เปิดเส้นทาง 20 ปี ของครอบครัวเหยื่อสึนามิที่ได้กลับมาแค่สถานะ “บุคคลสูญหาย” แม้ตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์อัตลักษณ์
Article recordsdata
- Creator, ปณิศา เอมโอชา
- Feature, ผู้สื่อข่าว.
หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้มีภาพและเนื้อหาที่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 อรชุมา สมุทรสาคร เด็กสาวชาวพังงาวัย 17 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ที่ภูเก็ต ในเวลานั้น ได้รับโทรศัพท์จากญาติเพื่อแจ้งข่าวว่า พวกเขา “หาแม่ (ของเธอ) ไม่เจอ”
“ตกใจอยู่ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มันคืออะไรที่เกิดขึ้น ทำไมถึงหายไป” เธอย้อนความรู้สึกให้.ฟัง
ครอบครัวของอรชุมา คือ หนึ่งในครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มพื้นที่รอบ ๆ ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงภาคใต้ทางฝั่งอันดามันของไทย ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายในหลายจังหวัดรวมกว่า 8,800 ราย
หลังเหตุการณ์ผ่านไปได้หนึ่งสัปดาห์ อรชุมาเดินทางกลับมายังที่ อ.ตะกั่วป่า
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Live of เรื่องแนะนำ
ตอนนั้นเด็กสาวในวัย 17 ปี ไม่ได้ต้องไปตามหาศพแม่ของตัวเองด้วยการเดินเข้าไปตามลานเก็บศพ อย่างเช่นที่วัดนิกรวราราม หรืออีกชื่อที่คุ้นหูกันกว่าอย่าง “วัดย่านยาว” เพื่อตามหาดูว่า ร่างที่นอนอยู่นั้น คือมารดาผู้เป็นที่รักหรือไม่… เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของป้าและน้าของเธอ
หลังจากทราบข่าวเรื่องคลื่นยักษ์สึนามิหนึ่งวัน หนูเล็ก สรรพิบูลย์ ป้าของอรชุมา ออกตามหาน้องสาวที่หายไปของเธอ เธอบอกกับเราว่า “ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าคลื่นยักษ์คืออะไร” และคิดว่าน้องสาวอย่าง อัมพร สมุทรสาคร ซึ่งขณะนั้นทำงานในโรงแรมแห่งหนึ่งหน้าหาดเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา คงไม่เป็นอะไรมาก
“เขา (เจ้าหน้าที่) ไม่ให้เข้าไปหน้าหาด” หนูเล็กบอกถึงเหตุผลที่ในวันเกิดเหตุ เธอไม่สามารถจะออกไปตามหาน้องสาวได้ทันที
ในวันถัดมาทั้งหนูเล็ก และสุกัญญา เหล่ากอ น้องสาวอีกคนของเธอ ก็พากันออกตามหา ‘ผู้เป็นน้องสาว' สำหรับหนูเล็ก และ ‘ผู้เป็นพี่สาว' สำหรับสุกัญญา
“ไปเฝ้า ไปหากันในวัด จนเหม็น ไปนั่งมองศพเลย โชคดีว่าไม่กลัวผี แต่ก็จำไม่ได้หรอก” หนูเล็ก เล่า
หลังไปตามดูศพกันอยู่หนึ่งสัปดาห์ หนูเล็กเล่าว่า เจ้าหน้าที่มาบอกกับเธอว่าให้ไปหาแม่หรือลูกของผู้สูญหายมาเก็บหลักฐานพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
และนั่นเป็นตอนที่อรชุมากลับตะกั่วป่าพอดี…
เรื่องเล่าเกี่ยวกับการพิสูจน์อัตลักษณ์
ในมุมมองของชาวบ้านคนหนึ่ง หนูเล็กไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเธอเองก็พาแม่ของเธอซึ่งยังมีชีวิตอยู่ตอนนั้น และพาอรชุมาไปตรวจเก็บหลักฐาน แต่สุดท้ายก็ไม่พบร่างของอัมพรอยู่ดี
“เราอยากได้ศพ ก็เลยไปตรวจดีเอ็นเอ เขาบอกว่าให้ไปเอาแม่กับลูกมาตรวจ แต่พอทำแล้วก็ไม่เจอ ตรวจแม่ ตรวจลูกก็ไม่เจอ” หนูเล็กเล่าถึงความสิ้นหวังในเวลานั้น
สำหรับขั้นตอนและกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลนั้น อรชุมา บอกว่าเธอเข้าใจอยู่บ้างในเบื้องต้นว่าเป็นการตรวจดีเอ็นเอว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าใช่…ก็น่าจะเป็นแม่
เธอเล่าว่าการเข้าไปเก็บหลักฐานอัตลักษณ์ไม่ได้ยากหรือวุ่นวายอะไร เจ้าหน้าที่ใช้คอตตอนบัดขูดช่วงกระพุ้งแก้มและเก็บเส้นผมของเธอไป
เราถามเธอต่อว่า เหตุการณ์ต่อจากนั้นเป็นอย่างไร
“จากนั้น มันก็เงียบไปเลย หลังจากนั้นก็เงียบไปเลย ไม่มีอะไรตอบรับกลับมาเลยว่าเจอไหม หายไปเลย จากวันนั้นจนถึงวันนี้”
“เขา (เจ้าหน้าที่) แจ้งมาว่า ให้ไปตรวจดีเอ็นเอ แล้วก็ทิ้งเบอร์โทรไว้ ถ้าเจอเขาก็จะโทรมาบอกเรา” เธอเสริม
หลังจากเวลาผ่านไป ด้วยความพยายามในทุกทาง ทั้งการไปเดินตามหาศพ ซึ่งเมื่อนานวันเข้าก็ไม่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากร่างผู้สูญเสียเริ่มเน่าและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ไปจนถึงการไปตรวจดีเอ็นเอและรอการติดต่อกลับ
สุดท้ายครอบครัวนี้ “ก็หยุด ไม่หาแล้ว ไม่เจอ ก็ไม่อยากหาแล้ว” หนูเล็ก ซึ่งเป็นหัวแรงในการตามหาน้องสาวกล่าว และบอกว่า “หาจนเวียนหัว หาจนหมดใจ หมดปัญญา เพราะเราต้องกินต้องใช้ มัวแต่หาเรื่อย ๆ ตังค์ไม่มี”
“เวลาผ่านไปอีกเป็นเดือน เพราะต้องรอศาลสั่งให้เป็นคนสูญหาย จนถึงตอนนี้ใบมรณบัตรเราก็ยังไม่ได้ ยังเป็นบุคคลสูญหาย ไม่ได้ตาย สุดท้ายระยะเวลามันทำให้เราทำได้แค่ทำบุญ” อรชุมา ในวัย 37 ปี บอกกับเรา
“ถึงจะเป็นบุคคลสูญหาย แต่ไม่ถูกลืมแน่นอน นั่นแม่เรา”
“โกลาหล” เสียงจากหมอชันสูตรที่ลงหน้างาน
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในแพทย์อาสาที่ลงไปช่วยงานด้านนิติเวชตอนเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 เล่าให้.ฟังว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยกับการจัดการร่างผู้เสียชีวิตตอนนั้นคือ การขาด “ผู้สั่งการ”
“ด้วยเหตุการณ์นี้เกิดหลายที่ และจำนวนศพมีเยอะมาก พอมันเยอะมาก เราไม่เคยเจออะไรพวกนี้แน่ ๆ มันเกิดเป็นความโกลาหล แต่ละคนไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร การสั่งการก็ลำบาก ศพก็มาเพิ่มเรื่อย ๆ” นายแพทย์ผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บอก
จุดบอดสำคัญของการขาดผู้สั่งการในช่วงที่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ อธิบายว่าเป็น ‘เฟสแรก' หรือช่วงเวลาตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนถึง 3 สัปดาห์หลังจากนั้น คือ แม้จะมีแพทย์นิติเวชอาสาเดินทางลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด แต่การจัดการกับข้อมูลผู้เสียชีวิตเป็นชนิดที่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการรวมศูนย์ ไม่มีการแชร์ข้อมูลให้กันและกัน หรือหมายความว่า ข้อมูลของร่างผู้เสียชีวิตที่ไปรวมกันอยู่ที่วัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ก็จะไม่ถูกแชร์กับข้อมูลของผู้เสียชีวิตในสถานที่เก็บร่างในจุดอื่น
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชี้ว่า ตามหลักการขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) จะมีกระบวนการที่เรียกว่า การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติ (Catastrophe Victim Indentication : DVI) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ระบุอัตลักษณ์บุคคลของเหยื่อจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งจากเหตุการณ์ที่มนุษย์ก่อขึ้นหรือปรากฎการณ์ธรรมชาติ
เขาสรุปขั้นตอนของ DVI ไว้ว่า จะมีแบบฟอร์มมาตรฐานสำคัญ 2 ฉบับ ที่เจ้าหน้าที่ต้องกรอก ฉบับแรกเรียกว่า “yellow construct” (ฟอร์มสีเหลือง) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลของบุคคลก่อนเสียชีวิต (ante-mortem) โดยตามหลักการแล้วจะส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ไปสืบค้นข้อมูล
“โยนตรงนี้ให้ตำรวจ แล้วไปดูหน่อยว่าคนที่หายไปมีอะไรก่อนหน้านี้อะไรบ้าง เช่นชื่อ นาย ก. มีเครื่องแต่งกาย มีรอยสัก มีข้อมูลฟันยังไง มีเอ็กซเรย์ยังไง ส่งมา” นพ.ภาณุวัฒน์ อธิบาย
ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จะกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มที่เรียกว่า “red construct” (ฟอร์มสีชมพู) หรือข้อมูลหลังการเสียชีวิต (put up-mortem) ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึงการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ทางชีวภาพให้มากที่จะมากได้ เช่น ลายนิ้วมือ การตรวจฟันหรือการตรวจสอบทางทันตกรรม การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ และลักษณะทางกายภาพ เช่น รอยสัก แผลเป็น หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อาจมีลักษณะเฉพาะตัวของผู้เสียชีวิต จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งสองมาเทียบกัน
ทว่าจากกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อันนี้ (กระบวนการนี้) มันไม่มี” ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชี้
เมื่อไม่มีฟอร์มที่เป็นสากลและเป็นมาตรฐาน ทีมนิติเวชในจุดเก็บร่างผู้เสียชีวิตแต่ละจุด ก็ทำแบบฟอร์มเฉพาะกันของตัวเองลงบนกระดาษ “อาจจะลงเป็นดิจิทัลก็แค่ Excel ของแต่ละที่ เพราะฉะนั้นจะเห็นมี 6-8 ศูนย์ มันมั่วมาก แม้แต่วัดย่านยาวก็มั่ว เพราะเป็นกระดาษเหมือนกัน เราไม่เคยมีประสบการณ์อะไรในเรื่องนี้ จนสิ่งที่เกิดหลังจากนั้นตามมา ต้องบอกว่าทุกคนตั้งใจเข้าไปช่วย แต่ด้วยระบบที่ห่วย หรือไม่ได้มีการเตรียมที่ดี ก็ต้องยอมรับ”
นอกจากเรื่องการขาดแบบฟอร์มมาตรฐานของการจัดเก็บข้อมูลและการสั่งการ อีกประเด็นสำคัญคือ การส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตผิดคน
“บางคนที่ระบุตัวได้ ญาติมาในวันแรก ๆ มันไม่มีปัญหา มีสร้อย มีแหวน มีบัตรประชาชน ถ้าเทียบได้ ก็จบไป” แต่เพราะศพจากเหตุการณ์สึนามินั้นเน่าง่าย เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้เกิดการขึ้นอืด และเป็นเรื่องยากที่ญาติจะมาดูหน้าตาแล้วหาคนในครอบครัวพบ
“ญาติก็อยากจะได้ศพ บางทีก็มาชี้ดู บางรายเข้าใจว่าน่าจะถูก เช่น เขาบอกว่าคนนี้มีตัวกระตุ้นหัวใจ เราผ่าดูแล้วว่ามี อันนั้นโอเค มีรอยสักซึ่งน่าจะใช่ อันนั้นก็ให้ไป… แต่ต้องบอกว่าเคสแบบนี้ถ้าไม่มีคนดูดี ๆ การปล่อยศพผิดหนึ่งศพ คือถือว่าผิดสองกรณีเลย เพราะมันไขว้กัน”
เมื่อเราถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการมอบร่างผู้เสียชีวิตผิด ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ตอบว่า มีอย่างแน่นอน 100% โดยเขาให้เหตุผลว่าเนื่องจากช่วงแรก ๆ เป็นการมอบร่างผ่านการประเมินด้วยสายตา
“เราคิดว่าใช่ ก็ให้ เพราะฉะนั้นเรื่องแรกเวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ คนที่เป็นกรรมการในการปล่อยศพจะมีความสำคัญ เพราะปล่อยผิดไม่ได้ ตอนนั้นเขา (ญาติ) ต้องการร่างผู้เสียชีวิตกลับไปพื้นที่ เขาอยากได้กลับไปอย่างเร็วที่สุดแต่คุณดูจากแหวน คุณดูจากสร้อย คุณดูจากอะไร แล้วคุณจะไปรู้ได้ยังไง 4,000-5,000 คน จะไม่เหมือนกัน ดูจากใบหน้าก็เริ่มยาก หลังจาก 1 วัน ยากที่จะบอกว่าเป็นใครชัดเจน”
ตรวจพิสูจน์ซ้ำ: ระยะที่ 2 และ 3 หลังเกิดเหตุ
หลังจากเวลาผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชี้ว่านี่เริ่มเป็นช่วงที่รัฐบาลตั้งตัวได้แล้ว และจากความเห็นของเขามองว่าช่วงนี้เกิดความโกลาหลอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการจัดการร่างผู้เสียชีวิตจากจุดต่าง ๆ มารวมกัน แต่ก็มีผู้สั่งการที่เป็นทางการมากขึ้น
ทว่าปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นตามมา เนื่องจากการเก็บอัตลักษณ์รอบแรกดำเนินการไปในช่วงเวลาที่แบบฟอร์มการกรอกข้อมูลไม่เป็นมาตรฐาน และเป็นจัดเก็บด้วยกระดาษ พอเข้าระยะที่สองที่มีหน่วยงานหลักเข้ามาจัดการ จึงทำให้ต้องมีการเก็บอัตลักษณ์บุคคลจากร่างผู้เสียชีวิตใหม่อีกครั้ง
“ต้องบอกว่าศพพวกนี้ที่เคยตรวจ บางศพก็เคยตรวจไปแล้ว แล้วไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน อยู่กับใคร ก็มาตรวจใหม่ พอมาตรวจใหม่สิ่งที่เกิดคือ เครื่องประดับบางทีมันโดนเอาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นจากที่มี กลายเป็นไม่มี มันจะไม่ได้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลแต่แรก เพราะเราไม่รู้ว่าคนแรกเขาทำอะไรไปบ้างแล้ว”
อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงนี้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เอาคอมพิวเตอร์เข้าจัดการข้อมูล และมีการใช้ดีเอ็นเอเข้ามาช่วยแล้ว และเริ่มใช้กระบวนการเดียวกับการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของตำรวจสากล
เขาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการติดต่อเข้ามาจากต่างประเทศ และมีทีมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล DVI ของต่างประเทศ เข้ามาเพิ่มเติม จากทั้งแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป และอเมริกา
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ สรุปว่า แม้สุดท้ายไทยจะได้รับความช่วยเหลือและมีเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน แต่เพราะการบริหารจัดการช่วงแรกที่ “มั่วซั่ว” ไปแล้ว จึงทำให้การตรวจสอบอัตลักษณ์ทางชีวภาพครั้งต่อ ๆ มายากขึ้น และแม่นยำน้อยลง
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่.รวบรวมได้ พบรายงานความช่วยเหลือของทีมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล DVI ต่างประเทศเดินทางมาถึงประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงวันแรก ๆ หลังเกิดเหตุ เช่น ทีม DVI ของสิงคโปร์ ที่เดินทางมาถึงภูเก็ตเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2547 หรือทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ในสังกัดโครงการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย
ขณะที่ข้อมูลของตำรวจสากลระบุว่า ทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาถึงไทยตั้งแต่ช่วงแรก ๆ แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาชัดเจน และปฏิบัติงานการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เสียชีวิตจากสึนามิในไทยนานกว่า 12 เดือนหลังเกิดเหตุ
จากข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 15 เม.ย. 2548 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลในช่วง 3 เดือนแรกหลังเกิดเหตุพบว่า กระบวนการระบุอัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต สามารถระบุตัวบุคคลได้ประมาณ 1,800 ราย จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด 5,395 ราย ในจำนวนนี้ราว 50% ไม่ใช่พลเมืองของประเทศไทย
20 ปีที่ผ่านมา ไทยพัฒนาการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลไปมากแค่ไหน
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์สาขานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย อธิบายกับ.ว่า ในมิติของเทคโนโลยี การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลมีการพัฒนาไปตามช่วงเวลา คือการตรวจดีเอ็นเอสามารถทำได้เร็วขึ้น ภายใน 1-2 วัน
อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่า ในกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์ การตรวจดีเอ็นเอไม่ได้เป็นขั้นตอนเดียวและไม่ใช่ขั้นตอนแรก แต่มีเครื่องมืออื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นมากแล้วที่สามารถเข้ามาช่วยงานได้ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่สำหรับการตรวจฟัน และอีกเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้คือ ระบบตู้เย็นเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถช่วยรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเร็วขึ้นได้
“ถ้าบอกว่าเทคโนโลยีมีอะไรเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์เล็ก ๆ แต่มันมีความสำคัญ แต่ผมมองว่าระบบการตรวจ ไม่ได้ต่างจากเดิม” นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวกับ.
ในความเห็นของ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ซึ่งขณะที่เกิดเหตุสึนามิเมื่อ 20 ปีก่อน ยังเป็นนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง และไม่ได้ลงไปอยู่หน้างาน เขาเห็นด้วยกับ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ว่าทั้งกฎหมายที่ล้าสมัยและการขาดการซักซ้อมทำให้สถานการณ์ในตอนนั้นมีความวุ่นวาย อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่ากฎหมายปัจจุบันซึ่งปรับปรุงเรื่องการระบุผู้บัญชาการเหตุไว้อย่างชัดเจน จะช่วยให้ประเทศรับมือกับเหตุการณ์ได้ดีขึ้น
“ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ถ้าเหตุเกิดอีก ตอนนี้จะทำได้ พูดง่าย ๆ สึนามิ เหมือนมาเร่งให้ระบบการจัดการผู้เสียชีวิตในกรณีอุบัติภัยหมู่ดีขึ้นมาก ๆ ปัจจุบันมันสามารถจัดการได้ดี ในหลาย ๆ ครั้ง สังเกตว่าเราสามารถปล่อยศพได้เร็ว เช่น เรือล่ม 2-3 วัน ก็ปล่อยได้ หรืออย่างเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู 2-3 วัน ก็ปล่อยได้”
ทว่า ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ มีความเห็นที่ต่างออกไปเล็กน้อย เขาชี้ว่า จริงอยู่ที่ทีมเจ้าหน้าที่ของไทยมีการฝึกอยู่บ้าง แต่ “ถ้ามาเจอแบบสึนามิอีก ก็ลำบากอีก” เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากเกินไป
“ผู้นำต้องดีก่อน ทีมนิติเวชต้องแข็งก่อน พอเจอเหตุปุ๊บ ตัดสินใจเลยว่าจะเอายังไง แล้วต้องใช้ทุกอย่างในระบบเดียวกัน ตรวจในระบบเดียวกัน แล้วฐานข้อมูลทั้งหมดลิงก์เข้าไปอยู่ตรงกลาง ซึ่งถามผม [ปัจจุบัน] ยังไม่พร้อมมากขนาดนั้น” ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ให้ความเห็น
“ถ้าถามผม ในตัวเลข (ผู้เสียชีวิต) 500 ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นแบบเดิม 4,000 กว่า ผมว่ามันก็ยังมีความยุ่งเหยิง”
แพทย์นิติเวชผู้นี้ ยังคงยืนยันว่า กระบวนการจัดการต่าง ๆ ไม่ได้ยาก แต่จำเป็นต้องทำให้เป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุ “ศพหาย หาศพไม่เจอ” หรือเกิดการจ่ายศพผิดออกไป และเพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตสาเหตุได้รับร่างของคนที่พวกเขารักกลับไปได้
กลับมาที่อรชุมา ซึ่งกำลังนั่งให้สัมภาษณ์เราพร้อมกับอุ้มลูกของเธอเอาไว้ เธอทิ้งท้ายกับเราว่า หากระบบการทำงานของทีมเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเป็นระบบกว่านี้ “อย่างน้อยเราก็ได้ซักถาม หรือติดต่อสอบถามอะไร ไปได้ นี่เราไม่รู้ที่มาที่ไปอะไรเลย”
เธอเล่าให้.ฟังว่า ครั้งหนึ่งหลังจากที่เธอไปให้ข้อมูลอัตลักษณ์ทางชีวภาพของตัวเองกับเจ้าหน้าที่และต้องการไปติดตามผล เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกับเธอว่า ให้รอเจ้าหน้าที่อีกชุดติดต่อกลับไป
“แต่เราไม่เคยได้รับสายโทรศัพท์นั้น” อรชุมา กล่าว หลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านไป 20 ปี
*ความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิในไทยเมื่อปี 2547:
ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 11 ต.ค. 2548 ระบุว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งนั้น ได้คร่าชีวิตคนไป 5,395 คน แบ่งเป็นคนไทย 2,059 คน ชาวต่างชาติ 2,436 คน และยังไม่ระบุสัญชาติอีก 900 คน
ขณะที่ผู้สูญหายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,817 คน เป็นคนไทย 1,921 คน และต่างชาติ 896 คน
ในจำนวนนี้มีผู้สูญหายที่ จ.พังงา มากที่สุด 1,655 คน รองลงมาคือ ภูเก็ต 608 คน กระบี่ 544 คน ระนอง 9 คน และตรัง 1 คน
ประชาชนประสบภัยทั้งสิ้น 58,550 คน
ที่มา BBC.co.uk