ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ยกคณะ กรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทย หารือ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาท่าเรือไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี-รมว.คมนาคม เตรียมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง ร่วมมือกับเมืองโยโกฮาม่า
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ประเทศญี่ปุ่น นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยมีนายโยชิมิจิ เทราดะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านงานวิเทศสัมพันธ์แห่ง MLIT ให้การต้อนรับฯ
ทั้งนี้ การประชุมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทย กับ ผู้บริหารกระทรวง MLI มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาท่าเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ เพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามกรอบการพัฒนาของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายชยธรรม์ เปิดเผยว่า MLIT มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการขนส่งทางทะเล สร้างความเชื่อมโยงทางการค้ากับนานาชาติ โดยมีนโยบายเพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สำคัญของภูมิภาคเอเซีย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณมากและหลากหลายชนิด พร้อมเชื่อมโยงท่าเรือกับระบบขนส่งอื่นๆ เช่น รถไฟ รถบรรทุก และการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยภายในท่าเรือโดยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประเทศในอาเซียนซึ่งถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศ
นายชยธรรม์กล่าวว่า ภายหลังการหารือร่วมกับ MLIT พบว่ามีนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสของประเทศไทย มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนด้านการขนส่ง สร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจาก MLIT จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือให้ทันสมัยแล้วยังส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือควบคู่กับเมือง โดยมีการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
“รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ริมน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนการพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของท่าเทียบเรือตู้สินค้า ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ ตลอดจนการติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าจากฝั่ง (Shore Vitality Offer) เพื่อลดมลพิษทางอากาศและเสียงรบกวนจากเรือที่จอดเทียบท่า”นายชยธรรม์กล่าว
นายชยธรรม์กล่าวว่า ดังนั้น การเข้าพบปะหารือกับ MLIT ในวันนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่จะนำนโยบายต่างๆ ข้างต้น มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการของท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ต่อไป
ด้านนายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเข้าเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับ MLIT ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่สำคัญของการท่าเรือฯ อาทิ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว การพัฒนาท่าเรือสีเขียว และการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นโครงการสำคัญ (Flagship Project) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะส่งเสริมศักยภาพของท่าเรือไทยในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ เพิ่มอัตราการจ้างงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของชุมชน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ระบบ Automation และ AI มาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับคุณภาพบริการสู่มาตรฐานสากล และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมีความมุ่งมั่นจะเป็นท่าเรือที่เป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต ทั้งนี้ การท่าเรือฯ จะต้องเร่งพัฒนาท่าเรือให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันมีท่าเรือทั้งสิ้นจำนวน 132 ท่า โดยในปี 2567 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรืออยู่ที่ 21.77 ล้าน TEUs หรือคิดเป็นประมาณสองเท่าของประเทศไทย (11 ล้าน TEUs) โดยมีท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือโตเกียว ท่าเรือโยโกฮามา ท่าเรือคาวาซากิ ท่าเรือโกเบ และท่าเรือโอซากะ
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า โดยในวันที่ 22 มกราคม 2568 มีกำหนดจัดพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ร่วมมือกับเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศได้ ได้แก่ นายสุริยะ นายชยธรรม์ และนายเกรียงไกร เข้าร่วมพิธี
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )