วัวเดินบนถนนในแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ที่มา: นักข่าวพลเมือง
จากสองตอนที่แล้ว ในขณะที่ไทยกำลังเจรจากับจีนเพื่อกำหนดแนวทางการส่งออกวัว พร้อมจัดการสารพัดโรคสัตว์ ผู้ประกอบการไทยไม่ได้นั่งรอให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่กลับดิ้นรนเพื่อพาตนเองให้อยู่ในห่วงโซ่การค้าวัวข้ามพรมแดน
โดยมีคู่ค้าหลักเป็นลาวในฐานะทางผ่านส่งวัวสู่จีน และเวียดนามในฐานะผู้ซื้อวัว ที่ประชาชนมีกำลังจ่ายเพิ่มขึ้น จากการที่เศรษฐกิจเติบโตรุดหน้าในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2564 ภายหลังการเกิดรัฐประหารในพม่าหรือเมียนมาเพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลลาวให้ข่าวว่าตนได้บรรลุข้อตกลงกับจีนในการส่งออกวัว 500,000 ตัวต่อปี โดยมีการพูดคุยเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
แม้ข้อมูลจากทางการชี้ว่า ลาวผลิตวัวในประเทศมากกว่า 1 ล้านตัวต่อปี แต่กลับสามารถส่งออกวัวได้เพียง 3,000 ตัวในระหว่างเดือน เม.ย. 2563-2564 และส่งออกได้เพียง 600 ตัวหลังจากนั้น จนถึงเดือน ส.ค. ปีนี้
สาเหตุหลักเกิดจากขนาดวัวที่ผลิตในลาวมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่จีนกำหนด เพราะขาดเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวไม่สามารถทำตามข้อกำหนดกักกันโรคสัตว์ที่เข้มงวด
จีนกำหนดให้วัวที่ส่งออกต้องเป็นสายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง แองกัส ชาร์โรเล่ส์ บราห์มัน ซิมเมนทอล แบรงกัส หรือพันธุ์พื้นเมืองของไทย ลาว อินเดีย มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350-400 กก. แต่วัวโดยทั่วไปในลาวมีน้ำหนักเฉลี่ยต่ำกว่านั้น
วัวต้องแข็งแรง กล้ามเนื้อแน่น แผ่นหลังมีเนื้อเต็ม ผิวลื่นสวย ต้องปลอดโรคปากเท้าเปื่อย และโรคติดต่ออื่น ๆ และต้องนำเข้าผ่านรัฐวิสาหกิจของจีนเท่านั้น
รถขนวัวนำสัตว์มาส่งที่ตลาดนัดปศุสัตว์ (ที่มา: ณัฐกิตติ์ มีสกุล)
ส่วนมาตรการกักกันโรค ผู้ส่งออกต้องกักกันวัวในฟาร์มของเกษตรกร forty five วัน ต่อด้วยในศูนย์กักกันที่ชายแดนลาวอีก 21-30 วัน และศูนย์กักกันในเขตชายแดนจีนอีก 7 วัน ผู้ส่งออกต้องรับผิดชอบค่าอาหารของวัวในระยะเวลานี้ เพื่อให้วัวมีน้ำหนักถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นายหน้าค้าวัวข้ามประเทศรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า จีนกำหนดให้วัวทั้งหมดต้องถูกส่งไปเมืองสิง ซึ่งมีจุดกักกันและตรวจโรคจุดสุดท้ายก่อนส่งข้ามแดน ทั้งยังมีมาตรการตรวจตราเข้มงวด ซึ่งเพิ่มต้นทุนให้กับพวกตน
การต่อรองให้จีนผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวไม่เป็นผล ผู้ส่งออกจำนวนมากจึงเลี่ยงส่งวัวไปเส้นทางบ้านนาเตย ห่างจากเมืองหลวงน้ำทาประมาณ 36 กม. จากนั้นต่อไปยังชายแดนลาว-จีนที่บ้านบ่อเต็นเป็นระยะทาง 20 กม.
อีกเส้นทางมุ่งไปยังเมืองยอดอู แขวงพงสาลี ห่างด่านลานตุ้ยของลาว ซึ่งเชื่อมต่อด่านเมืองคำของจีนเป็นระยะทาง 50 กม.
“เส้นทางทางพงสาลีสะดวกกว่า ผ่อนคลายกว่า การบังคับให้ต้องกักวัวที่เมืองสิงอย่างน้อย 21 วัน ยากที่ใครจะทำได้ แต่ละวันคือต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้นวันละ 90 บาท ทั้งที่วัวได้น้ำหนักที่ต้องการแล้ว การป้อนอาหารคือสูญเปล่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็สูญเปล่า” นายหน้ารายนี้เล่า
“แน่นอนว่ามันมีค่าเบี้ยบ้ายรายทาง แต่ก็ต่ำกว่าค่าอาหารที่จะต้องเลี้ยงวัว”
ดีลส่งออกวัวไทยไปลาว
พ่อค้าวัวไทยเล็งเห็นถึงข้อจำกัดของเกษตรกรลาว จึงจับมือกับกลุ่มทุนและรัฐบาลลาว ส่งวัวไทยไปสวมโควต้าที่ลาวได้รับจากจีน โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่มของ อุทัย ตันกูล นักธุรกิจส่งออกวัวในไทย
“ลาวยอมรับว่าศักยภาพเขาจำกัด เราไปให้ความรู้ แนะนำวิธีเลี้ยง วิธีให้อาหาร วิธีป้องกันโรค แล้วใช้โควต้าส่งออกของลาวเป็นช่องทางนำวัวเราเข้าไป ใช้ประโยชน์บนเส้นทางนี้ร่วมกัน “ อุทัยเล่า
เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัวจากเครือข่ายของตนถูกส่งเข้าไปขุนต่อในลาวเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,500 ตัว
อุตสาหกรรมวัวไทยได้ประโยชน์จากการจำหน่ายอาหารสัตว์ให้แก่ลาวด้วยเช่นกัน รัฐบาลไทยยังเริ่มผ่อนปรนให้มีการส่งออกวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปลาว เพื่อขยายพันธุ์ให้เกษตกรในลาวเลี้ยง
“กลุ่มเลี้ยงวัวขุนของเราสามารถเข้าไปร่วมทุนเลี้ยงวัวส่งจีนได้ หรือไม่ก็ขายวัวเราไปให้ลาวเลี้ยงต่อเพื่อส่งออกภายใต้โควต้าลาว“ อำนาจ ศรีสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์กลางกสิกรรม(ประเทศไทย) จำกัด ยืนยัน
เขาระบุว่า บริษัทของเขาและเครือข่ายสามารถส่งวัวให้ลาวได้ครบโควต้าส่งออกจีนภายใน 3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ เกษตรกรวัวขุนในจังหวัดพะเยาประสบความสำเร็จในการเจรจาส่งออกวัวให้ลาวในปีนี้ โดยมีแผนจะส่งวัวกลุ่มแรก 300 ตัว ตรงจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อ.ภูซาง ซึ่งติดต่อแขวงไชยบุรีของลาว
จากนั้น วัวจะผ่านด่านการค้าสากลปางมอนในลาว นำไปกักกันและขุนต่อที่เมืองคอบ ห่างจากชายแดนไทย-ลาวประมาณ 30 กม. แล้วส่งไปตามเส้นทางบ้านแก่งพาก ระยะทางประมาณ 50 กม. ข้ามแม่น้ำโขงไปยังบ้านหาดดอกแก้ว ต่อด้วยเส้นทางบกอีกประมาณ 240 กม. เพื่อไปยังแขวงหลวงน้ำทา และอีก 64 กม.สุดท้ายไปยังเมืองสิง ซึ่งเป็นกักกันและส่งออกวัวไปยังโรงเชือดที่เมืองหม่าในเขตจีน
ที่มา: กรรณิกา เพชรแก้ว
กลุ่มคำไพ ชะนะ (Khamphay Sana Personnel) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ในลาว จะเป็นผู้นำเข้าวัวจากไทยเป็นหลัก
เมื่อกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คำไพ สมซะนะ ประธานกลุ่มได้พบปะกับตัวแทนภาครัฐและเกษตรกรใน จ.พะเยา พร้อมระบุว่าบริษัทของตนได้รับโควต้าจากรัฐบาลลาวเพื่อส่งออกวัวและกระบือไปจีนอย่างละ 3,000 ตัวภายในปีนี้ เป็นการให้โควต้าครั้งแรกเพื่อทดสอบศักยภาพก่อนพิจารณาประเมินจำนวนวัวส่งออกในปีต่อๆ ไป
“แต่ลาวจะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างพะเยากับไชยะบุรี” คำไพกล่าวในระหว่างการพูดคุย
อย่างไรก็ตาม การส่งออกต้องชะลอออกไปก่อน พันเอกสมาน คำน้อย แกนนำเกษตรกรวัวเนื้อจังหวัดพะเยา ระบุว่าเป็นเพราะมีโรคปากเท้าเปื่อยระบาดทั้งในฝั่งไทยและลาว
รายงานของกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ระบุว่าพบโรคปากเท้าเปื่อยระบาดใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน และพังงา จังหวัดที่พบการระบาดแต่สามารถควบคุมได้และอยู่ในระยะ “เฝ้าระวัง” ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ลพบุรี สระบุรี สุโขทัย ชัยนาท และพะเยา
เวียดนาม หนึ่งในคู่ค้าวัวสำคัญ
เวียดนามเป็นคู่ค้าวัวของไทยที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขการส่งออกจากไทยเฉลี่ยปีละ 50,000-70,000 ตัว เท่าๆกับปริมาณที่ส่งออกไปลาว
ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ชี้ว่า ในเดือน ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ ไทยส่งออกวัวมีชีวิตมากกว่า 50,000 ตัว มูลค่า 1,299 ล้านบาท ไปมาเลเซียร้อยละ 39.25 เวียดนามร้อยละ 33.47 ลาวร้อยละ 26.63 และประเทศอื่นๆ ร้อยละ 0.65
อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21
พ่อค้าวัวรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า พ่อค้าชาวเวียดนามเข้ามาซื้อวัวถึงตลาดนัดภายในไทย ก่อนหน้านี้เข้ามาถึงตลาดวัวใน จ.ตาก เน้นวัวที่นำเข้าจากเมียนมา
แต่เมื่อไทยมีคำสั่งชะลอนำเข้าวัวจากเมียนมา พ่อค้าชาวเวียดนามหันไปซื้อวัวจากตลาดนัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ตลาดวารินชำราบใน จ.อุบลราชธานี, ตลาดนาเชือกใน จ.มหาสารคาม, ตลาดส้มป่อยน้อย อ.อุทุมพรพิสัย และตลาดแยกการช่าง อ.กันทรลักษณ์ ใน จ.ศรีสะเกษ
จากนั้น พ่อค้าจะนำวัวข้ามพรมแดนไปลาว และส่งต่อไปยังเวียดนามภายในวันเดียว โดยมี จุดข้ามแดนสำคัญคือด่านลาวบาว หรือเรียกกันว่าแดนสะหวัน ในแขวงสะหวันนะเขต และด่านจอลอในแขวงคำม่วน
วัวไทยจะถูกนำไปบริโภคภายในเวียดนาม หรือส่งออกไปยังจีนผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการทางตอนเหนือของประเทศ เพราะจีนและเวียดนามยังไม่มีข้อตกลงด้านการส่งออกวัวอย่างเป็นทางการ
ตลาดค้าวัว Cao Bang ในเวียดนามใกล้ชายแดนจีน (ที่มา: Chris Trinh)
“ปกติวัวเข้าไปลาวต้องกักตัวเพื่อดูโรคอย่างน้อย 21 วัน แล้วจึงส่งต่อ แต่วัวจากไทยมีภาพลักษณ์ว่าถูกดูแลมาดี มีวัคซีนครบ เขาจึงเอาข้ามไปเลย” นายสัตวแพทย์เทิดศักดิ์ ญาโณ จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
“โดยเมื่อไปถึงลาว พักไม่กี่ชั่วโมงก็เดินทางข้ามด่านจอลอ และด่านลาวบาวเข้าไปในเวียดนาม”
น.สพ.เทิดศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะการขนส่งวัวเช่นนี้สร้างความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคในประเทศทางผ่านและปลายทาง
การสำรวจตลาดนัดวัวไทยหลายแห่งพบว่าไม่มีเจ้าหน้าปศุสัตว์ประจำ แม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่นายหน้าจากเพื่อนบ้านมาเสาะหาวัว
การป้องกันโรคดำเนินการโดยเจ้าของตลาด ภายใต้มาตรการที่กำหนดโดยกรมปศุสัตว์ เช่น ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อวัวทุกตัวที่ออกจากตลาด แต่พบว่าเจ้าของตลาดใช้วิธีต่อท่อให้ยาพ่นละอองระหว่างที่รถบรรทุกวัวผ่านประตู ซึ่งไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าวิธีนี้ป้องกันโรคได้จริงหรือไม่
ทั้งยังไม่มีการตรวจลักษณะและจำนวนวัวว่าสอดคล้องกับข้อมูลในใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือไม่
ในฐานข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ไทยมีตลาดนัดวัวและกระบือทั่วประเทศ 98 แห่งใน 36 จังหวัด แต่การตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่ามีตลาดจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าว เช่น ตลาดนัดวัวเชียงหวาง อ.เมือง จ.ยโสธร, ตลาดวัววังประจบ อ.เมือง จ.ตาก, ตลาดวัวชมภูบุตร อ.เมือง และตลาดวัวโพนทอง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด
ขณะที่ใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีการส่งออกวัวไปลาวและเวียดนามประมาณปีละ 6,000 พันตัว และมีวัวในจังหวัดมากกว่า 500,000 ตัว โดยไม่พบชื่อในฐานข้อมูลแต่กลับมีตลาดค้าสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ตลาดส้มป่อยน้อย อ.อุทุมพรพิสัย และตลาดแยกการช่าง อ.กันทรลักษณ์
ที่มา: ณัฐกิตติ์ มีสกุล
นายหน้า ผู้ถือบังเหียนตัวจริง
รายงานศึกษาพฤติกรรมผู้เคลื่อนย้าย หรือนายหน้าค้าวัวในภูมิภาคนี้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่านายหน้าเป็นโซ่ข้อสำคัญสุดของเส้นทางการค้านี้ และไวต่อการเปลี่ยนแปลง
“พวกเขาพร้อมจะปรับตัวและเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนย้ายวัว เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและข้อจำกัดใดๆ ยิ่งมีข้อจำกัดมาก ยิ่งผลักดันให้เขาปรับตัวมาก”
การปรับตัวที่เห็นชัดประการหนึ่งคือ นายหน้าจำนวนหนึ่งที่หาวัวส่งให้ลาว เลิกคาดหวังกับวัวไทย แต่เปลี่ยนไปนำเข้าวัวจากเมียนมาผ่านบริเวณรัฐฉานตอนใต้ แล้วส่งตรงไปยังลาวเพื่อขุนและส่งออกเข้าจีน
“ใครว่ามีการสู้รบแล้วทำไม่ได้ อาทิตย์ที่แล้วผมเพิ่งส่งวัวข้ามไปลาว 1,200 ตัว และจะส่งต่อเนื่อง เพราะลูกค้าในจีนออเดอร์ตลอด ที่จริงเขาอยากได้วัวขุนโตเต็มที่จากไทย เพราะต้นทุนจะถูกกว่านำไปขุนต่อในลาว แต่เมื่อไทยมีปัญหา เราก็เดินหน้าของเราแบบนี้” นายหน้ารายหนึ่งกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช โพธาภรณ์ คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมศึกษาเส้นทางการค้าวัวในเมียนมาและจีนระบุว่า นายหน้าค้าวัวจากพม่าทำกำไรจากวัวตัวหนึ่งที่ประมาณ 309 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 บาท
ขณะที่เกษตรกรขายวัวได้ในราคาเท่ากัน แต่มีต้นทุนการเลี้ยงวัวที่ตัดกำไรจากราคาขายนี้ ส่วนราคาขายที่หน้าด่านจีนอยู่ที่ประมาณ 1,100-1,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000-forty five,000 บาทต่อตัว
นั่นสะท้อนว่าธุรกิจนี้ นายหน้าได้กำไรคืนมาสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จากสถานการณ์การเมืองและการค้าที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ด้วยการค้าวัวข้ามพรมแดนที่ยังทำกำไรได้ดี แน่นอนว่าผู้ประกอบการไทยยังต้องดิ้นรนหาทางอยู่ในห่วงโซ่การค้าต่อไป ไม่ว่าช่องทางการค้าแบบทางการตรงกับจีนจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรือไม่ก็ตาม
รายงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประชาไท กับ Mekong Appreciate ภายใต้การสนับสนุนจาก Internews' Earth Journalism Community
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )