงควรใช้สามัญสำนึกร่วมด้วย เช่น “ระวังกลิ่นเหม็นแปลก ถ้ามันมีกลิ่นเหมือนน้ำยาลอกสีหรือน้ำยาล้างเล็บ มันก็อาจจะมีส่วนผสมเหล่านั้นอยู่”

อย่างไรก็ตาม ร้านหรู ๆ ก็อาจขายเครื่องดื่มที่เป็นพิษโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไนจีเรีย

โอเปเยมี นักวิจารณ์อาหารจากไนจีเรีย กล่าวกับบีบีซีว่า เขาป่วยหนักหลังจากดื่มวิสกี้ยี่ห้อหนึ่งซึ่งพบว่าเป็น “ของปลอม” จากไนท์คลับแห่งหนึ่งที่ชื่อพอร์ตฮาร์คอร์ต ในกรุงอาบูจา

“รสชาติมันแปลก ๆ แต่ถ้าคุณกำลังปาร์ตี้ คุณก็ไม่สนใจหรอก แต่ผมป่วยหนักมาห้าวันแล้ว” เขากล่าวเสริม

เขากล่าวว่า หลังจากโพสต์ประสบการณ์ของเขาบนโซเชียลมีเดีย หลายคนก็แชร์ประสบการณ์ที่คล้ายกันเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ปลอม ซึ่ง “ระบาด” ในหลายเมืองของไนจีเรีย ทว่าในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ก็มีอาชญากรที่กระทำการในลักษณะเดียวกัน

กรีซ

คำบรรยายภาพ, ฮันนาห์ พาวเวลล์ ตาบอด หลังจากออกไปเที่ยวกลางคืนที่กรีซเมื่อปี 2016

ฮันนาห์ พาวเวลล์ มีอาการอาเจียนและรู้สึกอ่อนล้าหลังจากออกไปเที่ยวบาร์กับเพื่อน ๆ ในเมืองซานเต ประเทศกรีซ เมื่อเดือน ส.ค. 2016 แต่มันไม่ใช่อาการเมาค้าง

หญิงวัย 23 ปีดื่มวอดก้าที่ผสมกับเมทานอลซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไตของเธอหยุดทำงานและตาบอดในเวลาต่อมา

“ดูเหมือนว่าแก๊งมาเฟียจะหาเงินโดยผลิตมันในป่า แล้วเอามาขายให้กับบาร์ในราคาถูก และบาร์ก็เติมสต็อกเหล้าของพวกเขาด้วยวอดก้าเหล่านั้น” เธอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีนิวส์บีท เมื่อปี 2019

ในปี 2009 มีผู้เสียชีวิตอีก 25 คน โดย 4 คนเป็นชาวต่างชาติ หลังจากดื่มไวน์ปาล์มที่ผสมเมทานอลซึ่งซื้อมาจากบาหลี

“ฉันลุกขึ้นมาเพื่อเปิดไฟ นั่นเป็นตอนที่ฉันเริ่มตื่นตระหนก เพราะตอนนั้นฉันรู้ว่าไฟเปิดอยู่ และฉันก็มองไม่เห็นอะไรเลย”

รัสเซีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ตำรวจเดินอยู่ในโรงกลั่นวอดก้าผิดกฎหมาย ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านคุชคิ นอกกรุงมอสโก เมื่อปี 2016

วอดก้าปลอมแพร่หลายในร้านขายของชำในรัสเซีย และจนถึงกลางปี 2000 ก็พบว่าแอลกอฮอล์เกือบครึ่งหนึ่งที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นของปลอม

ในปี 2023 มีผู้เสียชีวิต 30 รายในภูมิภาคต่าง ๆ ของรัสเซีย หลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เรียกว่า “มิสเตอร์ไซเดอร์” ซึ่งขายอย่างถูกกฎหมายในซูเปอร์มาร์เก็ต

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ รัฐบาลรัสเซียได้กำหนดกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาตที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับผู้ผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเพียงผู้ผลิตที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับเท่านั้นที่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้

ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ได้รับผลกระทบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักสิ่งแวดล้อมกล่าวหาว่าผู้ลักลอบขนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำร้ายช้างในศรีลังกา

ในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา การผลิตแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า โดยในปี 2022 เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ป่าได้ช่วยเหลือช้างตัวหนึ่งซึ่งงวงติดอยู่ในถังที่ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังกล่าวหาผู้ลักลอบขนของผิดกฎหมายว่าฆ่าช้าง เพื่อปกป้องกิจกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายในพื้นที่ป่าดงดิบซึ่งมีช้างสัญจรในเส้นทางนั้นอยู่ตลอดเวลา

เมทานอลและเอทานอล ต่างกันอย่างไร ?

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เมทานอลมีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อย และค่อนข้างถูก แต่มันอันตรายอย่างยิ่งหากนำไปบริโภค

เอทานอลและเมทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและตัวทำละลาย โดยเอทานอลซึ่งเป็นสารเคมีราคาแพง สามารถพบได้ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ และสุรา

การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ปวดหัวและคลื่นไส้ แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นอยู่เพียงชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม เมทานอลซึ่งมีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อยและมีราคาค่อนข้างถูกนั้น มีพิษสูงและไม่ได้ผลิตมาเพื่อการบริโภค

ในอดีต สารเคมีป้องกันการแข็งตัวนี้กลั่นมาจากไม้ และเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “แอลกอฮอล์จากไม้”

รวบรวมโดยบีบีซีนิวส์เซอร์วิส ซึ่งได้มาจากบีบีซีแผนกภาษทมิฬ บีบีซีนิวส์เอเชีย บีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซีย บีบีซีนิวส์แอฟริกา บีบีซีนิวส์รัสเซีย บีบีซีนิวส์บีท และบีบีซีนิวส์ออนไลน์