
แพร่ประกาศ ปปง.ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับ-ชดใช้คืนทรัพย์สิน คดี บริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล กรณีโฆษณาชักชวนลงทุนในหุ้นผลิตน้ำมันรำข้าว แต่ไม่จ่ายเงินปันผล หลัง คณะกรรมการธุรกรรมสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวแล้ว ส่วนคดีฉ้อโกงอยู่ในชั้นศาลฎีกา
สำนักข่าวอิศรา (www.israenws.org) รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 เมษายน 2568 เผยแพร่ ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ราย บริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด โดยนายประกาศิต เลิศมุกดา กรรมการผู้จัดการ กับพวก กระทำความผิดมูลฐานในการผลิตสินค้าที่ไม่ตรงตามโฆษณา ชักชวนให้ร่วมลงทุนในหุ้นส่วนในการผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล
หลังคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ราย บริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด โดยนายประกาสิต เลิศมุกดา กรรมการผู้จัดการ กับพวก
กรณีบริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด โดยนายประกาสิต เลิศมุกดา กรรมการผู้จัดการ กับพวก โฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เปิดตัวบริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักและความงาม ภายได้ชื่อ “โครโมซอล เอส” มีการโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วน ในการผลิตผลิตภัณฑ์โครโมซอล เอส โดยให้ลงทุนเป็นหุ้น ๆ ละ 350,000 บาท จำนวน 217 หุ้น รับประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนในการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว (Trigernal) โดยให้ลงทนเป็นหุ้น ๆ ละ 375,000 บาท จำนวน 28 หุ้น รับประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท มีประชาชนหลงเชื่อจึงเข้าร่วมลงทุน ในระยะแรกมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิก ต่อมาไม่มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด และบริษัท แม็กซ์ อินเตอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ไม่แจ้งรายละเอียดและเหตุผล และไม่แจ้งผลการดำเนินการของบริษัท
ต่อมาผู้เสียหายดำเนินคดีอาญากับนายประกาสิต เลิศมุกดา และนายวรวุฒิ บริบูรณ์ธนกิจ ข้อหาฉ้อโกงประชาชนโดยฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดราชบุรี และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลจังหวัดราชบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ อ1103/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ834/2564 มีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของนายประกาสิต เลิศมุกดา เนื่องจากนำเงินไปชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว และมีคำพิพากษาว่า นายวรวุฒิ บริบูรณ์ธนกิจ มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ศาอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของฐานความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการฎีกา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6)
พ.ศ. 2565 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการคืนหรือการชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. 2567 จึงขอให้บุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีดังกล่าวและไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นยื่นคำร้องเพื่อขอรับหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชุดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินภายใน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ดูประกาศ: https://ratchakitcha.soc.fling.th/documents/68217.pdf
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )