แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/6i8j | ดู : 10 ครั้ง
สภาผู้บริโภคเผยผลทดสอบ-20-ครีมกันแดด-สุ่มซื้อจากคนดังออนไลน์-เตรียม’ร่างจริยธรรมอินฟลูฯ’

นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครีมกันแดด 20 รายการ สุ่มซื้อจากคนดังในโลกออนไลน์เป็นเจ้าของ/พรีเซ็นเตอร์ ด้านสภาผู้บริโภคเตรียม ‘ร่างจริยธรรมของอินฟลูเอนเซอร์' เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค


สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “ผลทดสอบค่า SPF ครีมกันแดด” ซึ่งรวบรวมรายชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากผู้มีชื่อเสียงหรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาต่อผู้บริโภค โดยการทดสอบครั้งนี้ได้ส่งตัวอย่างวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และเทียบข้อมูลโดยอ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดของเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ.2560 ภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การสำรวจเฝ้าระวังในครั้งนี้ เราเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่ผู้มีชื่อเสียงหรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ บางคนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค บางคนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ของสารที่มีการโฆษณาต่อผู้บริโภคและสารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะความเชื่อใจจึงทำให้ผู้บริโภคอาจละเลยการตรวจสอบเรื่องคุณภาพความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ และที่เราเลือกกลุ่มครีมกันแดดก็เนื่องจากเป็นสินค้าราคาค่อนข้างสูง และต้องใช้บ่อยในสภาพอากาศของเมืองไทย

ผู้บริโภคจึงควรได้มีข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ดังนั้นเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้ารวมถึงป้องกันสิทธิผู้บริโภค จึงต้องมีกฎหมายออกมากำกับดูแล ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเตรียมจัดทำ “ร่างจริยธรรมของอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องปรับตัวตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาใดได้รับการสนับสนุน การนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และการใส่ใจผลกระทบระยะยาวต่อผู้ติดตามและสังคมโดยรวม

ด้าน น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าครีมกันแดดจากบุคคลมีชื่อเสียงหรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) จำนวน 20 รายการ โดยคัดเลือกจากผลิตภัณฑ์ที่มีอินฟลูเอนเซอร์เป็นเจ้าของหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์ ที่มียอดผู้ติดตามเกินหนึ่งแสนคนและความนิยมของตัวผลิตภัณฑ์ โดยสั่งซื้อจากร้านค้าออฟฟิเชียลรวม 20 ตัวอย่าง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Tiktok shop 10 ตัวอย่าง, Shopee 9 ตัวอย่าง, Karmart (เว็บไซต์) 1 ตัวอย่าง ในช่วงระหว่างวันที่ 15-28 มกราคม 2568 และส่งตัวอย่างวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล

จากนั้นเปรียบเทียบผลทดสอบ การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดของเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด โดยอ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดของเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ.2560 ซึ่งตัวอย่างที่สุ่มทดสอบมีการแสดงฉลากแสดงยี่ห้อ ดังนี้

  • BEMIND HYA BRIGHT BODY SUNSCREEN บีมายด์ ไฮยา ไบรท์ บอดี้ ซันสกรีน
  • NANGNGAM SUNSCREEN Lifting & Whitening นางงาม ซันสกรีน เซรั่ม ลิฟติ้ง แอนด์ ไวท์เทนนิ่ง
  • Cho Blur & Conceal Foundation โช เบลอ แอนด์ คัฟเวอร์ ฟาวเดชั่น
  • THA BY NONGCHAT Acne ฑาบายน้องฉัตร แอคเน่ ซันสกรีน
  • Elite CARE Reflected Snow Sunscreen อีลิทแคร์ รีเฟลค สโนว ซันสกรีน
  • INGU Sizable-Light Soothing Sunscreen อิงกุ ซูเปอร์-ไลท์ ซูธธิ่ง ซันสกรีน
  • INGU Aqua Defense Hybrid Sunscreen อิงกุ อควา ดีเฟนซ์ ไฮบริด ซันสกรีน
  • eve’s HYBRID PROTECTOR SUN GELอีฟส์ ไฮบริด โพรเทคเตอร์ ซัน เจล
  • BESTLOVE DAILY UV PROTECTION เบสท์เลิฟ เดลี่ ยูวี โพรเทคชั่น
  • MOLECULOGY STARTER SUNSCREEN โมเลกุลโลจี้ สตาร์ทเตอร์ ซันสกรีน
  • SIBLING DAILY AQUA SHIELD ALL UV SUNSCREEN ซิบลิ้ง เดลี่ อควา ชิลด์ ออล ยูวี ซันสกรีน
  • BEMIND INORGANIC SUNSCREEN CERAMIDE SERUM บีมายด์ อินออร์แกนิก ซันสกรีน เซราไมด์ เซรั่ม
  • BEMIND BEBASE ORGANIC SUNSCREEN บีมายด์ บีเบส ออร์แกนิก ซันสกรีน
  • Cho PERFECT ALL IN 1 CC CREAM โซ เพอร์เฟค ออล อิน วัน ซีซี ครีม
  • DR.MOM High Defence Sunscreen Pure ดอกเตอร์มัม ไฮ ดิเฟนซ์ ซันสกรีน เนเชอรัล
  • Cho SKIN ORGANIC HYBRID SUNSCREEN SERUM โช ออร์แกนิค ไฮบริด ซันสกรีน เซรั่ม
  • SEWA ULTRA HYBRID SUNSCREEN เซวา อัลตร้า ไฮบริด ซันสกรีน
  • ROSEGOLD MIKU SUNLESS MILKY AQUA+ โรสโกลด์ มิกุ ซันเลส มิลกี้ อะควา พลัส
  • EVE’S SMOOTH SUNSCREEN อีฟส์ สมูธ ซันสกรีน
  • Smith TOTAL SUNSCREEN with Elix-IR & Liposhield HEV สมิทธิ์ โทเทิล ซันสกรีน

จากการทดสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการแสดงฉลากค่าประสิทธิภาพ SPF50 จำนวน 6 ตัวอย่างและ SPF50+ จำนวน 14 ตัวอย่าง (การแสดงค่า SPF50 หรือ SPF50+ หมายความว่าต้องมีค่า SPF ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับของประสิทธิภาพในเกณฑ์สูงมาก)

ผลิตภัณฑ์มีการแสดงค่า PA+++ จำนวน 2 ตัวอย่าง และ ค่า PA++++ จำนวน 18 ตัวอย่าง ( PA คือ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ โดยการแสดงค่า PA ที่มีเครื่องหมายบวก 3-4 ตัว หมายถึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอที่สูงขึ้น โดย PA+++ คือ มีค่า UVAPF อยู่ระหว่าง 8-<16 เป็นการแสดงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอในระดับสูง และ PA++++ คือ มีค่า UVAPF อยู่ที่ตั้งแต่ 16 ขึ้นไป หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอในระดับสูงมาก)

ผลทดสอบค่าประสิทธิภาพ SPF พบว่า 15 ตัวอย่างแสดงฉลากค่า SPF ตรงตามผลทดสอบ โดยมี 5 ตัวอย่างที่มีค่า SPF ไม่ตรงกับที่แสดงไว้บนฉลาก ได้แก่

  • INGU Sizable-Light Soothing Sunscreen อิงกุ ซูเปอร์-ไลท์ ซูธธิ่ง ซันสกรีน ผลทดสอบได้ 45.3 (ประสิทธิภาพสูง)
  • Elite CARE Reflected Snow Sunscreen อีลิทแคร์ รีเฟลค สโนว ซันสกรีน ผลทดสอบได้ 29.2 (ประสิทธิภาพปานกลาง)
  • BESTLOVE DAILY UV PROTECTION เบสท์เลิฟ เดลี่ ยูวี โพรเทคชั่น ผลทดสอบได้ 23.6 (ประสิทธิภาพปานกลาง)
  • EVE’S SMOOTH SUNSCREEN อีฟส์ สมูธ ซันสกรีน ผลทดสอบได้ 11.4 และ Smith TOTAL SUNSCREEN with Elix-IR & Liposhield HEV สมิทธิ์ โทเทิล ซันสกรีน ผลทดสอบได้ 8.4 (ประสิทธิภาพต่ำ) สามารถดูเรื่องเกณฑ์การแสดงประสิทธิภาพได้ที่ หมายเหตุ)

ผลทดสอบ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ หรือ ค่า PA พบว่า 16 ตัวอย่างแสดงฉลาก PA ตรงตามผลทดสอบ โดยมี 4 ตัวอย่าง ที่มีการแสดงค่า PA ไม่เป็นไปตามที่แสดงไว้บนฉลาก ได้แก่

  • Elite CARE Reflected Snow Sunscreen อีลิทแคร์ รีเฟลค สโนว ซันสกรีน (แสดงฉลาก PA++++) ผลทดสอบ 12.9 (UVAPF) หรือเทียบตามประกาศฯ คือ PA+++
  • BESTLOVE DAILY UV PROTECTION เบสท์เลิฟ เดลี่ ยูวี โพรเทคชั่น (แสดงฉลาก PA++++) ผลทดสอบ 8.2 (UVAPF) หรือเทียบตามประกาศฯ คือ PA+++
  • EVE’S SMOOTH SUNSCREEN อีฟส์ สมูธ ซันสกรีน (แสดงฉลาก PA+++) ผลทดสอบ 4.4 (UVAPF) หรือเทียบตามประกาศฯ คือ PA++
  • Smith TOTAL SUNSCREEN with Elix-IR & Liposhield HEV สมิทธิ์ โทเทิล ซันสกรีน (แสดงฉลาก PA++++) ผลทดสอบ 3.9 (UVAPF) หรือเทียบตามประกาศฯ คือ PA+

ข้อสังเกต

  • การแสดงฉลากเรื่องค่าประสิทธิภาพ SPF50 รวมถึงค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ หรือ PA ที่พบว่ามีผลการทดสอบไม่ตรงกับที่กล่าวอ้างบนฉลากนั้น กฎหมายจะคุ้มครองประเด็นนี้อย่างไร
  • ผลทดสอบค่า SPF ที่สูงกว่า 50 นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีบี เพราะกฎหมายกำหนดว่า สามารถแสดงค่าประสิทธิภาพได้แค่ 50 หรือ 50+ เท่านั้น ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพสูงมากแล้ว
  • จากการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์พบว่า การแสดงวันผลิต ที่ระบุของแต่ละผลิตภัณฑ์ มีการแสดงรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน

ผศ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลักการใช้สารในเครื่องสำอาง ต้องดูในข้อกำหนด 2 ประเด็น นั่นคือ หากเป็น “วัตถุห้ามใช้ ” หมายถึง ต้องไม่มีสารนั้นอยู่ในส่วนผสมแม้แต่นิดเดียว” แต่หากเป็น “วัตถุอาจใช้ ” นั่นคือ มีการกำหนดปริมาณสารสูงสุดในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ หากเกินกว่านั้น จะกลายเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางทันที จึงต้องดูว่าสารป้องกันแสงแดดเป็นสารชนิดไหน และใส่ลงในผลิตภัณฑ์เป็นไปตามปริมาณที่กำหนดหรือไม่ ส่วนเครื่องสำอางที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป กฎหมายไทยให้แสดงเป็น SPF50+ ถ้าฉลากเครื่องสำอางอ้างว่ามี SPF เท่าไหร่ แต่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ถึงตามที่อ้าง ฉลากเครื่องสำอางนั้นจะมีลักษณะที่ใช้ข้อความไม่เป็นความจริง เป็นฉลากที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 22 วรรคสอง (1) ซึ่งมีบทลงโทษตามกฎหมาย กล่าวคือ หากยังมีการวางขายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ส่วนผู้ผลิต ผู้นำเข้าจะมีโทษตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง คือ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเหตุ

  • SPF ( Sunburn Safety Ingredient ) เป็นค่าที่วัดประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกัน การไหม้แดงของผิวจากรังสียูวีบี (UVB)
  • ส่วน ค่า PA ( Safety grade of UVA ) ในครีมกันแดด ที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ที่เรียกว่า Continual Pigment Darkening หรือ PPD และรายงานผลออกมาเป็นค่า PA ไล่ระดับตั้งแต่ PA+ ถึง PA++++ (PA+ ถึง PA++++ เป็นค่าการป้องกัน UVA ริเริ่มโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2006 )

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถดูประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดของเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ.2560 ได้ที่ https://beauty.fda.moph.meander.th/bright-law/08-15

ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/6i8j | ดู : 10 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend