23 ม.ค. 2568 วันประวัติศาสตร์ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับวันแรก
23 ม.ค. 2568 เป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ มอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย
กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว และกำหนดเวลาอีก 120 วันเพื่อที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้อง อย่างเช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว ซึ่งมีรายละเอียดการปรับถ้อยคำจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” และ “สามี-ภริยา” เป็น “คู่สมรส” โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค. 2568
เส้นทางของการต่อสู้เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมเดินทางมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ และร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไทยในวาระที่หนึ่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 และผ่านความเห็นชอบในวาระสุดท้ายจากวุฒิสภาในเดือน มิ.ย. 2567 ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีก 3 เดือนถัดจากนั้น และมีผลบังคับใช้จริงในวันนี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเนื่องในโอกาสกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้วันนี้ว่า ในนามของรัฐบาลขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ต่อจากนี้ทุกความรักของคนไทยจะถูกรับรองทางกฎหมาย ทุกคู่จะมีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บนผืนแผ่นดินไทย และชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ จากความร่วมมือของทุกคน
นายกฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและยึดมั่นเสมอว่า คนไทยทุกเพศ และความรักทุกรูปแบบควรได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยรับรู้และเคารพในความแตกต่างหลากหลายทั้ง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ
Quit of เรื่องแนะนำ
ด้าน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผู้มีความหลากหลายทางเพศจากพรรคประชาชน ซึ่งเคยเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2563 กล่าวว่า สมรสเท่าเทียมมีความหมายต่อประเทศไทย ซึ่งวันนี้สำเร็จได้ด้วยความรักของทุกคน และยินดีที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเฉกเช่นหญิงชาย
“พวกเราทุกคนที่เป็นกะเทยไม่เคยจินตนาการว่าเราจะแต่งงานสร้างครอบครัวได้เหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นความรู้สึกที่เรายินดีกับทุกคนเหมือนเขาได้มีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันแล้ว”
เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันที่ 23 ม.ค.
กิจกรรมหลักในวันแรกที่สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้เกิดขึ้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีคู่รักกว่า 300 คู่ ร่วมจดทะเบียนสมรส และมีกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ยังสามารถเดินทางไปจดทะเบียนสมรสได้ ณ ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วไทย สำนักงานเขต 50 เขตในกรุงเทพมหานคร รวมถึงสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทยและเลขานุการ รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการปกครองได้รายงานความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว และการทดสอบระบบทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า รวมทั้งจัดเตรียมผลิตแบบพิมพ์ใบสำคัญการสมรส (คร.3) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเอกสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการจดทะเบียนสมรส มีดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- หนังสือรับรองโสด (กรณีสมรสกับชาวต่างชาติ)
- ใบสำคัญการหย่าตัวจริง (กรณีเคยจดทะเบียนสมรส)
- พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน)
จนถึงช่วงเย็นวันที่ 23 ม.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตลอดทั้งวัน มีคู่รักเพศที่หลากหลายเดินทางมาจดทะเบียนสมรส 1,754 คู่ ที่ 878 อำเภอใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต (ข้อมูล ณ เวลา 16.30 น.)
สำหรับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่นายทะเบียนผู้จดทะเบียนสมรส
บรรยากาศจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมชื่นมื่น
พวงเพชร เหงคำ (ซ้าย) วัย 39 ปี และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง (ขวา) คู่รักเจ้าของร้านกาแฟจาก จ. แม่ฮ่องสอนก็เดินทางมาร่วมกิจกรรมการจดทะเบียนสมรสในงาน “Marriage Equality สมรสเท่าเทียม” วันนี้ (23 ม.ค.) ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
“จริง ๆ พี่คิดว่าชั่วอายุพี่อาจจะไม่มีสมรสเท่าเทียมก็ได้ มันอาจจะต้องรอยาวนานกว่านี้ แต่ว่ามันเกิดขึ้นพี่ดีใจมาก ๆ” พวงเพชร กล่าว
ขณะที่เพิ่มทรัพย์คู่สมรสของพวกเพชร เล่าใหัฟังถึงเส้นทางความรักของเธอว่าจะครบ 17 ปี ในเดือนเมษานี้ โดยรู้จักกันผ่านเว็บไซต์ ที่ผ่านมาก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนผู้อื่น ๆ มีเพียงกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมาย เช่น เวลาที่เราประสบอุบัติเหตุ หรือเวลาที่เราจะใช้สิทธิ์กับเกี่ยวกับทางกฎหมาย จะไม่มีสิทธิ์
“อย่างน้อยเราได้ปูทางให้กับ เด็กรุ่นหลัง ๆ ของเราจะได้ไม่ต้องรู้สึกของความเหนื่อยยากในการต่อสู้เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม” เพิ่มทรัพย์ กล่าว
ขณะที่อีกคู่สมรสอีกคู่ คือ ณัฐฐิมณฐ์ แสนยามาศ วัย 46 ปี ที่ควงคู่มากับรัชยา นิลกรรณ์ วัย 45 ปี บอกว่า “ในอดีตฉันไม่คิดว่า พวกเราจะสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่แล้วก็ถึงเวลาของมัน ฉันจึงรู้สึกมีความสุขมาก”
รัชยา บอกว่า ที่จริงเธอสามารถแต่งงานได้ในออสเตรเลีย เพราะว่าที่ออสเตรเลียคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ตั้งแต่ปี 2017 แต่เธอเลือกที่จะมาจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทย เพราะว่าเธอเป็นคนไทยและภูมิใจที่เป็นคนไทย
“ตอนแรกพวกเราคิดว่าจะมีพิธีแต่งงานเล็ก ๆ แต่เมื่อเรามั่นใจมากขึ้นว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คนยอมรับมากขึ้น” เธอกล่าว
“หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน บางครั้ง พวกเราก็รู้สึกไม่มั่นใจสำหรับญาติผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นภาพเหล่านี้ผ่านสื่อ จะทำให้พวกเขายอมรับพวกเรา และสังคมจะคิดอย่างไรถ้าพวกเราแต่งงานกัน แต่เมื่อกฎหมายนี้ได้ผ่านการรับรองแล้ว พวกเราก็สามารถยืนหยัดและสู้หน้าคนอื่น ๆ ไม่มีใครจะสามารถจะว่าเราได้” เธอกล่าว
“รู้สึกภูมิใจครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในก้าวสำคัญ
อังกูร พูนพันธุ์ (ขวา) ปัจจุบันเป็นผู้บริหาร บริษัท ซูมดารา วัย 32 ปี บอกว่า ความรักของเราไม่ต้องการเวลา เพราะคุยกันกับคนรักไม่นานแล้วคลิกกันเลย ก็ใช้เวลาดูใจกันอย่างรวดเร็วก็เพียง 4 เดือน
“เราก็อยู่ในกระแสของการผลักดัน แล้วก็ต่อสู้เรื่องนี้ของสังคมไทยมาตลอดนะครับ แล้วก็พอมันเป็นวันนี้เป็นวันแรก เราก็อยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะว่า การต่อสู้หลักการผลักดันต่าง ๆ ได้เกิดผลลัพธ์แล้วนะ”
“ถ้าไม่มีสมรสเท่าเทียมอาจจะเสียเปรียบในเรื่องของการรับรอง ต่างๆ อย่างเช่นเรื่องของการรับรองบุตรอย่าง พอเราไม่ใช่ชายหญิงการรับรองบุตรจะยากขึ้น หรือว่าในเรื่องของการรับมรดก รวมถึงด้านสุขภาพด้วยก็ตามนะครับ ซึ่งบางทีคุณว่าคุณแม่ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลาเนาะ แล้วคู่สมรสเราไม่ได้เป็นชายหญิงอะ มันก็ยากต่อการที่จะช่วยเหลือตัดสินใจแทนกัน”
ขณะที่คู่สมรสของเขา สิรวิชญ์ธนา อัครปิยธนัน วัย 24 ปี ซึ่งทำงานบริษัทเดียวกันบอกว่า “มันเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของประเทศไทย ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันไม่จบมันเป็นจุดเริ่มต้น ถ้าเกิดความเท่าเทียมกันเกิดขึ้น ความเจริญต่างๆ จะค่อยๆ ตามมา”
“รู้สึกภูมิใจครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในก้าวสำคัญ
“ต้องการสร้างครอบครัวด้วยกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
เศรษฐพัส ณ ถลาง วัย 43 ปี ซึ่งเดินทางมาจดทะเบียนสมรสกับ อัครวัฒน์ เหล่าวิเศษกุล วัย 46 ปี บอกว่าวันนี้เป็นวันที่ครบรอบที่พวกเขาคบกันมา 14 ปี และสาเหตุที่มาจดทะเบียนสมรสในวันนี้เป็นเพราะ “ต้องการสร้างครอบครัวด้วยกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
เขาบอกว่าวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นช่วงชีวิตหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านชีวิตคู่ที่มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากสร้างครอบครัวด้วยกันในชีวิตจริงมานานแล้ว และต่อไปนี้ต้องการวางแผนร่วมกันว่าจะดูแลกันและกันในระยะยาวในฐานะคู่สมรสอย่างไรต่อไป
ด้านอัครวัฒน์บอกว่าดีใจที่เกิดงานวันนี้ขึ้น “ไม่คาดคิดเลยว่าในประเทศไทยจะมีวันนี้เกิดขึ้นในเรื่องความเท่าเทียมกันเรื่องความหลากหลายทางเพศ”
เขาคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้คู่รักไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศที่รับรองสถานะคู่รักของผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกต่อไป แต่สามารถทำได้ในประเทศไทยโดยมั่นใจได้ว่าคู่สมรสจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายระบุ
ด้านเศรษฐพัสกล่าวเสริมว่าตนเองเป็นกำลังใจให้กับคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอื่น ๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม และหวังว่าประเทศอื่น ๆ จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นเหมือนประเทศไทยได้
“อยากให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกความรักเป็นสิ่งถูกต้อง” เขากล่าว
ขณะที่วชิระ นันผาด วัย 46 ปี ซึ่งเดินทางมาจดทะเบียนสมรสกับภานุวัตน์ จันทา คู่รักวัย 34 ปี กล่าวว่า “เป็นวันที่พวกเรารอคอยมานานแล้ว เราก็ตั้งใจว่าเมื่อไรที่หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมาย เราจะเป็นคู่แรก ๆ ที่มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครับ”
ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายนี้ เขารู้สึกมีความภาคภูมิใจเพราะคู่หลากหลายทางเพศจะได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ เหมือนกับคู่แต่งงานเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิในทรัพย์สิน ที่ดิน และมรดกต่าง ๆ ครอบคลุมไปจนถึงธุรกรรมทางการเงินและสิทธิทางภาษี
“จากเดิมที่เราเคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง เราก็มองว่าตรงนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยการันตีว่าเราสามารถดูแลคนที่เรารักได้อย่างดีที่สุด สิ่งที่เราได้ร่วมกันทำมา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ หรือสิ่งที่เราดูแลกันในระยะยาว ทำให้ผมภูมิใจว่าอย่างน้อยหากผมเป็นอะไรไป สิทธิต่าง ๆ จะเป็นของคนที่อยู่เคียงข้างและดูแลเรามาตลอด”
เขากล่าวต่อว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มต้นจากความเปิดเผย พ่อแม่ของคู่ครองก็ทราบถึงเรื่องนี้ รวมถึงหน่วยงานที่เขาทำงานอยู่ก็ทราบความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตคู่ได้อย่างเปิดเผยมาตลอด เนื่องจากทำงานอยู่ที่เดียวกันด้วย
“แต่สมรสเท่าเทียมก็เป็นเอกสารทางการที่เป็นสัญญาว่าเราจะดูแลกันอย่างดีที่สุดอย่างไร” วชิระ กล่าว “กว่าจะมีวันนี้เองประเทศไทยก็ต่อสู้มาอย่างยาวนานอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้การผลักดันของหลายภาคส่วน ผมเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านอาจจะสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และผลักดันให้เกิดสิ่งดี ๆ เหมือนไทย
อีกคู่หนึ่งที่มาจดทะเบียนเริ่มต้นชีวิตสมรสอย่างเป็นทางการได้แก่ คู่ของฉัตรชัย อุ่นทะยา และนิตินัย บัวทอง
“สังคมเปลี่ยนแปลงไปเยอะครับ ทุกวันนี้ก็คือ พอเริ่มมีการผลักดันกฎหมาย แล้วก็มีสื่อออกไปเยอะ มันก็ทำให้คนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น” ฉัตรชัย กล่าวกับ. ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เขาสัมผัสได้ว่า การใช้ชีวิตของ LGBTQ+ ในไทยไม่ได้ต้องปกปิดหลบซ่อนเช่นในอดีต
เขายังกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อจรดปากกาผูกพันทางกฎหมายกับคนรักด้วยว่า “ช่วงที่เซ็นเอกสารแล้วก็รู้สึกมันตื่นเต้น เรามีวันนี้จริงเหรอ อะไรอย่างนี้ คนที่เขาเป็นผู้หญิงผู้ชายที่เข้ามาจดทะเบียนสมรส เขาคงจะมีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน”
ส่วนนิตินัย บอกว่า นี่เหมือนเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งที่เขาทั้งคู่จะได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันโดยกฎหมายให้การรองรับ และมีสิทธิมีเสียงเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง
“มันไม่ใช่แค่พฤตินัยอย่างเดียวและก็เป็นการเปิดโอกาสหลายด้าน ด้านความการแพทย์ การตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องทรัพย์สิน เรื่องของอนาคต” เขากล่าว
เส้นทางกฎหมายสมรสเท่าเทียม
หากนับรวมการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ อาจย้อนไปได้ถึงกรณีที่กลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ชื่อว่า กลุ่มอัญจารี ได้ทำหนังสือถึงกรมสุขภาพจิตให้ออกหนังสือรับรองว่า การรักเพศเดียวกันไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิต ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ตอบรับการรับรองดังกล่าวในปี 2545 หรือการร่วมกันคัดค้านระเบียบสภาสถาบันราชภัฏที่ไม่รับบุคคลเบี่ยงเบนทางเพศเข้าเรียนครู จนในที่สุดระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในปี 2540
นี่คือยุคแรกของการต่อสู้เรื่อสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในไทย
แต่หากดูเส้นทางของการสมรสเท่าเทียม การต่อสู้ของกลุ่มคนเพศหลากหลาย (LGBTQ+) ชาวไทยต่อสิทธิการสมรส เริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2555
ในปีนั้น คู่รัก LGBTQ+ คู่หนึ่งไปขอจดทะเบียนสมรสใน จ.เชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธการจดทะเบียน เนื่องจากมีแต่หญิง-ชาย เท่านั้นที่สมรสกันได้ ต่อมาจึงได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้เกิดกระบวนการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมาในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นการแก้กฎหมายแพ่งฯ หรือที่เรียกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมในปัจจุบัน
กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีเส้นทางความเป็นมา ดังต่อไปนี้
2555 นที ธีรโรจน์รังสรรค์ และคนรัก คู่รัก LGBTQ+ ถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรสที่ จ.เชียงใหม่ จึงมีการร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้นข้อร้องเรียนได้ถูกนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาด้านสิทธิประชาชน และผลจากการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน เสนอให้จัดทำกฎหมายอนุญาตให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิต แทนการแก้ไขกฎหมายสมรส
2556-2557 หลังจากนั้นได้เกิดกระบวนการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมาโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมในปี 2556
หลังจากนั้นในปี 2557 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โดย น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับประชาชนขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นในขบวนของนักเคลื่อนไหวมีความเห็นต่างแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการมีกฎหมายคู่ชีวิต ส่วนอีกฝ่ายที่นำโดยกลุ่มอัญจารี สนับสนุนแนวทางการแก้ไขกฎหมายสมรส โดยเสนอว่าควรแก้ไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คู่สมรสชายหญิงใช้จดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดชะงักไปหลังจากเกิดการรัฐประหารปี 2557
2563 การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่ม “ราษฎร” เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประเด็นหลากหลาย โดยประเด็นสิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกผลักดันอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายกลุ่ม เช่น เฟมมินิสต์ปลดแอก กลุ่มเสรีเทยย์พลัส กลุ่มเยาวชนปลดแอก เป็นต้น นับเป็นการปักธงทางความคิดครั้งสำคัญที่ทำให้สังคมเรียนรู้เรื่องสิทธิตามกฎหมายสมรส การเคลื่อนไหวเรียกร้องครั้งดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสในเวลาต่อมา
ในปีเดียวกัน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หลังจากเคยมีความพยายามเสนอร่างกฎหมายคู่ชีวิต จากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2561 ซึ่งสิทธิหลายเรื่องถูกตัดออกไปต่างจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2565 สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมกันในวาระที่ 1 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภา ในเดือน มี.ค. 2566 ทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป
2566 ร่างกฎหมายถูกบรรจุเข้ามาใหม่สู่สภาผู้แทนราษฎร โดยสภาได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับในวาระที่ 1 ร่างกฎหมายทั้งสิ้น 4 ร่าง ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชน และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ โดยร่างกฎหมายหลักที่จะทำไปพิจารณาในชั้นถัดไปเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี
2567
27 มี.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
18 มิ.ย. 2567 วุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
24 ก.ย. 2567 โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลอีก 120 วัน
2568 วันที่ 23 ม.ค. 2568 พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 24 ใช้บังคับอย่างเป็นทางการ
สิทธิที่จะได้จากสมรสเท่าเทียม
- การแต่งงานจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย – การหย่า
- การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน
- สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส
- การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล
- การอุปการะบุตรบุญธรรม
ที่มา BBC.co.uk