จ่าย 2 แสนดอลลาร์เพื่อโกงความตาย เทคโนโลยีแช่แข็งศพรอการชุบชีวิตใกล้เป็นจริงแล้วหรือยัง ?
บริษัทสตาร์ทอัพด้านไครโอนิกส์ (Cryonics) หรือการแช่แข็งศพของเยอรมนี เสนอโอกาสให้ชีวิตที่สองแก่ผู้คนในราคาเท่ากับราคารถสปอร์ต เทคโนโลยีไครโอนิกส์นี้อยู่ใกล้แค่เอื้อมหรือยังเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่ากันแน่ ?
รถพยาบาลที่จอดอยู่ข้างสวนสาธารณะใจกลางกรุงเบอร์ลินมีขนาดเล็กราวกับเป็นรถของเล่น ด้านข้างรถมีแถบสีส้ม ภายในรถมีสายไฟยุ่งเหยิงก้อนหนึ่งห้อยลงมาจากเพดาน
นี่คือหนึ่งในรถยนต์ 3 คัน ที่ถูกดัดแปลงขึ้นใหม่ของบริษัททูมอร์โรว์ ดอท ไบโอ (Day after lately.Bio) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแช่แข็งร่างผู้เสียชีวิตแห่งแรกของยุโรป และมีภารกิจในการแช่แข็งร่างผู้ป่วยหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถฟื้นร่างดังกล่าวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยสนนราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 7 ล้านบาท
ที่ด้านข้างเครื่องควบคุมการไหลเวียนของเลือด คือ เอมิล เคนด์ซิออร์รา ผู้ร่วมก่อตั้ง Day after lately.Bio และอดีตนักวิจัยโรคมะเร็งที่เปลี่ยนอาชีพหลังจากพบว่าการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีความก้าวหน้าที่ช้าเกินไป ย้อนไปตอนที่ห้องปฏิบัติการแช่แข็งแบบนี้แห่งแรกของโลกเปิดที่รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดเสียงที่แตกเป็นสองฝ่ายอย่างยาวนานระหว่างผู้ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้คืออนาคตของมนุษยชาติ กับผู้ที่ปฏิเสธแนวทางนี้ ในตอนนั้น เคนซิออร์รา กล่าวว่าความสนใจในเรื่องนี้กำลังเพิ่มขึ้น
จนถึงปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้ได้ใช้เทคโนโลยีแช่แข็ง (หรือการเก็บรักษาสิ่งมีชีวิตด้วยการแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำมาก) กับร่างของมนุษย์แล้ว 3 หรือ 4 ร่าง และสัตว์เลี้ยงอีก 5 ตัว โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอีกเกือบ 700 คน
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Dwell of เรื่องแนะนำ
ในปี 2025 พวกเขามีแผนที่จะเปิดให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งสหรัฐฯ
ปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดที่สามารถฟื้นคืนชีพได้ด้วยวิธีไครโอนิกส์ และถึงแม้จะสามารถฟื้นชีพขึ้นมาได้ก็ตาม ผลที่ได้อาจเป็นการฟื้นของร่างกายพร้อมกับสมองที่เสียหายรุนแรง
ศ.ไคลฟ์ โคเอน ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างทางสมองที่ซับซ้อนเท่ามนุษย์สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”
นักวิชาการผู้นี้มองว่า แถลงการณ์ที่บอกว่าเทคโนโลยีนาโน (ซึ่งทำงานด้วยองค์ประกอบระดับนาโน) หรือเทคโนโลยีคอนเนคโตมิกส์ (การเชื่อมโยงเส้นประสาท) จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างทฤษฎีทางชีววิทยาและความเป็นจริงได้นั้น เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่เกินจริง
คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำลายความทะเยอทะยานของ Day after lately.Bio แต่อย่างใด เมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนกับบริษัทและแพทย์ยืนยันว่าพวกเขาอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต บริษัทจะส่งรถพยาบาลไปยังสถานที่ที่พวกเขาอยู่ เมื่อศาลตัดสินว่าเสียชีวิตแล้ว ผู้ป่วยจะถูกย้ายตัวไปยังรถพยาบาลของ Day after lately.Bio ซึ่งเป็นจุดที่ขั้นตอนการแช่แข็งร่างกายเริ่มต้นขึ้น
สตาร์ทอัพบริษัทนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเพราะอุณหภูมิที่เย็นจัด แต่หลังจากนั้นหัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งในภายหลัง หนึ่งในตัวอย่างของผู้ป่วยลักษณะนี้ คือเหตุการณ์เมื่อปี 1999 ระหว่างการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเล่นสกีที่นอร์เวย์ของ แอนนา เบเกนโฮล์ม เธอเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในทางการแพทย์ แต่ต่อมาสามารถฟื้นขึ้นมาได้
ในกระบวนการแช่แข็งร่าง ร่างกายจะถูกทำให้อุณหภูมิลดต่ำกว่าศูนย์องศา และได้รับของเหลวป้องกันการแข็งตัว (cryoprotective fluid) เพื่อป้องกันความเสียหายจากการแช่แข็ง
“เมื่อร่างกายคุณมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศา คุณไม่อยากจะแช่แข็งร่างกาย แต่คุณต้องการเก็บรักษาร่างกายด้วยการแช่แข็ง (cryopreserve) ไม่เช่นนั้นตัวคุณจะมีเกล็ดน้ำแข็งทั่วร่างกาย และเนื้อเยื่อจะถูกทำลาย” เอมิล เคนด์ซิออร์รา ผู้ร่วมก่อตั้ง Day after lately.Bio กล่าว ซึ่งบริษัทของเขาเป็นบริษัทที่ทั้งวิจัยและให้บริการแช่แข็งร่างเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว
“เพื่อรับมือกับปัญหานี้ คุณจะต้องแทนที่น้ำในร่างกายทั้งหมดและทุกอย่างที่อาจแข็งตัวได้ในร่างกายด้วยไครโอโพรเทกแทนต์ (cryoprotectant หรือสารป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง)” โดยสารชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักคือ ไดเมทิลซัลฟอกไซด์ (DMSO) และเอทิลีนไกลคอล (สารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สารป้องกันการแข็งตัว)
“เมื่อคุณทำขั้นตอนนี้แล้ว ร่างคุณจะเย็นลงด้วยเส้นโค้งการทำความเย็นแบบเฉพาะที่จะทำให้อุณหภูมิเย็นลงอย่างรวดเร็วจะถึงประมาณ -125 องศาเซลเซียส และจะค่อย ๆ เย็นลงจาก -125 องศาเซลเซียส เป็น -196 องศาเซลเซียส
และด้วยอุณหภูมิท้ายสุด ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปบรรจุที่หน่วยเก็บรักษาในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งอย่างเคนด์ซิออร์รา กล่าวว่า จากนั้นคุณ “ก็แค่รอคอย”
“แผนการ” เขากล่าว “คือ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เทคโนโลยีการแพทย์อาจจะก้าวหน้าขึ้นมากพอที่มะเร็งหรือโรคใด ๆ ก็ตามที่เป็นเหตุให้คนไข้รายนั้นเสียชีวิตในตอนแรกนั้นสามารถรักษาได้ในที่สุด และกระบวนการแช่แข็งศพหรือกระบวนการรักษาด้วยการแช่แข็งก็จะสามารถย้อนกลับการรักษานั้นได้”
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นในอีก 50, 100 หรือ 1,000 ปีก็ตาม “ท้ายที่สุด มันไม่สำคัญเลย” เขากล่าว
“ตราบเท่าที่คุณรักษาอุณหภูมิเอาไว้ได้ เท่ากับว่าคุณรักษาสภาพร่างกายนั้นเอาไว้ได้ในกรอบเวลาที่แทบจะไม่จำกัด”
สำหรับคนที่อยู่นอกแวดวงการแช่แข็งศพ แนวคิดนี้อาจฟังดูเพ้อเจ้อและเหมือนอยู่บนโลกดิสโทเปีย เคนด์ซิออร์รา คิดว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่แนวคิดนี้จะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ” แต่ทว่าจำนวนของมนุษย์ที่เข้ารับกระบวนการแช่แข็งแล้วฟื้นนั้นมีตัวเลขเป็นศูนย์ นอกจากนี้งานศึกษาเปรียบเทียบในสัตว์ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีความเป็นไปได้แต่อย่างใด มีแต่เพียงการแช่แข็งสมองของหนูด้วยการแช่น้ำยาดองศพไว้ ทำให้มีความหวังว่า ในวันหนึ่งสมองของมนุษย์อาจสามารถถูกเก็บรักษาเอาไว้ได้สำหรับการฟื้นชีพในอนาคต แต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นขณะที่หัวใจของสัตว์ยังคงเต้นอยู่ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้มันตายลง
เคนด์ซิออร์ราบอกว่า ผู้ที่ต่อต้านส่วนใหญ่มักจะมีเหตุผลว่า แนวคิดการทำให้คนฟื้นคืนชีพขึ้นมาหลังจากตายไปแล้วดูเหมือนเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาด แต่การรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ถูกจับตามองด้วยความสงสัยก่อนที่จะกลายเป็นวิธีรักษากระแสหลัก
“การนำหัวใจจากคนหนึ่งมาใส่ในร่างกายของอีกคนหนึ่ง ตอนแรกมันก็ฟังดูเหมือนแปลกประหลาดมาก” เขากล่าวเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ “แต่มนุษย์ก็ทำมันได้แล้วในทุกวัน” เขาเชื่อว่าการแช่แข็งศพอาจเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ผู้คนจะคุ้นชินในอนาคต
ผู้ร่วมก่อตั้งแล็บแช่แข็งศพในเยอรมนีรายนี้ มีความคิดว่างานวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นว่า หนอนตัวกลม C.elegans สามารถเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งและฟื้นชีวิตกลับมาได้สำเร็จโดยระบบร่างกายยังทำงานได้ปกติ เป็นอีกหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ระบบอวัยวะทั้งหมดสามารถเอาชนะความตายได้ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานบางประการเกี่ยวกับการฟื้นฟูอวัยวะในสัตว์ฟันแทะด้วย เมื่อปี 2023 คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตาทวินซิตีส์ ได้ทดลองแช่แข็งไตของหนูเป็นเวลา 100 วัน และนำมาปรับให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น รวมทั้งขจัดของเหลวป้องกันการเกิดน้ำแข็งออกจนหมด ก่อนปลูกถ่ายไตที่แช่แข็งนี้เข้าไปในตัวหนู 5 ตัว
ผลปรากฏว่าระบบการทำงานของไตหนูฟื้นคืนกลับมาได้ภายใน 30 วัน เทคโนโลยีดังกล่าวที่ใช้กับสัตว์ขนาดเล็กมีความหมายต่อเคนด์ซิออร์ราอย่างยิ่ง เขาบอกว่า “หลายอย่างที่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ามันได้ผล แต่อาจจะได้ผลก็ได้ เพียงแค่ไม่มีใครได้ลองทำเท่านั้น” ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ หากมีการทดลองทำก็อาจจะไม่ได้ผลก็ได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากที่ทดลองกับสัตว์ เช่น หนูหรือหนอน แต่ไม่ได้ผลกับมนุษย์
เทคโนโลยีไครโอนิกส์ (Cryonics) หรือการแช่แข็งร่างเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดการยืดอายุขัยของมนุษย์ (lifestyles-extension) ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึง โดยปัจจุบันแนวทางการยืดอายุถูกครอบงำด้วยแนวคิดเรื่องอายุที่ยืนยาว (longevity) ซึ่งเป็นแนวคิดของการใช้ชีวิตที่เหลือในการรักษาสุขภาพร่างกาย ในขณะที่มีทั้งตำรับยาและอาหารเสริม พอดแคสต์ และหนังสือมากมายเกี่ยวกับหัวข้อนี้ และการวิจัยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้
ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรการันตีว่า วิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ที่คร่าชีวิตคนไข้เหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน ศ.โคเอน ยังไม่ยอมรับวิธีไครโอนิกส์ โดยเขาบอกว่าวิธีนี้เป็น “ความเชื่อแบบผิดวิธีต่อการต้านทานการแข็งตัว และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธรรมชาติของชีววิทยา ฟิสิกส์ และความตาย” เขากล่าวว่า เมื่อใดที่หัวใจหยุดเต้นลง เซลล์ของพวกเราก็จะเริ่มสลายตัว เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายรุนแรงกับร่างกาย แต่หากร่างกายถูกทำให้มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นอีกครั้งหลังจากผ่านกระบวนการแช่ร่างด้วยวิธีไครโอนิกส์ “การสลายตัวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในร่างกายในช่วงระยะแรกหลังจากเสียชีวิตจะเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง”
ศ.โคเอน แนะว่าสาขาที่ควรค่าแก่การมุ่งเน้นคือ เทคโนโลยีไครโอเจนิกส์ (cryogenics) ซึ่งหมายถึงการเก็บรักษาวัสดุจำพวกเนื้อเยื่อหรืออวัยวะด้วยการแช่แข็งในอุณหภูมิต่ำมาก เพื่อให้สามารถ “เก็บรักษาไว้และนำไปใช้งานได้ในภายหลัง” นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ยังเชื่อว่ากุญแจสำคัญสู่การยืดอายุขัย คือการย้อนกลับความตาย ที่โรงพยาบาลของหนึ่งในแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่ในนิวยอร์กเมื่อปี 2012 พบว่าการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยหลังจากที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว สามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนชีพได้สูงถึง 33% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่มีอัตราการฟื้นคืนชีพได้เพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้เท่านั้น
มีข้อกังวลทางด้านจริยธรรมของการแช่แข็งสมอง (บริการที่ทางสตาร์ทอัพ Day after lately.Bio มีเช่นกัน) และการแช่แข็งร่างที่เสียชีวิตอยู่ด้วย ร่างผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นลูกค้าของ Day after lately.Bio จะถูกเก็บรักษาไว้ที่มูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคนด์ซิออร์ราบอกว่า เป็นการให้ความมั่นใจเรื่องการเก็บรักษา ทว่ามีคำถามว่าวิธีนี้จะเป็นไปได้ในความเป็นจริงหรือไม่ หากเวลาผ่านไปหลายศตวรรษแล้ว ลูกหลานของผู้เสียชีวิตพบว่าพวกเขาต้องรับช่วงต่อร่างของบรรพบุรุษที่ถูกแช่แข็งมาเป็นเวลานาน มันเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการหรือไม่ ?
ขณะที่ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีไครโอนิกส์มีความหวังว่าการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจะถูกค้นพบได้ในที่สุดและทำให้ฟื้นคืนชีพมาใหม่ได้ แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะไม่มีปัจจัยอื่นมาทำให้ชีวิตที่สองบนโลกของพวกเขาสั้นลงในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่สูงเกินไป โดยอาจมีครอบครัวหลายครอบครัวที่อาจไม่ได้พอใจนักหากว่ามรดกของพวกเขาถูกใช้ไปกับเรื่องที่ฝากในกับอนาคตอันแสนไกลนี้
“ผมจะแย้งว่าเสรีภาพที่จะเลือกทางเลือกด้วยตัวเองนั้นชนะข้อพิจารณาเรื่องจริยธรรมที่มีทั้งหมด” เคนด์ซิออร์รา กล่าว “มีคนจำนวนมากที่ซื้อเรือยอชต์ลำที่สองให้ตัวเองตอนที่อายุ 85 ซึ่งผมไม่รู้ล่ะ เขาอาจจะมีชีวิตเหลือแค่อีก 3 ปีเท่านั้น” เขากล่าวเสริม เขามองว่าโดยพื้นฐานแล้ว การลงทุนด้วยเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อโอกาสในการกลับมามีชีวิตบนโลกอีกครั้งถือเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรม
เขาเปิดเผยด้วยว่าลูกค้าส่วนมากของเขามีอายุราว 60 ปีหรือน้อยกว่านั้น และจ่ายค่าบริการด้วยเงินประกันชีวิต (การจ่ายแบบนี้สามารถจัดการผ่านบริษัทหรือดำเนินการได้เอง) สำหรับลูอีส์ แฮร์ริสัน หญิงวัย 51 ปี เธอลงทะเบียนสมัครเข้ามาเพราะ “ความสงสัยใครรู้
“ฉันรู้สึกดึงดูดด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการที่ชีวิตสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ในอนาคต มันดูเหมือนรูปแบบการเดินทางข้ามเวลาอย่างหนึ่ง” เธอกล่าว “การมีโอกาสอยู่บ้างในการกลับมามีชีวิต เมื่อเทียบกับการไม่มีโอกาสเลย ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่มีเหตุผล”
แฮร์ริสัน ซึ่งจ่ายค่าสมาชิกและค่าประกันชีวิตในราคา 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน บอกว่า การตัดสินใจของเธอต้องเผชิญกับสายตาของคนอื่นที่สงสัย “ผู้คนมักจะพูดกับฉันว่า แย่มาก… ทุกอย่างและทุกคนที่รู้จักจะตายไปหมดแล้วตอนนั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ฉันถอย เราสูญเสียผู้คนรอบตัวอยู่แล้วตลอดทั้งชีวิต แต่เรามักจะหาเหตุผลที่เราจะมีชีวิตอยู่ต่อได้”
สตาร์ทอัพ Day after lately.Bio กำลังหวังว่าการเปิดตัวของพวกเขาในสหรัฐฯ จะสามารถดึงให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโลกอนาคตเข้ามาสมัครใช้บริการได้ ตามข้อมูลของสถาบันไครโอนิกส์ บริษัทที่ให้บริการด้านนี้ในสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 1976 มีจำนวนของผู้สมัครลงทะเบียนรับบริการถึง 2,000 คน โดยมี 263 คนที่ “อยู่ในสถานะการแช่แข็ง” โดยสถาบันดังกล่าวระบุว่า “ตัวเลขนั้นเติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะแนวคิดนี้ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น”
รายงานหลายแห่งระบุว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเมื่อไม่นานมานี้ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความตายมากขึ้น และทำให้พวกเขาดูแลชีวิตตัวเองมากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ Day after lately.Bio ได้ตั้งเป้าหมายอันทะเยอทะยานว่า จะพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาโครงสร้างทางระบบประสาทของความทรงจำ อัตลักษณ์และบุคลิกภาพให้ได้ภายในหนึ่งปี และการรักษาร่างที่สามารถย้อนกลับได้จากอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์ หรือ “ขุมทรัพย์แห่งความสำเร็จ” ภายในปี 2028
“ผมไม่สามารถบอกได้ว่าความเป็นไปได้ที่สิ่งต่าง ๆ จะเป็นไปตามแผนนั้นสูงแค่ไหน” เคนด์ซิออร์รา กล่าว “แต่ผมมั่นใจอยู่ว่าความเป็นไปได้นั้นสูงกว่าการเผาศพแน่นอน”
ที่มา BBC.co.uk