‘เท้ง-ณัฐพงษ์' หัวหน้าพรรค ปชน.ขอโทษประชาชน หลังผลเลือกตั้ง อบจ. ได้นายกฯ แค่จังหวัดเดียวที่ลำพูน ได้สมาชิก อบจ.มา 132 คนจาก 33 จังหวัด ด้าน ‘ศรายุทธิ์' ข้องใจเหตุสมุทรปราการ-เชียงใหม่ บัตรเสียเพียบ ขณะผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.ทั่วประเทศพบภูมิใจไทยแชมป์ได้รับเลือก นายกฯ อบจ. 14 จัวหวัด
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 ก.พ. เฟซบุ๊กพรรคประชาชนได้โพสต์ข้อความกรณีที่นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน และพรรคประชาชนได้รับการเลือกตั้งสมาชิก อบจ.จำนวน 132 คน จาก 33 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตุความไม่โปร่งใสการเลือกตั้ง นายก อบจ.ที่สมุทรปราการและเชียงใหม่ เนื้อหาระบุว่า
ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว โดยพรรคประชาชนได้รับชัยชนะนายก อบจ. ที่จังหวัดลำพูน 1 คน คือ “เฮง วีระเดช ภู่พิสิฐ” และ ส.อบจ. 132 คนจาก 33 จังหวัด
บ่ายวันนี้ (2 ก.พ.) ที่อาคารอนาคตใหม่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วยนายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน และ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายก อบจ.ลำพูน ได้ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมเปิดแผนการทำงานในอนาคตของพรรคประชาชนหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จังหวัดลำพูน
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ตนต้องขอโทษประชาชนที่พรรคยังไม่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้มากเท่าที่ควร และวันนี้พรรคประชาชนก็ยังไม่สามารถบรรลุการมีนายก อบจ. ในหลายจังหวัดได้
อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณประชาชนชาวลำพูนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จนมีสัดส่วนผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งเมื่อเทียบกับอีก 47 จังหวัดที่เหลือ และเป็นที่มาที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาชนได้นายก อบจ. ในจังหวัดลำพูน แต่ก็ยังเป็นที่น่าเสียดายโอกาส ที่หากพรรคประชาชนสามารถรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ได้มากกว่านี้ ก็อาจจะชนะการเลือกตั้งในระดับ อบจ. ได้อีกหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครนายก สมุทรปราการ ตราด และสมุทรสงคราม ที่พรรคประชาชนแพ้ผู้ชนะอันดับที่ 1 ไปไม่ถึง 10% เท่านั้น
ส่วน ส.อบจ. พรรคประชาชนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนรวม 132 คนจาก 33 จังหวัด มาจากจังหวัดที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ. 80 คน และจังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครนายก อบจ. 52 คน ซึ่งพรรคประชาชนยืนยันว่าการทำงานในระดับ ส.อบจ. สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบจ. ได้อย่างแข็งขัน รวมถึงผลักดันการบรรจุบงบประมาณและโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชานในพื้นที่ได้
นายศรายุทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนและสื่อมวลชนหลายคนอยากทราบว่าการเลือกตั้งวันเสาร์มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงจาก 62% มาอยู่ที่ประมาณ 55% หมายความว่าคะแนนหายไป 7-8% หรือราว 2 ล้านกว่าคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งน่าจะมีผลมาจากการเลือกตั้งวันเสาร์
โดยบางจังหวัดมีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ที่จันทบุรีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งลดลงถึง 15% ภูเก็ตลดลงกว่า 11% นนทบุรีลดลงกว่า 9% สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และระยอง ลดลงกว่า 7-8% ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ไม่ได้มาใช้สิทธิ์แต่ละที่อาจจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้งด้วย
จากสิ่งที่เกิดขึ้น กกต. ควรต้องทบทวนการประกาศเลือกตั้งในวันเสาร์ ว่าสอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่ากาเลือกตั้งวันเสาร์ไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตจริงและการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชน
ทั้งนี้ มีสองจังหวัดที่พรรคประชาชนยังมีความสงสัย นั่นคือเชียงใหม่และสมุทรปราการ โดยเฉพาะประเด็นการมีบัตรเสียจำนวนมาก โดยทั้งผู้สมัครนายก อบจ. รวมถึงกองอำนวยการเลือกตั้งจะติดตามตรวจสอบต่อไป ซึ่งบ่ายนี้ทางพรรคประชาชนจะดำเนินการยื่นเรื่องกับ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบบัตรเสียว่ามีจำนวนถูกต้องตามที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับภาพรวมการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.โดยคิดเป็นรายพรรคพบว่า พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ที่เปิดตัวส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแบบเปิดเผยไป 16 จังหวัด ได้เก้าอี้มาครอง 10 จังหวัด ปราจีนบุรี นครพนม นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง แต่มีพรรคในเครือข่ายที่เก็บเก้าอี้ให้ได้ถึง 6 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ตราด
ส่วนพรรคภูมิใจไทย กวาดเก้าอี้ไปครอง 14 จังหวัด คือ ลพบุรี สมุทรปราการ ระยอง บึงกาฬ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ มุกดาหาร เชียงราย พิจิตร แม่ฮ่องสอน กระบี่ พังงา สตูล
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เก้าอี้ไป 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี พัทลุง
พรรคประชาธิปัตย์ ได้เก้าอี้ไป 3 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์
พรรคประชาชาติ ได้เก้าอี้ไป 2 จังหวัด คือ ยะลา นราธิวาส
พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เก้าอี้ไป 2 จังหวัด นครปฐม สุพรรณบุรี
พรรคประชาชน ส่งทั้งหมด 17 จังหวัด ได้เก้าอี้ 1 จังหวัด คือ ลำพูน
พรรคพลังประชารัฐ ได้เก้าอี้ 1 เก้าอี้ สิงห์บุรี
พรรคกล้าธรรม ได้ 1 เก้าอี้ คือ หนองบัวลำภู
ส่วนที่ลงในนามอิสระ โดยไม่มีกลุ่มการเมืองช่วยมี 3 จังหวัด คือ สระบุรี นครนายก ปัตตานี
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )