สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2568 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เวลา 17 นาฬิกา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2568 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา อาคารโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และพระราชทานเกียรติบัตรให้ผู้แทนเยาวชนพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ จากโรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จังหวัดลำปาง กลุ่มเยาวชนพนาดร/ กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์
จากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2568 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์และทรงฟังบรรยายสรุปผลดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2555 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯได้ดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน บริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เห็นความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พลังงาน อาชีพ และกองทุนชุมชน
ผลการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในปีพุทธศักราช 2567 ชุมชนสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้พื้นที่เกษตรกว่า 30,000 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 1.13 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งมูลค่า 3.95 ล้านบาทรวมทั้งสร้างตัวอย่างการดำเนินงาน ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ชุมชนมีรายได้จากป่ามากกว่า 7 ล้านบาทต่อปี สามารถช่วยรัฐประหยัดค่าชดเชยความเสียหายได้ถึง 7,900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเกิดพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพิ่มขึ้น 2 แห่ง รวมเป็น 30 แห่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ขมิง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในอดีตประสบปัญหาน้ำหลากและดินโคลนถล่ม เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน กรมชลประทานจึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ความจุน้ำ 5 แสนลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ชุมชนจึงหันมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่อง มีธรรมนูญชุมชน กำหนดให้ทุกหมู่บ้านร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำเป็นประจำทุกเดือน กำหนดกฎกติการ่วมกัน ผลสำเร็จในปัจจุบัน ป่าต้นน้ำ 389 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง มีความจุเพิ่มขึ้น สามารถบริหารจัดการน้ำได้ 6 รอบต่อปี มีการใช้น้ำซ้ำ น้ำส่วนเกินนำกลับไปใช้ซ้ำในพื้นที่ตอนล่าง มีสระน้ำแก้มลิง สำรองน้ำ 40 สระ เดิมมีน้ำทำเกษตรได้เพียง 300 ไร่ ปัจจุบัน มีระบบกระจายน้ำได้ทั่วถึง ทั้ง 1,200 ไร่ มีมูลค่าผลผลิตปีละกว่า 7 ล้านบาท
ชุมชนบ้านห้วยขึม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่ ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยครั้งใหญ่ เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินและพื้นที่เกษตรจนท้องถิ่นต้องจัดหาน้ำมาแจกให้ชุมชน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2560 ชุมชนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องน้ำจากโรงเรียนบริหารจัดการน้ำ ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และได้นำความรู้กลับมาทำงานในชุมชน เริ่มจากสำรวจพื้นที่ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ฝายกักเก็บน้ำ นำแนวทาง DSLM มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำ และในปีพุทธศักราช 2562 ชุมชนได้พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยขึมโยธินอุทกพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และกองทัพบก ความจุ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน มีสระน้ำแก้มลิงสำรองน้ำกระจายทั่วพื้นที่ ผลสำเร็จในปัจจุบัน ป่าต้นน้ำที่เคยถูกบุกรุก ได้คืนกลับมา 2 เท่า เป็น 378 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นต้นน้ำสำคัญ ช่วยให้อ่างเก็บน้ำห้วยขึมโยธินอุทกพัฒนา มีน้ำตลอดปี รวมทั้งพัฒนาระบบกระจายน้ำได้ทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน เมื่อมีน้ำ เกษตรกรเปลี่ยนวิถีเกษตรจากเชิงเดี่ยว เป็นวนเกษตรและทฤษฎีใหม่ ทำให้ชุมชนมีรายได้กว่า 9 แสนบาทต่อปี
ผลการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เกิดจากการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวม 33 แห่ง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 13 แห่ง ภาคเอกชน 16 แห่ง สถาบันการศึกษา 4 แห่ง ที่ร่วมกันดำเนินงานเพื่อให้เกิดความมั่นคง ด้านทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และพลังงาน สู่ความยั่งยืน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )