ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเชื่อมโยงกับไฟป่ารุนแรงในแคลิฟอร์เนียอย่างไร ?

ที่มาของภาพ, Getty Images

Article data

  • Creator, แมตต์ แมคกราธ
  • Role, ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้หญ้าและพุ่มไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟป่าที่กำลังเผาไหม้ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีความเสี่ยงที่จะเกิดจุดติดเป็นไฟไหม้มากขึ้น

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสลับกันระหว่างความแห้งแล้งและความชื้นในลอสแอนเจลิสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นไม้ กิ่งก้าน และใบไม้จำนวนมาก มีสภาพแห้งพร้อมที่จะติดไฟได้ทุกเมื่อ

ภัยแล้งเกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษในรัฐแคลิฟอร์เนีย และตามมาด้วยปีที่เกิดฝนตกหนักในปี 2022 และ 2023 แต่หลังจากนั้นสภาพอากาศได้กลับมาแห้งแล้งอย่างมากในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของปี 2024

ในงานศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กระตุ้นให้เกิดสภาวะ “เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน” เพิ่มขึ้นทั่วโลกมากถึง 31-66% นับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20

สถานการณ์ไฟป่าลุกลามไปในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 ราย เผาไหม้อาคารสิ่งก่อสร้างไปแล้วหลายร้อยหลัง และต้องอพยพประชาชนกว่า 179,000 คนแล้ว

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Quit of เรื่องแนะนำ

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบฉับพลันในแคลิฟอร์เนียเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าถึงสองเท่า” แดเนียล สเวน หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ระบุ

“อย่างแรกเลยคือ หญ้าแห้งและพุ่มไม้ที่ติดไฟได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูไฟป่า และหลังจากนั้น เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็แห้งจนถึงระดับสูงสุดด้วยความแห้งแล้งรุนแรงและอุณหภูมิอบอุ่นที่ตามมา”

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ทุก ๆ องศาที่อุณหภูมิสูงขึ้น ชั้นบรรยากาศจะสามารถระเหย ดูดซับ และปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น 7%

นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ฟองน้ำในชั้นบรรยากาศที่ขยายตัว” ซึ่งมันไม่เพียงแต่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมื่อสภาพอากาศชื้นขึ้น แต่ยังดึงความชื้นออกจากพืชและดินเมื่อสภาพอากาศแห้งขึ้นอีกด้วย

นักวิจัยคนอื่น ๆ บอกด้วยว่า งานศึกษาครั้งใหม่ได้เน้นย้ำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ความผันผวนที่เกิดอย่างฉับพลันแบบนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและไฟป่า

“จากความหายนะจากไฟป่าในลอสแอนเจลิสที่เกิดขึ้นล่าสุด เป็นที่ชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดกับความผันผวนของฝนและการระเหย สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างใหญ่หลวง” ศาสตราจารย์ เซอร์ ไบรอัน ฮอสกินส์ ประธานสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแกรนแธม มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ระบุ

“เรื่องน่าสนใจอีกประเด็นจากผลการศึกษาคือ โมเดลสภาพภูมิอากาศอาจประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ไว้ต่ำเกินไป แม้โมเดลเหล่านั้นจะประเมินความผันผวนของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกไว้สองเท่า คือเพิ่มขึ้นที่ 3 องศาเซลเซียส ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้มากขึ้นที่เราจะไปถึงจุดนั้น”

ที่มาของภาพ, Getty Images

งานศึกษาวิจัยฉบับใหม่นี้เป็นอีกหลักฐานสนับสนุนข้อค้นพบว่า สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขพื้นฐานของการเกิดไฟป่าที่ลุกไหม้ในพื้นที่ลอสแอนเจลิสในตอนนี้ไปแล้ว

พื้นที่ส่วนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ประสบกับความแห้งแล้งยาวนานหลายทศวรรษก่อนที่จะหยุดไปเมื่อสองปีที่แล้ว และผลของสภาพอากาศชื้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้พุ่มไม้ หญ้า และต้นไม้ต่าง ๆ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีต่อการเกิดไฟป่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว สภาพอากาศนั้นร้อนจัด และตามมาด้วยฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่แห้งแล้ง ขณะเดียวกันในเขตเมืองของลอสแอนเจลิส ก็แทบไม่มีฝนตกลงมา โดยปริมาณฝนที่ตกลงมาวัดได้เพียง 0.16 นิ้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยกว่า 4 นิ้ว

ทีมนักวิจัยเชื่อว่า โลกที่ร้อนขึ้นกำลังทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่รวมถึงสภาวะที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำด้วย

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า จำนวนวันที่เกิดไฟป่ากำลังเพิ่มขึ้นในหลายส่วนของโลก โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น และฤดูไฟป่าก็ยาวนานขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก

สำหรับไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย สถานการณ์ยังเลวร้ายยิ่งขึ้นด้วยปัจจัยจากลักษณะภูมิประเทศที่ทำให้ไฟป่าลุกลามรุนแรงขึ้นและขยายวงอย่างรวดเร็วในแถบภูมิประเทศที่สูงชัน นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าของแคลิฟอร์เนีย ยังมีพืชพรรณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติอีกด้วย

“แม้ว่าไฟป่าจะเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่นี้ แต่ที่แคลิฟอร์เนีย ระยะเวลาที่เกิดไฟป่าและความรุนแรงของฤดูไฟป่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ศาสตราจารย์ สเตฟาน โดเออร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไฟป่าแห่งมหาวิทยาลัยสวอนซี ระบุ

“กล่าวได้ว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไฟเหล่านี้รุนแรงขึ้นมากแค่ไหน เพราะจะต้องประเมินในรายละเอียดที่ลึกขึ้นเพิ่มเติมผ่านการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง” เขาระบุ