
พบยีนที่ทำให้คนและน้องหมาพันธุ์ลาบราดอร์เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน

ที่มาของภาพ : University of Cambridge
Article data
- Creator, วิตอเรีย จิลล์
- Characteristic, ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ บีบีซีนิวส์
ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษค้นพบว่า สุนัขที่หิวอาหารตลอดเวลาและมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีลักษณะทางชีวภาพแบบเดียวกันกับมนุษย์ที่เป็นโรคอ้วนบางคน
สิ่งที่นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ค้นพบคือ ความเปลี่ยนแปลงยีนโดยเฉพาะ โดยยีนดังกล่าวจะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสัญญาณเคมีที่บอกสมองของเราไปว่า เราอิ่มแล้วหรือรับประทานอาหารเพียงพอแล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่การค้นพบนี้ ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science ไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้เห็นถึง ความสำคัญในด้านชีววิทยาที่เกี่ยวกับความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้
“การศึกษากับสุนัข ทำให้เราค้นพบทางด้านชีววิทยาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ” ดร.เอเลนอร์ ราฟฟาน หัวหน้าคณะนักวิจัยจากแผนกสรีรวิทยา พัฒนาการ และประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบาย
เธอกล่าวเสริมว่า การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า “เจ้าของที่มีสุนัขตัวผอมเพรียวไม่ได้มีความเหนือกว่าในด้านศีลธรรม และคนผอมก็เช่นกัน”
เรื่องแนะนำ
Quit of เรื่องแนะนำ
“หากคุณมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงที่จะเป็นโรคอ้วน คุณก็มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เว้นแต่ว่าคุณจะทุ่มเทความพยายามอย่างมากเพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วน และคนที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่ำกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามมากนัก”
ความเชื่อมโยงทางชีววิทยาระหว่างสุนัขและมนุษย์นี้ เกิดขึ้นจากการตรวจสอบพันธุกรรมของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์จำนวน 250 ตัว โดยทีมวิจัยพยายามค้นหาชิ้นส่วนของรหัสพันธุกรรมที่พบได้ทั่วไปในสุนัขที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
พวกเขาเลือกยีนหนึ่งที่เรียกว่า DENND1B ซึ่งเกี่ยวข้องกับมวลร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นในสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ และเมื่อพวกเขาค้นหาในคลังข้อมูลทางพันธุกรรมชุดหนึ่งจากมนุษย์หลายพันคน พวกเขาก็ค้นพบว่า ยีนเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับมวลร่างกายที่มากขึ้นในมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ก่อนการศึกษาพันธุกรรมของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ครั้งนี้ ดร. ราฟฟานกล่าวว่า “ไม่มีใครสงสัยว่ายีนนั้นเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน”

ที่มาของภาพ : Natalie Wallis
สำหรับการทำงานของยีนดังกล่าวคือ ยีนนี้จะเข้าไปรบกวนเส้นทางการส่งสัญญาณของสมองที่ช่วยควบคุมความอยากอาหารของเรา
ดร. ราฟฟานอธิบายว่า “ยีนดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงให้คนเรามีน้ำหนักขึ้น เนื่องจากการเข้าไปปรับเปลี่ยนระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความหิวของเรา รวมถึงปริมาณพลังงานที่เราเผาผลาญไป”
ผลที่ได้จากการค้นพบดังกล่าว อาจช่วยทำให้เราสามารถพัฒนายาตัวใหม่ในอนาคตเพื่อต่อสู้กับโรคอ้วนได้
แต่ทางนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผลการค้นพบดังกล่าวเผยให้เห็นว่าผู้คน และเจ้าของสุนัข ที่มีความบกพร่องทางทางพันธุกรรมนี้ต้องทำงานหนักขึ้นมากเพียงใด เพื่อชดเชยกับผลกระทบดังกล่าว
อลิซ แมคเคลแลน สมาชิกอีกคนของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวเสริมว่าผลการค้นพบดังกล่าวเน้นย้ำถึง “ความสำคัญของวิถีประสาทพื้นฐานในสมองในการควบคุมความอยากอาหารและน้ำหนักตัว”
การค้นพบนี้ช่วยให้เห็นภาพรวมของเส้นทางการส่งสัญญาทางเคมีเหล่านั้นและแรงผลักดันทางชีววิทยาที่อยู่เบื้องหลังของการกินในปริมาณมากเกินไป
ขณะที่มียาลดน้ำหนักกลุ่มหนึ่ง ในจำนวนนั้นคือ Ozempic ซึ่งถูกใช้เพื่อควบคุมการหิวของคนเรา ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“แต่สิ่งที่เราพบนี้ เป็นวิถีที่แตกต่าง จากผู้ที่เป็นเป้าหมายของการใช้ยาเหล่านั้น” ดร. ราฟฟานอธิบาย
“แต่ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงส่วนสำคัญทางชีววิทยา ซึ่งก็คือโรคอ้วนไม่ได้หมายถึงการมีความมุ่งมั่นต่ำแต่มันเป็นความจริงที่ว่า บางคนมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักขึ้นหรืออ้วนขึ้นเนื่องจากมีความเสี่ยงทางพันธุกรรม ซึ่งจะเพิ่มการตอบสนองต่ออาหารและความอยากอาหารมากขึ้น”
“ทั้งสุนัขและมนุษย์ต่างก็มีแรงผลักดันทางพันธุกรรมทำให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่มากเกินไป” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา BBC.co.uk