
‘ศาลปกครองกลาง’ ยกฟ้องคดี ‘SPCG' เรียกค่าเสียหาย ‘กฟภ.’ 3.7 พันล้าน ปมยกเลิก ‘สิทธิซื้อขาย' ไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 500 MW ชี้ ‘เซท เอนเนอยีฯ' ไม่ใช่ ‘คู่สัญญาฯ'-ไม่มีสิทธิฟ้องโต้แย้ง รอลุ้นผล ‘คดีแพ่ง' ขอศาลฯสั่งชดใช้ฐานกระทำละเมิดฯกว่า 3.71 พันล้าน
…………………………………
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG โดยนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่บริษัทฯ และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (บริษัทร่วมทุน ระหว่าง PEA ENCOM และ SPCG) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกร้องค่าเสียหายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ฐานกระทำละเมิดบริษัททั้ง 2 ไว้แล้ว นั้น
ในการนี้ บริษัทฯ ขอรายงานความคืบหน้าของคดี กล่าวคือ บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คงเหลือแต่คดีที่บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้อง กฟภ. ต่อศาลยุติธธรรม (ศาลแพ่ง) เท่านั้น ซึ่งศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้แล้ว เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2568 ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด และ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG (ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2) ยื่นฟ้อง กฟภ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาพิพากษาให้ กฟภ. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทั้ง 2 บริษัท เงินทั้งสิ้น 3,709.30 ล้านบาท
กรณี กฟภ. กระทำละเมิดต่อทั้ง 2 บริษัท โดยยกเลิกการให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC กำลังการผลิตติดตั้งไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 23,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด รวมทั้งยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการ และอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อในโครงการฯ ทำให้ทั้ง 2 บริษัทฯได้รับความเสียหาย
ต่อมาศาลปกครองกลาง มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 287/2568 คดีหมายเลขแดงที่ 628/2568 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากศาลฯเห็นว่า กฟภ. เคยมีหนังสือแจ้งแก่ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ว่า การให้ความยินยอมให้ PEA ENCOM โอนสิทธิหน้าที่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ให้แก่ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
อีกทั้งจะต้องมีการลงนามทำสัญญาเกี่ยวกับการดังกล่าวตามพิธีการ จึงจะถือเป็นสัญญาโดยสมบูรณ์ เมื่อยังมิได้มีการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น การโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จึงยังไม่มีผลผูกพัน บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) จึงยังมิใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่จะอ้างสิทธิการขอขยายระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ตามสัญญาลงวันที่ 25 พ.ย.2563
เมื่อ กฟภ. มีหนังสือลงวันที่ 22 เม.ย.2567 แจ้ง PEA ENCOM ความว่า เพื่อมิให้เข้าใจเจตนาของ กฟภ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ผิดไป จึงขอยกเลิกหนังสือแจ้งให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ กฟภ. ลงวันที่ 19 พ.ค.2566 นั้น กฟภ.ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญากับ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ดังนั้น บริษัท บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด และ SPCG จึงเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิฟ้องคดี เพื่อโต้แย้งการไม่อนุญาตให้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯได้
แหล่งข่าวจาก กฟภ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า สาเหตุที่ กฟภ. ต้องยกเลิกการโอนสิทธิการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ที่เคยมอบให้แก่ PEA ENCOM และ บริษัท เซท เอนเนอยี จํากัด ซึ่งทำให้ บริษัท เซท เอนเนอยี จํากัด ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวในการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ.ได้ นั้น เนื่องจากสิทธิการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว จะให้สิทธิเฉพาะกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิแก่เอกชน
“เหตุผลที่ กฟภ. ยกเลิกสิทธิการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ EEC นั้น จะให้สิทธิเฉพาะกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิแก่เอกชน” แหล่งข่าว กล่าว
@ย้อนคดี SPCG ฟ้องแพ่ง‘กฟภ.’เรียกค่าเสียหาย 3.7 พันล้าน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคดีแพ่งที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลยุติธธรรม (ศาลแพ่ง) นั้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2568 บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด และ SPCG ยื่นฟ้อง กฟภ. ต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจาก กฟภ. เป็นเงินรวม 3,716.12 ล้านบาท ฐานทำละเมิดโดยการยกเลิกการให้ความยินยอมโอนสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่เมืองใหม่ EEC แก่ บริษัท เซท เอนเนอยีฯ รวมทั้งยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการและอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อฯ
สำหรับคดีนี้ เดิมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ขอความร่วมมือจาก กฟภ. หรือบริษัทในเครือของ กฟภ. ศึกษาและวางแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด การเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุงและรักษาระบบการผลิตและครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาดให้สามารถใช้ในการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC
โดย กฟภ.มอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มี กฟภ. เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งจำหน่ายเข้าระบบโครงข่ายของ กฟภ. ในเขตพื้นที่ EEC
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และการจัดหาแหล่งเงินทุนของ กฟภ. และ PEA ENCOM ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยในระยะแรกการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโครงการ 23,000 ล้านบาท ทาง SPCG จึงได้รับเชิญให้ร่วมกับ PEA ENCOM ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการฯดังกล่าว
ต่อมา มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะในพื้นที่ EEC ระหว่าง กฟภ. บริษัทฯ (SPCG) และ PEA ENCOM จนช่วงปลายปี 2562 มีการร่วมกันก่อตั้งบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการนี้โดยเฉพาะ โดยกระบวนการคัดเลือกให้บริษัทฯ มาเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนมาเป็นผู้ร่วมลงทุนของ PEA ENCOM และ กฟภ.เอง
ต่อมาปลายปี 2563 กฟภ. ได้อนุมัติให้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ระหว่างบริษัท PEA ENCOM กับบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ภายหลังจากวันที่ กฟภ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เพียงวันเดียว โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับ PEA ENCOM ระบุว่า กฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และ PEA ENCOM เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ในข้อ 8 ของสัญญา ระบุเรื่องการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าว่า ห้ามมิให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น เว้นแต่ผู้รับซื้อไฟฟ้าอนุญาตให้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง PEA ENCOM กับบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ระบุว่า PEA ENCOM เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า
กล่าวคือ การทำสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นผู้รับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งให้แก่ กฟภ. และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 กฟภ.มีหนังสือ แจ้ง PEA ENCOM ว่า กฟภ. เห็นชอบในการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาฯ จาก PEA ENCOM ไปให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ แล้ว ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งความคืบหน้าให้ กพอ. ทราบโดยตลอด
ทั้งนี้ เนื่องจากตามสัญญาระหว่าง PEA ENCOM กับบริษัท เซท เอนเนอยีฯ กำหนดให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ต้องจัดหาที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโครงการและในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีการกำหนดวันติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2569 บริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงได้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นที่ดินที่สามารถผลิตและจ่ายไฟเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า กฟภ.ได้
โดยการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของ PEA ENCOM และ กฟภ.แล้ว ทั้งยังใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับการปรับถมดิน เคลียร์พื้นที่หน้าดิน ล้อมรั้ว จ้างที่ปรึกษาด้านต่างๆ เช่น การเงิน กฎหมาย เทคนิค เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการ เพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าในเขต EEC ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ 2551 กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐมาแสดงด้วย แต่ระยะเวลาผ่านไปพอสมควรแล้ว กฟภ. กลับไม่ดำเนินการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับบริษัท เซท เอนเนอยีฯ เสียที
บริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงมีหนังสือขอให้เร่งรัดกระบวนการให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC เนื่องจากความล่าช้าดังกล่าว
ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2567 กฟภ. มีหนังสือถึง PEA ENCOM และบริษัท เซท เอนเนอยีฯ แจ้งว่า กฟภ. ขอยกเลิกหนังสือแจ้งให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟกับ กฟภ. ที่จะขอขยายระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้
รวมทั้งมีหนังสือแจ้ง กพอ. ว่า กฟภ.ขอยกเลิกการให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้าให้แก่บริษัท เซท เอนเนอยีฯ รวมทั้งขอยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการและอัตราค่าไฟฟ้า ที่จะรับซื้อในโครงการตามที่ กฟภ. เคยแจ้งให้ สกพอ.ทราบด้วย
การกระทำดังกล่าวของ กฟภ. ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงความร่วมมือและพันธกิจในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC ที่ได้กระทำร่วมกันมาทั้งหมดระหว่าง กฟภ. และ PEA ENCOM กับบริษัทฯ และส่งผลให้บริษัท เซท เอนเนอยีฯ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากบริษัท เซท เอนเนอยีฯ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ กับ PEA ENCOM ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อพัฒนาโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานสำรองให้แก่โครงการ EEC เท่านั้น
ดังนั้น ทั้งบริษัท เซท เอนเนอยีฯ และบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เซท เอนเนอยีฯ จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการกระทำของ กฟภ.ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก กฟภ. เป็นวงเงินรวม 3,716,125,291.08 บาท เพื่อชดเชยผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสอง ซึ่งรวมถึงประชาชนที่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากของบริษัทฯ ด้วย
ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย สั่งการให้ กฟภ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี กฟภ. ร่วมทุนกับ SPCG จัดตั้ง บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ EEC กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘มท.1’สั่งสอบฯโซลาร์ฟาร์ม‘พีอีเอ เอ็นคอม’ 2.3 หมื่นล. หลัง‘บอร์ด กฟภ.’พบความไม่ปกติ)
อ่านประกอบ :
‘มท.1’สั่งสอบฯโซลาร์ฟาร์ม‘พีอีเอ เอ็นคอม’ 2.3 หมื่นล. หลัง‘บอร์ด กฟภ.’พบความไม่ปกติ
รอมติกพช.! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ชะลอลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน-ยันพร้อมเปิดประมูล
ฉบับเต็ม! ‘กระทรวงพลังงาน’ ไข 6 ปม แตะเบรก ‘กฟภ.-SPCG' ลงขันโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล.
เบรกโซลาร์ฟาร์ม'กฟภ.' 2.3 หมื่นล.! สนพ.ชี้ต้องเสนอ ‘พลังงาน-ครม.' อนุมัติ-เปิดประมูล
ให้‘กฟภ.’ดำเนินการ! ‘สกพอ.’ แจงปมเลือกเอกชนร่วมลงทุนโซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
ยึดพ.ร.บ.อีอีซี! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ แจงร่วมทุนโซล่าร์ฟาร์ 2.3 หมื่นล.ไม่ต้องเปิดประมูล
พลิกกม.ร่วมทุนฯ! โซล่าร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน เข้าข่ายต้องเปิดประมูล?
ขอชี้แจงผู้ตรวจการฯก่อน! ‘พีอีเอ เอ็นคอม’ ยังไม่ตอบปมโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
มีผู้ร้องไม่เปิดประมูล! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ สอบข้อเท็จจริงโซลาร์ฟาร์ม 2.3 หมื่นล้าน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )