
ค่าธรรมเนียมรถติดยังอยู่ ‘คมนาคม’ เผยทางการอังกฤษให้งบ 100 ล้านบาท ศึกษาลงลึก ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง คาด ก.ย.ปีหน้ารู้ผล ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ให้ไปถาม ‘คลัง'
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 14 เมษายน 2568 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .…หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณานั้น ล่าสุด จะมีการนัดประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 23 เม.ย.นี้ หลังจากนั้นก็คาดว่าจะมีการเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณากันในการประชุมสภาฯสมัยหน้าประมาณเดือน ก.ค.นี้ โดยคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายในช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาโดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต่อไปในช่วงปลายปีนี้
ส่วนความคืบหน้าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion payment) เพื่อนำมาเป็นเงินในกองทุนซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าตามไอเดียของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ยังเดินหน้ากันอยู่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นผู้ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดได้รับงบประมาณจากสหราชอาณาจักรประมาณ 100 ล้านบาท ภายใต้โครงการ United Kingdom Partnering for Accelerated Native weather Transition (UK PACT) เพื่อนำผลการศึกษาเดิมของ สนข. ที่เคยศึกษาไว้มาทำการศึกษาในรายละเอียดว่า ต้องติดตั้งเครื่องมือตรงไหน อย่างไร การทำระบบจัดเก็บเงิน ต้องทำอย่างไร โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ก.ย. 2569 โดยทางประเทศอังกฤษจะจ้างเอกชนที่เคยศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียม Congestion payment และเป็นผลสำเร็จในการทำจริงมาแล้วเป็นผู้จัดทำ ส่วนการจัดตั้งกองทุนที่เป็นรูปธรรมเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังต้องหารือกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนข.เคยศึกษาร่วมกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ถึงปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion payment) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่
1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน**
2.ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน**
3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน**
4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน**
5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน**
6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน)**
ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion payment คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ
ที่มาภาพ: จส.100
อ่านประกอบ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )