
9 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 มีพิจารณาญัตติด่วนหามาตรการรองรับกรณีสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษี
ระหว่างการประชุม มี สส.จากทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนในประเด็นดังกล่าวรวม 10 ญัตติ และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้พิจารณาเรื่องนี้
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเขาได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟังและชี้แจงเรื่องนี้
‘ศิริกัญญา’ ย้ำรอบนี้หนัก ยอมให้กู้เพิ่ม แต่ต้องใช้พัฒนาผู้ประกอบการ
ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน อภิปรายว่า การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างลึกซึ้ง ทั้งกว้างและยาว เพราะเป็นการขึ้นกำแพงภาษีที่สูงที่สุดในรอบร้อยปี และรุนแรงกว่าช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Noteworthy Despair) อาจการตอบโต้การค้าไปมาจนเกิดผลกระทบวงกว้างทั่วโลก และจะกระทบกับประเทศไทยจากการเข้าไปเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลกและของจีนที่กำลังจะเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ สูงที่สุด 104% ที่จะเริ่มในวันพรุ่งนี้
ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ผลกระทบระลอกต่อมาเมื่อไม่มีตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ จะเกิดการแข่งขันสูงขึ้นโดยการตัดราคาและแสวงหาตลาดใหม่ สินค้าราคาถูกจะไหลเข้าไทยมาในฐานะเป็นตลาดใหม่ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวอย่างรุนแรง ไทยจะส่งออกได้น้อยลงและนักท่องเที่ยวก็จะน้อยลง กำลังซื้อในไทยก็จะแย่ลงไปอีก
สส.พรรคประชาชนกล่าวถึงสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมีอยู่ค่อนข้างมาก โดยยกตัวอย่างในกลุ่มที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าส่งออกเป็นอันดับ 1 คืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณ WiFi และบลูทูธในโทรศัพท์มือถือเป็นสัดส่วน 12.3% ของมูลค่าส่งออก รองลงมาเป็นฮาร์ดดิสก์ 8.7% ของมูลค่าส่งออก ตามมาด้วยยางล้อรถยนต์และรถบรรทุก
ศิริกัญญากล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้มีแรงงานอยู่เป็นแสนคน และเสี่ยงที่จะถูกลดชั่วโมงทำงาน เลิกจ้าง ทั้งอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์มีการจ้างคนอยู่ราว 100,000 คน ยางล้อรถมีแรงงานอยู่ราว 40,000 คน
นอกจากนั้นในแต่ละอุตสาหกรรมยังมีผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นอยู่ในห่วงโซ่อุปทานอยู่อีกนับพันราย อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการส่งออกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมไปผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้าของผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมก็จะกระทบด้วย ไปจนถึงชาวนา เกษตรกรที่ผลิตสินค้าส่งออก
สส.พรรคประชาชนกล่าวว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะทั้งกว้างและยาว เพราะไทยจะอยู่ในระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาไปอีกซักระยะ และไม่รู้ว่าสงครามการค้านี้จะยาวนานแค่ไหน การเจรจาที่จะเริ่มต้นในอีกเดือนหรือสองเดือนข้างหน้าก็ยังไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะสหรัฐฯ ก็บอกว่ามีประเทศที่ต่อคิวเข้าเจรจาถึง 70 ประเทศ เพื่อขอลดกำแพงภาษี
ศิริกัญญากล่าวถึงสถานการณ์การตอบโต้ไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ จะดำเนินต่อไป และไทยจะเจอลูกหลงไปด้วย เพราะไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของจีนแล้ว ถ้าจะส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ก็ต้องเจอผลการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาครั้งนี้แน่นอน ถ้าสหรัฐฯ ไม่ลดการสั่งซื้อก็เลิกการสั่งซื้อ จะกระทบกับผู้ผลิตไทยแน่ๆ ยอดขายจะหายทันทีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์
ศิริกัญญา กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาล 5 ด้าน คือ
มาตรการที่ 1 หาโอกาสนำเข้าพืชผลทางการเกษตร คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ศิริกัญญาเห็นว่าเรื่องนี้ต้องคุยกับเกษตรกรด้วย เพราะการนำเข้าข้าวโพดเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านตัน โดยที่ราคาน้อยกว่าที่ผลิตในไทยเกือบครึ่ง ย่อมกระทบกับราคาข้าวโพดในประเทศแน่นอน แม้ว่าจะนำเข้าในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้วก็ตาม การนำเข้ามาจะช่วยให้ไทยเกินดุลสหรัฐฯ ลดลงราว 10,000 ล้านบาท ดังนั้นเราก็คงต้องเจรจาให้โปร่งใส หารือกับเกษตรกรปลูกข้าวโพดในไทยก่อนที่รัฐบาลจะไปเจรจากับสหรัฐ
มาตรการที่ 2 การผ่อนคลายภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
เรื่องนี้ศิริกัญญามองว่าไม่น่าจะส่งผลต่อการลดการเกินดุลกับสหรัฐฯ
มาตรการที่ 3 ลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการภาษี
ศิริกัญญาเห็นว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการลดกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก แต่มาตรการนี้มีคำถามว่าจะมีสินค้านำเข้าอันไหนบ้างที่ต้องเปิดตลาดเพิ่มหรือไม่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไปจนถึงเอทานอล
มาตรการที่ 4 การคัดกรองสินค้าเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ
ศิริกัญญาอธิบายว่าจากการประมาณการณ์ มีสินค้าที่ใช้วิธีการโยกย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ อยู่ 23% ของยอดส่งออกทั้งหมดของไทย ถ้าไทยสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ทั้งหมดก็จะสามารถลดการเกินดุลกับสหรัฐฯ ได้อีกราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย แต่เธอประเมินว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ทั้ง 23% และดีที่สุดอาจจะลดลงได้ราวครึ่งหนึ่ง
มาตรการที่ 5 การหาโอกาสลงทุนในสหรัฐฯ
ศิริกัญญาเห็นว่า เป็นเรื่องที่หลายประเทศเห็นตรงกันในการเข้าไปร่วมลงทุนในท่อก๊าซธรรมชาติในอลาสก้า แต่ถ้าไทยจะเข้าไปเจรจาเรื่องนี้ เราได้เริ่มหารือกับประเทศอื่นๆ ที่จะลงทุนด้วยหรือยัง เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า เราจะเข้าไปร่วมลงทุนเท่าไหร่
ศิริกัญญากล่าวว่า มีบางแนวทางที่หายไปจากการแถลงของรัฐบาล ทั้งที่เคยมีการเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การซื้อเครื่องบินหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ จึงอยากสอบถามรัฐบาลว่าเรื่องนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่ เพราะเครื่องบินรบที่กองทัพใช้ก็เพิ่งซื้อกริพเพนจากสวีเดน ทำให้จะเปลี่ยนไปใช้ของสหรัฐฯ แทนคงไม่ได้แล้ว แต่ยังคงมีเครื่องบินลำเลียงอื่นๆ ที่รัฐบาลสามารถที่จะใช้เป็นข้อเจรจาได้
ศิริกัญญากล่าวว่ามาตรการทั้ง 5 ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าน่าอัศจรรย์พอในสายตาทรัมป์อย่างที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กล่าวไว้ และแต้มต่อที่ไทยมีจากการเป็นมิตรประเทศกับสหรัฐฯ ก็หายไปทุกวัน และกำลังทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นศัตรู ทั้งจากการที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปให้ทางการจีน การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับกับ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวสหรัฐฯ แล้วยังจะไม่ให้ประกันตัวด้วย
“การที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังรับสายรัฐบาลไทยอยู่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ยังสงสัยอยู่ว่าจะยังคงเจรจากับเราหลังจากที่มีเรื่องนี้อยู่หรือไม่” ศิริกัญญากล่าว
สส.พรรคประชาชนกล่าวว่า ตัวเธอเองและพรรคประชาชนไม่ได้ติดใจท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ได้เร่งรีบเจรจาแล้วใช้กลยุทธ์รอดูท่าที และไม่คิดว่าจะมีใครสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งเข้าไปเจรจาโดยผลีผลามอยู่แล้ว พร้อมทั้งเสนอว่ารัฐบาลจะต้องเยียวยา พยุงและกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เพราะการค้าการส่งออกที่จะหดตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากการเจรจายิ่งกินเวลาต่อเนื่องยาวนานก็ยิ่งกระทบกับปากท้องของประชาชนในไทยมากขึ้นเท่านั้น ภาคเอกชนที่เติบโตต่ำและหดตัวมาก่อนหน้านี้จะยิ่งชะงักมากขึ้น สุดท้ายก็จะกระทบกับรายได้ของประชาชน
ศิริกัญญากล่าวถึงการประเมินการเติบโตของ GDP ของไทยจากหน่วยงานต่างๆ ที่ประเมินว่าอาจจะเติบโตเพียง 1% และสูงที่สุดจะไม่เกิน 2.3% เท่านั้น แต่มาตรการช่วยเหลือของไทยมีการพูดถึงเพียงการให้สินเชื่อผ่านกองทุนการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีเม็ดเงินอยู่ราว 3,000 ล้านบาท
สส.พรรคประชาชนยกตัวอย่างถึงมาตรการรองรับผู้ประกอบการของแต่ละประเทศต่างๆ เช่น
- เกาหลีใต้ : มีแพ็คเกจเยียวยาฉุกเฉินให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไปแล้วราว 2.3 ล้านล้านบาท
- สิงคโปร์ : ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเยียวยาภาคเอกชนและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ คณะทำงานนี้มีทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และสภานายจ้างและสหภาพแรงงานร่วมด้วย
- ญี่ปุ่น : ประกาศให้สินเชื่อและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบเพราะภาษียานยนต์ขึ้นไปก่อนแล้ว 25 %
- สเปน : เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 538,000 ล้านบาท
- ออสเตรเลีย : ออกสินเชื่อ 0% ให้กับบริษัทเอกชนเพื่อหาตลาดใหม่และแสวงหาการส่งออกใหม่
- ไต้หวัน : ออกมาตรการสนับสนุนการส่งออกเป็นมูลค่า 94,000 ล้านบาทเพื่อให้อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
ศิริกัญญา เรียกร้องรัฐบาลว่า การเยียวยาเฉพาะหน้าแบบฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำโดยเร่งด่วนเช่นกัน อีกทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก็ได้รับผลกระทบไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ 25% ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ
สส.พรรคประชาชนกล่าวว่าอยากให้รัฐบาลและ BOI เร่งหารือช่วยเหลือภาคเอกชนที่กำลังระส่ำและกำลังคิดถึงการย้ายฐานการผลิตไปสหรัฐฯ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่บริษัทสัญชาติอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ด้วย เช่น บริษัทผลิตแผงวงจรที่มีมูลค่าส่งออกถึง 20,000 ล้านบาท เพราะกังวลว่าจะกระทบกับยอดขายของบริษัทที่ทุกวันนี้ส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 20% ของยอดขายทั้งหมด แต่เอกชนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลที่จะเข้าไปพูดคุยให้คลายกังวล สร้างความเชื่อมั่น หากบริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตก็จะกระทบกับแรงงานไทยอีกหลายพันชีวิตที่จะตกงาน
ศิริกัญญายกตัวอย่างอุตสาหกรรมยางพาราที่แม้จะอยู่ในลิสต์สินค้ายกเว้นภาษีนำเข้าก็ตาม แต่ไทยก็แปรรูปเป็นยางรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อส่งออกจนติดอันดับต้นๆ ในการส่งออกไปสหรัฐฯ แต่เมื่อเจอกำแพงภาษีก็ทำให้ตอนนี้ราคายางตก 10-12 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และรอให้รัฐบาลเข้าไปสื่อสารและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรยางพารา
สส.พรรคประชาชนกล่าวว่า GDP ของไทยที่เติบโตต่ำอยู่แล้ว มาเจอปัญหาเฉพาะหน้าที่ใหญ่ การลงทุนกำลังจะหยุดชะงัก คนงานกำลังเสี่ยงตกงาน พรรคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะทำเฉพาะหน้าในระยะสั้น กลาง และยาว ไปในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญาก็เห็นว่าสถานการณ์การคลังและงบประมาณของประเทศเหลืออยู่น้อยมาก หนี้สาธารณะกำลังชนเพดาน ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เกินกรอบกฎหมายไปแล้ว เหลือพื้นที่ที่จะกู้เพิ่มได้อีกในปีงบประมาณ 2568 เหลืออยู่ราว 4-5 แสนล้านบาทเท่านั้น หากรัฐบาลตัดสินใจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยการขยายเพดานหนี้สาธารณะก็สมเหตุสมผล แต่ต้องไม่ใช่การกู้มาเพื่อแจกเงินสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา
ศิริกัญญากล่าวว่า สส.ในสภาก็พร้อมสนับสนุน ถ้ารัฐบาลมีแผนชัดเจนว่าจะใช้งบประมาณเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ และฟื้นฟูประเทศก็กู้ได้เลย ถ้าเอาไปฟื้นฟูเยียวยาอุตสาหกรรมและแรงงานที่ได้รับผลกระทบหรือปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าได้เก่งขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่ไทยตกต่ำมานาน หรือเอาไปเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ต้องการสภาพคล่องระหว่างเผชิญความเสี่ยงเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ๆ หรือนำไปฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะใหม่ที่ถูกเลิกจ้างหลังจากนี้ ไปจนถึงเพื่อทำให้ตลาดภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการส่งออกที่จะลดความสำคัญลง
เจรจาฝากนึกถึง ‘เกษตรกร’ ให้มาก
อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม นำเสนอรัฐบาลใน 4 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก การเจรจาขอให้รัฐบาลคำนึงถึงภาคการเกษตร การเสียดุลทางการค้าด้านเกษตร ขอให้เสียเปรียบน้อยที่สุดและคิดถึงพี่น้องเกษตรกรก่อนภาคอื่นๆ
ประเด็นที่สอง ข้อเสนอต่างๆ ของรัฐบาลที่ปรากฏในสื่อ โดยเฉพาะการอนุญาตนำเข้า สินค้าเกษตรบางชนิดถ้าปล่อยให้เข้ามาอาจทำให้ราคาสินค้าตกต่ำมากกว่าเดิม หรือขัดต่อกฎหมายที่ไทยบังคับใช้อยู่
ประเด็นที่สาม คำนึงถึงความสัมพันธ์ประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ ด้วย เรายังมีคู่ค้าที่มีศักยภาพอยู่อีกหลายประเทศ การกำหนดนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ ก็จะกระทบกับมาตรการที่ใช้กับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่สี่ ไทยยังได้รับผลกระทบในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา แต่บางประเทศก็โดนภาษีน้อยกว่าไทย เรื่องนี้จะทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศในอาเซียนเปลี่ยนโฉมหน้าไป ต้องไปวิเคราะห์ว่าประเทศคู่แข่งของไทยโดนภาษีมากหรือน้อยกว่าไทย
อรรถกรยังเสนอ 3 แนวทางในการรับมือสถานการณ์สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกับไทยไว้ 3 ข้อคือ
- หาทางลดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร
- กระจายความเสี่ยงโดยการหาประเทศคู่ค้าเพิ่ม สินค้าอะไรที่เราไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้ต้องมีสถานที่อื่นที่ไทยจะเอาสินค้าไปปล่อยแทนได้
- มาตรการรองรับสินค้าจากประเทศที่โดนขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ จนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง สินค้าจากประเทศเหล่านี้อาจไหลทะลักเข้ามาไทย ขอให้หาทางดูแลพี่น้องเกษตรกรให้ดีที่สุด
แนะดูสินค้ารายประเภทเทียบกับคู่แข่ง
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า สงครามการค้าระลอกใหม่ได้เริ่มต้นแล้ว ครั้งนี้จะรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ มันคือการหันหัวกลับของยุคโลกาภิวัฒน์ ของระบบการค้าโลก และระบบการค้าเสรีที่เรายึดถือกันมา หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทุกประเทศทั่วโลกในอัตรา 10% และใช้มาตรการภาษีตอบโต้แต่ละประเทศในอัตราที่แตกต่างกันไป สินค้าส่วนใหญ่ของไทยไปสหรัฐฯ โดนภาษีเกือบ 50% ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดที่เราส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้นผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นจึงเกิดกับผู้ผลิตและส่งออกที่พึ่งพาสหรัฐฯ ตลอดจนแรงงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
สิทธิพลอภิปรายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ ผลกระทบในตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ
ผลทางตรงก็คือกลุ่มสินค้าหลักที่เราส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ เหล่านี้ได้รับผลกระทบทันที จึงขอให้รัฐบาลไปดูในรายการสินค้าว่า สินค้าประเภทไหนได้รับผลกระทบสูง ในส่วนภาษี 10% ที่ทุกประเทศโดนเหมือนกัน คงไม่ได้ทำให้เราได้เปรียบหรือเสียเปรียบเท่าใด แต่ว่าต้องไปดูภาษีตอบโต้รายประเทศด้วย
เช่น สินค้าประเภทยางรถยนต์ที่เราส่งไปสหรัฐฯ มาเลเซียก็ส่งไปเหมือนกัน เราโดนภาษีตอบโต้ที่ 36% แต่มาเลเซียโดนแค่ 24% ตรงนี้จะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
หรืออย่างผลไม้ที่เราส่งไปสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ก็ส่งเหมือนกัน สัปปะรด มะพร้าว กล้วย ผลไม้แปรรูปต่างๆ เราโดนภาษีตอบโต้ 36% ฟิลิปปินส์โดน 17% พูดง่ายๆ ว่าถ้าแต่เดิมราคาพอๆ กัน เราจะแพงกว่าฟิลิปปินส์ราวๆ 20% ถ้าเป็นแบบนี้ผลไม้จากไทย เมื่อเข้าไปสหรัฐฯ ก็จะขายยากขึ้นแน่นอน
ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกยาง โรงงานยาง ผู้ปลูกผลไม้ โรงงานแปรรูป จะได้รับผลกระทบแน่นอน จะต้องมีการเตรียมรับมืออย่างไร ยังไม่นับแรงงานที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำทันที คือไปดูเลยว่าในตลาดอเมริกาที่เราส่งออกไป ดูรายสินค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในแง่ภาษีตอบโต้ มีสินค้าอะไรที่เสียเปรียบคู่แข่งบ้าง รัฐบาลจะได้เตรียมช่วยเหลือผู้ประกอบการถูก
ผลทางอ้อมในมิติส่งออกก็มีหลายอย่าง เศรษฐกิจไทยทั้งระบบถ้าคิดว่ามี 100 บาท เราพึ่งพาการส่งออกไปแล้วประมาณ 60 บาท หมายความว่าถ้าการค้าโลกหดตัว ไทยก็จะส่งออกได้น้อยลง และต้องเจอกับผลกระทบในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าไปดูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนต่อเศรษฐกิจโลก พวกเขามีส่วนแบ่งในเศรษฐกกิจโลกมากกว่า 40% ฉะนั้น ในแง่ผลกระทบจึงจะกระทบไทยแน่นอน
อยากฝากการบ้านถึงรัฐบาลว่ามีตลาดอื่นๆ ที่ท่านจำเป็นต้องไปศึกษารับมือ ทุกประเทศที่เป็นตลาดนำเข้าสินค้าของเราเพื่อไปผลิต ประกอบ แล้วส่งไปขายสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหมือนกัน ทำให้เขาจะนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลง
- ในมิติที่ไทยส่งสินค้าขั้นกลางไปให้ประเทศอื่นผลิต: ตัวอย่างเช่น เม็กซิโก ญี่ปุ่น ที่เราส่งชิ้นส่วนรถยนต์ไปหลายหมื่นล้านต่อปี วันนี้สหรัฐฯ ขึ้นภาษี เขาจะซื้อของเราน้อยลง หรือแคนาดา เราส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไป เขาเอาไปประกอบแล้วส่งไปขายสหรัฐฯ แต่วันนี้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเขา เขาก็จะขายน้อยลง และซื้อเราน้อยลง
- ในมิติส่งออก ทุกตลาดที่เราเคยส่งออกได้แล้วมียอดขายเยอะๆ กำลังจะเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากสินค้าจากทุกชาติที่หนีเสียชีวิตจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพราะฉะนั้นในการที่รัฐบาลจะหาตลาดใหม่มารองรับสงครามการค้าครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ อีกทั้งการเจรจาไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่
กังวลสินค้านอก ราคาถูกทะลัก ทวง 3 ข้อปกป้องทุนในประเทศ
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่า มีมาตรการที่รัฐบาลทำได้ตอนนี้เลย คือ การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เพราะเมื่อสินค้าต่างชาติล้วนหนีเสียชีวิต ตลาดหนึ่งที่จะเข้ามาแน่ๆ คือไทย ผลกระทบจากสินค้าราคาต่ำจากต่างชาติที่ไทยเจอมา 2-3 ปี แล้ว เช่น สินค้าจากจีน ส่วนหนึ่งเพราะสงครามการค้ารอบแรก ส่วนรอบนี้ มีการขึ้นภาษีมากกว่าเดิม ครอบคลุมหลายประเทศมากกว่าเดิม
ถ้าผู้ประกอบการ SME ไทยรู้สึกว่าที่ผ่านมา แข่งขันกับสินค้าต่างชาติราคาถูกเหนื่อยขนาดไหน รอบนี้จะหนักไปอีก 3-4 เท่า ข้อมูลจากแบงค์ชาติ ผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก รายย่อยที่เน้นผลิตเพื่อขายในประเทศจะได้รับผลกระทบหนัก เช่น กลุ่มผู้ผลิตพลาสติก ยาง เฟอรนิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กลุ่มเหล่านี้เตรียมตัวรับแรงกระแทก
ในโอกาสนี้จึงขอทวงสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการ-ผู้บริโภคในประเทศจากสินค้าต่างชาติราคาถูก โดยมีอย่างน้อย 3 เรื่อง ซึ่งหลายเรื่องเป็นมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีการออกมาตรการเป็นกฎหมาย
1. การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อให้รัฐกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงคุณภาพ ถ้าทำผิดสามารถลงโทษได้ เก็บภาษีได้ แต่ผ่านมา 6 เดือน เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง
2. มาตรการตอบโต้ทางการค้า ถ้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและราคาถูกเราพร้อมเปิดรับ เพราะว่าผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ แต่ก็มีสินค้าบางกลุ่มเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นสินค้าที่เอามาทุ่มตลาด ขายต่ำกว่าทุน ไทยจะมีมาตรการรับมืออย่างไร เช่น ภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด รัฐบาลเคยพูดว่าจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ จะทำอย่างไร
3. ป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า หรือการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ตัวอย่าง ประเทศเวียดนามที่โดนอัตราภาษีสูง ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐฯ พบว่ามีการสวมสิทธิ์สินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจีน-โรงงานจีน เอาเข้าไปประกอบในเวียดนามแล้วส่งไปขายสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกไม่เป็นธรรม เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา แม้เวียดนามจะยอมลดภาษีเหลือ 0% สหรัฐฯ ก็ยังบอกว่าไม่พอใจ
ฉะนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบว่ามีสินค้าลักษณะใดบ้างที่มีปัญหานี้ ในการตรวจสอบ กรมศุลกากรมีข้อมูลเพียงพอในการติดตามการสวมสิทธิ์ได้ โดยดูจากสินค้ากลุ่มเสี่ยง เอามาเทียบพิกัดกันทั้งขาเข้าและออก
รมช.คลังรับมาตรการภาษีทรัมป์เกินคาดเดา
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ตอบข้ออภิปรายต่างๆ ของ สส.ที่ร่วมอภิปรายเรื่องการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่า เหตุการณ์ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี แม้รัฐบาลจะเตรียมการเป็นเวลานาน มีคณะทำงานที่นำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เพื่อประเมินมาตรการว่าจะเกิดแบบใดบ้าง คณะทำงานประชุมกันหลายครั้งและมีฉากทัศน์หลายแบบ แต่คงไม่มีหน่วยงานใดในโลกคาดคำนวณได้เพราะสูตรที่สหรัฐฯ ใช้คำนวนหลุดไปจากหลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน คิดคำนวนอย่างแปลกประหลาดที่เอาการขาดดุลการค้ามาหารด้วยจำนวนสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ อย่างไทยที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ 45,000 ล้านเหรียญ มีการส่งออกไปสหรัฐฯ 65,000 ล้านเหรียญ เอามาหารกันได้ 72% แล้วหาร 2 อีกรอบ เพื่อปรับมาเป็นอัตราภาษีที่จะเพิ่มขึ้น
หลักการคิดคำนวนทางเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเชื่อมโยงได้โดยตรง ทำให้การคาดคำนวนของใครก็ตามต่างไม่ได้คิดว่าจะออกมาสูงขนาดนี้ แต่ก็สะท้อนได้หลายอย่าง เช่น แนวความคิดที่สหรัฐฯที่มองโดยเน้นความต้องการลดการขาดดุล ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลดูโดยละเอียด วิธีการแก้ก็คือ นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น และลดปริมาณการส่งออก แต่เมื่อรัฐบาลพิจารณาแล้วว่าการลดการส่งออก ไม่ใช่ทางเลือกของไทย เพราะว่าการส่งออกเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจมาโดยตลอด และอุตสาหกรรมในประเทศwึ่งพาการส่งออกมาตลอด การเพิ่มปริมาณการส่งออกไปสหรัฐฯ และเพิ่มการนำเข้าบางประเภทก็เป็นโจทย์ที่นำมาพิจารณา
จุลพันธ์กล่าวถึงข้อห่วงใยที่มีต่อภาคเกษตรกร ประชาชนและ SME ในประเทศ หากเกิดการนำเข้าสินค้าเข้ามาจะต้องไปกระทบราคาสินค้าในประเทศ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ทีมเจรจาจะนำไปเจรจาด้วยคือ ความเข้าใจและความเป็นพันธมิตรทางการค้าที่มีมาอย่างยาวนานและอยู่เคียงข้างกันในเวทีโลกกับสหรัฐฯ
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอย่างอื่นที่ต้องดูเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องความเร็ว แต่เป็นความแม่นยำตามที่สหรัฐฯ ตั้งโจทย์ไว้ เพราะเห็นประเทศตัวอย่างในภูมิภาคเดียวกันที่ประกาศจะลดอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เราก็ต้องมาดูของไทยเองว่านอกจากเรื่องอัตราภาษีและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ แล้วยังมีเรื่องอะไรอีกบ้าง
จุลพันธ์กล่าวถึงการตรวจสอบสินค้าสวมสิทธิแหล่งกำเนิดที่ถูกส่งออกไปสหรัฐฯ หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ต้องเข้มงวดกวดขันไม่ให้เกิดขึ้นอีก หรือลดมาตรการนำเข้าที่ไม่ใช่แค่เรื่องภาษี แต่รวมถึงการเพิ่มความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจการค้าก็เป็นกลไกที่ต้องนำมาประกอบกันทั้งหมดเพื่อให้การเจรจาเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า หลายเรื่องเคยมีการพูดถึง แต่ไม่สามารถทำได้ อย่างการเพิ่มความหลากหลายในการส่งออกไปประเทศต่างๆ ในโลก เพราะพฤติกรรมการส่งออกขึ้นอยู่กับความสะดวกและเม็ดเงิน ที่ไหนยังขายได้ก็ส่งออกไปที่เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังกับภาคเอกชนให้การส่งออกสินค้าไปหลากหลายที่มากขึ้น
นอกจากนั้นการส่งเม็ดเงินไปลงทุนในต่างประเทศ จากนี้สหรัฐฯ ก็อาจเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องพิจารณาว่าจะไปลงทุนแล้วจะมีศักยภาพมากขึ้นที่นอกจากจะเกิดประโยชน์กับนักลงทุนแล้วจะเกิดประโยชน์กับแรงงานของไทยอย่างไรได้บ้าง ประเด็นเหล่านี้จะต้องนำพิจารณาอย่างรอบคอบ
รมช.คลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานและนายกฯ ประชุมกันหลายครั้ง มีการพิจารณาไม่ใช่แค่ระดับรายเซคเตอร์ แต่ลงรายละเอียดในสินค้าแต่ละประเภท อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาก็ยังไม่ได้คิดว่าสหรัฐฯ จะถอนกลไกที่เคยดำเนินการมา แต่เมื่อดุลการค้าของโลกเปลี่ยนแล้ว ไทยก็ต้องปรับตัวให้ได้และเป็นสิ่งสำคัญรัฐบาลก็ต้องมาช่วยปรับเปลี่ยน
ตอนนี้ไทยเตรียมเงินไว้ 5,000 ล้านบาทผ่านทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ที่จะช่วยเหลือบริษัทส่งออกและนำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น และจะมีมาตรการตามมาสำหรับภาคการเกษตร สุดท้ายหลังการเจรจาจะพิจารณาอีกทีว่า ภาวการณ์จะเปลี่ยนอย่างไร มีใครได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร
จุลพันธ์กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า ในการปรับเปลี่ยนดุลการค้าโลกยังคงมีโอกาสอยู่บ้าง ถ้าหาเจอก็จะเป็นประโยชน์กับไทย เรื่องนี้สร้างปัญหากับไทยแน่นอน แต่ก็ยังมีวิธีการตอบโต้อยู่หลายวิธี บางประเทศขึ้นภาษีแข่งกัน เช่น จีน สถานการณ์นี้จะทำให้เกิดช่องโหว่ทางการค้า เพราะสินค้าบางประเทศที่ไม่สามารถเดินทางผ่านไปด้วยความคุ้มค่า แต่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ก็ยังต้องบริโภคอยู่ หากไทยเจรจาได้สำเร็จและเรามีสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ก็อาจเป็นช่องว่างให้กับสินค้าไทยได้ บางประเทศออกมาตรการภาษี ไทยจะมองช่องว่างนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศ หรือมีประเทศที่ใช้มาตรการตัดการลงทุน เรื่องนี้ไทยเองก็มีศักยภาพมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไทยแทนและเกิดการจ้างงาน
รมช.คลังกล่าวถึงประเด็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 3 % แต่เขายอมรับว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นี้ก็สร้างผลกระทบต่อ GDP ของไทยแน่นอน แต่คงไม่สามารถตอบคำถามว่าเป้าหมายการเติบโต GDP ยังเท่าเดิมหรือไม่ ส่วนตัวเลขการเติบโตของ GDP จากหลายสถาบันที่ต่างกันเยอะมากนั้น ก็เพราะว่าสมมติฐานยังไม่ชัดพอที่จะนำไปเข้าแบบจำลองและนำเสนอ จึงยังเชื่อถือไม่ได้มากนัก แม้กระทั่งกระทรวงการคลังก็ยังไม่มีตัวเลขประเมินเพราะสมมติฐานยังไม่ครบ แต่ขึ้นกับวิธีการที่จะนำไปเจรจาและผลการเจรจาที่จะออกมา จึงจะสามารถนำไปใส่สมการแล้วคำนวนออกมา เพื่อที่จะได้รู้ว่าผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะรับไว้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
จุลพันธ์ยังได้กล่าวขอบคุณ สส.จากฝ่ายค้านที่เอื้อเฟื้อข้อเสนอกับรัฐบาล หากถึงเวลาและมีความจำเป็นในการดำเนินการบางอย่างเพื่อให้มีกรอบนโยบายทางการคลังมากขึ้นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจก็ต้องนำมาพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )