
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย และครูรางวัลคุณากร ประจำปี 2568 มอบรางวัล 15 ต.ค. เน้นยกย่องและเชิดชูครูผู้ ‘สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา’
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดงานแถลงข่าว ‘เปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย และครูรางวัลคุณากร ประจำปี 2568’ โดยครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 6 ประจำปี 2568 ของประเทศไทย คือ ครูไพรวัลย์ ยาปัญ โรงเรียนบ้านกองม่องทะ (สาขาบ้านไล่โว่) อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และครูรางวัลคุณากร ได้แก่ ครูไพลรัตน์ สำลี วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และครูทอน บัวเรือง โรงเรียนบ้านดงน้ำเดื่อ จ.เพชรบูรณ์
การคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2568 รวมแล้ว 6 รุ่น ปัจจุบันมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รวม 69 คน จาก 14 ประเทศ จากกลุ่มประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต และในปี 2568 ได้เพิ่มเติมประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย ส่วนครูรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ จะเป็นการมอบให้กับครูไทยจากทุกสังกัดการศึกษา ไม่ว่าในระบบการศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย รวมไปถึงครูอาชีวศึกษา ทั้ง 77 จังหวัด ซึ่ง 6 รุ่นที่ผ่านมา มีผู้รับรางวัลรวมแล้วทั้งหมด 1,035 คน ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวจะมีการมอบในวันที่ 15 ต.ค. 2568 เพื่อยกย่องและเชิดชูครูผู้ ‘สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา’
นายไพรวัลย์ ยาปัญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2568 กล่าวว่า ตนเป็น ‘ครูอาสา’ และร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ โดยได้ตั้งปณิธานไว้ว่า อยากพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร จึงตัดสินใจเดินทางมาที่บ้านกองม่องทะ ซึ่งต้องเดินเท้าเข้าพื้นที่ในขณะนั้น เพื่อเป็นครูอาสา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวบ้านกำลังหมดศรัทธาต่อการศึกษา เพราะครูอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายออก ตนจึงเข้ามาสอนทุกวิชาและทุกระดับชั้น เป็นเวลา 17 ปี จากการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ จากโรงเรียนชั่วคราวให้เป็นโรงเรียนในสังกัดกองตำรวจตระเวนชายแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้นั้น จึงนำมาพัฒนาให้ห้องเรียนสาขาบ้านไล่โว่ เป็นโรงเรียนสาขาบ้านไล่โว่ ทำให้นักเรียนที่จบประถมศึกษาตอนปลายไม่ต้องกลับมาเรียนซ้ำ ซึ่งการปฏิบัติต่อลูกศิษย์ทุกคนอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียม โดยจัดการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคลทั้งพื้นฐานความรู้ ทักษะชีวิต และความถนัดที่ต่างกัน ใช้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นสื่อการสอน จนเด็กอ่านเขียนภาษาไทยได้ ทำให้นักเรียนสามารถมีผลการทดสอบระดับชาติ O-Salvage ในวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.6 ที่สูงกว่าผลทดสอบระดับประเทศได้สำเร็จ รวมถึงริเริ่มกิจกรรม ‘ขายข้ามเขาออนไลน์ By Kongmongta College’ เพื่อบ่มเพาะให้เป็นผู้ประกอบการ และตั้งใจอุทิศตนทำหน้าที่ครูต่อไป ให้ลูกศิษย์ถึงฝั่งที่ฝันให้ได้มากที่สุด
นายไพลรัตน์ สำลี รางวัลคุณากร ครูจากวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยและครูรางวัลคุณากร กล่าวว่า ตนเกิดมาเป็นผู้พิการก่อนจะได้รับการรักษาจากแพทย์ และเริ่มต้นชีวิตครูอัตราจ้างที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ประเภทครูผู้สอน สังกัดวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เป็นระยะเวลากว่า 26 ปี และอยากที่จะส่งต่อความรู้ ให้การช่วยเหลือลูกศิษย์ให้ได้รับโอกาสและพัฒนาตนเอง รวมถึงลูกศิษย์ที่ขาดโอกาสเป็นผู้พิการให้ได้รับการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมกับมีรายได้ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพราะลูกศิษย์คือเครือข่ายที่ดี ที่เอามันสมองของผมไปกระจายความรู้
นายทอน บัวเรือง รางวัลคุณากร ครูจากโรงเรียนบ้านดงน้ำเดือ จ.เพชรบูรณ์และครูรางวัลคุณากรกล่าวว่า คุณภาพการสอนของครูสามารถเปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์ได้ แม้ลูกศิษย์ที่เรียนรู้ช้าหรือมีข้อจำกัดทางทรัพยากรระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท ครูต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง พยายามเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตของนักเรียน ทำให้การเรียนมีความหมายและนำไปใช้ได้จริง โดยปรับวิธีการสอนอยู่เสมอ สังเกตการตอบสนองของนักเรียน วิเคราะห์ข้อดีข้อจำกัด และพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่หากครูมีใจรักและมุ่งมั่นพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ความสำเร็จของลูกศิษย์ คือ ดอกไม้ที่หอมหวานที่สุดในสวนแห่งชีวิตครู และการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในเมือง ทุกพื้นที่ควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )