วุฒิชาติ กัลยาณมิตร “ผู้คุมเสียง” ของ “สว. สีน้ำเงิน” พูดถึง เนวิน-ข้อกล่าวหาฮั้วโหวต สว.

ที่มาของภาพ : WASAWAS LUKHARANG/BBC THAI

วุฒิชาติ กัลยาณมิตร เป็น 1 ใน 2 สว. ที่สมาชิกกลุ่ม “สีน้ำเงิน” บอกกับสื่อมวลชนคือตัวแทนชี้แจง “คดีฮั้วเลือก สว.” ในช่วงที่ สว. ส่วนใหญ่ต่างพากันปิดปากเงียบในกรณีนี้

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าว.

วุฒิสภาชุดที่ 13 จบ 2 สมัยประชุมแรกท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมภายนอก ทั้งเรื่องที่มาซึ่งถูกตั้งคดีอาญาจากข้อกล่าวหา “ฮั้วเลือก สว.” และการทำหน้าที่ในสภาสูงซึ่งหลายครั้งไปสอดรับกับทิศทางของ “พรรคสีน้ำเงิน”

แม้มีการคาดการณ์ว่าสมาชิกกลุ่มใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า “สว. สีน้ำเงิน” มีเสียงในสภาราว 3 ใน 4 ของ สว. ทั้งหมด 200 คน แต่น้อยคนนักจะมีโอกาสเปล่งวาจากลางห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา

สังคมรับรู้การมีอยู่ของพวกเขาในเชิงปริมาณผ่านผลการลงมติซึ่งออกมาอย่างเป็นเอกภาพ จนกลายเป็นเวทีแสดงพลังของ “ผู้คุม” สีน้ำเงินตัวจริง และมีนัยสำคัญยิ่งในภาวะที่เสียงของ สว. มีส่วนวางกล-พลิกเกมการเมือง

นี่จึงได้เวลาที่.จะสนทนากับแกนนำ สว. ผู้มีบทบาทในการ “รวมเสียง-คุมเสียง” และยังเป็น “ปากเสียง” ของเพื่อนร่วมกลุ่มในการชี้แจงแสดงเหตุผลและแก้ข้อครหาต่าง ๆ ต่อสาธารณะ

แม้ออกตัวว่า “เป็นคนธรรมดา ไม่มีบารมี” แต่เมื่อเสียงของ วุฒิชาติ กัลยาณมิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา ดังขึ้นกลางสภา บรรดา สว. น้อยใหญ่ในเครือข่าย ก็จำต้องฟัง-ทำตาม

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed studyingได้รับความนิยมสูงสุด

Waste of ได้รับความนิยมสูงสุด

“ผมอาจจะพูดแล้วโดนใจมั้ง” วุฒิชาติ ออกตัวกับ. ก่อนกล่าวว่า สว. แต่ละคนมีศักดิ์ศรีความเป็น สว. เหมือนกัน และมีโปร์ไฟล์ดีทั้งนั้น ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีบารมี

.ชวนเขาย้อนเส้นทางก่อนเข้าสภาสูง สู่ สถานะทางอำนาจในปัจจุบัน

เส้นทางสู่สภาสูง ด้วยคะแนนสูงสุดของกลุ่ม

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่มถูกติดไว้ที่บอร์ดหน้าสถานที่เลือก จากผู้สมัครในชั้นแรกราว 4.8 หมื่นคน เหลือเพียง 200 คนสุดท้ายได้เป็น สว. ตัวจริง และอีก 100 คนเป็นตัวสำรอง

สว. รายนี้เข้าสภาสูงด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม 11 (กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว) โดยได้ 78 คะแนน

ในเอกสารแนะนำประวัติและประสบการณ์การทำงานที่เรียกว่า “สว. 3” ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้ไม่เกิน 5 บรรทัด ทว่า วุฒิชาติ เขียนเพียง 2 บรรทัด ระบุว่า ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กับผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเขาเห็นว่า “เพียงพอแล้ว” เพราะในระยะเวลา 20 ปีที่เป็นหัวหน้า 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน และเกี่ยวข้องกับการส่งคนกลับบ้านในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทำให้เขามีโอกาสออกสื่อบ่อย จนเพื่อนผู้สมัครจำหน้าได้-เข้ามาทักทายเมื่อเห็นตัวจริง

ท่ามกลาง “กติกาพิสดาร” ที่ไทยนำมาใช้เลือก สว. เป็นครั้งแรกในโลก ผู้สมัครไม่เพียงต้องเรียนรู้ระบบใหม่ แต่ยังต้องแสวงหาเครือข่ายอย่างกว้างขวาง-ขอคะแนนจากผู้สมัครรายอื่น ๆ ซึ่งมีสถานะเป็นโหวตเตอร์ด้วย เพื่อให้ผ่านรอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เลือกไขว้กลุ่มอาชีพ และเลือกแบบไต่ระดับ 3 ชั้น (อำเภอ จังหวัด ประเทศ)

แต่ถึงกระนั้น วุฒิสมาชิกจาก จ.หนองบัวลำภู ไม่ได้เอ่ยถึงที่ปรึกษาทางการเมือง และไม่ได้เปิดเผยเทคนิคส่วนตัวที่ใช้ขอคะแนนเสียง โดยบอกเพียงว่าก็เข้าไปแนะนำตัวตามปกติ

ในกลุ่ม 11 มีผู้สมัครทั้งสิ้น 1,177 คน โดย สว. ตัวจริง 10 คน ได้คะแนนตั้งแต่ 73-22 คะแนน ที่น่าสังเกตคือ 6 อันดับแรกมีคะแนนเกาะกลุ่มกันตั้งแต่ 51 คะแนนขึ้นไป ส่วนอีก 4 อันดับที่เหลือได้ 20 คะแนนเศษลงมา

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ในฐานะโหวตเตอร์ วุฒิชาติ เล่าว่า เขาเลือกคนที่มีโปร์ไฟล์โดดเด่น และยอมรับว่าถือ “โพย” ที่เขียนด้วยตัวเองเข้าไปในคูหาการเลือกระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย. 2567

“มันไม่มีใคร genius (อัจฉริยะ) ขนาด โอ้โห เห็นแล้วจำได้ทุกตัวหรอก กกต. เขาก็ให้เอาเข้าไป ผมก็ยังถือเข้าไปเลย ผมก็ไม่สามารถจดจำได้ทุกคนเหมือนกัน” วุฒิชาติ เปิดเผย

สว. กลุ่มใหญ่ vs ดีเอสไอ

แม้วุฒิสภาชุดที่ 13 ทำหน้าที่มา 2 สมัยประชุมแล้วนับจากเดือน ก.ค. 2567 แต่กระบวนการได้มาซึ่ง 200 สว. ยังเป็นปัญหาคาใจใครหลายคนและกำลังเขย่าอำนาจของคนในสภาสูงอย่างหนัก เมื่อ สว. อย่างน้อย 138 คน และตัวสำรอง 2 คน อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน จากข้อกล่าวหาเรื่อง “ฮั้วเลือก สว.”

ถึงตอนนี้ยังไม่มี สว. รายใดถูกดีเอสไอเรียกไปให้ข้อมูล ตามความรับรู้ของ สว. วุฒิชาติ แต่คำว่า “ขบวนการอั้งยี่” คล้ายทำให้วุฒิสมาชิกเสื่อมเสียแล้ว

“สมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติถูกเรียกว่าเป็นอั้งยี่ซ่องโจร ผมว่ารับไม่ได้นะ หลายคนก็คงไม่พอใจกับฉายานี้แน่นอน” สว. จากหนองบัวลำภู กล่าว

จากการตรวจสอบของ วุฒิชาติ เพื่อนร่วมสภาเกือบทั้งหมดถูก กกต. เรียกไปสอบถาม-ให้ชี้แจง-แก้ข้อกล่าวหา คาดว่าไม่ต่ำกว่าคนละ 2 ครั้ง ไม่เว้นกระทั่งรองประธานวุฒิสภา

ส่วนตัวเขาต้องหอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปชี้แจงต่อ กกต. 5-6 ครั้ง แบ่งเป็น กกต. กลาง 3-4 ครั้ง ที่เหลือเป็น กกต.จว.หนองบัวลำภู หลังมีผู้ร้องว่าคุณสมบัติไม่ตรงกับสาขาที่ลงสมัคร และกล่าวหาว่าชักจูงและให้อามิสสินจ้างแก่ผู้ลงคะแนนเลือก

