60 ปี รถไฟชินคันเซ็น รถไฟหัวกระสุนเปลี่ยนโฉมญี่ปุ่นไปอย่างไร ?
Article knowledge
- Author, พอล คาร์เตอร์
- Purpose, บีบีซี
60 ปีหลังจากการเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของโลก ผมผู้ชื่นชอบรถไฟได้กลับไปนั่งรถไฟหัวกระสุนเพื่อเดินทางไปในเส้นทางที่เรียกว่า “เส้นทางสีทองสายใหม่”
ผมยืนอยู่บนชานชาลา 19 ของสถานีโตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิหารที่พลุกพล่านไปด้วยการเดินทางระบบรางสมัยใหม่
มันเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว รถไฟชินคันเซ็นขบวนแรกได้ออกเดินทางที่นี่ เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองท่าโอซากา
ชินคันเซ็นที่เป็นที่จดจำได้ทันทีจากรูปร่างหัวขบวนรถที่มีลักษณะคล้ายจมูกลาดเอียงและโค้งตามหลักอากาศพลศาสตร์
มันเป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของโลกและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในชื่อภาษาอังกฤษที่แปลว่า รถไฟหัวกระสุน (the bullet speak)
Skip เรื่องแนะนำ and proceed discovering outเรื่องแนะนำ
Conclude of เรื่องแนะนำ
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงโตเกียวและเมืองโอซากา มีชื่อว่า โทไคโกชินคันเซ็น หรือรู้จักในบรรดานักท่องเที่ยวว่า “เส้นทางสีทอง” ซึ่งเป็นการนำพาผู้โดยสารเดินทางไปมาระหว่าง 2 เมืองที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ผ่านความงดงามของภูเขาไฟฟูจิและเมืองหลวงโบราณเกียวโตในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง
ท่ามกลางฝูงชนที่ขึ้นลงรถไฟชินคันเซ็น (ซึ่งขึ้นชื่อในความแม่นยำในหลักนาที) ผมได้พบกับ นาโอะยูกิ อูเอโนะ อดีตคนขับรถไฟชินคันเซ็น ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถไฟกลางของญี่ปุ่น
เขาบอกกับบีบีซีว่ารถไฟขบวนนี้บรรทุกผู้โดยสารราว 6.8 พันล้านคนทั่วญี่ปุ่น นับตั้งแต่การเปิดตัว
“ผมภูมิใจในชินคันเซ็นมาก” เขากล่าว “ในฐานะชาวญี่ปุ่น ผมภูมิใจกับสิ่งนั้น”
นับตั้งแต่เส้นทางแรกเปิดให้บริการในปี 1964 เครือข่ายรถไฟชินคันเซ็นได้ขยายตัวอย่างมาก ทำให้นักเดินทางสามารถสำรวจภูมิประเทศอันน่าทึ่งและเมืองที่ห่างไกลได้ง่ายขึ้น (รวมถึงเร็วมากขึ้น) โดยปัจจุบันมีรถไฟชินคันเซ็น 9 สายทั่วประเทศ ครอบคลุมหมู่เกาะฮอกไกโด ฮอนซู และ คิวชู
เมื่อเดือน มี.ค. 2024 ส่วนต่อขยายส่วนล่าสุดของสายโฮคุริกุชินคันเซ็นได้เปิดให้บริการ โดยเชื่อมต่อเส้นทางไปยังสึรุกะ
สายโฮคุริกุได้รับการขนานนามว่าเป็น “สายสีทองเส้นทางใหม่” ซึ่งมันเป็นเส้นทางที่ผมใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางครั้งนี้ เพราะมันเชื่อมต่อกับบริการขนส่งอื่น ๆ และเส้นทางท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย
หนึ่งในความเยี่ยมยอดของรถไฟหัวกระสุนคือ มันสามารถพาคุณออกจากเมืองโดยไม่รู้สึกถึงเวลาเลยแม้แต่น้อย และมอบอิสระในการสำรวจมุมต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อลงจากชินคันเซ็นในเมืองโทยามะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวเพียง 2 ชั่วโมง ผมขึ้นรถไฟรางเดี่ยวขนาดเล็กเพื่อเดินทางไปยังอุนาซึกิ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันน่าทึ่ง และมีชื่อเสียงว่าเป็นบ่อน้ำพุร้อนดั้งเดิมของญี่ปุ่น เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมอันงดงามของหุบเขาคุโรเบะ ความหมายของชื่อเมืองนี้ยังหมายถึงน้ำพุด้วย และเราสามารถเจอบริการสปาเท้าแบบร้อน ๆ ได้ที่ปลายชานชาลาของสถานีรถไฟ
ไกด์นำเที่ยวมีชื่อว่า ฮาชิโมโตะ ยูกิโนริ หรือ ยูกิ เขาเชิญผมไปที่ออนเซ็นสุดโปรดแห่งหนึ่งในเมืองซึ่งรายล้อมไปด้วยทิวทัศน์อันกว้างไกลของหุบเขา
เขาอธิบายให้ฟังว่าโดยธรรมเนียมแล้วต้องเปลือยทั้งหมด เมื่อใช้บริการบ่อน้ำพุร้อน ดังนั้นออนเซ็นจึงไม่เหมาะกับคนใจเสาะ อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส และยูกิบอกด้วยว่าบางครั้งก็ร้อนกว่านี้
“ในญี่ปุ่น เรามีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่มากมาย ดังนั้นจึงมีน้ำพุร้อนมากมายทั่วญี่ปุ่น มันช่วยผ่อนคลายและเยียวยาจริง ๆ” เขากล่าว “ธรรมชาติมีความสำคัญกับชาวญี่ปุ่นมาก เพราะพวกเรามีเกาะ มีภูเขาไฟ และภัยพิบัติจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงกลัวและให้ความเคารพกับธรรมชาติมาก”
ยอดมงกุฎของบ่อน้ำพุร้อนอุนาซึกิ คือเส้นทางรถไฟคุโรเบะ จอร์จ อย่างน้อยก็สำหรับคนที่รักรถไฟเช่นผม
มันเป็นเส้นทางแคบที่สร้างขึ้นในตอนแรกเพื่อรองรับการก่อสร้างเขื่อนคุโรเบะขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่า และรายรอบไปด้วยทิวทัศน์อันงดงามระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
เมื่อกลับขึ้นมายังชินคันเซ็น ผมก็มุ่งหน้าไปยังเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องซามูไรและทองคำในยุคอดีต นั่นคือ คานาซาวะ
เมืองนี้มีชื่อเสียงด้านการผลิตทองคำเปลว Ninety nine% ของญี่ปุ่น มันเป็นเมืองที่มีความใหม่และเก่าผสมกัน แต่ก็ให้ความรู้สึกพลุกพล่านและมีชีวิตชีวา สอดแทรกอยู่ในความเงียบสงบอย่างน่าประหลาดใจ และเมื่อผมชิมไอศกรีมที่โรยด้วยทองคำเปลวเสร็จแล้ว มันก็ถึงเวลากลับขึ้นรถไฟ
จุดหมายต่อไปคือวาจิมะ เมืองในคาบสมุทรโนโตะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยช่วงวันปีใหม่ของปี 2024 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ทำลายล้างเมืองและพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่
ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้น เราจึงไม่สามารถเดินทางด้วยรถไฟได้ในขณะนี้ แต่สามารถเดินทางด้วยรถไฟขนาดเล็กไปยังเมืองอานามิสึ แล้วขับรถไปยังเมืองวาจิมะได้อย่างรวดเร็ว
ทว่าเมื่อเดินทางเข้ามายังสถานีรถไฟดังกล่าว ก็พบกับขบวนรถที่ตกแต่งด้วยธีมโปเกมอนและตัวละครสีสันสดใสจากการ์ตูนยอดนิยมของญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาผมได้ทราบว่าเหตุผลเบื้องหลังสีสันเหล่านี้ก็เพื่อนำความสุขมายังเด็ก ๆ ในท้องถิ่นที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากผลพวงของแผ่นดินไหว
การได้เห็นเมืองวาจิมะถือเป็นประสบการณ์ที่ให้ความสงบเงียบและความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ อาคารหลายหลังยังอยู่ในที่ที่มันพังถล่มลงมา ซึ่งมักอยู่ในสภาพพังทลายบางส่วน มันให้ความรู้สึกราวกับว่าเดินเข้าไปในกองถ่ายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติ แต่สิ่งที่เห็นตรงหน้านี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และมีผู้คนจริง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการซ่อมแซมและฟื้นฟูสถานที่เหล่านี้
ผมต้องการดูงานฝีมือเก่าแก่และดั้งเดิมที่สุดชิ้นหนึ่งของพื้นที่ นั่นคือเครื่องเขินวาจิมะแบบดั้งเดิมหรือวาจิมะ-นูริ ซึ่งผู้คนที่นี่มองว่าการสร้างอุตสาหกรรมเครื่องเขินขึ้นมาใหม่ คือสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขาในวงกว้าง
ทากาฮิโระ ทายะ ผู้ผลิตเครื่องเขินรุ่นที่ 10 ในวาจิมะบอกผมว่า “หากแผ่นดินไหวทำให้อุตสาหกรรมของเราพังทลาย หลายคนจะตกงาน ดังนั้นฉันควรสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับช่างฝีมือและลูกค้าของเรา และฉันก็มีลูกชายวัย 2 ปี 8 เดือน อยู่หนึ่งคน ฉันอยากมอบงานนี้ให้กับลูกชายของฉัน”
ผมนั่งชินคันเซ็นอีกครั้งเพื่อสิ้นสุดการเดินทางที่โอซากา ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองของญี่ปุ่น ขณะที่ผมเดินทางออกจากชนบทของญี่ปุ่นและมุ่งหน้ากลับไปสู่เมืองที่ขยายตัวไปยังรวดเร็ว มันก็ทำให้ผมคิดว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากเช่นไรในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
ในวันนี้ ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยเมืองที่ทันสมัยและนวัตกรรมล้ำยุค แต่ผู้คนก็ภาคภูมิใจในประเพณีโบราณและรากเหง้าของชนบท ดังนั้น ในแง่หนึ่งชินคันเซ็นคือสิ่งที่เชื่อมต่อมหานครอันหนาแน่นเข้ากับเมืองที่ห่างไกลอันเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นโดยรวม และมันทำให้ประเทศนี้ก้าวไปสู่อนาคต แต่ก็ยังคงรักษาอดีตของพวกเขาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในเวลาเดียวกัน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอะไรให้สำรวจอีกมากและแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วอย่างไม่น่าเชื่อ
ชินคันเซ็นได้เปลี่ยนโฉมประเทศนี้ให้ไปถึงสถานที่ที่แทบไม่มีใครรู้จักได้ในเวลาอันสั้นอย่างน่าประหลาดใจ ใช่แล้ว…การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงก็คือการเดินทางไปยังสถานที่อื่นด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุด แต่มากกว่านั้นคือมันเปิดโอกาสให้เราก้าวออกไป เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศและหลุดพ้นจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่อย่างแท้จริง
สุขสันต์วันเกิดชินคันเซ็น แล้วเจอกันใหม่ในอีก 60 ปีข้างหน้า
ที่มา BBC.co.uk