
สุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจง ตึกสตง.แห่งใหม่ถล่ม แก้สัญญา 9 ครั้ง – เตรียมบอกเลิกสัญญา แต่สะดุด เหตุ คตง.ชุดเก่าพ้นวาระ เผย บิ๊กอิตาเลียนไทยฯ รับปากไม่ทิ้งงาน โอด เลี้ยงไข้ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ซัก เฟอร์นิเจอร์ห้องรับแขกหรูหรา กรมบัญชีกลาง เล็ง รื้อ สัดส่วนกิจการร่วมค้า
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 10 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานกมธฯ ได้มีการพิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณ กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่ถล่มอันเกิดจากแผ่นดินไหว โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนจากอธิบดีกรมบัญชีกลาง ตัวแทนจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกสภาวิศวกร
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุของอาคารก่อสร้างสตง.แห่งใหม่ วงเงิน 2,136 ล้านบาท ถล่มเกิดจากการออกแบบ การก่อสร้าง หรือเหตุสุดวิสัย
@ บอกเลิกสัญญาสะดุด คตง.ชุดเก่าพ้นวาระ
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สตง.จ่ายเงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าและค่างวดไปแล้ว 966 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 17 มีนาคม 2568 ต้องมีความคืบหน้า 80.77 % แต่ทำได้แค่ 33.70 % ดังนั้น ในวันที่่ 15 มกราคม 2568 กรรมการบริหารสัญญา หรือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ก็คือ สตง. มีมติเอกฉันท์ขอให้บอกสัญญา ซึ่งจะต้องนำเสนอผู้ว่าการสตง.เพื่อเห็นชอบ แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อรับทราบ แต่เป็นช่วงที่ คตง.พ้นวาระและอยู่ระหว่างรอคตง.ชุดใหม่ เรื่องการบอกเลิกสัญญาจึงต้องหยุดอยู่แค่นั้น
ส่วนคำถามที่ว่า ในเมื่อจะบอกเลิกสัญญาแล้วเพราะเหตุใดถึงยังมีคนงานทำงานนั้น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า การจะบอกเลิกสัญญาเป็นการประชุมของผู้บริหารสัญญา ยังไม่ได้บอกว่าตรงไปตรงมา เพราะคนบอกเลิกสัญญาไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารสัญญา
“ระหว่างเราแจ้ง เราจะไม่บอกผู้รับจ้าง จนกว่าคตง.จะเห็นด้วย แต่ผู้รับจ้างรู้ว่าเราประชุม จึงหาคนเข้ามาเยอะมาก อยากจะทำให้เห็นว่ามีสภาพคล่อง”นายสุทธิพงษ์กล่าว
ส่วนประเด็นการก่อสร้างโครงการล่าช้า มีรายงานการประชุมทุกครั้ง ผู้ควบคุมงานบอกว่า หาแรงงานมาไม่ได้เลย ผู้รับจ้างออกเองไม่รู้กี่ครั้ง ผู้ว่าสตง.คนเดิมต้องเรียกผู้บริหารสูงสุดของอิตาเลียนไทยฯมาคุย ลูกชายก็มา รับว่าไม่ทิ้งแน่โครงการสตง. แต่เขาเลี้ยงไข้เรามาอย่างนี้
นายสุทธิพงษ์กล่าว มีการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องขยายเวลา และการปรับงวดงาม เพราะเป็นไม่ตามไทม์ไลน์ และแก้แผน แต่มีการแก้ไขสัญญาจริง ๆ คือ เรื่องการปรับแบบ 2 ครั้ง ได้แก่ แก้ Core Wall Core Take
@ แจง ดราม่าเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง
ในช่วงถามตอบของคณะกรรมาธิการ นายไกลก้อง ไวทยการ ที่ปรึกษากมธ. สอบถามว่า ภายหลังจากโครงการก่อสร้างตึกสตง.แห่งใหม่ถล่ม มีการนำข้อมูลเฟอร์นิเจอร์ของสำนักงานสตง.แห่งใหม่หลายรายการที่มีความหรูหรา เป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง มีความจำเป็นอย่างไรกับหน่วยงานราชการที่จะต้องใช้ เป็นสิ่งฟุ่มเฟื่อยเกินความจำเป็นหรือไม่ เพื่อตอบคำถามสังคม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า คนออกแบบจะมาถามสตง.ก่อน องค์กรของสตง.ระดับสูงสุดคือใคร ต่ำสุดระดับไหน ซึ่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี ระดับรองที่เป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดของหน่วยงานเป็นระดับเทียบเท่าอธิบดี ผู้รับจ้างออกแบบจึงออกแบบตามนี้
“รู้หรือไม่ว่า สตง.ไทย เป็นประธานการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) สตง.ต่างประเทศแวะเวียนมาที่ สตง. จึงอยากมีห้องรับแขกไว้ตอนรับวีไอพี ข้าราชการอย่างพวกผมอยู่ก็นั่งปกติ จะแพงก็แต่เฉพาะชุดที่เป็นฝ่ายบริหาร จะถือว่าแพงมันก็แพง ถ้าวันนี้แพง ครั้งหน้าเราจะทำไม่ให้แพง รับรองเลย”นายสุทธิพงษ์กล่าว
ไขความจริงตึกถล่ม (2) เปิดแบบเก้าอี้โต๊ะอาคารสตง. 2 พันล้าน ของผู้บริหารหุ้มหนังอิตาลีจริง
@ กรมบัญชีกลาง เล็ง รื้อ สัดส่วนกิจการร่วมค้า
ด้านนางสาว สุธาสินี ศรีมานะศักดิ์ นิติกรชาญการพิเศษ กองการพิสูจน์ภาครัฐ ตัวแทนจากกรมบัญชีกลางตอบข้อสอบถามของประธานกมธ.ฯ ว่า ตามเงื่อนไขสัญญาตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ในการรับงวดงานยังถือว่ายังไม่ได้รับทั้งหมด ดังนั้นงานจึงยังไม่เป็นของภาครัฐ 100 % ยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง และสัญญาของแบบเขียนไว้ว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าเหตุสุดวิสัยใด ๆ ตัวผู้รับจ้างยังคงต้องรับผิดชอบในส่วนงานที่เสียหายไปนั้น
นางสาว สุธาสินี กล่าวว่า ส่วนถ้าสาเหตุตึก สตง. ถล่มเกิดจาการออกแบบ ว่า ตามสัญญาจ้างออกแบบของกรมบัญชีกลางมีข้อกำหนดว่า ถ้าผู้ออกแบบ ออกแบบจนผิดพลาดและเกิดความเสียหาย ผู้รับจ้างออกแบบต้องรับผิดชอบในส่วนที่่เสียหาย ขณะเดียวกันได้ชี้แจงประเด็นกิจการร่วมค้าว่า หลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่หน่วยงานกำหนดทุกราย
“แต่จะมีอย่างเดียวที่ใช้ร่วมกันได้ก็คือ ผลงาน ถ้าเงื่อนไขในการร่วมค้ามีการกำหนดว่าให้ใครเป็นผู้ร่วมค้าหลักจะให้ใช้ผลงานของผู้ร่วมค้านหลักได้ แต่คุณสมบัติอื่น ๆ จะต้องครบถ้วนทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีการกำหนดว่าใครเป็นผู้ค้าหลัก ทั้งผลงานและคุณสมบัติต้องครบทั้งหมด”ตัวแทนกรมบัญชีกลางกล่าว
อย่างไรก็ตามกรมบัญชีกลางไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะหากสุดท้ายมีปัญหาในการกำหนดสัดส่วน สมมุติว่า ผู้ค้า A เป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางต้องมีสัดส่วนความรับผิดชอบมากที่สุด
“แต่ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางรับทราบปัญหาว่า ผู้รับผิดชอบหลักมีสัดส่วนมากก็จริง แต่เวลาทำงานจริง กลายเป็นว่าผู้ร่วมทำงานมากกว่า ซึ่งคิดว่า กรมบัญชีกลางต้องปรับหลักเกณฑ์เรื่องกิจการร่วมค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น”ตัวแทนจากกรมบัญชีกลางกล่าว
สำหรับประเด็นบริษัทที่ติดแบล็กลิสต์จากต่างประเทศ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างไปไม่ถึง แต่จะนำไปพิจารณาแก้ปัญหาต่อไป ส่วนกรณีผู้ควบคุมงานกับผู้อออกแบบนั้น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง กำหนดหลักการเพียงว่า ผู้ออกแบบห้ามเป็นผู้รับจ้าง หรือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับจ้าง เพื่อไม่ให้ผู้ออกแบบได้เปรียบในการยื่นข้อเสนอ และกรมบัญชีกลางจะนำไปพิจารณาเพิ่มเติม
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )