แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/743z | ดู : 10 ครั้ง
เผย-9-ปีกองทุนยุติธรรมอนุมัติเพียง-55%-จากคำขอทั้งหมด-กสม.กาง-4-ข้อแก้ปัญหา

กสม.เผยข้อมูลกองทุนยุติธรรมเผย 9 ปี (2558-2567) จากคำขอทั้งหมด อนุมัติช่วยเหลือเพียง 55% ชี้ 4 อุปสรรคสำคัญ ‘ตีความเยอะ-ไม่กำหนดขั้นตอนเวลาพิจารณาผล-ทนายไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน-อนุฯในจังหวัดไม่มีตัวแทนประชาชน’ ก่อนแนะ 4 ข้อแก้ปัญหา


สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า วันที่ 12 เม.ย. 2568 นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาเห็นว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและยุทธศาสตร์ชาติ แต่การเข้าถึงความยุติธรรมกลับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากประชาชนยังไม่เข้าใจบทบัญญัติของกฎหมาย ส่งผลให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ โดย “ความยากจน” ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะกระบวนการดำเนินคดีมีค่าใช้จ่ายสูง กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

@9 ปี กองทุนยุติธรรม อนุมัติเพียง 55%

จากสถิติการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรมตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2567 พบว่า จำนวนผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนของผู้ที่ได้รับการอนุมัติยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 55 ของคำร้องทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในกระบวนการพิจารณาคำขอ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือที่อาจมีความเข้มงวดมากเกินไป และสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

กสม. พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัย กรณีตัวอย่างการปฏิบัติของต่างประเทศ ข้อมูล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เป็นกลไกสำคัญในระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน แต่ยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนใน 4 ประเด็น ดังนี้

@ใช้ดุลยพินิจตีความเยอะ

ประเด็นที่ 1 ปัญหาหลักเกณฑ์การพิจารณาพฤติกรรมและข้อเท็จจริงของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือตามข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติที่สามารถตีความได้อย่างกว้าง เช่น “ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ส่งผลให้คดีหลายประเภทไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐหรือประชาชนเป็นคู่กรณีกับหน่วยงานรัฐ คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลักษณะการกระทำความผิดส่วนใหญ่ที่ถูกปฏิเสธคำขอ เช่น ความผิดที่มีอัตราโทษสูง ความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก ความผิดที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยเป็นคดีที่ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาล จึงขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence)

สำหรับปัญหาการพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดคำนิยาม “ความยากจน” ให้ชัดเจนว่ามีขอบเขตเพียงใด แม้จะมีการกำหนดแนวทางการพิจารณาฐานะไว้ในระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมฯ แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการพิสูจน์ฐานะทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มาตรา 28 (2) ของกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ต้องพิจารณาฐานะของ

ผู้ยื่นคำขอ ซึ่งเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่ง กสม. เห็นว่าไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้น เนื่องจากรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนปัญหาการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีศาลมีคำพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยหรือพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ นั้น ข้อ 9 (3) ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ความช่วยเหลือไว้ว่าหากเป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยหรือพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยจะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่งผลให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมายกองทุนยุติธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาการตีความการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ 7/2560 ได้วางแนวทางการพิจารณากรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนว่า ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจกลั่นแกล้งหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยไม่มีอำนาจเท่านั้น หากไม่พบการกลั่นแกล้งจะไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนสามารถฟ้องร้องคดีทางแพ่งต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ แนวทางการตีความดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือตามข้อ 9 ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมฯ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนไปใช้สิทธิ

ฟ้องคดีด้วยตนเอง ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นหน้าที่ของรัฐ

@การทบทวนผลการพิจารณา ไม่กำหนดขั้นตอน-เวลา

ประเด็นที่ 2 ปัญหาการทบทวนผลการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม กรณีคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือหรือคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดมีคำสั่งอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือยุติให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ โดยพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2559 ไม่ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายกลาง แม้ว่าระเบียบกองทุนยุติธรรม ข้อ 19 ให้สิทธิยื่นขอทบทวนผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ แต่เป็นการยื่นต่อคณะอนุกรรมการฯ ชุดเดิม จึงยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของตนเอง

@ทนายความไม่ชำนาญเฉพาะด้าน-อนุกรรมการขาดตัวแทนจากภาคประชาชน

ประเด็นที่ 3 ปัญหาการขึ้นบัญชีทนายความและการแต่งตั้งทนายความเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีของกองทุนยุติธรรม ที่ผ่านมาทางกองทุนยุติธรรมพิจารณาเพียงความครบถ้วนตามคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดก็จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นบัญชีทนายความของกองทุนยุติธรรม ซึ่งมีเพียงบัญชีเดียวและไม่ได้แยกประเภทบัญชีตามประเภทคดีหรือตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่งผลให้เมื่อมีการยื่น

คำขอรับความช่วยเหลือจากประชาชน กองทุนยุติธรรมจะแต่งตั้งทนายความตามลำดับการขึ้นบัญชี โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเชี่ยวชาญของทนายความว่ามีความเหมาะสมกับประเภทคดีหรือไม่

ประเด็นที่ 4 ปัญหาสัดส่วนในองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด เห็นว่า ส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ว่าสำนักงานกองทุนยุติธรรมจะมีความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมหรือผู้แทนเครือข่ายยุติธรรมชุมชนที่ยุติธรรมจังหวัดคัดเลือกไว้ในสัดส่วนของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด จาก 1 คน เป็น 2 คนแล้ว แต่ก็ยังไม่สมดุลกับสัดส่วนของผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ทำให้ความเห็นหรือมติที่ประชุมขาดเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนที่เข้าใจบริบทหรือปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง

ภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

@แนะปรับปรุง 4 ประเด็น

ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่1 เมษายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนยุติธรรม ปรับปรุงแก้ไขคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานกองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นแนวทางการพิจารณาคำขอเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีบรรทัดฐานประกอบการพิจารณาในแต่ละพื้นที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้ปรับปรุง

1.การพิจารณาพฤติกรรมและข้อเท็จจริงของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือโดยไม่เป็นการตัดสินคดีของผู้ยื่นคำขอทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาล

2.หลักเกณฑ์พิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและยกเลิกหลักการพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจประกอบคำขอของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

3.ให้แยกประเภทบัญชีทนายความตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้กองทุนยุติธรรมสามารถจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้อย่างเหมาะสมตามประเภทคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยร้องขอ

และ 4. ให้ยกเลิกการใช้แนวทางการพิจารณาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ครั้งที่ 7/2560 ที่ให้การชดเชยเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องพิจารณาว่าได้กระทำโดยจงใจกลั่นแกล้ง หรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยไม่มีอำนาจเท่านั้น เนื่องจากรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาโดยไม่จำต้องคำนึงถึงเจตนาของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ให้แก้ไขปรับปรุงข้อ 9 (3) ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพียงกรณีที่ “ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง” เพื่อให้สอดคล้องตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ และให้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ผลการพิจารณาที่ไม่อนุมัติความช่วยเหลือและกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำขอโดยเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการทบทวนคำสั่งโดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งให้ปรับปรุงสัดส่วนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนให้สมดุลกัน

ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญร่วมสักการะพระพุทธสิหิงค์ เนื่องในเทศกาลม 2025-04-12 08:Forty eight:00

รวบหนุ่มยิvคนเสียชีวิต หลบหนีหมายจับนานกว่า 10 ปี . ตำรวจสอบสวนกลา

‘กฤษฎีกา’ ชี้ ‘บอร์ดสรรหา กกพ.’ มีส่วนได้เสียกับธุรกิจพลังงาน ไม่เป็นลักษณะต้องห้าม

รายงานสด แตงกวา เกาะติดสถานะการณ์ กู้ซากตึก สตง

ประชาชนดินทางกลับภูมิลำเนา รฟท.เพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษ ยันไร้ตกค้ 2025-04-12 08:52:00

ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘หมอบุญ วนาสิน’เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ-ปกปิดนำหุ้น Thg ที่ถืออยู่ไปจำนำ

หนีไม่รอด! จับสาวแก๊งเว็บพนัน หลังกลับจากปอยเปต พักร้อนเกาะล

เปิดคลิปบทสรุปคดีทุจริตท่าเรือนาเกลือ รอลงอาญาคุก 'กิจ หลีกภัย' อดีตนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/743z | ดู : 10 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend