‘นโยบายทรัมป์ 2.0' ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร ?
Article data
- Author, โจนาธาน โจเซฟส์
- Characteristic, ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ บีบีซีนิวส์
ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และภาษีนำเข้า กำลังส่งผลให้ปี 2025 เป็นปีที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจโลก รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (World Monetary Fund – IMF) คาดว่า อัตราการเติบโตจะยังคงอยู่ในระดับ “คงที่แต่ไม่น่าประทับใจ” ที่ 3.2% ทั้งหมดนี้ส่งผลอย่างไรต่อพวกเราทุกคน ?
หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาส เหล่าผู้กู้เงินชาวอเมริกันหลายล้านคนได้รับข่าวดี นั่นคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นกลับร่วงลงอย่างรุนแรง เนื่องจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ Fed (Federal Reserve Machine) ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ไม่ควรคาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ อย่างที่หลายคนหวังกันไว้ เพราะมองว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป
“จากนี้ไปจะเป็นช่วงใหม่ และเราจะระมัดระวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม” เขากล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิดและสงครามในยูเครนทำให้ราคาสินค้าและบริการทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในขณะนี้ราคายังคงเพิ่มขึ้น แต่ความเร็วชะลอลงแล้วอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ ในกลุ่มสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 2.7%, 2.2% และ 2.6% ตามลำดับ สถานการณ์นี้ตอกย้ำถึงความท้าทายที่ธนาคารกลางหลายแห่งเผชิญในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในช่วง “ท้ายสุด” ของเป้าหมายคือการลดเงินเฟ้อสู่ระดับ 2% ซึ่งอาจบรรลุได้ง่ายขึ้นหากเศรษฐกิจมีการเติบโต
Skip เรื่องแนะนำ and proceed studyingเรื่องแนะนำ
Conclude of เรื่องแนะนำ
ทว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคือ “ความไม่แน่นอน ซึ่งความไม่แน่นอนนี้มาจากสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ 2.0” หลุยส์ โอกาเนส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของธนาคารเพื่อการลงทุนเจพี มอร์แกน (JP Morgan) กล่าว
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. เขาก็เดินหน้าขู่เรื่องจะเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรใหม่ต่อประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ จีน แคนาดา และเม็กซิโก อย่างต่อเนื่อง
“สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนไปสู่ท่าทีทางนโยบายที่เน้นความเป็นเอกเทศมากขึ้น โดยการเพิ่มภาษีศุลกากรและพยายามคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” หลุยส์ โอกาเนส กล่าว
“แม้ว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น แต่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศที่พึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ”
เมาริซ ออบส์เฟลด์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุว่าภาษีศุลกากรใหม่อาจส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อเม็กซิโกและแคนาดา และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองด้วย
เขายกตัวอย่างอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่กระจายอยู่ในทั้งสามประเทศ โดยชี้ว่าหากมีการขัดขวางห่วงโซ่อุปทานนี้ อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในตลาดรถยนต์
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ซึ่งอาจฉุดระดับการลงทุนให้ลดลงตามไปด้วย
ออบส์เฟลด์ ซึ่งปัจจุบันสังกัดสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for World Economics) เสริมว่า “การนำภาษีประเภทนี้มาใช้ในโลกที่พึ่งพาการค้าอย่างหนัก อาจส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้”
การขู่ขึ้นภาษีของทรัมป์ยังมีส่วนสำคัญในการบีบให้จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ต้องลาออกจากตำแหน่งอีกด้วย
แม้ว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ และจีนทำการค้ากันจะอยู่ภายใต้อัตราภาษีจากนโยบายในสมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์อยู่แล้ว แต่การขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีอัตราใหม่ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในปีข้างหน้านี้
ในสุนทรพจน์ปีใหม่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ยอมรับถึง “ความท้าทายจากความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมภายนอก” แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ใน “แนวโน้มการเติบโตเชิงบวก”
การส่งออกสินค้าราคาถูกจากโรงงานของจีนถือเป็นหัวใจสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากความต้องการลดลงเนื่องจากภาษีศุลกากรที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ก็อาจซ้ำเติมความท้าทายภายในประเทศ เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซาและการลงทุนทางธุรกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรัฐบาลจีนก็กำลังพยายามแก้ไข
ความพยายามเหล่านี้เริ่มส่งผลดีขึ้น โดยธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีนในปี 2025 จาก 4.1% เป็น 4.5% เมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตสำหรับปี 2025 แต่เชื่อกันว่าเมื่อปีที่แล้วจีนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 5% ได้
“การแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ การเสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคม และการปรับปรุงสถานะทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน” มารา วอร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศจีนกล่าว
ไมเคิล ฮาร์ต ประธานหอการค้าอเมริกันในจีน ชี้ว่า ความท้าทายภายในประเทศเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลจีน “เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น”
ทว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการขึ้นภาษีที่มีให้เห็นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็บีบให้บริษัทบางแห่งเริ่มมองหาทางเลือกในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ฮาร์ตชี้ว่า “จีนใช้เวลาถึง 30-40 ปีในการก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตรายใหญ่ของโลก และแม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะพยายามลดความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ยังไม่มีบริษัทใดพร้อมที่จะเลิกพึ่งพาจีนอย่างสมบูรณ์”
คาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะยังคงเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการค้าโลกต่อไป โดยเมื่อปีที่แล้ว มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 10 ล้านคันในประเทศจีน ความเป็นผู้นำของจีนในตลาดนี้ทำให้สหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป (EU) เริ่มใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
รัฐบาลจีนมองว่า มาตรการเหล่านี้ไม่เป็นธรรม และกำลังพยายามท้าทายสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในองค์การการค้าโลก (World Alternate Group – WTO )
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้สหภาพยุโรปกังวลมากขึ้นคือความเป็นไปได้ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจเพิ่มมาตรการภาษีขึ้นอีก
“ข้อจำกัดทางการค้าและมาตรการปกป้องทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเติบโต และท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งโดยรวมแล้วก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่” คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Monetary institution – ECB) กล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว “แต่ในระยะสั้น มันน่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น”
เยอรมนีและฝรั่งเศสคือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยุโรป แต่ทั้งสองประเทศก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมา แม้ว่าล่าสุดจะมีสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจแถบยูโรโซนยังคงมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในปีหน้า เว้นแต่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุน
ในสหราชอาณาจักร ราคาสินค้าที่สูงขึ้นอาจเกิดจากการขึ้นภาษีและค่าแรงตามรายงานจากแบบสำรวจหนึ่ง
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรปยังไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้คืออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ที่ 4.2% ซึ่งมากกว่าเป้าหมาย 2% กว่าเท่าตัว ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากค่าแรงที่สูงขึ้น นี่เป็นปัจจัยหลักที่ขัดขวางการลดลงของเงินเฟ้อ
แซนเดอร์ ฟานท์ นอร์เดนเด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรันด์สตัด (Randstad) บริษัทจัดหางานที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า สถานการณ์คล้ายคลึงกันในสหรัฐฯ
“ในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อด้านค่าแรงยังคงอยู่ที่ประมาณ 4% ในปี 2024 และในบางประเทศทางยุโรปตะวันตก ตัวเลขนี้สูงกว่านั้นเสียอีก ผมคิดว่ามีสองปัจจัยหลักคือการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและเงินเฟ้อที่ทำให้คนเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับงานที่พวกเขาทำ”
ฟานท์ นอร์เดนเด กล่าวเสริมว่า หลายบริษัทเลือกส่งผ่านต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ไปยังผู้บริโภค ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโดยรวม
การชะลอตัวของตลาดแรงงานทั่วโลกสะท้อนถึง “การขาดความคล่องตัว” ในภาคธุรกิจ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าว
“หากเศรษฐกิจดำเนินไปได้ดี ธุรกิจจะขยายตัวและเริ่มจ้างงานมากขึ้น ผู้คนจะมองเห็นโอกาสที่น่าสนใจ และเราจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานมากขึ้น” เขากล่าว
ในปี 2025 นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเริ่มบทบาทใหม่พร้อมด้วยแผนเศรษฐกิจจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ กฎเหล่านี้อาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่จะยังไม่ถูกเปิดเผย ก่อนที่เขาจะกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 ม.ค. แต่ “ทุกอย่างชี้ไปที่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต้องรับภาระต้นทุน” หลุยส์ โอกาเนส จากเจพีมอร์แกนกล่าว
เขายังคงหวังว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะลดลงต่อไป แต่เตือนว่า “หลายอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ”
ที่มา BBC.co.uk