
เกิดอะไรขึ้นกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และเหตุใดมันอาจทำให้ทรัมป์ต้องคิดทบทวนนโยบายเก็บภาษีนำเข้าของตัวเอง

ที่มาของภาพ : Getty Pictures
- Author, ไมเคิล เรซ
- Aim, ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ บีบีซีนิวส์
ตลาดหุ้นทั่วโลกค่อนข้างสงบลงแล้วในสัปดาห์นี้ หลังจากช่วงเวลาแห่งความโกลาหลที่ถูกจุดโดยภาษีศุลกากรทางการค้าของสหรัฐฯ
แต่บรรดานักลงทุนยังคงจับตาดูส่วนของตลาดการเงินที่ปกติมักไม่ค่อยผันผวน นั่นคือตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ
รัฐบาลต่าง ๆ ขายพันธบัตร ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือเอกสารแสดงการกู้ยืมเงิน (IOU) เพื่อระดมทุนสำหรับการใช้จ่ายสาธารณะ โดยพวกเขาจะจ่ายดอกเบี้ยให้กลับคืนเป็นการตอบแทน
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดความเคลื่อนไหวที่หาได้ยากยิ่ง เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายให้กับพันธบัตรของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาของตัวพันธบัตรเองลดลง
ความผันผวนดังกล่าวบ่งชี้ว่าเหล่านักทุนในขณะนั้น กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed readingได้รับความนิยมสูงสุด
Discontinuance of ได้รับความนิยมสูงสุด
คุณอาจคิดว่าเรื่องนี้ไกลตัวเกินกว่าที่จะมากระทบคุณ แต่บทความชิ้นนี้จะทำให้เห็นว่าทำไมมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ และมันอาจจะเปลี่ยนความคิดที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีต่อภาษีศุลกากรได้อย่างไร
พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร ?
เมื่อรัฐบาลต้องการจะกู้ยืมเงิน พวกเขามักจะทำโดยการขายพันธบัตร ซึ่งในสหรัฐฯ เรียกว่า “ตราสารหนี้ของรัฐบาล” (Treasuries) ไปยังบรรดานักลงทุนหรือขายในตลาดการเงิน
ส่วนดอกเบี้ยจะมีการจ่ายในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้าตามที่ตกลงกันไว้ ก่อนที่จะมีการชำระเงินต้นคืนเต็มจำนวนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อพันธบัตร “ครบกำหนด” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหมดอายุ
นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรเหล่านี้ ส่วนใหญ่คือสถาบันทางการเงิน ตั้งแต่กองทุนบำเหน็จบำนาญ ไปจนถึงธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ
กำลังเกิดอะไรขึ้นกับพันธบัตรสหรัฐฯ ?
นักลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพราะมองว่ามันเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน มันมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระ โดยเฉพาะรัฐบาลที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจปั่นป่วนและนักลงทุนต้องการนำเงินออกจากหุ้นและตลาดหุ้นที่ผันผวน พวกเขามักจะโยกเงินเหล่านั้นไปไว้กับพันธบัตรสหรัฐฯ แทน
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ในช่วงเริ่มแรก ๆ หลังจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีจากทั่วโลกที่เรียกว่า “วันปลดปล่อย” (Liberation Day) เมื่อ 2 เม.ย. และตามมาด้วยสถานการณ์ที่หุ้นต่าง ๆ ร่วง เหล่านักลงทุนดูเหมือนจะแห่กันไปที่พันธบัตรสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาษีดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 5 เม.ย. และทรัมป์ได้ยืนกรานที่จะเดินหน้านโยบายดังกล่าวในช่วงสุดสัปดาห์นั้น เหล่านักทุนก็เริ่มทิ้งพันธบัตรของรัฐบาล ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายในการกู้ยืมเงิน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เรียกว่าอัตราผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปี พุ่งขึ้นจาก 3.9% เป็น 4.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรอายุ 30 ปี พุ่งขึ้นมาถึงเกือบ 5% ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในอัตราเพียง 0.2% ไม่ว่าจะในทิศทางใดโดยปกติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
ว่าแต่เหตุใดจึงเกิดการเทขายอย่างรุนแรงเช่นนี้ ? อธิบายสั้น ๆ ได้ว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนไม่ได้มองว่าพันธบัตรของรัฐบาลเป็นเดิมพันที่ปลอดภัยอีกต่อไป พวกเขาจึงเรียกร้องผลตอบแทนที่มากขึ้นในการซื้อมัน
ยิ่งความเสี่ยงที่พวกเขารับรู้สูงเท่าไหร่ เหล่านักลงทุนก็ต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น เพื่อชดเชยต่อการที่พวกเขาซื้อพันธบัตรเหล่านี้
แล้วมันกระทบชาวอเมริกันโดยทั่วไปอย่างไร ?
หากรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เงินมากขึ้นกับการจ่ายคืนดอกเบี้ย มันอาจกระทบต่องบประมาณและการใช้จ่ายสาธารณะ เพราะรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น
และมันยังอาจส่งผลกระทบทางตรงต่อครัวเรือนต่าง ๆ และยิ่งกระทบมากขึ้นต่อบรรดาธุรกิจด้วย
จอห์น แคนาแวน หัวหน้านักวิเคราะห์แห่งหน่วยงานวิจัยออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) ระบุว่า เมื่อเหล่านักลงทุนเรียกเก็บดอกเบี้ยที่มากขึ้นในการจะให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน มันจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินในรูปแบบที่มีความเสี่ยงสูงกว่าด้วย ยกตัวอย่างเช่น การจำนอง บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ มีแนวโน้มจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน
ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันใด ๆ ต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากผู้ที่จำนองบ้านในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง 15-30 ปี อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบเท่าภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ หากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็อาจจะส่งผลไประงับการเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
แคนาแวน เสริมว่า ธนาคารต่าง ๆ ก็อาจระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยเงินกู้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ ผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรกหรือผู้ที่ต้องการจะย้ายที่อยู่อาจต้องเผชิญค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยในระยะยาวกว่า ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติในสหรัฐฯ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะนำบ้านไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบธุรกิจ
ทรัมป์จึงอาจใส่ใจในเรื่องนี้ ?
หลังประกาศมาตรการทางภาษีศุลกากร ทรัมป์เรียกร้องให้ประเทศของเขา “ยืนหยัด” แต่ดูเหมือนว่าภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อตำแหน่งงานต่าง ๆ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง อาจจะหยุดยั้งเส้นทางนี้ของเขา
หลังเกิดความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตร ทรัมป์ประกาศระงับการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นเป็นเวลา 90 วัน กับทุกประเทศยกเว้นจีน อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศยังคงต้องเผชิญกับอัตราภาษีแบบถ้วนหน้า 10%
มันพิสูจน์ให้เห็นถึงจุดกดดันสำหรับทรัมป์ ซึ่งตอนนี้ทั้งโลกรับรู้มันแล้ว
“แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถต้านทานการเทขายในตลาดหุ้นได้ แต่เมื่อตลาดพันธบัตรเริ่มอ่อนแอลงด้วย ก็เหลือแค่เรื่องของเวลาว่าเขาจะยอมเมื่อไหร่” พอล แอชเวิร์ธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อเมริกาเหนือ จากบริษัท แคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) ระบุ
ตามรายงานของสื่อสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต้องรับสายโทรศัพท์มากมายจากผู้นำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวทรัมป์
นี่เหมือนกับ “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” ของลิซ ทรัสส์ หรือไม่?
การตอบสนองของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ถูกนำไปเปรียบเทียบเทียบกับ “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” (mini-Finances) ที่ไม่ได้รับความนิยม ของลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ประกาศในเดือน ก.ย. 2022 การประกาศลดภาษีโดยที่ไม่มีเงินทุนหนุนในครั้งนั้นทำให้นักลงทุนหวาดกลัวและเทขายพันธบัตรของรัฐบาลอังกฤษ ส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (Monetary institution of England) ต้องเข้ามาซื้อพันธบัตรแทนเพื่อช่วยไม่ให้กองทุนบำเหน็จบำนาญล่มสลาย
นักวิเคราะห์บางคนแนะนำว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเช่นกัน หากมีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หนักขึ้น
แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะคงที่แล้ว แต่บางคนอาจโต้แย้งได้ว่าความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน เมื่ออัตราดังกล่าวยังคงสูงกว่าก่อนการใช้ภาษีศุลกากรแบบครอบคลุม
“อาจกล่าวได้ว่าแง่มุมที่น่าเป็นห่วงที่สุดของความวุ่นวาย ครั้งล่าสุด… คือความเสี่ยงที่ปรากฏขึ้นโดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่สหราชอาณาจักรประสบในปี 2022” โจนาส โกลเทอร์แมนน์ รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทางการตลาด แห่ง แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุ
แต่หากคุณไม่ใช่คนที่จะซื้อบ้านเป็นครั้งแรกหรือจะขายบ้าน ชาวอเมริกันโดยทั่วไปก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยทันทีจากค่าใช้จ่ายในการจำนองที่สูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากชาวอังกฤษในขณะนั้นที่ต้องหาข้อตกลงใหม่ที่ระยะสั้นกว่า
แล้วจีนเกี่ยวข้องอย่างไรกับพันธบัตรสหรัฐฯ ?
ตั้งแต่ปี 2010 ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 100 ล้านล้านบาท) จากข้อมูลของดอยช์แบงก์ (Deutsche Monetary institution) ธนาคารเยอรมนี
ประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดคือญี่ปุ่น ในขณะที่จีนซึ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ ในสงครามการค้าโลก เป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
นี่จึงเกิดเป็นคำถามว่า มันจุดประกายให้เกิดการเทขายหนี้ เพื่อตอบโต้การถูกโจมตีด้วยภาษีศุลกากรอัตราสูงหรือไม่
ทว่า การเทขายอย่างด่วนจี๋นี้ ไม่น่าจะ “ทำให้จีนยากจนลง มากกว่าที่มันจะทำร้ายสหรัฐฯ” จากการวิเคราะห์ของ แคปิตอล อีโคโนมิกส์
ที่มา BBC.co.uk