มองฉนวนกาซาในแผนที่ สงครามอิสราเอล-ฮามาส 15 เดือน เปลี่ยนชีวิตในดินแดนกาซาไปอย่างไร

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, ชาวปาเลสไตน์เริ่มเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในจาบาเลียแล้ว

ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ออกมาบนท้องถนนในฉนวนกาซาเพื่อเฉลิมฉลองการหยุดยิง ช่วงเวลาแห่งความสุขของหลาย ๆ คนก็ค่อย ๆ หายไปเมื่อพวกเขากลับไปยังบ้านเกิดแล้วพบกับความหายนะ

ในเมืองจาบาเลีย ทางตอนเหนือของกาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา ภาพถ่ายและวิดีโอที่ชาวเมืองแชร์ผ่านสื่อเผยให้เห็นว่าย่านต่าง ๆ ถูกปกคลุมด้วยซากปรักหักพัง

เมื่อกลับมายังอัลฟาลูจาในจาบาเลีย ดูอา อัลคาลิดี บอกกับบีบีซีนิวส์ว่า “ฉันรอดชีวิตมาได้พร้อมลูกสาว 2 คน เราออกมาจากใต้ซากของบ้านเรา”

“ที่นี่ ใต้ซากปรักหักพัง ศพของสามี แม่สามี และน้องสะใภ้ของฉันถูกฝังมาตั้งแต่ 9 ต.ค. 2023”

คุณแม่ลูกสองวัย 28 ปีกล่าวต่อไปว่า “ฉันไม่ต้องการอะไรนอกจากร่างของพวกเขา เพื่อที่ฉันจะได้ฝังพวกเขาอย่างมีศักดิ์ศรี”

Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ

Quit of เรื่องแนะนำ

ค่ายจาบาเลียซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์กว่า 250,000 คน กลายเป็นจุดที่อิสราเอลมีปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดและรุนแรงที่สุดในช่วงสงคราม โดยมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตประมาณ 4,000 คน ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส

ฮุสเซน อาวดา คืออีกคนที่เดินทางกลับไปยังจาบาเลีย เขาบันทึกเรื่องราวการเดินทางกลับจากกาซาซิตีไว้ด้วย

นักยกน้ำหนักอาชีพ ซึ่งเป็นตัวแทนทีมชาติของปาเลสไตน์ไปแข่งขันระดับนานาชาติ สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป 10 ชีวิต ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม

“สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นวันนี้คือหลังจากผ่านไป 100 วัน ผมสามารถไปเยี่ยมหลุมศพของครอบครัวและสวดภาวนาให้พวกเขาได้” เขากล่าว

เขายังได้โพสต์วิดีโอเผยให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้าน 3 ชั้น และสโมสรกีฬาที่เขาเป็นเจ้าของอีกด้วย

“ที่นี่ ผมสูญเสียคนใกล้ใจของผมไป พี่น้อง ลูกชาย และที่ทำมาหากินของผม สงครามได้พรากทุกสิ่งที่สวยงามไปจากตัวเรา”

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายจากโดรนแสดงให้เห็นการทำลายล้างในจาบาเลีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักรบติดอาวุธฮามาสขับรถไปตามท้องถนนท่ามกลางฝูงชนที่โห่ร้องและตะโกนในเมืองข่านยูนิสทางตอนใต้

ตำรวจฮามาสซึ่งสวมเครื่องแบบยังถูกส่งไปประจำการในบางพื้นที่ หลังจากที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีของอิสราเอล

อาเหม็ด อาบู ไอฮัม ชาวเมืองกาซา ซึ่งอาศัยอยู่กับครอบครัวที่เมืองข่านยูนิส บอกกับรอยเตอร์ว่าบ้านเกิดของเขานั้นอยู่ในสภาพที่ “แย่มาก”

ในเมืองซึ่งได้รับความเสียหายหนักที่สุดตามคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญ มีผู้เห็นคนโบกธงปาเลสไตน์ และถ่ายวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือของพวกเขา

แต่ชายวัย 40 ปีกล่าวว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่จะเฉลิมฉลอง ถึงแม้การหยุดยิงอาจช่วยชีวิตผู้คนได้ก็ตาม

“เราเจ็บปวด เจ็บปวดรวดร้าวมาก และถึงเวลาที่เราต้องกอดกันและร้องไห้” เขากล่าว

ชาวกาซายังอพยพไปยังเมืองราฟาห์ทางตอนใต้ใกล้ชายแดนอียิปต์ด้วย

โมฮัมเหม็ด สุไลมาน กล่าวกับบีบีซีแผนกภาษาอารบิกว่า “ขอบคุณพระเจ้า เราได้รับข่าวการหยุดยิงที่มีผลใช้บังคับด้วยความยินดีและเป็นสุขยิ่ง”

“หากพระเจ้าประสงค์ สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเราจะกลับไปที่ราฟาห์ ผมหวังว่าผู้พลัดถิ่นทุกคนจะกลับบ้านอย่างปลอดภัย”

หลายคนหนีออกจากเมืองหลังจากอิสราเอลมีคำสั่งให้อพยพก่อนเริ่มปฏิบัติการในเมืองทางตอนใต้ของกาซา

ในเมืองราฟาห์ มูฮัมหมัด อัล-จามาล ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ปาเลสไตน์ อัล-อายยาม เล่าถึงความสูญเสียของเขา

“บ้านหลังนั้นถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง ทุกอย่างพังทลายจนกลายเป็นเศษหิน” เขากล่าว “เล้าไก่และต้นมะกอกที่เราเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกัน กลายเป็นอดีตไปแล้ว”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, รถบรรทุกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ราฟาห์

ความเปราะบางของข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม

ข้อตกลงสงบศึกล่าช้าไป 3 ชั่วโมงก่อนจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนั้น มีรายงานว่าชาวปาเลสไตน์ 19 คนเสียชีวิตในสิ่งที่อิสราเอลระบุว่าเป็นการโจมตี “เป้าหมายก่อการร้าย”

ในช่วงบ่ายของวันที่ 20 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ตัวประกันหญิงชาวอิสราเอล 3 รายเดินทางกลับถึงอิสราเอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามข้อตกลงหยุดยิงในระยะแรกเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยที่ฮามาสจะปล่อยตัวประกัน 33 ราย แต่ทว่าประชาชนในฉนวนกาซายังคงหวาดกลัวว่าการสงบศึกอาจจะล้มเหลวอีกครั้ง

มองฉนวนกาซาในแผนที่

สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กินเวลายาวนานถึง 15 เดือน ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อดินแดนชายฝั่งของปาเลสไตน์

การทิ้งระเบิดและการบุกโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอลเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การบุกโจมตีข้ามพรมแดนของกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ต.ค. 2023 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 ราย และอีก 251 รายถูกจับเป็นตัวประกัน

อิสราเอลยืนกรานว่า ได้พยายามทำลายกองทหารและศักยภาพในการปกครองของกลุ่มอิสลามซึ่งมุ่งมั่นจะทำลายล้างอิสราเอลและควบคุมฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2007 ทว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปกว่า 46,600 ราย ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส

สหประชาชาติเตือนว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษกว่าดินแดนจะฟื้นตัว

ทีม Visual Journalism ของบีบีซีนิวส์ จัดทำคู่มือภาพเพื่อแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงสงคราม

การทำลายล้างแพร่กระจายไปอย่างไร

ในช่วงแรก อิสราเอลพุ่งเป้าพื้นที่ทางตอนเหนือของกาซา ซึ่งอิสราเอลระบุว่ากลุ่มนักรบฮามาสหลบซ่อนแฝงตัวอยู่ท่ามกลางพลเรือน

เมืองเบตฮานูนทางตอนเหนือ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนเพียง 2 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในพื้นที่แรก ๆ ที่อิสราเอลโจมตี และได้รับความเสียหายอย่างหนัก

อิสราเอลยังคงทิ้งระเบิดใส่เมืองกาซาซิตีและใจกลางเมืองอื่น ๆ ทางตอนเหนือ และมีคำสั่งให้พลเรือนอพยพไปทางใต้ของแม่น้ำวาดีกาซาเพื่อ “ความปลอดภัยและการป้องกัน” ก่อนจะเริ่มการรุกรานทางภาคพื้นดินเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2023

แต่อิสราเอลยังได้โจมตีทางอากาศต่อเมืองทางตอนใต้ ซึ่งชาวกาซาหลายแสนคนจากทางตอนเหนือกำลังหลบหนีไป ปลายเดือน พ.ย. 2023 พื้นที่ทางตอนใต้บางส่วนก็กลายเป็นซากปรักหักพัง เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือ

อิสราเอลเพิ่มการทิ้งระเบิดในพื้นที่ตอนใต้และตอนกลางของกาซาเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2023 ก่อนเปิดฉากโจมตีทางภาคพื้นดินที่ข่านยูนิส และเมื่อถึงเดือน ม.ค. 2024 อาคารมากกว่าครึ่งหนึ่งในกาซาก็ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย

สงครามที่เกิดขึ้นนาน 15 เดือน น่าจะสร้างความเสียหายให้กับอาคารเกือบ 60% ทั่วฉนวนกาซา โดยกาซาซิตีเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยและศูนย์มหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแห่งนครนิวยอร์ก (CUNY Graduate Heart) และมหาวิทยาลัยรัฐออริกอน (Oregon Direct University) ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม

สหประชาชาติ (United Nations – UN) ประมาณการว่า อาคารที่ได้รับความเสียหายนั้นครอบคลุมอาคารที่พักอาศัยมากกว่า 90% ในฉนวนกาซา โดยมีบ้านเรือน 160,000 หลังถูกทำลาย และอีก 276,000 หลังได้รับความเสียหายรุนแรงหรือบางส่วน

ตลอดช่วงสงคราม ฮามาส ซึ่งถูกอิสราเอล สหราชอาณาจักร และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศจัดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย และพันธมิตร ได้เข้าร่วมการสู้รบอย่างดุเดือดกับกองกำลังอิสราเอลบนภาคพื้นดิน นอกจากนี้พวกเขายังยิงจรวดหลายพันลูกเข้าไปในอิสราเอลอีกด้วย

กำเนิดเมืองเต็นท์ขนาดใหญ่

ชีวิตของผู้คนก่อนสงครามในฉนวนกาซานั้นยากลำบากมาหลายปี เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ถูกอิสราเอลและอียิปต์ปิดล้อมอย่างเข้มงวดเป็นเวลานาน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศระบุว่ามีความจำเป็นต่อความปลอดภัย แม้ว่าประชากรเกือบ 2 ใน 3 จะอยู่ในภาวะยากจนตามข้อมูลของธนาคารโลก และหลายพันคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติ แต่ฉนวนกาซายังมีโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งโรงเรียนและร้านค้า

แต่ฉนวนกาซาซึ่งมีความยาวเพียง 41 กิโลเมตร และกว้าง 10 กิโลเมตร มีพรมแดนติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีพรมแดนทางบกติดกับอิสราเอลและอียิปต์ ปัจจุบันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในหลายพื้นที่

พื้นที่ทั้งหมดถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเคยเป็นเรือนกระจกถูกทำลายจนกลายเป็นทรายและเศษหินโดยยานเกราะและรถถังที่ใช้ในปฏิบัติการกวาดล้างของกองทหารอิสราเอล

ก่อนสงคราม ประชากร 2.2 ล้านคนของกาซาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลัก 4 เมือง ได้แก่ ราฟาห์ และข่านยูนิส ซึ่งอยู่ทางตอนใต้, เดียร์ อัล บาลาห์ ทางตอนกลาง และกาซาซิตี ซึ่งมีประชากร 775,000 คน แต่ปัจจุบันประชากรเกือบทั้งหมดอพยพออกไปแล้ว

ครอบครัวต่าง ๆ ต้องอพยพหลายครั้งเนื่องจากอิสราเอลเปลี่ยนจุดเน้นการปฏิบัติการ โดยในช่วงแรกบอกให้ผู้คนทางตอนเหนืออพยพลงทางใต้ของแม่น้ำวาดีกาซา ซึ่งแบ่งฉนวนกาซาออกเป็น 2 ส่วน และต่อมาได้ประกาศเขตอพยพหลายแห่งทางตอนใต้

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นเต็นท์จำนวนมากที่ผู้พลัดถิ่นสร้างขึ้นในอัลมาวาซี ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแคบ ๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับชายแดนอียิปต์ ซึ่งอิสราเอลกำหนดให้เป็น “เขตมนุษยธรรม” ในเดือน ต.ค. 2023

ที่มาของภาพ, Getty Photos

อิสราเอลได้ขยายเขตดังกล่าวในเดือน พ.ค. 2024 เพื่อรวมพื้นที่บางส่วนของข่านยูนิสและเดียร์ อัล-บาลาห์ หลังเปิดฉากโจมตีทางพื้นดินในราฟาห์ ซึ่งมีผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวก็หดแคบลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากอิสราเอลได้โจมตีพื้นที่ที่พวกเขากล่าวว่าฮามาสกำลังปฏิบัติการอยู่ และเปิดฉากโจมตีในขณะที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางพลเรือนพลัดถิ่น

ในเดือน ส.ค. ยูเอ็นประมาณการว่ามีผู้คนมากกว่า 1.2 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองอัลมาวาซี ซึ่งขาดไร้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและบริการขั้นพื้นฐาน และมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ประมาณ 7 ตารางกิโลเมตร เมื่อเริ่มใช้เป็นสถานที่อพยพครั้งแรก ไปจนถึง 72 ตารางกิโลเมตร

ความแออัดยัดเยียดกลายเป็นปัญหาสำคัญในศูนย์พักพิงฉุกเฉินของยูเอ็นในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของกาซา บางแห่งเกินความจุ ครอบครัวอื่น ๆ อาศัยอยู่ในเต็นท์หรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในบริเวณดังกล่าวหรือในพื้นที่โล่งบนพื้นดินและชายหาด

การดิ้นรนเพื่ออาหาร

ข้อมูลการจำแนกระยะความมั่นคงด้านอาหารแบบบูรณาการ (Integrated Food Security Segment Classification – IPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่รับผิดชอบในการประกาศภาวะอดอยาก ระบุว่า ประชาชนราว 1.8 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รวมถึงประชาชนเกือบ 133,000 คนที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารขั้นหายนะ

ที่มาของภาพ, Getty Photos

การวิเคราะห์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2024-ส.ค. 2025 เตือนว่า ระดับของภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันนั้นสูงกว่าก่อนสงครามจะเริ่มต้นถึง 10 เท่า

ถึงแม้ก่อนสงครามจะปะทุขึ้น ประชากรประมาณ 80% ของกาซาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทว่าการส่งมอบความช่วยเหลือต้องหยุดชะงักลงอย่างสมบูรณ์เป็นเวลาประมาณ 10 วัน เมื่ออิสราเอลและอียิปต์ปิดจุดผ่านแดนหลังวันที่ 7 ต.ค. 2023 และกลับมาดำเนินการจัดส่งอีกครั้งในระดับที่ต่ำกว่ามาก ข้อมูลของยูเอ็นระบุว่า ในเดือน ม.ค. 2024 มีรถบรรทุกความช่วยเหลือประมาณ 50 คันเข้าสู่กาซาในแต่ละวัน

อิสราเอลออกมาโต้แย้งตัวเลขของสหประชาชาติ แต่ถึงกระนั้นข้อมูลของอิสราเอลเองก็แสดงให้เห็นว่ามีรถบรรทุกเพียง 140 คันต่อวันเท่านั้นที่เข้าสู่กาซาในเดือนแรกของปีก่อน และมีจำนวนสูงสุดที่ 226 คันต่อวันในเดือน เม.ย. 2024

เมื่อเดือน มี.ค. 2024 โครงการอาหารโลก (World Food Programme) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความต้องการอาหารในขั้นพื้นฐานจะต้องใช้รถบรรทุกอย่างน้อย 300 คันต่อวัน เพื่อเข้าไปในฉนวนกาซาและแจกจ่ายอาหาร ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยบรรลุเลยตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวโทษสถานการณ์นี้ว่าเป็นผลมาจากข้อจำกัดของกองทัพอิสราเอลในการส่งมอบความช่วยเหลือ ความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ และการล่มสลายของกฎหมายและกฎระเบียบ

อิสราเอลยืนกรานว่าไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณความช่วยเหลือที่สามารถส่งเข้าไปในฉนวนกาซาและข้ามฉนวนกาซา และกล่าวโทษหน่วยงานของสหประชาชาติที่ไม่สามารถแจกจ่ายเสบียงได้ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าฮามาสขโมยความช่วยเหลือ ซึ่งกลุ่มฮามาสปฏิเสธ

ความยากจนพุ่งสูงขึ้น

ความขัดแย้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของกาซา ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจหดตัวถึง 86% ในไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งถือเป็น “การหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมา”

ธนาคารโลกระบุว่า ประชากรเกือบ 100% มีชีวิตอยู่สภาพที่ยากจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงครามที่มีคนยากจน 64% และต้นทุนของสิ่งจำเป็นพื้นฐานก็เพิ่มขึ้นเกือบ 250%

หน่วยงานด้านการค้าและการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNCTAD) หรืออังค์ถัดระบุว่า ความเสียหายที่เกิดจากสงครามครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.35 แสนล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกาซาถึง 7 เท่าในปี 2022

เมื่อเดือน ต.ค. อังค์ถัดเตือนว่า แม้จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม ก็จะต้องใช้เวลา 350 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกาซาให้กลับมาอยู่ในระดับปี 2022 เว้นแต่ว่ากาซาจะสามารถเติบโตได้เร็วกว่าที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการเดินทางที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2007

สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายหรือขาดแคลนเสบียงและเชื้อเพลิง

โรงพยาบาลหลายแห่งยังถูกกองกำลังอิสราเอลบุกโจมตี โดยกองทัพอิสราเอลกล่าวหาว่าฮามาสใช้โรงพยาบาลเหล่านี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ทว่าฮามาสและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

โรงพยาบาลอัล-ชิฟาในกาซา ซึ่งเคยเป็นสถานพยาบาลใหญ่ที่สุดในกาซา ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพพังยับเยิน ถึงแม้ปัจจุบันโรงพยาบาลได้เปิดแผนกฉุกเฉินอีกครั้ง กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ระบุว่า ได้สังหารหรือจับกุม “ผู้ก่อการร้าย” หลายร้อยคน และพบอาวุธและหลักฐานข่าวกรอง “ทั่วทั้งโรงพยาบาล” ในปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสองครั้งที่นั่น

ที่มาของภาพ, Getty Photos

องค์การอนามัยโลก (World Successfully being Organization – WHO) ระบุว่า มีโรงพยาบาลในกาซา 18 แห่ง จากทั้งหมด 36 แห่งที่ยังเปิดดำเนินการบางส่วน และมีโรงพยาบาลสนามอีก 11 แห่งเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบหรือบางส่วน

การฟื้นฟูที่ยาวนาน

นอกจากการสูญเสียชีวิตของมนุษย์แล้ว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environmental Programme – UNEP) เตือนว่าจะใช้เวลานานในการซ่อมแซมความเสียหายในกาซา

โครงการฯ อธิบายว่า ระบบน้ำและระบบสุขาภิบาล “แทบจะใช้งานไม่ได้เลย” และเตือนว่าขยะที่กองอยู่รอบ ๆ ค่ายและที่พักพิงอาจปนเปื้อนสารเคมีจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกทำลาย และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้อยู่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ยังประเมินว่า การทำลายล้างที่เกิดขึ้นทำให้มีเศษซากสะสมมากกว่า 50 ล้านตัน

UNEP กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาถึง 21 ปีในการกำจัดเศษซากและเศษระเบิดจากสงคราม “ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในฉนวนกาซาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมีความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนต้องฟื้นตัวอย่างเจ็บปวดและยาวนาน” อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหาร UNEP กล่าว