เรื่องและภาพ: อันนา หล่อวัฒนตระกูล
วิดีโอ: บุรภัทร จันทร์ประทัด
Doc Membership & Pub คือโรงหนังเล็กๆ ขนาด 50 ที่นั่ง ตั้งอยู่ใจกลางสีลม ย่านธุรกิจการค้าในกรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 โดยทีมงานผู้ก่อตั้ง Documentary Membership ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสารคดีและภาพยนตร์อิสระ
โรงแห่งนี้ฉายหนังนอกกระแสที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เข้าฉายในโรงหนังกระแสหลักตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่นี่จึงถือเป็นพื้นที่ในการรวมตัวของคนดูหนังและคนทำหนังนอกกระแสในกรุงเทพฯ
แต่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Doc Membership & Pub ต้องระงับการฉายภาพยนตร์หลังจากได้รับแจ้งว่าไม่สามารถขอใบอนุญาตเป็นโรงภาพยนตร์ได้ เนื่องจากอาคารที่โรงหนังตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตเป็นอาคารมหรสพ
กฤตวิทย์ หริมเทพาทิพย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Doc Membership & Pub เล่าให้ประชาไทฟังว่า คำสั่งระงับการฉายหนังมีขึ้นหลังจากที่ Doc Membership & Pub จัดฉายหนังเรื่องหนึ่งที่ได้เรต 20+ ทำให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมเดินทางมาที่โรงหนังเพื่อตรวจสอบว่าทางเราควบคุมการเข้าชมของผู้ชมถูกต้องหรือไม่ และวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ได้ขอดูใบอนุญาตการเปิดโรงภาพยนตร์ และเมื่อพบว่าไม่มีการขออนุญาต จึงแจ้งว่าจะต้องมีการดำเนินการในส่วนนี้
หลังจากนั้น ทีมงานได้จัดเตรียมเอกสารเพื่อนำไปขออนุญาตเป็นโรงภาพยนตร์กับกระทรวงวัฒนธรรม แต่ก็ถูกท้วงติงกลับมาว่าจะต้องนำใบอนุญาตเป็นอาคารมหรสพจากอาคารที่โรงภาพยนตร์ตั้งอยู่มาด้วยจึงจะครบถ้วน
ในเวลาต่อมา Doc Membership & Pub มีการจัดฉายหนังเรต 20+ อีกเรื่องหนึ่ง จึงมีเจ้าหน้าที่เดินทางมาที่โรงหนังอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่ามีการตรวจบัตรผู้ชมหรือไม่ หลังจากนั้นทางทีมงานก็ได้รับการแจ้งว่าพวกเขาดำเนินกิจการโรงหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องจ่ายค่าปรับและหยุดให้บริการฉายหนังทันที กฤตวิทย์ระบุว่านอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมืองมาตรวจสอบอาคารและแจ้งว่าต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากอาคารไม่มีใบอนุญาตการเป็นโรงมหรสพ
ข้อติดขัดทางกฎหมาย
ตามกฎหมายไทย โรงภาพยนตร์จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงวัฒนธรรม และใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาคารที่จะขอใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพจะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพฯ ซึ่งระบุความกว้างของโถงทางเดินและบันได ไปจนถึงจำนวนทางหนีไว้ โดยข้อกำหนดเหล่านี้บังคับใช้กับโรงมหรสพทุกขนาดโดยไม่สำคัญว่าจะจุคนได้กี่ที่นั่ง
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชันของสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถลงทุนในเรื่องสถานที่ได้แบบเดียวกับโรงหนังขนาดใหญ่ ซึ่งพอพวกเขาไม่มีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล
ทางด้านกฤตวิทย์กล่าวว่าเขาเข้าใจดีถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎเกณฑ์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ากฎเกณฑ์แบบนี้ไม่เอื้อต่อพื้นที่ฉายหนังขนาดเล็กที่เรียกกันว่า “ไมโครซีนิมา” ซึ่งมักจะมีที่นั่งน้อยกว่า 50 ที่นั่ง ในขณะที่โรงภาพยนตร์เชิงพาณิชย์อาจมีตั้งแต่ 200 ที่นั่งขึ้นไปจนถึง 1,000 ที่นั่ง
ทั้งกฤตวิทย์และเฉลิมชาตรีกล่าวไปในทางเดียวกันว่า ควรปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ฉายหนังขนาดเล็ก เนื่องจากโรงหนังขนาดเล็กที่จุคนได้ราว 10-50 คนไม่ควรต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเดียวกันกับโรงภาพยนตร์ขนาดหลายร้อยที่นั่ง แต่ควรต้องมีการออกกฎที่สอดคล้องกับขนาดและลักษณะการใช้พื้นที่
“ไม่ใช่ว่ากฎหมายเดียวใช้ทั้งหมด ไม่งั้นร้านกาแฟทุกร้านในปัจจุบันทุกร้านในประเทศ…ต้องมีทางหนีไฟเทียบเท่ากับโรงภาพยนตร์สิ เพราะมีคนนั่งเท่ากัน ดังนั้นของแบบนี้เราต้องไปดูว่าแต่ละอย่างมันทำงานเฉพาะด้านอย่างไร” เฉลิมชาตรีกล่าว
เฉลิมชาตรีกล่าวต่อไปว่า ไม่เพียงแต่ต้องแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำกฎหมายและเจ้าหน้ารัฐว่าพื้นที่แต่ละแบบมีลักษณะการใช้งานแตกต่างกันอย่างไร
เขากล่าวว่า ตามกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐได้รับอนุญาตให้ตีความและบังคับใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ทำถูกแล้วเพราะว่าทำตามกฎหมาย แต่การตีความที่ผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่ตัวกฎหมายเองก็อาจไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศและอาจถึงเวลาต้องแก้ไข
สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์หลายแห่ง ได้แก่ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ออกแถลงการณ์หลังจากการประกาศหยุดให้บริการในส่วนของการฉายภาพยนตร์ และยุติการดำเนินการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กของ Doc Membership & Pub โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กสามารถยื่นขอใบอนุญาต
ในขณะเดียวกัน โรงหนังอิสระและกลุ่มคนดูหนังหลายกลุ่มทั่วประเทศจัดฉายสารคดีเพื่อสนับสนุน Doc Membership & Pub และสนับสนุนการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย
กฤตวิทย์รู้สึกประหลาดใจที่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากหลายภาคส่วน เขาคิดว่าโรงหนังขนาดเล็กแห่งอื่นๆ คงต่างกังวลใจเกี่ยวกับกิจการของตนเอง
“สิ่งที่เราเซอร์ไพรส์ก็คือว่าเขาไม่กังวล และเขาจะยืนหยัดทำในสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่คาดหวังมาก่อน” กฤตวิทย์กล่าว
โรงหนังขนาดเล็กที่มีความฝันยิ่งใหญ่
กฤตวิทย์กล่าวว่าหากโรงหนังขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ประชาชนก็จะมีทางเลือกมากกว่าโรงหนังทั่วไป คนจะได้ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น และจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อสไตล์การเล่าเรื่องที่แตกต่าง
“ทางหลักมันมีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ทางเลือกของเราแทบไม่มี” กฤตวิทย์กล่าว
กฤตวิทย์ หริมเทพาทิพย์
สำหรับนักศึกษาและคนทำหนังสั้นอย่างนฤพงศ์ บุญเกิด และ วรัตต์ บุรีภักดี โรงหนังขนาดเล็กคือที่แรกที่ทำให้พวกเขาได้ดูหนังนอกกระแสในแบบที่หาไม่ได้ในโรงหนังกระแสหลัก
นฤพงศ์ซึ่งเริ่มทำหนังสั้นตั้งแต่สมัยมัธยมปลายกล่าวว่า เขาได้แรงบันดาลใจในการทำหนังจากการไปดูเทศกาลหนังสั้นที่ Doc Membership&Pub ที่นี่ยังเป็นที่ที่เขากับวรัตต์ได้พบกันและต่อมาได้ร่วมทำหนังด้วยกัน
ด้านวรัตต์กล่าวว่าโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กยังเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เชื่อมต่อกับผู้ชม นักวิจารณ์ ไปจนถึงแหล่งทุน ตลอดจนเปิดพื้นที่สำหรับความหลากหลายและผู้คนที่มักถูกกีดกันจากภาพยนตร์กระแสหลัก
“บางคนก็อาจจะพูดว่าสมัยนี้เขาดูหนังสตรีมมิ่งกันแล้ว จะแคร์อะไรกับโรงภาพยนตร์ แต่สตรีมมิ่งมันให้ส่วนนี้ไม่ได้” วรัตต์กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่า การฉายหนังก็ควรได้รับการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ เช่น อาจมีการรวบรวมรายชื่อหนังหรือกิจกรรมฉายหนังแล้วโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรงหนังอิสระหรือการฉายหนังใกล้ๆ พวกเขาได้
ในขณะเดียวกัน ปฏิภาณ บุญฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Solids by the Seaside ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” กล่าวว่าหนังนอกกระแสมีแนวโน้มที่จะได้ฉายในโรงภาพยนตร์อิสระนานกว่า ส่งผลให้ผู้ชมก็มีเวลาไปดูมากขึ้น เมื่อเทียบกับโรงหนังเชิงพาณิชย์ที่มักออกจากโรงไว
เขากล่าวว่าโรงหนังขนาดเล็กกำลังเกิดขึ้นในต่างจังหวัด นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และกำลังสร้างฐานคนดูหนัง ทำให้คนต่างจังหวัดมีโอกาสได้ดูหนังที่อาจไม่มีการฉายในจังหวัดของตนเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการฉายหนังเป็นประจำ เขากังวลว่าโรงหนังเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาทางกฎหมายได้ เมื่อโรงหนังขนาดเล็กยังคงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เดียวกับโรงหนังขนาดใหญ่
“ถ้าในประเทศเรา ในคนทั่วไป มันเริ่มมีการรับรู้เหล่านี้มากขึ้น เราว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือความคิดสร้างสรรค์หลายๆ อย่าง มันก็จะไปได้ไกลมากขึ้น เราก็รอดูนะว่าการสนับสนุนไมโครซีนิมาให้มันมีการกระจายสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็กฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มที่เล็กลงมันจะเป็นยังไง”
ผู้ร่วมก่อตั้ง Doc Membership & Pub กล่าวว่าเมื่อใดที่ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ด้วยการสนับสนุนจากคนในแวดวง ภาพยนตร์นอกกระแสของเมืองไทยจะเติบโตเกินกว่าที่เขาเคยจินตนาการถึง และศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ก็จะเฟื่องฟูเช่นกัน
“ผมไม่เชื่อว่าสิ่งใดที่มันเริ่มแล้วมันจะกลับไปสู่ศูนย์ มันมีแต่จะต่อยอด แต่จะต่อยอดออกไปช้าลงหรือเร็วขึ้นก็อยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่เกิดขึ้นมาแล้วเหล่านั้น หวังว่ามันจะปลดล็อก เมื่อปลดล็อกแล้วคนมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ หลังจากที่ทุกคนส่งเสียงออกมา มันจะงอกงามในแบบที่เราคิดว่าเกินไปกว่าที่เราคิดไว้แต่เดิมที่ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และในมุมเราเองก็หวังว่าเมื่อปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ มันจะทำให้ศิลปะแขนงอื่นได้มีโอกาสงอกเงยโดยไม่ต้องมาติดล็อกในเรื่องของข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค”
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )