
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ประกาศการค้นพบยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่เป็นครั้งแรกในรอบสามทศวรรษ โดยสารชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า “ลาริโอไซดิน” (Lariocidin) เป็นเปปไทด์ที่ผลิตโดยแบคทีเรียในดิน และมีโครงสร้างพิเศษแบบ lasso peptide ซึ่งช่วยให้มีความเสถียรสูงและต้านทานการย่อยสลายได้ดี
.
ลาริโอไซดินออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของไรโบโซม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย แม้ว่ายาปฏิชีวนะหลายชนิดจะมีกลไกคล้ายกัน แต่ลาริโอไซดินสามารถจับกับไรโบโซมในตำแหน่งที่แตกต่างออกไป จึงไม่เกิดปัญหาการดื้อยาแบบไขว้จากยาที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังแสดงศักยภาพในการฆ่-าเชื้อดื้อยาอย่าง MRSA และ Acinetobacter baumannii ที่มักพบในโรงพยาบาลและมีความรุนแรงในการติดเชื้อ
.
ความก้าวหน้าครั้งนี้เริ่มต้นจากตัวอย่างดินธรรมดาในสวนหลังบ้านของหนึ่งในนักวิจัย ซึ่งถูกเก็บไว้ในสภาวะที่เปิดโอกาสให้จุลินทรีย์ชนิดหายากเจริญเติบโต จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli จนพบการผลิตสารฆ่-าเชื้อ ก่อนจะวิเคราะห์โครงสร้างและยืนยันคุณสมบัติของลาริโอไซดิน ผ่านการทดลองในหนูที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และพบว่าสามารถยับยั้งการติดเชื้อได้สำเร็จ
.
ในขณะนี้ยังไม่พบพิษต่อเซลล์มนุษย์จากสารชนิดนี้ ทีมวิจัยกำลังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างทางเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเภสัชจลนศาสตร์ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นยารักษาโรคในมนุษย์ในอนาคต ท่ามกลางความหวังว่า ลาริโอไซดินจะกลายเป็นอาวุธใหม่ในการรับมือกับวิกฤตเชื้อดื้อยาที่กำลังคุกคามระบบสาธารณสุขทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
.
อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ https://ngthai.com/science/78260/new-class-of-antibiotics/
.
#NationalGeographicThailand ยาปฏิชีวนะ
RSS)
ที่มา : Nationwide Geographic Thailand's