
‘ภาคประชาชน’ ไม่หมดหวัง เดินหน้ารณรงค์ ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ ต่อ จนถึงการเลือกตั้งปี 70 หลัง ‘นายกฯ’ ตีตก ‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน’ 4 ฉบับ ขณะที่ ‘นักวิชาการ' มอง ‘รัฐบาล' ไม่พยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างฯ-เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน
…………………………………….
จากกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ไม่รับรอง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชน จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็น ‘ร่างการเงิน’ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. …. เสนอโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,856 คน ,ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฯ เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สส.พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ,ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. …. เสนอโดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น)
และล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เสนอโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กับประชาชน จำนวน 42,445 คน ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่ถูกนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 133 วรรคสอง นั้น (อ่านประกอบ : ตีตก‘กม.บำนาญประชาชน’ฉบับที่ 4! นายกฯไม่รับรอง‘ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานฯ’)
นายนิมิตร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา . ว่า การที่นายกฯไม่รับรอง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชน ทั้ง 4 ฉบับ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเศรษฐกิจและเรื่องปากท้องประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง อาจเป็นเพราะเรื่องบำนาญผู้สูงอายุเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองหลายพรรคใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไม่อยากหยิบเรื่องนี้มาทำ
“ผมไม่แน่ใจ เพราะเรื่องนี้ (บำนาญผู้สูงอายุ) เป็นแคมเปญที่หลายพรรคใช้รณรงค์หาเสียงในครั้งที่แล้วหรือเปล่า จึงทำให้รัฐบาลไม่อยากหยิบเรื่องนี้มาทำ กลัวว่าจะเป็นการสร้างเครดิตให้พรรคฝั่งตกข้าม และผมคิดว่าในเรื่องสวัสดิการฯ เราคงหวังอะไรไม่ได้จากรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในเจตจำนงของรัฐบาลที่อยากจะทำเรื่องนี้ แต่เราคงต้องส่งเสียงต่อ และในใจลึกๆของเราแล้ว เราคงรอการเลือกตั้งครั้งหน้า
โดยภาคประชาชนต้องทำงานกับประชาชน ให้การศึกษา สร้างความเข้าใจให้เห็นว่าประเทศเราจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการอันนี้ อันนี้เป็นรัฐสวัสดิการที่สำคัญ ถ้ารัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญ ที่จะจัดสวัสดิการให้ประชาชน เราก็ต้องรณรงค์เรื่องนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งใหม่ และจะต้องถามไปหาพรรคที่จะอาสาตัวในการเลือกตั้งปี 2570 ว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ ระบุด้วยว่า ข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้รัฐจัดทำบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุในอัตราไม่ต่ำกว่า ‘เส้นแบ่งความยากจน’ ที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น ภาคประชาชนไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลต้องจัดทำบำนาญให้ผู้สูงอายุให้ได้ตามข้อเสนอในครั้งเดียวหรือทันที แต่สามารถทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้
“ตอนที่เราทำ เราดูจากฐานเดิม คือ รัฐเก็บภาษีจากหลายส่วนมาก เพื่อเอามาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งปีล่าสุดมีการเอาภาษีมาใช้เป็นงบสำหรับเบี้ยผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยข้อเสนอที่เราเสนอและมีความเป็นไปได้ในแง่งบประมาณ คือ ถ้าเห็นว่าการเพิ่มทีเดียว จะทำให้มีปัญหาในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราเสนอไปว่าค่อยๆเพิ่มขึ้นก็ได้ ปีปัจจุบันเรามีต้นทุนอยู่แล้ว 9 หมื่นล้านบาท ถ้าเพิ่มอีก 600 บาทให้เป็น 1,200 บาท
ต้องหาเพิ่มอีก 9 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็น 1.8 แสนล้านบาท แล้วปีถัดๆไปก็เพิ่มขึ้นอีก จะเพิ่มทีละ 9 หมื่นล้านบาท ไปจนครบ 3,000 บาท/เดือนก็ได้ และตรงนี้น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ทั้งในแง่การจัดเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการภาษีที่เก็บได้ในบางหมวด จาก 2% เป็น 5% เพื่อนำไปเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ หรือถ้าจำเป็นต้องเพิ่ม Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ก็ต้องระบุให้ชัด (Earmarked Tax) ว่าเรามาจัดรัฐสวัสดิการ” นายนิมิตร์ ระบุ
นายนิมิตร์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณาปรับการอุดหนุนเบี้ยผู้สูงอายุเป็นแบบถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาท ตามข้อสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 ว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐบาล คงไม่ทำเรื่องนี้ในเร็วๆนี้ และในรายละเอียดของปีงบ 2569 ก็ไม่มีการตั้งงบในส่วนนี้เอาไว้
“คงเป็นการตีกิน หาเสียง และไม่ได้จะทำจริง เพราะไม่ได้มีการตั้งงบประมาณตรงนี้เอาไว้ ผมเองอยากเห็นความจริงใจของรัฐบาล เช่น ขยับมาเป็น 1,000 บาทก่อน” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี การปรับเพิ่มยังชีพเบี้ยผู้สูงอายุ จะเป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ได้ เพราะเงินที่ลงไปถือว่าเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ และยังเป็นการกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกด้วย ลองคิดว่าหากหมู่บ้านหนึ่งมีผู้สูงอายุ 3,000 คน แล้วเอาไปคูณเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท ก็จะเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
“คนสูงอายุ เมื่อได้เบี้ยยังชีพมาแล้ว เขาไม่ได้เอาไปเก็บ 90% ใช้จ่ายออกไปแน่ๆ ทั้งสำหรับตัวเองและลูกหลาน ฉะนั้น เรามองว่านี่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อมีการใช้สอยเม็ดเงินเหล่านี้เข้าไปในชุมชน มันก็ไปกระตุ้นการผลิตต่างๆ อันนี้ยิ่งกว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจอีก” นายนิมิตร์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีบัญชาไม่รับรอง ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนฉบับที่ 4 ที่ถูกปัดตก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ยินยอมให้ภาคประชาชนหรือพรรคการเมืองนำเรื่องบำนาญฯเข้าไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร
“เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งสืบทอดมาจากรัฐบาลประยุทธ์ ว่า ไม่ต้องการให้มีสวัสดิการที่ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทยส่วนนี้ จะเป็นบันทึกให้กับชนรุ่นหลังได้ทราบว่า เกิดความถอยหลังอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร ที่สำคัญเมื่อพิจารณาในแง่การคุ้มครองความยากจนให้แก่ผู้สูงอายุ รัฐบาลนี้ไม่พยายามจะพัฒนาอะไรในเชิงโครงสร้างเลย” ผศ.ดร.ทีปกร ระบุ
ผศ.ดร.ทีปกร กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามในการนำเสนอและผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในยุคสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด รวมแล้วกว่า 10 ฉบับ แต่ก็ถูกคัดค้านจากรัฐบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ ในขณะที่เครือข่ายกลุ่มทุนปรสิตยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังการทำรัฐประหาร
“ก็ได้แค่หวังว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คะแนนเสียงของประชาชนจะชนะ เพราะเรื่องนี้ (บำนาญผู้สูงอายุ) ไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยงานหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนประเทศwัฒนาแล้วในเอเชีย” ผศ.ดร.ทีปกร กล่าว
อ่านประกอบ :
ตีตก‘กม.บำนาญประชาชน’ฉบับที่ 4! นายกฯไม่รับรอง‘ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานฯ’
ก่อน‘นายกฯ’ตีตก! ย้อนดู‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชนฯ’ 3 ฉบับ-ลุ้น‘พม.’ชงเพิ่ม‘เบี้ยคนชรา’
นายกฯตีตก‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน’ 3 ฉบับ-‘ภาคประชาชน’ไม่แปลกใจ เหตุรบ.มุ่งแจก‘เงินหมื่น’
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง? ( 3 )
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง? (2)
‘อัตราบำนาญพื้นฐาน'ที่เหมาะสม และข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจของประเทศ
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง?
เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 1 พันบาท ‘ถ้วนหน้า' ปูทาง'บำนาญประชาชน'?
เปิดรายงาน'กมธ.'ฉบับล่าสุด ชี้ช่อง'แหล่งรายได้'โปะ‘บำนาญประชาชน’-แนะลดงบฯซ้ำซ้อน 4 หมื่นล.
‘เครือข่ายภาคประชาชน'เรียกร้อง'รัฐบาล'ผลักดันนโยบาย'บำนาญแห่งชาติ'
‘วราวุธ'แจงขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1 พันบาทไม่ได้ ชี้รายรับ-รายจ่าย รบ.สวนทางกัน
อีกครั้งสำหรับการพัฒนา'บำนาญผู้สูงอายุ' เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย ‘บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ ‘บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคประชาชน’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา ‘เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )