
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา ‘สากล พุฒิมานรดีกุล' อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครปฐม ทุจริตเบิกจ่ายค่าอาหารนักเรียน ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุก 275 ปี รับสารภาพลดเหลือ 110 ปี 330 เดือน ได้รอลงอาญา เหตุไม่เคยต้องโทษนำเงินบางส่วนไปซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารให้เด็กกินทุกวัน มีจิตสำนึกดีอยู่บ้าง ค่าเสียหายไม่ร้ายแรง โดนปลดออกจากราชการแล้ว เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางรัชนี วรรณศิริ อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียน เทศบาล 1 จังหวัดนครปฐม กับพวก ทุจริตในการเบิกจ่ายค่าอาหารของโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม ซึ่งถูกคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 และตาม พ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 172 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยปรากฏชื่อ นายสากล พุฒิมานรดีกุล เป็นจำเลยเพียงรายเดียวในคดีนี้ เคยมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาว่า นายสากล พุฒิมานรดีกุล จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 151
จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 100,000 บาท รวม 55 กระทง เป็นจำคุก 275 ปี และปรับ 5,500,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชนแ์ก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท
รวม 55 กระทง เป็นจำคุก 110 ปี 330 เดือน และปรับ 2,750,000 บาท
พิเคราะห์พฤติการณ์คดี เห็นว่า แม้สภาพความผิดค่อนข้างร้ายแรง แต่ทางไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดบางส่วนไปซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารให้นักเรียนโรงเรียนกีฬานครปฐมรับประทานทุกวัน นับว่ามีจิตสำนึกดีอยู่บ้าง
ประกอบกับมูลค่าความเสียหายไม่มากนัก อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับโทษทางวินัยปลดออกจากราชการแล้ว นิสัยและประวัติส่วนตัวของจำเลยในเรื่องอื่น ๆ ไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงกรณียังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมได้
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และโทษจำคุกที่ศาลจะลงแก่จำเลยแต่ละกระทงไม่เกินกระทงละ 5 ปี
เห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี
โดยให้คุมความประพฤติ 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
เบื้องต้น คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 มีมติให้ขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐเทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )