ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล / สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ รายงาน
ภาพ เด็กในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละเมื่อปี 2565
ผอ.รพ.อุ้มผาง เผยแผนงาน 12 ข้อที่ต้องรับช่วงต่อ หวังให้ UNHCR เข้ามาช่วยหาเอ็นจีโอรับช่วงต่อ แต่ไม่มีก็ต้องทำปล่อยให้เกิดวิฤตมนุษยธรรมไม่ได้ หากเกิดโรคระบาดแพร่กระจายหรือเจ็บป่วยหนักยิ่งต้องใช้งบประมาณ เบื้องต้นใช้ทรัพยากรบุคคลสถานที่ของ IRC ได้และเจ้าหน้าที่ สธ.เข้าพื้นที่ได้แล้วไม่มีข้อจำกัด
30 ม.ค.2568 นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง จังหวัดตาก ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมแผนงานเพื่อรองรับสถานการณ์ที่โรงพยาบาลในศูนย์ผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ Global Rescue Committee (IRC) ต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากผลของคำสั่งพิเศษ (Executive Record)ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาให้ตัดงบประมาณช่วยเหลือที่มอบให้ต่างประเทศทันที 90 วัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘ทรัมป์’ เซ็นปุ๊บป่วนปั๊บ ลอยแพผู้ลี้ภัยป่วยชายแดน รพ.ไทยยังไหว ชูทางออก
ศูนย์อพยพทั้ง 3 ศูนย์ของจังหวัดตาก ได้แก่ ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก, พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก, พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก
นพ.วรวิทย์เล่าถึงผลการประชุมวางแผนช่วงเช้าวันนี้หลังจากเพิ่งกลับจากการเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในศูนย์นุโพ
ผอ.รพ.อุ้มผางชี้แจงถึงแผนงานที่โรงพยาบาลในพื้นที่จะต้องรับช่วงต่อออกเป็น 12 ข้อ
- งานสาธารณสุข: ป้องกัน-ควบคุมโรค และดูแลสิ่งแวดล้อม
- เติมคลอรีนในน้ำประปาเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค
- จัดการขยะ
- ควบคุมแมลงก่อโรค ได้แก่ ยุง, แมลงวัน
- งานน้ำดื่ม, น้ำใช้
- การดูแลผู้ป่วยนอก (OPD) หรือคนไข้ทั่วไปที่ไม่ต้องนอนพักใน รพ.
- ค่ายแม่หละประมาณ 300 คนต่อวัน
- ค่ายนุโพและค่ายอุ้มเปี้ยม แห่งละประมาณ 150-200 คน
- คลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs): ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- ยาต้านเอชไอวี (HIV) และวัณโรค (Tuberculosis:TB): ได้รับการสนับสนุนยาจากกองทุนโลก กระทรวงสาธารณสุข
- คลินิกจิตเวช: คนไข้จิตเภทในแต่ละศูนย์มีประมาณ 50-100 คน โดยมีมากเป็นพิเศษที่ศูนย์แม่หละ
- วัคซีนในเด็ก: ปกติแล้วค่ายนุโพมีการให้บริการวัคซีน 3 วันต่อสัปดาห์ หลังจากนี้ รพ.อุ้มผาง จะเข้าไปสานงานต่อ โดยมีวัคซีนที่จะให้บริการ เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด, ปอดอักเสบ, คอตีบ, ไอกรน
- คลินิกรับฝากท้อง (Antenatal Care: ANC) และการวางแผนครอบครัว: ขณะนี้อยู่ในระหว่างขอข้อมูลจำนวนหญิงตั้งครรภ์เท่าไหร่
- งานแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับค่ายนุโพ: มีการ consult ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ แต่อาจต้องพัฒนาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต ส่วนในการส่งต่อคนไข้ด้วยรถพยาบาล ได้ อส.จากกระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วย
- การคลอด ค่ายนุโพ: ตอนนี้อยู่ในระหว่างทำห้องคลอดใหม่ จึงจะใช้ระบบการส่งต่อคนไข้มาคลอดที่โรงพยาบาลอุ้มผางทั้งหมด ไม่น่าใช้เวลาเกินหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นอาจจะคลอดที่ในศูนย์ได้เอง
- การรักษาโรคไต ทุกศูนย์อพยพมีมีคนไข้ที่ต้องล้างไต ขณะนี้อยู่ในระหว่างประสานงาน 3 โรงพยาบาลนี้มีห้องล้างไต ได้แก่ รพ.แม่สอด, รพ.แม่ระมาด และ รพ.อุ้มผาง ว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงใด
- ผู้ป่วยในทั่วไป
- การดูแลระยะยาว (Long Term Care) เช่น ผู้ป่วยติดเตียง, ผู้ป่วยเรื้อรัง
ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ ผอ.รพ.อุ้มผางมองว่าควรจะเพิ่มเข้าไปหากสามารถจัดการงานทั้ง 12 ข้อได้แล้ว ก็คือการทำทันตกรรมที่จะเป็นตัวช่วยเสริมเข้าไป เพราะที่ผ่านมาเด็กที่อยู่ในศูนย์ของ IRC ก็ไม่ได้ทำเพราะทำไม่ไหวอยู่แล้ว ก็จะเข้าไปทําเพื่อให้คนในศูนย์หรือว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ส่วนประเด็นข้อจำกัดการเข้าไปในศูนย์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและการนำผู้ป่วยจากในศูนย์ออกมารักษา ผอ.รพ.อุ้มผางกล่าวว่าจากการประชุม ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยผู้ว่าราชการจังหวัดตากก็ยอมรับแผนข้างต้นแล้วและได้ขอกับทางอำเภอแล้วว่าให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าออกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางฝ่ายปกครองแล้วและยังรวมไปถึงให้ผู้ป่วยในศูนย์อพยพสามารถออกมารักษานอกศูนย์ได้โดยอัตโนมัติ
“ผมก็เข้าใจเขานะว่าเขามีกฎระเบียบในการเข้าออกศูนย์ของคนในศูนย์ เขาจะมีระเบียบอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราก็ขอเรียบร้อยได้แล้วไม่มีปัญหา ไม่มีข้อจํากัดตรงนี้แล้ว”
นอกจากนั้นการรับส่งคนเข้าออกก็จะมีกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้ดูแลค่ายอพยพอยู่ในการดำเนินการช่วยขับรถส่งผู้ป่วยโดยใช้รถของทางโรงพยาบาลที่ได้รับบริจาคมาก่อนหน้านี้แต่น้ำมันยังคงต้องเป็นทางโรงพยาบาลดูแล
ค่าใช้จ่ายในการรักษา
นพ.วรวิทย์ กล่าวว่าทางโรงพยาบาลที่รับช่วงดูแลมาก็ต้องทำข้อมูลค่าใช้จ่ายไว้ตามจริง แล้วก็เอามารวบรวมไว้เช่น เรื่องยา น้ำมัน แต่เรื่องอาหารการกินทางศูนย์อพยพก็มีโรงครัวอยู่แล้ว เมื่อมีข้อมูลค่าใช้จ่ายเอาไว้ก็อาจจะขอรับบริจาคตามค่าจ่ายตามจริง ตรงไหนที่ขาดก็อาจจะใช้ทรัพยากรที่โรงพยาบาลมีไปก่อน ตามคนไข้ที่มีก็จะเห็นต้นทุนที่แท้จริง
“ถ้าเราทําอย่างมีประสิทธิภาพดี ๆ ผมว่ามันไม่มากครับ การป้องกันมันดีกว่าการมาคอยรักษาอยู่แล้ว”
ผอ.รพ.อุ้มผางมองว่า ต้นทุนของการรักษาเมื่อป่วยไข้มาแล้วหรือเกิดโรคระบาดนั้นใช้มากมหาศาล ดังนั้นการลงทุนเรื่องอนามัยครอบครัวหรือการดูแลระดับปฐมภูมิดีกว่าการคอยรักษาเมื่อป่วยหนักหรือเกิดโรคระบาด และถ้าเกิดการระบาดของโรคแล้วจะไม่สามารถรับมือได้ การป้องกันจึงมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
“ผมยกตัวอย่างงานสาธารณสุข มันเน้นงานป้องกันมากกว่าการรักษาอยู่แล้ว เหมือนไฟป่าที่ลอสแองเจลิส ถ้าไฟไหม้น้อยๆ แล้วเรารีบไปดับมันเร็วๆ ก็เหมือนการควบคุมไม่ให้ไฟมันไหม้ แต่ถ้าเราปล่อยมันไปที ทีนี้มันยาวแล้วมันใหญ่เลยควบคุมไม่ได้ โรคระบาดก็เหมือนกันมันลามเหมือนไฟ” นพ.วรวิทย์กล่าวและเป็นเรื่องที่คอยบอกกับคนทำงานสาธารณสุขในพื้นที่แบบนี้ได้ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านไม่ต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น
ไฟฟ้า เนต จำเป็นเพื่อ Telemedicine
นพ.วรวิทย์กล่าวถึง โครงสร้างพื้นฐานบางอย่างเช่น ไฟฟ้าและอินเอร์เนตที่ต้องเตรียมไว้เพื่อนำระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine เพื่อให้การทํางานมันสะดวกขึ้น ซึ่งจะขอกับทาง NT ส่วนเรื่องไฟฟ้าก็จะเข้าไปเพิ่มโซลาร์เซลล์จาก 5 กิโลวัตต์เป็น 10 กิโลวัตต์เพื่อไม่ต้องเอาน้ำมันไปปั่นไฟ แต่เบื้องต้นอาจต้องใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันไปก่อน
นอกจากนั้นยังต้องปรับปรุงเรื่องอาคารสถานที่และบุคลากรของ IRC ก็จะรับช่วงต่อมาใช้ได้ไม่มีข้อจำกัดอะไรแล้ว โดยบุคลากรของ IRC ก็จะรับค่าตอบแทนจาก IRC แต่แค่ทำงานในนามของ IRC ต่อไม่ได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คาดว่าจะสามารถจัดการได้ในเวลาอันสั้นและสําเร็จได้
อย่างไรก็ตาม นพ.วรวิทย์กล่าวว่าอาจจะมีศูนย์อพยพที่แม่หละที่อาจจะจัดการได้ยากเพราะว่ามีจำนวนผู้อพยพมากที่สุดคือประมาณ 30,000 กว่าคน โดย รพ.ท่าสองยางและ รพ.แม่ระมาดที่ดูแลด้วยกันเพราะคนเยอะ แต่ศูนย์ที่อุ้มเตี้ยมกับนุโพที่มีประชากรพอกันโรงพยาบาลเดียวน่าจะไม่น่ามีอะไรที่ควบคุมไม่ได้ส่วนรายละเอียดและบริบทแต่ละที่อาจจะแตกต่างกัน อย่างเช่น ศูนย์ที่พบพระถ้ามีผู้หญิงที่จะคลอดบุตรอาจจะให้ ASMRU ที่เป็นได้รับทุนจากทางอังกฤษมาช่วยดูแล หรือหน่วยมาลาเรีย หรือหน่วยที่ดูเรื่องการควบคุมโรคเข้ามาช่วยดูแล ไปจนถึงอาจใช้คนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้ามาช่วย เป็นต้น
นพ.วรวิทย์ กล่าวถึงผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนว่าคงมีมากแค่ช่วง 2 วันแรกที่ทาง รพ.ท่าสองยางรับ 4 คน ส่วนทาง รพ.อุ้มผางรับคนท้องที่มาคลอดไว้ 2 คน ซึ่งเขาคิดว่าวันจันทร์ที่จะถึงนี้สถานการณ์น่าจะนิ่งแล้วเพราะทางแพทย์สนามในศูนย์และอาคารของ IRC ถูกส่งต่อมาแล้ว
ผอ.รพ.อุ้มผางกล่าวเสริมว่า ปกติแล้วการรักษาโรคต่างๆ ตามที่เขากล่าวไปทั้ง 12 ข้อข้างต้นนั้นก็เป็นการรักษาพยาบาลในศูนย์อพยพ แต่ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินจากศูนย์อพยพก็มาที่โรงพยาบาลอยู่แล้วทั้งไส้ติ่งอักเสบหรือการทำคลอดที่ต้องผ่าออกซึ่งต้องใช้ห้องผ่าตัด เครื่องรมยาสลบ แล้วแพทย์ผ่าตัดที่ในศูนย์อพยพก็ไม่มี
นพ.วรวิทย์ประเมินว่า จากที่เข้าไปดูสถานที่ศูนย์นุโพวันนี้เขามองว่าจะสามารถจัดบริการให้ดีกว่าที่เคยเป็นอยู่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าและทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าได้ ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานนี้มาตลอดทั้งชีวิตก็ทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นเรื่องการคุมกำเนิด การฝากท้องตั้งครรภ์ก็สามารถทำอัลตร้าซาวด์ได้ทำให้รู้สภาพเด็กทารกในครรภ์ว่าเคสไหนต้องผ่าก็ส่งมาที่โรงพยาบาลเลยก็ทำให้จัดการผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอจนถึงครบกำหนดคลอดแล้วค่อยส่งมา
ปล่อยให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมไม่ได้ แต่ถ้ามีเอ็นจีโอที่อื่นมาก็ส่งไม้ต่อได้
แม้ว่า นพ.วรวิทย์จะมองว่าการเข้ามาช่วยเหลือครั้งนี้เหมือนเข้าไปรับช่วงต่อกิจการมา แต่เขาก็บอกว่าถ้ามีองค์กรเอ็นจีโอจากที่อื่นจะเข้ามาก็ส่งไม้ต่อให้ได้ แต่ตอนนี้ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องรับสถานการณ์นี้นานแค่ไหนเพราะแม้ว่าจะคุยกับทาง IRC แล้วแต่ทาง IRC เองก็ยังอยู่ในช่วงสับสนไม่สามารถประเมินได้เหมือนกันเพราะไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้แม้ว่าคำสั่งบริหารของรัฐบาลทรัมป์จะยังให้หยุดชั่วคราวไว้ 90 วันก็ตามและสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ IRC จะได้กลับมาหรือไม่ได้กลับมาดำเนินการต่อ หรือทางการไทยอาจจะต้องเข้ามาจัดการตรงนี้ไปตลอดเลยก็ได้
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ตอนนี้ ผอ.รพ.อุ้มผางยังต้องขอทดลองทำงานดูสัก 1 สัปดาห์ก่อนเพื่อประเมินเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดการ
“ส่วนตัวความคิดผมการดูแลผู้ลี้ภัยในศูนย์ต่างๆ ที่ส่วนมากเป็นศูนย์อพยพชั่วคราว ผู้รับผิดชอบหลักก็คือ UNHCR เขาก็ต้องพยายามหาเอ็นจีโอมาดูแลต่อตรงนี้ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลของรัฐไทยที่เข้าไปดูแลกิจการนี้เราก็อาจจะส่งไม้ต่อให้เอ็นจีโอที่เข้ามาดูแลต่อจาก IRC แต่ตอนนี้เราต้องรับไม้ต่อไปก่อน”
นพ.วรวิทย์ประเมินต่อไปว่าเรื่องนี้เป็นข่าวระดับประเทศที่จะไปสู่ต่างประเทศก็น่าจะมีความช่วยเหลือเข้ามาบ้างและทางกระทรวงมหาดไทยและสาธารณสุขก็น่าจะสื่อสารกับ UNHCR ก็น่าจะรู้กันว่าปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ดีแน่ UNHCR ที่ดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยทั่วโลกอยู่แล้วก็น่าจะมีบทบาทในการหาเอ็นจีโออื่นเช่นจากทางยุโรปเข้ามาดูแลแทน
อย่างไรก็ตาม ผอ.รพ.อุ้มผางก็ยังว่ามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่เช่นกันว่าในสถานการณ์ที่รัสเซียกับยูเครนยังคงทำสงครามกันอยู่ เศรษฐกิจทางยุโรปก็ประสบปัญหาเช่นกันนี้ก็อาจจะทำให้สถานการณ์เอ็นจีโอทางฝั่งยุโรปไม่ต่างกัน และเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้
“ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งหลายอาจจะทําให้เราคาดการณ์ผิดได้ คือ UNHCR อาจจะอยากให้เอ็นจีโอของยุโรปเข้ามา แต่ข้อจํากัดมันก็คือว่าประเทศยุโรปเขาก็ไม่มีงบประมาณให้เอ็นจีโออาจจะต้องทําแบบแบบอเมริกาใช่ไหม เขาก็จํากัดลิมิตกันหมด”
นพ.วรวิทย์กล่าวว่าปัญหานี้เป็นเรื่องมนุษยธรรม แม้ว่าอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปจนถึงอาจจะขาดเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ แต่เขามองว่าจะปล่อยให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมไม่ได้ และเป็นเรื่องที่เขารู้สึกรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้เกิด
“เราจะปล่อยให้วิกฤตมนุษยธรรมมันเกิดไม่ได้ วิกฤตมนุษยธรรมมันทําลายจิตใจเราเลยนะ มันทําลายตัวตนของเรา ทําลายวิชาชีพทางด้านการแพทย์การสาธารณสุข ผมอายุเยอะแล้วผมปล่อยให้มันเกิดตรงนั้นไม่ได้ เราจะปล่อยให้คนตายเสียชีวิต หรือโรคภัยไข้เจ็บมันแพร่กระจายไปแล้วลามไปทั่วเหมือนไฟไหม้ผมรับไม่ได้ เราต้องพยายามควบคุมไม่ให้มันเกิดตรงนั้น” นพ.วรวิทย์กล่าวในฐานะที่ต้องทำงานเผชิญเหตุอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2534 และเคยเกิดโรคระบาดในพื้นที่จึงไม่อยากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก แต่ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเรื่องปกติที่คิดต่างกันได้
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )