
อินโฟกราฟิก: กิตติยา อรอินทร์
ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) สภาผู้แทนราษฎรเตรียมจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้ง 4 ฉบับ โดย สส.จากหลายพรรค และจากทุกเฉดสี ต่างเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอื่นๆ ขัดแย้งกันเพียงประเด็นเดียวคือ จะนิรโทษกรรมข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือ คดีมาตรา 112 หรือไม่
ทำไมคดี ม.112 จึงเป็นประเด็นมาก?
- ฝ่ายที่มองว่าไม่ควรนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เพราะว่าคดี ม.112 เป็นคดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การนิรโทษกรรมที่รวมคดีนี้ อาจเป็นการส่งเสริมให้คนไปทำผิดซ้ำ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่
- ขณะที่ฝ่ายที่เห็นควรรวมคดี ม.112 ไปด้วย เพราะมองว่า ในคดีทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูง ข้อวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมล้วนแล้วแต่อยู่ที่คดี ม.112 ทั้งสิ้น แม้ว่าในเชิงจำนวน คดี ม.112 จะถือเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ การรวมคดี ม.112 จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสลายความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสร้างการพูดคุยตามระบอบประชาธิปไตย
จำนวนคดีการเมือง-คดี ม.112
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2568 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,962 คน ในจำนวน 1,318 คดี
- หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,029 ครั้ง
- สำหรับสถิติการดำเนินคดี ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 278 คน ในจำนวน 311 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 164 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)
จำนวนผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2568 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย forty eight คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 31 คน)
- แยกเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 30 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 20 คน)
- เยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำพิพากษาของศาลเยาวชน
- ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ อย่างน้อย 17 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 11 คน)
ในปีนี้ ศูนย์ทนายฯ นับจำนวนผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนปี 2563 เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ภาพรวมของผู้ต้องขังที่ถูกจองจำอยู่มากขึ้น)
* ข้อมูลจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568
ท่าทีพรรคร่วมฯ ค้านนิรโทษฯ คดี ม.112
พรรครวมไทยสร้างชาติ
- ย้ำจุดยืนไม่เอานิรโทษกรรมคดี 112-คดีทุจริต ประพฤติมิชอบ
- เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแค่คดีการเมืองที่มีโทษไม่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต
- สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ…. ที่ วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร กับคณะ พรรครทสช.เป็นผู้เสนอ
พรรคพลังประชารัฐ
- ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาฯ พรรค พปชร. เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จุดยืนของพรรคไม่เอาทุกฉบับที่มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคได้กำชับไว้หลายรอบว่าไม่เห็นด้วยโดยเด็ดขาด
พรรคกล้าธรรม
- นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรค กธ. เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงจุดยืนของพรรคต่อกฎหมายนิรโทษกรรมว่าจะต้องไม่รวมถึงผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 และคดีทุจริต
พรรคชาติไทยพัฒนา
- วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า พรรคไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมมาตรา 112 รวมถึงความผิดที่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต
พรรคประชาธิปัตย์
- เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ไม่เอามาตรา 112 และไม่เอาการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง
พรรคภูมิใจไทย
- อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ประกาศชัดเจนมาตลอดว่าไม่แตะมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด
พรรคเพื่อไทย
- แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่าพรรค พท.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาโดยตลอด แต่จะไม่แตะมาตรา 112 อย่างแน่นอน
พรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม)
- ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ว่า สำหรับพรรค ปชน. สามารถโหวตรับทุกร่างให้ผ่านวาระ 1 ได้อยู่แล้ว แล้วไปถกเถียงในวาระต่อไป แต่นักการเมืองจะโหวตกันหรือเปล่า เพราะอาจกลัวว่าจะมีคดีตามมา ตนจึงมองว่า ทุกร่างฯ ที่เสนอเข้าไป หากไม่แตะเรื่อง ม.112 ก็มีโอกาสได้ไปต่อ
ดังนั้น คำถามสำคัญประการหนึ่ง คือ หากไม่รวมคดี 112 แล้วใคร/กลุ่มใดจะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองบ้าง
ทั้งนี้ มีอยู่ 2 ร่างฯ ที่ระบุชัดเจนว่าไม่รวมคดี ม.112 คือ ร่างฯ ที่เสนอโดย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
ร่างที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรมให้กับคดี ม.112 คือฉบับภาคประชาชน ที่ให้ยกเลิกคดีที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่กฎหมายครอบคลุมถึงทันทีรวมถึงจะถูกลบประวัติอาชญากรรมด้วย
ส่วนร่างฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลเดิม แม้ว่า บรรดา สส.และแกนนำในพรรค ปชน. แสดงท่าทีชัดเจนผ่านการพูดในวาระต่างๆ ว่าสมควรที่จะให้นิรโทษกรรมกับคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่ในทางปฏิบัติคนที่ถูกดำเนินคดีนี้จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ก็ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คำวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็คือสัดส่วนของกรรมการว่าจะมาจากขั้วทางการเมืองใดมากกว่ากัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ในวันพรุ่งนี้ ตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไป เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นัดหมายรวมตัวเพื่อสดที่บริเวณลานประชาชน รัฐสภา
โดยเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองทั้งหมด โดยไม่แยกแยะตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับสมัยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองครั้งก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น สมัยเดือนตุลาคม 2516 และ 2519, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และอื่นๆ
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )