
จีนเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของสงครามภาษีทรัมป์มาตลอด จริงหรือไม่ ?

ที่มาของภาพ : Reuters
เดิมทีแผนการกำหนดมาตรการทางภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา คือการขึ้นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจากหลายสิบประเทศ รวมทั้งพันธมิตรทางการค้าที่มีมาอย่างยาวนานบางประเทศด้วย
ทว่า หลายชั่วโมงต่อมาหลังจากที่แผนดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ทรัมป์กลับประกาศระงับมาตรการที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด โดยมีผลชะลอการบังคับใช้ไปอีก 90 วัน และเน้นไปที่การทำสงครามการค้ากับเพียงแค่ประเทศเดียว นั่นก็คือ จีน
การประกาศดังกล่าวได้นำไปสู่ความสงสัยของบรรดานักวิเคราะห์บางคนว่า ทรัมป์สนใจที่จะพุ่งเป้าหมายไปที่จีนเสมอหรือไม่
นับตั้งแต่พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พุ่งความสนใจไปที่เรื่องการค้า การตั้งกำแพงภาษีที่สูงต่อประเทศต่าง ๆ โดยเขาอ้างว่า ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ได้เอาเปรียบสหรัฐฯ มาเป็นระยะเวลานาน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯ
คำสั่งฝ่ายบริหารที่สำคัญที่สุดและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเห็นเมื่อวันที่ 2 เม.ย. มีผลให้มีการเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าสหรัฐฯ จากหลายประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ตลาดร่วงระนาว พร้อมกับสร้างความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้าระดับโลกขึ้น
and proceed readingเรื่องแนะนำ
Discontinue of เรื่องแนะนำ
ขณะที่หลังจากการประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีดังกล่าวต่อหลายสิบประเทศเป็นระยะเวลา 90 วัน ทำเนียบขาวได้ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งกำแพงภาษีขนาดใหญ่ก่อน แล้วค่อยตามมาด้วยการกดปุ่มหยุดชั่วคราว ก่อนที่จะเริ่มเจรจากับประเทศคู่ค้าทีละประเทศ
ทว่า การหยุดชั่วคราวครั้งนี้ไม่ได้บังคับใช้กับจีน
แทนที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนในอัตรา 145% เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ความตั้งใจที่แท้จริงครั้งนี้คือ การลงโทษจีนและบังคับให้จีนเข้ามาสู่การเจรจาทางการค้า
“พวกเขาคือต้นตอของปัญหาทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด” สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวต่อสื่อมวลชน และว่า จริง ๆ พวกเขา ประเทศจีน ก็เป็นปัญหาของประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะต่อสู้กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเป็นเรื่องที่เสี่ยง จีนจึงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 125% ด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา
สิ่งที่ทรัมป์กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้อาจจะดูเหมือนการขยายขอบเขตของนโยบายที่เริ่มมาแล้วโดยอดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขาในสมัยแรก นั่นคือ บารัค โอบามา ที่หันความสนใจของสหรัฐฯ ไปทางตะวันออก เพื่อพยายามเผชิญหน้ากับอิทธิพลและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของจีน
“นี่คือยุคใหม่ และเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก” ทิม มาร์แชลล์ นักเขียนและนักวิเคราะห์การเมือง กล่าวกับบีบีซีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา “ผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน ส่วนภาษีศุลกากรกับอังกฤษและยุโรปจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ และแล้วไฟจะโหมกระหน่ำจีน” เขากล่าว

ที่มาของภาพ : Getty Photos
จีนไม่ยอมอ่อนข้อ
นับตั้งแต่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวเมื่อเดือน ม.ค. จีนและสหรัฐฯ ก็ได้ทำสงครามการค้ากันอย่างเข้มข้น และสิ่งที่ตามมาก็คือการเรียกเก็บภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน
กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า การขึ้นภาษีของทรัมป์เป็น “เกมตัวเลขที่ไม่มีความสำคัญในทางปฏิบัติ”
“หากสหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีนก็จะเพิกเฉย” กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุเพิ่มเติม
ผู้นำในรัฐบาลจีนกล่าวถึงรัฐบาลของทรัมป์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเป็น “ผู้รังแก” โดยระบุว่าพวกเขาไม่มีแนวโน้มที่จะยอมจำนนต่อสิ่งนี้ สตีเฟน แมคโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีนกล่าว
ด้าน เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ยังได้โพสต์ภาพของประธานเหมาบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานนี้ รวมถึงคลิปในช่วงสงครามเกาหลีที่เขากล่าวกับสหรัฐฯ ว่า “ไม่ว่าสงครามนี้จะกินเวลานานเพียงใด เราก็จะไม่ยอมแพ้”
นอกจากนี้ เธอยังโพสต์ความเห็นของเธอเอง โดยกล่าวว่า “เราคือจีน เราไม่กลัวการยั่วยุ เราจะไม่ยอมถอย”
นอกจากนี้ แมคโดเนลล์กล่าวว่า จีนอาจอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในการทำเช่นนี้

จีนเปราะบางแค่ไหนต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ
การส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของจีน ก่อนที่จะสงครามกำแพงภาษีครั้งนี้จะเริ่มขึ้น
ฟิโอนา ซินคอตตา นักวิเคราะห์อาวุโสด้านตลาดจากซิตี้ อินเด็กซ์ (City Index) ในสหราชอาณาจักรบอกกับบีบีซีว่า การที่จีนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ นั้นก็ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งวาระแรก “จีนลดการพึ่งพาสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ลง ทำให้ตอนนี้สินค้าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 13% ในขณะที่ในช่วงรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกนั้นอยู่ที่ 26%” เธอกล่าว
นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลจีนอาจคาดการณ์ถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของทรัมป์ไว้แล้ว
“พวกเขาเตรียมการมาเป็นเวลานานแล้ว” เดวิด เรนนี บรรณาธิการของดิอีคอนอมิสต์ (The Economist) นิตยสารวิเคราะห์รายสัปดาห์สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเพิ่งพบปะกับเจ้าหน้าที่และนักวิชาการในกรุงปักกิ่ง กล่าวกับบีบีซี
“พวกเขาเตรียมการป้องกันในระยะสั้นต่อสหรัฐฯ ไว้แล้ว แต่พวกเขาก็พยายามปรับตัวในระยะยาวเช่นกัน โดยพยายามปรับสมดุลและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจทั้งหมดให้พ้นจากการพึ่งพาการส่งออกที่สูงมาก” เขากล่าวเสริม
ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนดูเหมือนจะกำลังพยายามหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ
จีนได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรรวมตัวกัน
ในการประชุมกับนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซของสเปน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า ประเทศของเขาและสหภาพยุโรปควรร่วมกัน “ต่อต้านการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว” ของรัฐบาลทรัมป์
นอกจากนี้ ผู้นำของจีนยังมีกำหนดเยือนประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีศุลกากรของทรัมป์ในเดือนนี้ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา
นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนได้เรียกนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้เจรจาเพื่อส่งเสริม “ระบบการค้าที่ได้รับปฏิรูปอย่างแข็งแกร่ง เสรี ยุติธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน”
หวาง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีนยังได้พูดคุยกับคู่ค้าจากสหภาพยุโรป ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ด้วย

ที่มาของภาพ : Reuters
ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ต่อจีน
เหตุผลหนึ่งที่จีนติดต่อกับประเทศอื่น ๆ อาจเป็นเพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเหล่านั้น
แม้ว่าจีนอาจพยายามหาทางแทนที่ตลาดสหรัฐฯ ด้วยตลาดอื่นๆ ก็ตาม แต่สิ่งนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาสำหรับจุดหมายปลายทางใหม่เหล่านั้น และอาจเป็นปัญหาทางการทูตสำหรับรัฐบาลจีน
“หากการส่งออกของจีนจำนวนมากไหลบ่าเข้าสู่ตลาดเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและโอกาสต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เพียงเพราะไม่สามารถขายได้ในสหรัฐฯ นั่นจะเป็นปัญหาใหญ่ในด้านการทูตและภูมิรัฐศาสตร์สำหรับผู้นำจีน” เรนนีกล่าว
ปัญหาอีกประการหนึ่งอาจเป็นตลาดในประเทศ ในขณะที่ผู้บริโภคหลายคนในจีนบอกกับบีบีซีว่าหากสินค้าของสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น พวกเขาอาจเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ในประเทศแทน แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในภาวะเงินฝืด
ข้อมูลทางการแสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ ลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือน มี.ค. ดูเหมือนว่าอุปสงค์หรือความต้องการอุปโภคบริโภคในประเทศจะไม่เพิ่มขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์เกรแฮม อัลลิสัน นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากการเยือนจีน กล่าวว่า “สี จิ้นผิงตระหนักถึงความเสี่ยงที่จีนและสหรัฐฯ อาจเข้าสู่สงครามทางเศรษฐกิจ และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่ ‘วุ่นวาย'”
ศาสตราจารย์อัลลิสันกล่าวว่า “จากหลักฐานทั้งหมดที่ผมเห็น อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็เตรียมพร้อมในทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่เพื่อให้มีความยืดหยุ่นหากสิ่งนี้เกิดขึ้น และต่อสู้ตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน” โดยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าผู้นำจีนจะตระหนักดีว่าสงครามภาษีศุลกากรในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ “เสียทั้งสองฝ่าย” แต่ “พวกเขาคิดว่า ชาวจีน อาจสามารถทนต่อความยากลำบากได้ดีกว่าชาวอเมริกัน”
ที่มา BBC.co.uk