เปิดเหตุผล 4 ข้อ เหตุใดศาลฎีกาฯ สั่งงดเผยแพร่คำเบิกความพยาน “คดีชั้น 14” ของทักษิณ

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

พยาน 2 ปากที่ขึ้นเบิกความต่อศาลในวันนี้คือ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ และ นพ.นทพร ปิยะสิน

Article Data

    • Writer, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
    • Role, ผู้สื่อข่าว.

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดศาลไต่สวน “คดีชั้น 14” เป็นนัดที่ 2 โดยออกหมายเรียกพยานบุคคลมาเบิกความรวม 5 ปาก ไฮไลท์ของวันนี้คือ หมอผู้ออกใบส่งตัว กับ พยาบาลเวรผู้ประสานงานย้ายตัวนายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปยัง รพ.ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ศาลสั่งให้คู่ความและผู้เข้ารับฟังการพิจารณาคดี “งดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน” โดยให้เหตุผลประกอบเอาไว้ 4 ประการ

เอกสารข่าวแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) ที่แจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนที่รับฟังและสังเกตการณ์ภายในห้องพิจารณาคดี ระบุว่า มีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานซึ่งศาลไต่สวนในนัดก่อน (13 มิ.ย.) ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะคำต่อคำผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ

  • อาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความในลำดับถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้
  • อาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
  • อาจมีการนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดี จนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้
  • ข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

ศาลฎีกาฯ ตั้งองค์คณะ 5 คนให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง “คดีชั้น 14” หลังความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ใน 3 คดีทุจริต รวมระยะเวลารับโทษจำคุก 8 ปี แต่ต่อมา เขายื่นถวายฎีกาและได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด

ได้รับความนิยมสูงสุด

ในวันนี้ (4 ก.ค.) นายทักษิณ ในฐานะจำเลย ได้รับอนุญาตจากศาลไม่มาฟังการพิจารณาไต่สวน แต่ส่งนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เข้าร่วมรับฟังแทน

ทนายทักษิณเผยเป็นคนขอเอง ห้ามเผยแพร่คำเบิกความ

นายวิญญัติกล่าวยอมรับว่า ตนเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกข้อกำหนดห้ามเผยแพร่คำเบิกความของพยาน เนื่องจากคดียังอยู่ระหว่างการไต่สวน เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาไปวิเคราะห์ให้เกิดความสับสน ศาลจึงมีคำสั่งให้งดเว้นการนำเสนอในลักษณะนี้ นอกจากนี้ยังยื่นคำร้องของขอจำกัดผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี แต่ศาลเห็นว่ายังไม่ควรใช้มาตรการนี้ สื่อมวลชนและผู้ที่ต้องการเข้าฟังสามารถเข้าฟังได้ แต่จะอนุญาตเป็นกรณี

ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน นายวิญญัติได้รายงานไปยังผู้ใกล้ชิดของนายทักษิณให้รับทราบแล้ว และยังไม่มีความเห็นอะไร

“ท่าน นายทักษิณ ไม่ได้มีความกังวล เนื่องจากถูกปฏิบัติโดยกระบวนการทางกฎหมาย ท่านไม่สามารถเลือกเองได้ว่าจะไปไหน หรือป่วยแล้วจะขอออกไปโรงพยาบาล” นายวิญญัติกล่าว

วันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยยังเปิดเผยด้วยว่า ได้ส่งมอบประวัติการรักษาตัวในต่างประเทศของนายทักษิณเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลแล้ว โดยเห็นว่าเป็นประเด็นในศาลที่ต้องการรับทราบข้อมูล เพื่อให้รู้ว่ามีประวัติเจ็บป่วยจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยที่อ้างก่อนการเข้าเรือนจำว่ามีอยู่จริงหรือไม่ มีการอ้างแบบเลื่อนลอยหรือไม่ เพื่อให้สอดรับกับข้อมูลที่ให้มาก่อนหน้านี้ว่ามีการป่วยจริง อย่างไรก็ตามไม่ขอระบุรายละเอียดว่าเป็นประวัติการรักษาตัวจากประเทศใด เพราะถือเป็นข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

แพทองธารรับบิดาออกจาก รพ.ตำรวจ กลับไปพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัยและเจ็บป่วยเรื้อรัง หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 180 วัน เมื่อ 18 ก.พ. 2567

ในการไต่สวนนัดนี้ มีพยานบุคคลขึ้นเบิกความรวม 5 ปาก โดยกระบวนการเสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชม. 15 นาที

หมอเจ้าของใบส่งตัว

พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ปรากฏตัวในห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ในฐานะพยานปากแรกที่ขึ้นไต่สวนในวันนี้

ตลอดเวลาราว 1 ชม. ที่ตอบข้อซักถามขององค์คณะ คุณหมอวัย 41 ปีสามารถเรียบเรียงคำตอบและสื่อสารได้ค่อนข้างลื่นไหล ไม่ติดขัด และยังจัดเตรียมเอกสารประกอบการเบิกความมายื่นต่อศาลด้วย โดยศาลได้รับเอาไว้พิจารณา

แพทย์รายนี้เป็นผู้ตรวจร่างกายนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังใหม่ เมื่อ 22 ส.ค. 2566 และทำหน้าที่บันทึกเวชระเบียน ตรวจสอบเอกสารประวัติการรักษาจากต่างประเทศ และออกใบประเมินความเห็นแพทย์ว่า ผู้ต้องขังใหม่รายนี้ควรติดตามการรักษาและต้องพบแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ซึ่งเป็นสาขาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ไม่มี จึงเขียนใบส่งตัวผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาต่อเนื่องใน รพ. ที่มีศักยภาพสูงกว่าทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ในลักษณะผู้ป่วยนอก (OPD) ในวันและเวลาราชการ

ต่อมาในช่วงดึกของวันเดียวกัน พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาเธอเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณ โดย พญ.รวมทิพย์ อนุญาตให้ใช้ใบส่งตัวที่เขียนเอาไว้ตอนกลางวัน เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาของผู้บัญชาการเรือนจําในการส่งผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจําในช่วงกลางดึก ทำให้ถูกตั้งคำถามเรื่องการ “เขียนใบส่งตัวล่วงหน้า”

ผลจากการทำหน้าที่ในวันนั้น ทำให้ พญ.รวมทิพย์ ถูกสั่งลงโทษด้วยการว่ากล่าวตักเตือน ตามมติแพทยสภาเมื่อ 12 มิ.ย. และยังเป็น 1 ใน 12 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกไต่สวนความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) กรณีเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ได้ไปพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14

พยาบาลเวร

นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ คือพยานอีกปากที่ศาลฎีกาฯ ออกหมายเรียกมาให้ข้อมูลในวันนี้ และเป็นอีกคนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นไต่สวนความผิดของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ศาลใช้เวลาเต็ม ชม. เช่นกันในการไต่สวนพยานปากนี้ โดยมีบางคำถามที่เขาเงียบเล็กน้อย ก่อนจะให้คำตอบต่อองค์คณะ

ในวันเกิดเหตุ เขาเป็นพยาบาลเวร ประจำสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ต่อสายโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาจากทั้งแพทย์เวรทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ และ พญ.รวมทิพย์ เกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณ รายงานข้อมูลให้พัศดีเวรรับทราบ และยังเป็นผู้ติดต่อรถพยาบาลและประสานงานกับ รพ.ตำรวจ

ปัจจุบัน นายธัญพิสิษฐ์ปฏิบัติหน้าที่พยาบาลอยู่ที่ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย หลังจากโอนย้ายสังกัดจาก ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ปฏิบัติหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรับราชการที่ รพ. ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2567 ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์เคยออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า นายธัญสิทธิทำเรื่องขอโอนย้ายโดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการ และกลับไปดูแลบิดาและมารดาที่อยู่ จ.สุโขทัย” ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเขา

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ทักษิณ ถูกย้ายตัวจากเรือนจำไปรักษาอาการที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ ตั้งแต่เวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2566

หมอเวร กับ 2 พยาบาล

ส่วนการไต่สวน นพ.นทพร ปิยะสิน แพทย์อิสระ ซึ่งเป็นหมอเวรประจำทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ในคืนวันเกิดเหตุ 22 ส.ค. 2566 ใช้เวลาราว 30 นาที

พยานปากนี้ต้องขอให้ศาลทวนคำถามอยู่หลายข้อ โดยอ้างว่าไม่เข้าใจคำถาม

นอกจาก 2 หมอ และ 1 พยาบาลเวร ยังมีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีก 2 รายที่ถูกออกหมายเรียกมาเบิกความในล็อตเดียวกันคือ น.ส.จิราพร มีนวลชื่น และ น.ส.ณิชามล มากจันทร์ โดยศาลใช้เวลาซักถามคนละ 3-4 นาทีเท่านั้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานทั้ง 5 ปาก ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยระบุชื่อพยานอีก 2 คนที่จะเรียกมาไต่สวนในวันที่ 18 ก.ค. เป็นแพทย์ประจำ รพ.ตำรวจ หลังก่อนหน้านี้ ศาลได้ออกหมายเรียกพยานรวม 20 ปากมาเบิกความในวันที่ 4, 8, 15, ก.ค. เวลา 09.00 น.

ข้อสังเกตจาก 2 หมอฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนของศาล

ขณะที่ “2 หมอ” ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เกาะติดกรณี “ชายชั้น 14” ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตภายหลังเข้าร่วมรับฟังการเบิกความของพยานทั้ง 5 ปาก

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้มีความเชื่อมโยงระหว่างพยาบาลเวร แพทย์เวร และแพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นผู้ทำหนังสือส่งตัว แต่ในภาพรวมทั้งหมดเป็นการดำเนินการของพยาบาลเวรเป็นหลัก แม้แต่แพทย์เวรก็ไม่ทราบเรื่อง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องระยะเวลาการส่งตัวไปที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชม. หากผู้ป่วยมีอันตรายจะทำอย่างไร

ด้าน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ห้องฉุกเฉินของ รพ.ตำรวจ อยู่คนละตึกกับชั้น 14 จึงตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นกรณีฉุกเฉินจริง จะต้องส่งตัวไปที่ห้องฉุกเฉินก่อน และโดยหลักการหากตรวจแล้วไม่ฉุกเฉินจริง สามารถรักษาผู้ป่วยนอกได้ ก็ต้องส่งตัวกลับเรือนจำ หากฉุกเฉินและมีอาการหนักจริง ชั้น 14 ก็ไม่เหมาะสม ต้องไปสวนหัวใจที่แผนก CCU (หอผู้ป่วยวิกฤตภาวะหัวใจและหลอดเลืoด) หรือ ICU (หอผู้ป่วยวิกฤต) แล้วแต่กรณี จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ในฐานะหมอคนหนึ่ง คิดว่าประชาชนและแพทย์ทั่วไปน่าจะเห็นด้วย

สำหรับ นพ.วรงค์ และ นพ.ตุลย์ เข้าร่วมชุมนุมขับไล่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กับกลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่า “รวมพลังแผ่นดิน” หลัง “คลิปเสียง” สนทนาระหว่างนายกฯ อุ๊งอิ๊ง กับประธานวุฒิสภากัมพูชา กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ คนที่ 26 และน้องเขยของ ทักษิณ ร่วมฟังการสืบพยานคดี 112 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา เมื่อ 1 ก.ค.

นอกจาก “คดีชั้น 14” อดีตนายกฯ คนที่ 23 ยังตกเป็นจำเลยคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง โดยเจ้าตัวต้องเดินทางไปขึ้นศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก รวม 3 ครั้งในรอบสัปดาห์นี้ ตามนัดสืบพยานโจทก์คดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ทั้งนี้เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี จึงไม่อาจพิจารณาลับหลังจำเลยได้