ภาพสแกนไททานิคแบบ 3 มิติ เผยรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับชั่วโมงสุดท้ายของเรือ

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

ภาพสแกนแบบดิจิทัลแสดงให้เห็นหัวเรือตั้งตรงอยู่บนท้องทะเล

Article data

  • Writer, รีเบกกา มอเรล
  • Feature, บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ บีบีซีนิวส์

การวิเคราะห์อย่างละเอียดของภาพสแกนดิจิทัลขนาดเทียบเท่าเรือไททานิคของจริงเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับชั่วโมงสุดท้ายของเรือที่ประสบเหตุร้ายนี้

แบบจำลอง 3 มิติเสมือนจริงแสดงให้เห็นความรุนแรงของเรือที่ฉีกขาดออกเป็น 2 ส่วนในขณะที่จมลงหลังจากชนภูเขาน้ำแข็งในปี 1912 โดยผู้โดยสาร 1,500 คนเสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้

ภาพสแกนนี้ให้มุมมองใหม่ของห้องเครื่อง ซึ่งยืนยันคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ที่วิศวกรทำงานจนกระทั่งนาทีสุดท้ายเพื่อให้ไฟบนเรือยังติดอยู่เสมอ และการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า รูรั่วบนตัวเรือขนาดเท่ากระดาษเอ 4 เป็นสาเหตุที่ทำให้เรืออัปปางลง

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

ท้ายเรือที่หักออกจากส่วนหัวเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก

“ไททานิคเป็นพยานคนสุดท้ายที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้ และยังคงมีเรื่องราวมากมายที่จะบอกเล่า” พาร์กส์ สตีเฟนสัน นักวิเคราะห์เรือไททานิค กล่าว

การสแกนเรือไททานิคครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งการการศึกษาเพื่อจัดทำสารคดีชุดใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Gargantuan: The Digital Resurrection หรือ “ไททานิค: การฟื้นชีพในยุคดิจิทัล” ของเนชันแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) และแอตแลนติก โปรดักชันส์ (Atlantic Productions)

ภาพจำลองของซากเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้น้ำลึกลงไป 3,800 เมตร ในน่านน้ำอันหนาวเหน็บของมหาสมุทรแอตแลนติก สร้างขึ้นโดยภาพที่ถ่ายจากหุ่นยนต์ใต้น้ำ โดยภาพสแกนดังกล่าวประกอบขึ้นจากภาพถ่ายมากกว่า 700,000 ภาพ ที่ถ่ายจากทุกมุมถูกนำมาใช้ เพื่อสร้าง “ฝาแฝดทางดิจิทัล” ซึ่งบีบีซีนิวส์เคยนำมาเปิดเผยไว้เมื่อปี 2023

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากซากเรือไททานิคมีขนาดใหญ่มากและจมอยู่ใต้น้ำ การสำรวจด้วยเรือดำน้ำจึงแสดงให้เห็นเพียงภาพช็อตสั้น ๆ (สแน็ปช็อต) ที่น่าดึงดูดเท่านั้น แต่การสแกนครั้งนี้ให้ภาพเต็ม ๆ ของเรือไททานิคเป็นครั้งแรก

หัวเรือขนาดใหญ่ตั้งตรงอยู่บนพื้นทะเล ราวกับว่าเรือยังคงเดินทางต่อไป แต่ห่างออกไป 600 เมตร ท้ายเรือกลับกลายเป็นกองโลหะบิดเบี้ยว ความเสียหายเกิดขึ้นขณะที่เรือกระแทกเข้ากับก้นมหาสมุทรหลังจากเรือแตกออกเป็น 2 ท่อน

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

กระจกในช่องหน้าต่างแตก ซึ่งอาจเป็นเพราะการขูดผ่านภูเขาน้ำแข็ง

เทคโนโลยีการทำแผนที่ใหม่นี้เปิดทางให้การศึกษาซากเรือได้พบวิธีการใหม่ “มันเหมือนกับที่เกิดเหตุ คุณต้องดูหลักฐานในบริบทของสถานที่เกิดเหตุ” พาร์กส์ สตีเฟนสัน กล่าว

“และการมองเห็นภาพรวมของพื้นที่บริเวณซากทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่”

ภาพสแกนนี้ได้แสดงให้เห็นรายละเอียดใหม่ ๆ จากระยะใกล้ รวมทั้งช่องหน้าต่างเรือที่น่าจะแตกเพราะการชนกับภูเขาน้ำแข็ง สอดคล้องกับรายงานของผู้รอดชีวิตที่เห็นด้วยตาตนเองว่าน้ำแข็งได้อัดเข้าไปภายในตู้นอนของผู้โดยสาร

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

ห้องหม้อไอน้ำอยู่บริเวณท้ายหัวเรือซึ่งเรือแยกออกเป็น 2 ส่วน

ผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาห้องเครื่องยนต์ไอน้ำขนาดใหญ่ห้องหนึ่งของเรือไททานิค ซึ่งมองเห็นได้ง่ายจากภาพสแกน เนื่องจากห้องหม้อไอน้ำตั้งอยู่บริเวณท้ายเรือตรงจุดที่เรือแตกออกเป็น 2 ส่วน

ผู้โดยสารกล่าวว่า ไฟยังคงเปิดอยู่ขณะที่เรือจมลงใต้คลื่น

แบบจำลองดิจิทัลแสดงให้เห็นว่าหม้อไอน้ำบางส่วนมีลักษณะโค้งเว้า บ่งชี้ว่าหม้อไอน้ำยังคงทำงานอยู่ขณะเรือกำลังจมดิ่งลงสู่ใต้น้ำ นอกจากนี้ ยังพบว่าวาล์วบนดาดฟ้าส่วนท้ายเรืออยู่ในตำแหน่งเปิด ซึ่งบ่งชี้ว่าไอน้ำยังคงไหลเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า

สภาพเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นได้จากการทำงานของทีมวิศวกรที่นำโดยโจเซฟ เบลล์ ผู้อยู่เบื้องหลังการตักถ่านหินใส่เตาเผาเพื่อให้ไฟยังคงทำงานอยู่

ทุกคนเสียชีวิตในภัยพิบัติครั้งนั้น แต่การกระทำอันกล้าหาญของพวกเขาช่วยชีวิตคนจำนวนมากไว้ได้

“พวกเขาทำให้ไฟและระบบพลังงานทำงานจนถึงที่สุด เพื่อให้ลูกเรือมีเวลาปล่อยเรือชูชีพอย่างปลอดภัยด้วยแสงสว่างแทนที่จะอยู่ในความมืดมิด” พาร์กส์ สตีเฟนสัน กล่าวกับบีบีซี

“พวกเขาควบคุมความโกลาหลเอาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นผ่านวาล์วไอน้ำที่เปิดอยู่ตรงส่วนท้ายเรือ”

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

วาล์ววงกลม (กลางภาพ) อยู่ในตำแหน่งเปิด

การจำลองแบบใหม่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจมของเรืออีกด้วย

การจำลองนี้ใช้แบบจำลองโครงสร้างโดยละเอียดของเรือ ซึ่งสร้างขึ้นจากพิมพ์เขียวของเรือไททานิค รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเร็ว ทิศทาง และตำแหน่งของเรือ เพื่อคาดการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นขณะที่เรือพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง

“เราใช้อัลกอริทึมเชิงตัวเลขขั้นสูง สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และใช่ความสามารถในการประมวลผลของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างแบบจำลองการจมของเรือไททานิคขึ้นมาใหม่” ศาสตราจารย์จอม กี พัค จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

การจำลองแสดงให้เห็นว่าในขณะที่เรือพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งแค่เพียงเฉียด ๆ มันทำให้เกิดรอยเจาะเป็นชุด ๆ ตามแนวยาวของตัวเรือ

ที่มาของภาพ : Jeom Kee-Paik/ College Faculty London

การจำลองคำนวณได้ว่าภูเขาน้ำแข็งทำให้เกิดรูเล็ก ๆ บนตัวเรือ

ไททานิคถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถจมลงได้ โดยมีการออกแบบให้ตัวเรือลอยน้ำอยู่ได้ถึงแม้ว่าจะมีน้ำท่วมห้องเครื่องใน 4 ห้องก็ตาม

แต่การจำลองคำนวณได้ว่าความเสียหายจากภูเขาน้ำแข็งกระจายไปทั่ว 6 ห้องเครื่อง

“ความแตกต่างระหว่างไททานิคที่จมและไม่จมนั้นอยู่ที่ขอบรูหรือช่องเล็ก ๆ ที่มีขนาดเท่ากับกระดาษแผ่นหนึ่ง” ไซมอน เบนสัน อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมกองทัพเรือ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล กล่าว

“แต่ปัญหาคือช่องเล็ก ๆ เหล่านั้นกระจายอยู่ตามแนวความยาวของเรือ ดังนั้น น้ำจะค่อย ๆ ท่วมเข้าไปในช่องเหล่านั้นอย่างช้า ๆ และในที่สุดช่องต่าง ๆ ก็จะถูกน้ำท่วมจนล้นออกไปด้านบน และไททานิคก็จมลง”

อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่ไม่สามารถมองเห็นความเสียหายได้จากการสแกน เนื่องจากส่วนล่างของหัวเรือถูกซ่อนอยู่ใต้ตะกอน

ที่มาของภาพ : Atlantic Productions/Magellan

ต้องใช้เวลาหลายปีในการตรวจสอบการสแกน 3 มิติอย่างครบถ้วน

โศกนาฏกรรมของมนุษย์จากไททานิคยังคงมองเห็นได้ชัดเจน

ข้าวของส่วนตัวของผู้โดยสารบนเรือกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นทะเล

การสแกนนี้ให้เบาะแสใหม่เกี่ยวกับคืนอันหนาวเหน็บในปี 1912 แต่ผู้เชี่ยวชาญต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะตรวจสอบทุกรายละเอียดของแบบจำลอง 3 มิติได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

“เรือลำนี้เล่าเรื่องราวให้เราฟังทีละนิดเท่านั้น” พาร์กส์ สตีเฟนสัน กล่าว

“ทุก ๆ ครั้ง เรือลำนี้ทำให้เราอยากฟังเรื่องราวอื่น ๆ อีก”