แกนนำ สว. “สีน้ำเงิน” ยืนยันว่า สว. ไม่เคยมีปฏิกิริยากับ กกต. ไม่ออกมาโวยวายหรือตีโพยตีพาย เพราะยอมรับกติกาว่า กกต. มีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่พอดีเอสไอเข้ามาแล้วมาตั้งข้อหารุนแรง-ตั้งคดีอาญา ทุกคนจึงมีปฏิกิริยา

“จู่ ๆ มีคนเอาไม้มาตีเรา เราจะยกมือป้องไหมหรือเราจะปล่อยให้เขาตี เราก็ต้องยกมือป้อง มันเป็นเรื่องปกติ เป็นการป้องกันตัวเรา” เขาเปรียบเปรย

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

การเลือก สว. ระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย. 2567 ต้องนับคะแนนข้ามคืนไปเสร็จราวเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป ท่ามกลางข้อสังเกตว่าคนหัวตารางของทุกกลุ่มได้คะแนน “สูงแบบเกาะกลุ่ม” ทิ้งห่างคนกลางและท้ายตารางลงมา

สว. กลุ่มใหญ่เกือบร้อยชีวิต นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อีกแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม “สีน้ำเงิน” ได้ลุกขึ้นมา “เอาคืน” โดยยืมดาบของ 2 องค์กรอิสระเอาผิดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)

ดาบแรก ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวโทษ 11 กรรมการ กคพ. เฉพาะคนที่ร่วมลงมติรับคดีฟอกเงินฮั้ว สว. เป็นคดีพิเศษ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ดาบสอง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน กคพ. และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองประธาน กคพ. สิ้นสุดลง โดยกล่าวหาว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อ 26 มี.ค. รับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 คนยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล

แน่นอนว่า วุฒิชาติ ร่วมลงลายมือชื่อในทั้ง 2 คำร้องด้วย ทว่าเจ้าตัวกลับระบุว่า “ไม่คาดหวัง” ผลของคดี เพราะเมื่อหลุดจากมือ สว. ไปแล้ว ก็ให้คนกลางวินิจฉัยและพร้อมยอมรับผลไม่ว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญจะบอกอย่างไรก็จบตามนั้น

จากวันที่ดีเอสไอยื่นมือเข้ามาทำคดีฟอกเงินเลือก สว. น่าสนใจว่า สว. กลุ่มใหญ่ยังเกาะกลุ่มกันดีหรือไม่ บรรดาคนธรรมดาที่พลัดหลงเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติรู้สึกหวาดกลัว-ถอดใจ-ได้รับข้อเสนอให้แปรพักตร์-เปลี่ยนสีเสื้อเพื่อแลกกับความปลอดภัยทางการเมืองหรือไม่

วุฒิชาติ ไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรง ๆ โดยบอกเพียงว่า ความรู้ด้านกฎหมายและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน แต่ได้พูดคุยกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น

“ถ้าเขามีหลักฐาน แล้วเราไม่ได้ทำ เราก็แก้กันไป เขามีความคิดว่าเขามีอำนาจก็ทำไป เราคิดว่าเขาไม่มีอำนาจ เราก็ทำหน้าที่ของเราแล้ว”

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

“สว. สีน้ำเงิน” นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เมื่อ 27 ก.พ. ขอให้ส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบ กคพ. ว่าฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่กรณีกล่าวหาฮั้วเลือก สว.

“เครื่องมือทางการเมือง” ของใคร?

วิเคราะห์ว่าอะไรทำให้ดีเอสไอลุกขึ้นมาทำคดีนี้ .ถาม

วุฒิชาติ ปฏิเสธจะตอบโดยบอกว่า “ผมไปคิดแทนเขาไม่ได้”

แต่เขาแสดงทัศนะว่า ไม่อยากให้อะไรก็แล้วแต่เป็น “เครื่องมือที่ใช้ต่อรองทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเป็นอย่างนั้นนะ แต่สิ่งที่ผมมองคืออันนี้เราไม่ชอบ แล้ว กกต. มีไว้ทำไมครับ”

น่าสนใจว่าเวลาเอ่ยถึง “เครื่องมือทางการเมือง” บรรดา สว. คิดว่าดีเอสไอถูกใช้โดยใคร

นี่เป็นอีกคำถามที่ วุฒิชาติ หลีกเลี่ยงจะให้คำตอบ โดยระบุว่า ไม่แน่ใจ และไม่ไปก้าวล่วงคิดถึงขนาดว่าใครใช้ดีเอสไอ

“ท่านอาจจะมองด้วยความที่ว่าอยากจะมาปกป้องโน่นนี่นั่น ท่านก็เลยลุกขึ้นมาทำเองอะไรเอง วันนี้ใครคุมดีเอสไอครับ คนที่มีหน้าที่บังคับบัญชาดีเอสไอคือใคร” เขาพูดเพียงเท่านั้น

ในคำร้องของ 92 สว. ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายพฤติการณ์ของ ภูมิธรรม-ทวี ว่าแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของ กกต. โดยใช้ดีเอสไอเป็น “เครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำ สว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม”

ที่มาของภาพ : DSI

กคพ. มีมติเมื่อ 6 มี.ค. ให้รับทำคดีฮั้วเลือก สว. เฉพาะความผิดฐานฟอกเงิน ภูมิธรรม เวชยชัย แถลงมติว่า ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ทำในฐานะที่ดูแลเรื่องคดีอาญาเท่านั้น

แต่ในมุมกลับกันมีข้อสังเกตว่า สว. ขั้วใหญ่ก็เป็น “เครื่องมือ” ของบางพรรคการเมืองหรือไม่ สะท้อนผ่านหลายวาระทางกฎหมายที่พรรคร่วมฯ เห็นขัดแย้งกับพรรคแกนนำรัฐบาล ก็มีการใช้ สว. เป็นตัวแสดงแทน

วุฒิชาติ แย้งว่า มันไม่ใช่ทุกเรื่อง สว. มองด้วยเหตุและผล

“ผมเพิ่งฟังข่าว ตอนนี้ก็มีคนบอกว่า สว. ไม่ได้อยู่ในอาณัติของสีน้ำเงินแล้วนะ เริ่มไม่ฟังแล้วนะ เพราะทางนั้นเป็นพรรคร่วมฯ ใช่ไหมครับ ให้การสนับสนุนเรื่อง พ.ร.บ.กาสิโน แต่ สว. บอกไม่เอา ไม่เห็นด้วย มันย้อนแย้งไหมครับ” เขาโยนคำถามกลับ

รัฐบาล “แพทองธาร” ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 9 เม.ย. ออกไปก่อน หลังเกิดแรงต้านจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกสภา ในจำนวนนี้มี สว. กลุ่มใหญ่ นำโดย พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกกลุ่ม “สีน้ำเงิน” นำทีมแถลงค้าน (8 เม.ย.) โดยประกาศว่า หากสภาโหวตรับร่าง พ.ร.บเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ วุฒิสภาจะเข้าชื่อยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช หรือศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดด้านจริยธรรมต่อไป

ที่มาของภาพ : PR SENATE

สว. “สีน้ำเงิน” พร้อมใจกันทำสัญลักษณ์กากบาท เพื่อสื่อว่าไม่เอากาสิโนในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อ 8 เม.ย.

สอดคล้องกับท่าทีของ ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ประกาศกลางสภา (9 เม.ย.) ว่า “ผมนายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของนายเนวิน และนางกรุณา ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน…” ร้อนถึง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ต้องรีบออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ “ลูกเนวิน” ไม่ใช่มติพรรค พร้อมขอโทษนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แบบด่วนจี๋ แต่ไม่อาจทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างพรรค พท. กับ ภท. เบาบางลง

สว. “สีน้ำเงิน” ยกคณะไปบุรีรัมย์

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “สีน้ำเงินยึดสภาสูง” เกิดขึ้นตั้งแต่สังคมได้เห็นโฉมหน้าของ สว. โดยพบว่า ผู้สมัครจากจังหวัดที่อยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมืองของ “พรรคสีน้ำเงิน” รวมถึงคนใกล้ชิด ต่างได้รับเลือกให้เข้าสภาอย่างพร้อมเพรียง โดยมีทั้งที่เป็น “คนดัง” และ “โนเนม”

จ.บุรีรัมย์ นำ สว. เข้าสภาได้มากที่สุดของประเทศรวม 14 คน กระจายอยู่ในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยถือเป็นยอดที่มากกว่าเมืองหลวงของประเทศอย่าง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี สว. 9 คน

ที่ผ่านมา บรรดา สว. กลุ่มใหญ่ รวมถึง วุฒิชาติ ไม่มีใครปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่ “สว. สีน้ำเงิน” แต่คำจำกัดความ สีน้ำเงิน ในความหมายของพวกเขาคือสถาบันหลักของชาติ

“ผมค่อนข้างจะเป็นคนที่เรียกว่าจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาก นามสกุลผมก็นามสกุลพระราชทาน เพราะฉะนั้นถ้าใครมาแตะต้องเรื่องของสถาบันฯ เป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้” เขากล่าวย้ำกับ.

ไม่ว่าพวกเขาจะให้นิยามอย่างไร แต่ภาพที่สังคมเห็นและเชื่อมโยง “สว. สีน้ำเงิน” เข้ากับพรรค ภท. เกิดจากการที่ สว. ยกคณะกันไปเหยียบบุรีรัมย์หลายครั้ง อาทิ ไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิดปีที่ 66 ของ “ครูใหญ่ภูมิใจไทย” เนวิน ชิดชอบ เมื่อ 4 ต.ค. 2567 และพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีน้ำเงินไปร่วมงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่สนามช้างอารีนา อ.เมืองบุรีรัมย์ เมื่อ 19 มี.ค. 2568

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วุฒิชาติ ออกตัวว่า ไม่รู้เรื่องวันเกิดของ เนวิน แต่ยอมรับว่ามีความคุ้นเคยกับ เนวิน เมื่อครั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ทักษิณ” และได้รับมอบหมายให้ไปร่วมจัดระเบียบรถตู้ตามนโยบายของนายกฯ

“เราก็มีความคุ้นเคย ผมถือว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีเอกเทศทางความคิดทางการเมือง มีอะไรปั๊บ ถ้าเราไปแสดงเรื่องความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ได้ เราก็ไป ถามว่าผมเคยไปไหม ไป แต่ว่าไม่ได้ไปทุกปี ว่างก็คือไป ถ้าไม่ว่างก็ไม่ได้ไป ก็อยู่ที่จังหวะ” เขากล่าว

วุฒิชาติ ยังบอกด้วยว่า ไม่ได้ไปแค่งานวันเกิดของ เนวิน เท่านั้น แต่เคยไปร่วมงานวันเกิดของอดีตผู้บังคับบัญชาคนอื่น ๆ ด้วยหากมีเวลาว่าง และส่วนตัวก็รู้จักคนใน ครม. เกือบทั้งหมดโดยเฉพาะอดีต รมต.คมนาคม

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

สว. แห่ถ่ายรูปกับหัวหน้าพรรค ภท. ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร” เมื่อ 12 ก.ย. 2567

ส่วนการไปร่วมงานนิทรรศการผ้าไทยที่บ้าน “ชิดชอบ” เป็นเจ้าของสนามช้างนั้น เขากล่าวว่า สว. ไปร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนหลายหน่วยงานไปร่วมงาน แม้กระทั่งตัวนายกฯ ก็ยังไป

อย่างไรก็ตาม สว. วุฒิชาติ ยอมรับว่า เวลาใครไปบุรีรัมย์มักกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ซึ่งเขาเห็นว่าจังหวัดในแดนอีสานใต้แห่งนี้มีความพิเศษ จากเคยเป็นจังหวัดยากจน ปัจจุบันเศรษฐกิจได้รับการพัฒนา “ด้วยความโดดเด่นของบรรดา สส. ที่เขาค่อนข้างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วก็สามารถเอานั่นเอานี่มาสร้างความเจริญให้บุรีรัมย์ได้”

ถามตรง ๆ ว่าพรรค ภท. เคยชวนลงสมัคร สส. หรือไม่

“หลายพรรคเลยครับ ไม่ใช่แต่พรรคภูมิใจไทย” เขาตอบทันควัน ก่อนแจกแจงเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะการทำงานซึ่งมีความโดดเด่นบ้าง ไม่ได้เก่งที่สุด แต่เวลารับผิดชอบอะไรแล้วจะทุ่มเท แม้แต่พรรคไทยรักไทยก็เคยชวน

สว. วัยย่าง 61 เปิดเผยด้วยว่า สนใจการเมืองมานานพอสมควร แต่ไม่เคยคิดลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่ถนัดงานพื้นที่ แต่เมื่อกติกาการได้มาซึ่ง สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เอื้ออำนวย สู้กับคนไม่มากเพราะเป็นการเลือกเฉพาะตามฐานอาชีพ จึงตัดสินใจลงสมัครเพราะคิดว่า “เราก็น่าจะมีดีพอไปสู้กับเขาได้ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตไป”

ผลโหวตทะลุร้อย “มันเป็นความบังเอิญที่อาจจะเกิดขึ้นได้”

เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมืองเต็มขั้น บทเด่นที่ วุฒิชาติ ได้รับ หนีไม่พ้น การทำหน้าที่ “มือรวมเสียง-ควบคุมเสียง” เพื่อนร่วมสภาที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ การันตีผลงานด้วยคะแนนแบบ “ไม่แตกแถว” ราว 130-150 เสียงในการลงมตินัดสำคัญ

อะไรทำให้คนเป็น 100 คนตัดสินใจลงมติเหมือน ๆ กัน?

เลขานุการวิปวุฒิสภาบอกว่า วุฒิสภาไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค ซึ่งแต่ละพรรคมักมีความเห็นและจุดยืนไม่ตรงกัน สว. ใช้การพูดคุยกันว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ แม้มีคนเห็นต่าง แต่พอคุยในวิปแล้วได้ข้อสรุป ได้ข้อตกลง ก็มาว่ากันตามนั้น

ในการลงมติแต่ละวาระ วุฒิชาติ ขอ “อย่าเอาความคิดของแต่ละท่านมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะแต่ละท่านคิดแต่ละครั้งบางทีอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าบอกว่าบล็อกโหวต แล้วทำไมคะแนนมันไม่เท่ากันมาตลอดละ”

“มันเป็นความบังเอิญที่อาจจะเกิดขึ้นได้” เขาสรุป

ขาประจำตรวจสอบประวัติองค์กรอิสระ

นอกจากเป็น “วิปตัวจริง” วุฒิชาติ ยังครองแชมป์เป็น กมธ.ตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระสูงสุด 8 เดือน รวม 8 ชุด ทำให้เพื่อนร่วมสภาอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า สว. รายนี้เชี่ยวชาญ-เก่งกาจด้านการสอบประวัติอะไรขนาดนั้น

“ขอบคุณสำหรับคำถามนี้เลยนะ” เขาตอบรับคำถามราวกับผู้เข้าประกวดนางงาม ก่อนอธิบายว่า ได้รับเลือกจากที่ประชุมวิปวุฒิสภา เพราะทุกคนเห็นว่าจะช่วยให้การประสานงานราบรื่นรวดเร็ว จึงเห็นควรให้เลขานุการวิปไปเป็นเลขานุการ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ

“ในเมื่อผมเป็นวิป มันจะได้ประสานกันง่าย เวลาตรวจสอบมันมีกรอบระยะเวลา 60 วันเอง แล้วเราเคยทำ เราเห็นแล้วว่ามันต้องทำอย่างนี้ๆ ผมไปช่วยเซฟเรื่องเวลาการทำงานได้ค่อนข้างเยอะ ไม่ต้องขยายเวลา” ชายผู้เป็น “ขาประจำ” ครองเก้าอี้เลขานุการ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กล่าว

ที่มาของภาพ : PR SENATE

วุฒิชาติ ร่วมเป็น 1 ใน 15 กมธ.ตรวจสอบประวัติแคนดิเดตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่เสียงส่วนใหญ่ของวุฒิฯ จะตีตกชื่อไปเมื่อ 18 มี.ค.

ทว่าล่าสุดมี กมธ. ตรวจสอบประวัติฯ 2 ชุดที่เขาไม่ได้ร่วมวงด้วยคือ ชุดสอบประวัติกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เนื่องจาก วุฒิชาติ เป็นประธานกรรมการสรรหาผู้สมัคร และชุดสอบประวัติกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจาก วุฒิชาติ ร่วมลงชื่อในคำร้องขอให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบจริยธรรม กคพ. ด้วย จึงขอถอนตัวไปเพราะเกรงเกิดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

“ดังนั้นจะบอกว่า วุฒิชาติ เป็นเลขาฯ ทุกคณะไม่ได้แล้วนะ วันก่อนก็มีเพื่อนสมาชิกเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น กมธ. คมนาคมและตรวจสอบองค์กรอิสระ ให้ผมแล้ว… ก็ถ้าเสนอเป็นญัตติ แล้วมีผู้รับรองครบ มีผู้ให้ความเห็นชอบ ก็เอาอะครับ” วุฒิชาติ ผู้เป็นประธาน กมธ.คมนาคม กล่าวทีเล่นทีจริง

แก๊งแจ็ค

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองวิเคราะห์ว่า เหตุที่ วุฒิชาติ ทำหน้าที่มือประสานได้ดี เป็นเพราะ “มีเพื่อนเยอะ” และ “มีทุนหนา” จนเป็นที่มาของกลุ่มก๊วนการเมืองและธุรกิจที่ถูกเรียกขานว่า “แก๊งแจ็ค”

สว. ผู้มีชื่อเล่นว่า “แจ็ค” ไม่รู้ความหมายของฉายานี้ โดยโยนให้ไปสอบถามคนที่ตั้งชื่อ

ทว่าก่อนมาทำงานการเมือง วุฒิชาติ ยอมรับว่า “ผมมีแต่พวก ศัตรูเราน้อยมาก ใครไหว้วานอะไรมา ถ้าเราทำให้ได้ก็ทำ” และเมื่อเข้ามาทำงานในสภาแล้ว ก็มีเพื่อนฝูงทั้งสภา เพราะค่าเฉลี่ยอายุไม่ได้สูงวัยมากไป น้อง ๆ สว. ก็มาคุยด้วยได้ อีกทั้งในฐานะเลขานุการวิปก็เป็นเหมือนศูนย์กลางที่ใครมีอะไรก็มาเสนอ มาแลกเปลี่ยนความเห็นตลอด

แต่เขาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ของใคร ไม่ได้ดูแลใคร เพราะต่างคนต่างมีเงิน “ถ้าไปกินไปเที่ยวกัน มื้อเล็ก ๆ ก็เลี้ยงกันได้ ถ้ามื้อใหญ่หน่อยก็ต้องแชร์ แต่ทุกคนก็สนุก ไปกิน ไปเที่ยวกัน… ไม่มีที่ไหนท่อน้ำเลี้ยง”

ชอบ “ครูใหญ่” ตรงไหน

เมื่อถามว่า ผ่านมา 2 สมัยประชุม สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในการทำหน้าที่ สว. คืออะไร

เขาทวนคำถาม-นิ่งคิดครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือได้ทำหน้าที่ของตัวเองแบบสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ถึงแม้จะไม่เป็นที่ถูกใจของใครก็ช่าง เข้าใจ การทำงานย่อมมีคนรักคนชอบ คนได้ก็ชอบ คนไม่ได้ก็อาจจะไม่ชอบ อาจจะเกลียด

“ผมเคยพูดเล่น ๆ นั่งทานข้าวกัน ครบวาระ 5 ปีถ้าอยู่ถึงนะ ก็คงไม่มีใครคบผมแล้วละ เหลืออยู่ผมคนเดียว”

“ทุกคนก็มองว่าผมเหมือนแบบอะไรอะ มาให้ผมชี้นำ ผมเป็นผู้มีบารมี ผู้มากบารมี จริง ๆ มันไม่ใช่อะไรเลย”

ที่มาของภาพ : PR BJT

เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด พานายกฯ แพทองธาร ทัวร์สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เมื่อ 3 เม.ย. โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรค ภท. ร่วมด้วย

.โยนคำถามหยั่งเชิงไปว่า คนเขาคิดว่าเป็น “ผู้ช่วยครูใหญ่” หรือเปล่า ทำให้ วุฒิชาติ ถึงกับร้อง “อูย มิบังอาจหรอกครับ ฝีมือแค่ผมนะคงมิบังอาจไปเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ท่านได้หรอก”

“ท่านเป็นคนที่ระวังตัว แล้วท่านก็ไม่ได้ให้ใครเข้าไปอยู่ในวงในท่าน คนวงในท่านก็จะมีคนที่ทำงานการเมืองกับท่าน อะไรอย่างนี้ (ส่ายหัว) ไม่ใช่หรอกครับ ไม่ถึงอะ ความรู้ความสามารถไม่ถึงที่จะเป็นกุนซือให้” แกนนำ สว. สีน้ำเงินกล่าว

ทว่าในฐานะที่เคยร่วมงาน ได้เห็นวิธีคิด ก็ได้ลอกเลียนเคล็ดวิชาจาก “ครูใหญ่”

“เขาเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ อันนี้ผมถือว่าโอเคเลย ไม่กลัวไม่อะไร คิดอย่างไร พูดอย่างนั้น ผมชอบ” นี่คือสิ่งที่ สว. วุฒิชาติ รู้สึกประทับใจที่สุดในการทำงานการเมือง “สไตล์เนวิน”