บริษัทจัดหาคู่กับรัฐบาล ช่วยคนโสดเกาหลีใต้หาคู่ได้อย่างไร ?

คำบรรยายภาพ, มิน จอง และ แท ฮยอง พบกันผ่านบริษัทหาคู่แต่งงานจนได้ร่วมชีวิตกัน

Article info

  • Author, ราเชล ลี
  • Characteristic, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
  • Reporting from กรุงโซล

มิน จอง คบกับแฟนหนุ่มของเธอมา 3 ปี แล้ว แต่จู่ ๆ แฟนของเธอก็บอกเธอโดยที่ไม่คาดคิดว่าไม่เคยมีความคิดแต่งงาน คำกล่าวของแฟนหนุ่มทำให้เธอเสียใจอย่างมาก

“ฉันคิดมาตลอดว่ามาถึงจุดหนึ่ง เราจะแต่งงานกัน” เธอกล่าว

“ฉันนอนอยู่บนเตียง และไถหน้าจอไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นโฆษณาบริษัทหาคู่แต่งงาน ฉันก็คิดว่าทำไมไม่ลองดูล่ะ”

การตัดสินใจอย่างปุบปับฉับพลันเช่นนั้น ทำให้หญิงวัย 30 ปีคนนี้ได้พบกับแท ฮยอง ซึ่งปัจจุบันเป็นสามีของเธอ

คู่ใหม่ปลาใหม่คู่นี้เพิ่งแต่งงานกันได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น มันไม่ใช่รักแรกพบ แต่ทั้งคู่มีเคมีที่เข้ากันได้

Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ

Atomize of เรื่องแนะนำ

“หนึ่งวันก่อนออกเดตครั้งแรก ผมมีงานเลี้ยงที่บริษัท ผมเลยไปเดททั้งที่ยังเมาค้างอยู่ ดังนั้นผมไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดในตอนที่เจอภรรยาเป็นครั้งแรก” แท ฮยอน รำลึกความหลัง

“แต่ผมชอบรอยยิ้มของเธอ และเราก็มีบทสนทนาที่ดีต่อกัน”

“ผมต้องการโอกาสครั้งที่สอง ผมต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้เธอประทับใจมากขึ้นกว่าเดตครั้งแรก” เขากล่าว

คำบรรยายภาพ, อาชีพ ทรัพย์สินทางการเงิน และภูมิหลังครอบครัวของลูกค้า จะถูกจัดเกรดก่อนที่พวกเขาจะจับคู่ให้ออกเดตกัน

บริษัทจัดหาคู่ในเกาหลีใต้จะจัดการรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการเดตแรกของพวกเขา แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ทางบริษัทจะรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคน โดยให้กรอกอายุ อาชีพ ทรัพย์สินทางการเงิน และภูมิหลังครอบครัว เป็นต้น

จากนั้นลูกค้าจะถูกจัดเกรดหรือให้คะแนนตามโปรไฟล์ของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น แพทย์หรือทนายความจะได้รับเกรดสูงสุดในสายอาชีพ ขณะที่พนักงานออฟฟิศในบริษัทใหญ่จะมีอันดับต่ำกว่านั้น

บางคนคิดว่าระบบจัดเกรดเช่นนี้มีปัญหา โดยบอกว่ามันให้ความรู้สึกเป็นวัตถุนิยม และให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคมมากเกินไป

แต่สำหรับมิน จอง การหาคนที่ “คล้ายคลึงกัน” กับเธอ นี่คือสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับแท ฮยอง ที่หวังว่าข้อมูลที่ให้กับบริษัทจัดหาคู่จะช่วยให้พบคนที่เข้ากับเขาได้ และบริษัทก็ทำได้หน้าที่ของพวกเขาได้จริง

ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานบริษัทในกรุงโซลกำลังเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นเจ้าของร้านไวน์ร่วมกัน

“ชีวิตของผมคงจะน่าเบื่อหากทำงานทุกวันในฐานะพนักงานออฟฟิศ” แท ฮยอง กล่าวขณะที่กุมมือภรรยาอยู่ด้วย

“แต่ตอนนี้ ผมกำลังทำสิ่งใหม่ ๆ และสร้างชีวิตร่วมกับภรรยา มันน่าสนุกมาก”

บริษัทจัดหาคู่ได้รับความนิยมมากขึ้น

บริษัทจัดหาคู่กำลังเฟื่องฟูอย่างมากในเกาหลีใต้ โดยในปี 2024 ทั้งประเทศมีบริษัทเหล่านี้เกือบ 1,000 แห่ง และส่วนใหญ่ก็เป็นตัวแทนที่มียอดผู้มาใช้บริการหาคู่มากเป็นประวัติการณ์

บีบีซีได้พูดคุยกับบริษัทเหล่านี้หลายแห่ง พวกเขาบอกว่ามีงานเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจำนวนคนหนึ่งสาวที่หันมาใช้บริการนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“มันมีโอกาสน้อยลงที่คนจะได้พบเจอกันทั่วไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาการจัดหาคู่” ฮัน กี ยอล รองประธานบริษัทจัดหาคู่ระดับไฮ-เอนด์ที่มีชื่อว่า เอ็น.โนเบิล (N.Noble) กล่าว

เขาเสริมว่าความสำเร็จของ “ลูกค้าช่วงโควิด” เหล่านี้ เห็นได้จาก “การรับรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจจัดหาคู่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

“ในอดีต คนหนุ่มสาวคิดว่าบริษัทเหล่านี้มีไว้สำหรับผู้ที่ล้มเหลวในการแต่งงาน” เขากล่าว “แต่ตอนนี้ พวกเขาเห็นแล้วว่า มันคือหนทางในการหาคนที่ตรงกับความต้องการ”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้คนมักจะมีโอกาสที่จะได้เจอกันตัวต่อตัวน้อยลง และนั่นทำให้การรับรู้เกี่ยวกับบริษัทจัดหาคู่เปลี่ยนแปลงไปและทำให้มันได้รับความนิยมมากขึ้น

แพทย์วัย 32 ปี ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม ซึ่งเป็นลูกค้าบริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง กล่าวว่าเพื่อนของเธอหลายคนได้สมัครใช้บริการเหล่านี้

“ฉันเคยคิดเกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้ในแง่ลบ แต่มันกลายเป็นเรื่องปกติแล้วในตอนนี้” เธอบอก

“การนัดบอดที่เพื่อน ๆ ฉันจัดขึ้น มันเป็นภาระสำหรับฉันมาก และมันยากที่จะหาใครสักคนที่มีความรู้สึกร่วมกัน แต่บริษัทจัดหาคู่ก็ได้กำจัดความกดดันต่าง ๆ เหล่านั้นออกไป”

แต่สำหรับคนที่พบคนรักสำเร็จ ก็พบว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ค่อยเน้นที่ตัวบุคคล แต่กลับเน้นไปที่สถานะทางสังคมมากกว่า

มิน จอง จำวันที่เธอบอกกับพ่อแม่เป็นครั้งแรกว่าสมัครใช้บริการดังกล่าวได้

“มันรู้สึกน่าอายเล็กน้อย เพราะการรับรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้บริษัทจัดหาคู่สำหรับหาคนมาแต่งงานด้วยนั้น มันยังไม่ค่อยดีนัก”

“ยกตัวอย่างเช่น มันอาจรู้สึกว่าถูกตัดสินจากโปรไฟล์ของพวกเขาและแต่งงานกันโดยปราศจากความรัก”

นอกจากนี้ การใช้บริการบริษัทจัดหาคู่ก็ใช่ว่าจะได้ผลสำหรับทุกคน เนื่องจากค่าใช้จ่ายบริการดังกล่าวเป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่ลูกค้ารู้สึกได้ โดยมันอยู่ที่ราว 1,400-7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47,600 – 238,000 บาท) ซึ่งอาจทำให้ผู้คนลังเลในการสมัครใช้บริการ หรือชะลอการลงทะเบียนใหม่เพื่อจัดหาวันออกเดตเพิ่มเติมเมื่อสมัครใช้บริการไปแล้ว

ครูวัย 36 ปี ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเช่นกัน บอกว่าได้ใช้บริการบริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่พบใครที่เหมาะสม

“ผู้คนที่ฉันพบผ่านบริษัทจัดหาคู่ ไม่เป็นคนที่มีข้อบกพร่องในจุดสำคัญ ๆ ก็เป็นคนที่มีโปรไฟล์สมบูรณ์แบบ แต่มีมาตรฐานสูงมาก” เธอเล่าย้อนความหลัง

“มันเลยน่าหงุดหงิดมาก” เธอกล่าวและบอกว่า การใช้บริการจัดหาคู่นั้นเหมือนกับการทำงานสักชิ้นให้เสร็จ ๆ ไป

“มันไม่ใช่เรื่องโรแมนติก มันเป็นสิ่งที่คุณต้องการทำให้มันเสร็จอย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ”

งานออกเดตแบบด่วนที่รัฐบาลเป็นผู้จัด

คำบรรยายภาพ, งานที่รัฐบาลจัดขึ้นเต็มไปด้วยดนตรี เกม และเครื่องดื่ม ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ราว 100 คน ที่กำลังมองหาคนที่พวกเขาถูกใจ

อัตราการแต่งงานและการเกิดที่ลดลง ถือเป็นปัญหาในเกาหลีใต้มานานแล้ว แม้จะมีบริการจัดหาคู่เพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ตัวเลขก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2023 อัตราการแต่งงานลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว

ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนเด็กที่ผู้หญิงแต่ละคนตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยต่อปีก็แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.72 ซึ่งต่ำที่สุดในโลก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นผลมาจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปของเกาหลีใต้ โดยในปี 2017 เกาหลีใต้ครองอันดับ 2 รองจากเม็กซิโกเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าคนเกาหลีใต้มีสมดุลชีวิตและการทำงานที่ย่ำแย่ ราคาอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงมาก และค่าเลี้ยงดูบุตรที่แพงระยับ ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะกลับไปทำงานหลังคลอดบุตร

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของเกาหลีใต้ต้องอยู่ที่ 2.1 เพื่อรักษาจำนวนประชากรให้คงที่ และเพื่อการนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้ก้าวเข้ามาทำอะไรบางอย่าง

ในตอนนี้รัฐบาลเกาหลีใต้รับบทบาทเป็นคนจัดหาคู่ ด้วยการจัดกิจกรรมออกเดตแบบด่วน (stride dating) เพื่อช่วยให้ผู้คนพบเจอกับรักแท้

เมืองซองนัมทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานออกเดตเป็นครั้งที่ 7 ในปีนี้ ในงานดัวกล่าว พบว่ามีคนโสด 100 คน ในซองนัมซึ่งมีอายุระหว่าง 27-39 ปี มารวมตัวกันในผับที่มีงานดนตรี เกม อาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ

ผู้เข้าร่วมเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกผ่านระบบลอตเตอรีจากรายชื่อผู้ที่สมัครเข้ามา

ด้านนายชิน ซัง จิน นายกเทศมนตรีของเมืองซองนัม กล่าวว่า มีคนยื่นสมัครเข้ามามากถึง 6 คน ต่อหนึ่งที่นั่ง

คำบรรยายภาพ, นายกเทศมนตรีเมืองซองนัม กล่าวว่ากิจกรรมออกเดตแบบด่วน กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการจัดงานดังกล่าว

“ผมมาที่นี่โดยไม่คิดอะไรมาก แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกประหม่าแล้ว” มู จิน ผู้เข้าร่วมงานวัย 32 ปี กล่าว

“ผมรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรง” เขากล่าวเสริม

เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องยากหากต้องการหาคู่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน

“งานของผมยุ่งเกินไป และตอนนี้ผมก็อายุเกิน 30 ปีแล้ว มันไม่มีเวลาหรือสถานที่ที่จะได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ” เขาบอก “แต่เมืองนี้ก็กำลังให้โอกาสดี ๆ สำหรับสิ่งนั้น”

แม้งานดังกล่าวจะจัดโดยรัฐบาล แต่ก็ดูมีชีวิตชีวาและเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมงานจะถูกชวนให้เดินไปรอบ ๆ ห้อง แปะมือทักทายกันเมื่อพบเจอคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พร้อมกับกุมมือกันไว้ขณะพูดคุย โดยพิธีกรจะคอยให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีประเด็นพูดคุยกัน

ยู ซอน ในวัย 30 ปี เข้าร่วมงานนี้ด้วยความหวังว่าเธอจะได้พบเจอกับคู่ครอง

“เมื่อมาอยู่ในกลุ่มใหญ่ ๆ เช่นนี้ ท่ามกลางผู้คน 100 คน มันค่อนข้างยากที่จะสร้างความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง แต่มันก็เป็นโอกาสในการพบปะผู้คน” เธอบอก

รัฐบาลกล่าวว่างานกิจกรรมเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยบอกบีบีซีว่า มีผู้คนราว 43% ที่สามารถจับคู่กันได้หลังเข้าร่วมงาน และมีคู่รัก 2 คู่ ที่ตกลงปลงใจผูกความสัมพันธ์กันแล้ว

ซึง จิน ผู้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น เขาบอกว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจัดงานเช่นนี้ แต่มันก็แสดงให้เห็นด้วยยังมีปัญหาสังคมซุกซ่อนอยู่ใต้พรม”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, บางคนโต้แย้งว่ารัฐบาลควรมุ่นเน้นไปที่การช่วยเหลือเรื่องการลาคลอด และลดค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็ยังพยายามจัดการกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ด้วยการเสนอแผนสนับสนุนการดูแลเด็ก รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำสำหรับคู่แต่งงานใหม่

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทุกนโยบายที่ทำขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด ล้วนเผชิญกับความล้มเหลว” นายกเทศมนตรี ชิน ซัง จิน กล่าว

“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องพยายามช่วยให้คนหนุ่มสาวมาพบกัน” เขากล่าว

แต่บางคนก็แย้งว่า รัฐบาลกำลังก้าวล่วงและแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของประชาชน

พวกเขากล่าวว่าประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้ผู้หญิงได้กลับไปทำงานหลังลาคลอด รวมถึงการจัดการกับค่าครองชีพที่สูงมากควรถูกให้ความสำคัญก่อนเป็นอันดับต้น ๆ

“ในช่วงอายุปลาย 20 และช่วงต้น 30 ปี เรากำลังสร้างอาชีพ แต่สังคมกดดันให้เราเริ่มต้นสร้างครอบครัวก่อนที่จะอายุครบ 35 ปี” มิน จอง หญิงวัยกว่า 30 ปี กล่าว

“ทั้งความท้าทายจากที่ทำงาน การตกงานหลังลาคลอด การเรียกร้องให้แต่งงานและมีลูกจึงดูไม่น่าใช่สิ่งที่โน้มน้าวใจได้”

เธอยังกล่าวเสริมว่า “สำหรับหลาย ๆ คน อัตราการแต่งงานและการมีลูกที่ลดลงนั้น เป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่ความรับผิดชอบส่วนบุคคล”

“หากไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ การแค่มาพร่ำบอกว่าผู้คนควรแต่งงานหรือมีลูก ก็เหมือนไม่เข้าใจความเป็นจริง”

ด้านแท ฮยอง สามีของเธอ ยังกล่าวด้วยว่าการแต่งงานเป็นทางเลือกในชีวิตของเขาเอง “ผมมีความสุขกับชีวิตที่เป็น ผมรู้สึกตื่นเต้นในทุกช่วงเวลาที่อยู่กับภรรยา แต่ผมก็แต่งงานเพราะว่าผมอยากแต่ง ไม่ใช่เพราะแรงกดดันทางสังคม”