รักษามะเร็งแบบ “ทางเลือก” ได้ผลชะงัดจริงหรือ ?
Article recordsdata
- Author, แจ็คกี้ เวคฟิลด์
- Role, ผู้สื่อข่าวแผนก World Disinformation
คนดังจำนวนไม่น้อยออกมากล่าวผ่านสื่อว่า การเปลี่ยนแปลงชนิดอาหารที่กินเป็นประจำ และการบำบัดรักษาด้วยวิธีแบบ “ทางเลือก” (replacement therapies) แทนการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยให้โรคมะเร็งบรรเทาอาการและเข้าสู่ระยะสงบ (remission) ได้ในที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน มูลนิธิทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็งหลายแห่งได้ออกมาเตือนว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ยืนยันว่าการบำบัดรักษาด้วยวิธีทางเลือกนั้น สามารถจะทำให้โรคมะเร็งสงบหรือหายได้ ดังนั้นจึงออกจะน่าสงสัยว่า การรักษามะเร็งแบบทางเลือกคืออะไร และเหตุใดจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเดือนพ.ย. ของปีที่แล้ว นาฟโจต ซิงห์ สิธู นักการเมืองและนักคริกเก็ตคนดังชาวอินเดีย บอกว่าภรรยาที่เคยป่วยเป็นมะเร็งตอนนี้หายดีแล้ว หลังจากเติมพืชผักสมุนไพรหลายขนานลงไปในอาหารและเครื่องดื่ม ตัวอย่างเช่นน้ำมะนาว, ขมิ้นชันดิบ, น้ำส้มสายชูแอปเปิลไซเดอร์, ใบสะเดา, ใบกะเพรา, ทับทิม, ฟักทอง, กูสเบอร์รีอินเดีย, บีตรูต, และถั่ววอลนัต
วิดีโอที่บอกเล่าสูตรอาหารต้านมะเร็งของสิธู กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ไปในชั่วข้ามคืน ทำให้บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งกว่า 200 คน จากโรงพยาบาลทั่วประเทศอินเดีย ต้องรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า แม้จะกำลังมีการวิจัยทางการแพทย์กับพืชและสมุนไพรบางชนิดที่ถูกกล่าวอ้าง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนว่ามันจะใช้ได้ผล ประชาชนทั่วไปจึงไม่ควรปฏิบัติตามวิธีการที่ยังไม่ผ่านการทดสอบเหล่านี้ จนเป็นเหตุให้ไม่ไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษามะเร็งแบบมาตรฐานล่าช้า
ก่อนหน้านั้นในเดือนก.ย. ปี 2023 แอล แม็กเฟอร์สัน นางแบบชาวออสเตรเลียก็ออกมาเผยว่า เมื่อ 7 ปีก่อน ตนเองได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม แต่เธอเลือกบำบัดรักษาโรคร้ายนี้ด้วย “วิธีการแบบองค์รวมที่ใช้ญาณหยั่งรู้และหัวใจนำทาง” แทนที่จะเข้ารับเคมีบำบัดตามวิถีของการแพทย์แผนปัจจุบัน
Skip เรื่องแนะนำ and continue studyingเรื่องแนะนำ
Stop of เรื่องแนะนำ
แม้ทุกวันนี้แพทย์มักจะใช้วิธีบำบัดรักษาทางเลือกบางอย่าง เช่นการฝังเข็ม, โยคะ, หรือการทำสมาธิ ควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งเต้านมแบบมาตรฐานดั้งเดิมเช่นเคมีบำบัด แต่ก็เป็นเพียงวิธีเสริม (complementary therapies) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ส่วนการรักษาด้วยวิธีทางเลือกอีกหลายแบบ ซึ่งรวมถึงการเน้นกินอาหารบางชนิด หรือการให้วิตามินและแร่ธาตุเข้าหลอดเลือดทางสายน้ำเกลือนั้น แพทย์มักจะห้ามปรามอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คนไข้ใช้วิธีดังกล่าวทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งหมด
มูลนิธิทางการแพทย์หลายแห่งได้ออกคำเตือนว่า วิธีรักษามะเร็งแบบทางเลือกบางอย่างเป็นอันตรายและอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ ในบางกรณีก็อาจมีผลแทรกแซงและบั่นทอนประสิทธิภาพของการรักษาตามวิธีมาตรฐานด้วย โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Oncology เมื่อปี 2018 ระบุว่าการรักษาด้วยวิธีเสริมและวิธีทางเลือก มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง
แต่ถึงกระนั้น ยังคงมีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากหันมาใช้วิธีเสริมและวิธีทางเลือกในการบำบัดรักษา ทำให้วิธีการดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาคมมะเร็งวิทยาทางคลินิกอเมริกัน (ASCO) พบว่าผู้ใหญ่กว่า 40% ในสหรัฐฯ เชื่อว่ามะเร็งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้วิธีบำบัดทางเลือกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
บรรดาคลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหารต้านมะเร็ง สามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนหลักล้านในโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ส่วนหนังสือในหัวข้อเดียวกันก็ติดอันดับขายดีบนเว็บไซต์แอมะซอนอยู่เสมอ ข้อความทางทวิตเตอร์ที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์แชร์กันไปอย่างล้นหลามในวงกว้างเมื่อไม่นานมานี้ ก็บอกว่ามี “วิธีธรรมชาติ” ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการเปลี่ยนแปลงอาหารการกิน ข้อความนี้มีผู้กดชื่นชอบถึง 200,000 คน ภายในเวลาเพียง forty eight ชั่วโมง ทั้งยังบอกให้ผู้ป่วยอดอาหารเพื่อให้เนื้อร้าย “อดตาย” ทั้งให้กินอาหารบางชนิดเพื่อ “แก้ไขดีเอ็นเอและกระตุ้นสเต็มเซลล์” อีกด้วย
มูลนิธิโรคมะเร็งแม็กมิลแลน (Macmillan Most cancers Enhance) ของสหราชอาณาจักร แนะนำว่าหากผู้ป่วยสนใจที่จะเข้ารับการรักษาแบบทางเลือก ควรจะปรึกษากับแพทย์ประจำตัวที่เป็นผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งของตนเสียก่อน เพื่อรับฟังคำแนะนำและเข้าถึงการช่วยเหลือสนับสนุนที่ถูกต้อง
เหตุใดการรักษาแบบทางเลือกเติบโตอย่างรวดเร็ว ?
การแพร่ข่าวเท็จและข้อมูลบิดเบือนทางสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การรักษามะเร็งแบบทางเลือกถูกมองว่าเป็น “ยาวิเศษ” ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับเลยแม้แต่น้อย
“มะเร็งมันน่ากลัว แต่หมออย่างเราต้องบอกคนไข้ทั้งหมด ถึงข้อดีข้อเสียและความเสี่ยงในการรักษาแบบมาตรฐาน ในขณะที่คนไข้ต้องการความหวังและการรับประกัน รวมทั้งคำสัญญาว่าจะรักษาหายอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์กระแสหลักไม่อาจให้ได้” แพทย์หญิงลิซ โอเรียดาน ศัลยแพทย์โรคมะเร็งชาวอังกฤษกล่าว
นอกจากนี้ การอวดอ้างว่าวิธีรักษาแบบทางเลือกนั้นเป็นวิธีธรรมชาติที่ไม่เจ็บปวด ยังสามารถชักจูงและหลอกล่อให้คนไข้ที่สภาพจิตใจเปราะบางเห็นดีเห็นงามได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาแบบดั้งเดิม ที่แม้จะได้ผลแต่ก็รุกรานร่างกายและอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมาก
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิธีรักษามะเร็งแบบทางเลือกได้รับความนิยมทั่วโลก นั่นก็เพราะการบำบัดเยียวยามะเร็งด้วยเทคนิควิธีคุณภาพสูง ยังคงมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก “หากคนไข้มีปัญหาทางการเงิน วิธีทางเลือกซึ่งมีราคาถูกจะน่าสนใจกว่ากันมาก” พญ.โอเรียดานกล่าว “สิ่งที่น่ากังวลก็คือ มีคนหากินกับเหยื่อที่อ่อนแอเหล่านี้ โดยหลอกขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นให้กับพวกเขา”
ส่วนผู้คนในทวีปแอฟริกานั้น ประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความตระหนักในเรื่องโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก ทำให้พากันหันไปพึ่งวิธีทางเลือกและยาพื้นบ้านแผนโบราณกันจนเกินขนาด นอกจากนี้ ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งขาดแคลน และการที่คนส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ยังเป็นสาเหตุหลักของปัญหาที่รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ BMJ กล่าวถึงด้วย
ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีผลอย่างมากในภูมิภาคอย่างแอฟริกา เอเชีย และอนุทวีปอินเดีย โดยวิธีบำบัดโรคทางเลือกนั้นถูกปลูกฝังกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ในรูปแบบของภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา อย่างไรก็ตามมีผลวิจัยที่พิสูจน์ยืนยันอยู่บ้างว่า การแพทย์แผนจีนโบราณและหลักอายุรเวทของอินเดีย สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยและรักษาโรคบางอย่างได้ แต่ก็ยังคงไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งอยู่ดี
อาหารและวิธีรักษามะเร็งทางเลือกที่มาแรงล่าสุด
บำบัดด้วยอายุรเวท
มีความเชื่อว่าการรับประทานขมิ้นชัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นิยมปลูกกันมาช้านานในอินเดีย เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งตามแบบแผนของศาสตร์อายุรเวท ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการใช้สมุนไพรและการนวดเพื่อบำบัดรักษาโรคเป็นหลัก ปัจจุบันการรักษาแบบอายุรเวทได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการแพทย์แผนนี้จะเติบโตขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2028 ตามการรายงานของบริษัทวิจัย Market Study Future
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาแบบพื้นบ้านอย่างอื่นในแถบชนบทของอินเดีย อย่างเช่นการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติโดยไม่ใช้ยา (naturopathy), การรักษาโดยใช้พิษเป็นยา (homeopathy), วารีบำบัด (hydrotherapy), การนวดกระดูกและกล้ามเนื้อ (osteopathy), การกินต้นอ่อนข้าวสาลี, การดื่มปัสสาวะของตนเอง, และการนั่งสมาธิวิปัสสนา ซึ่งวิธีรักษาทางเลือกเหล่านี้ถูกสำรวจพบโดยงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ Lancet
แม้การรักษาในแบบข้างต้นบางวิธีจะช่วยลดความเจ็บปวด และใช้ควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งแบบมาตรฐานได้ แต่พญ.โอเรียดานบอกว่า บางวิธีอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต้านหรือส่งผลกระทบทางลบต่อการรักษาแผนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามองค์กรวิจัยมะเร็ง Most cancers Study UK เคยออกมาระบุว่า มีหลักฐานว่าสารเคอร์คิวมิน (curcumin) ในขมิ้นชัน สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ แต่การนำขมิ้นชันไปใช้เป็นยารักษามะเร็งนั้น ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก และปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันที่แน่ชัดว่า ขมิ้นชันจะช่วยป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งได้แต่อย่างใด
การแพทย์แผนจีนโบราณ
ผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Oncology Journal ระบุว่า ปัจจุบันการแพทย์แผนจีนแบบดั้งเดิมเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก แต่บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ก็ยังคงตั้งคำถามกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวิธีบำบัดทางเลือกนี้อยู่ดี
การแพทย์แผนจีนนั้นเป็นระบบการบำบัดรักษาโรค ซึ่งประกอบไปด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ เช่นการฝังเข็ม, การนวด, การใช้ยาสมุนไพรหลายร้อยชนิด, และการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊ก (Tai Chi) ซึ่งพญ.โอเรียดานให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยมะเร็งสามารถใช้การแพทย์แผนจีนรักษาควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันของตะวันตกได้ แต่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาเสียก่อน แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างที่สมุนไพรจีนบางตัวอาจทำปฏิกิริยาต่อต้านกับยาแผนปัจจุบัน
รักษาด้วยวิธีเปลี่ยนอาหารการกิน
วิธีบำบัดทางเลือกยอดฮิตอีกแบบหนึ่ง ก็คือการเน้นกินหรือจำกัดอาหารเฉพาะอย่าง เช่นการกินมังสวิรัติหรือไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างวีแกน (Vegan), การกินอาหารคีโต (Keto), หรือการจำกัดอาหารเพื่อให้มะเร็งร้าย “อดตาย”
ดร.เดวิด โรเบิร์ต กริมส์ นักวิจัยโรคมะเร็งชาวอังกฤษบอกกับบีบีซีว่า “คุณทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งอดตายไม่ได้ คุณแค่ทำให้ตัวเองอดอยากเปล่า ๆ เท่านั้น มันอันตรายมากหากผู้ป่วยมะเร็งผอมลงหรือน้ำหนักลด”
ดร.กริมส์ยังบอกว่า คนไข้ที่ถูกล้างสมองด้วยข้อความอวดอ้างสรรพคุณของวิธีบำบัดด้วยอาหาร มักถูกสื่อสังคมออนไลน์กดดันหรือทำให้อับอายว่า พวกเขาเป็นผู้ผิดที่ทำให้ตัวเองเป็นมะเร็ง ทำให้ต้องรีบปฏิบัติตามคำแนะนำทางเลือกในทันทีโดยไม่ฉุกคิดถึงอันตราย
พญ.คณุปรียา ภาติยะ ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งจากโรงพยาบาลโมหัน ได ออสวัล ของอินเดีย ขอให้ผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อตามกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ “อย่าคิดไปกินหรือดื่มอะไรแปลก ๆ เอาเอง เพราะทำอย่างนั้นมันอันตราย”
ยาถ่ายพยาธิเฟนเบนดาโซล
ยาเฟนเบนดาโซล (Fenbendazole) คือยารักษาการติดเชื้อปรสิตในสัตว์ แต่กลับโด่งดังในฐานะยารักษามะเร็งแบบทางเลือกขึ้นมา เมื่อนักธุรกิจชาวอเมริกันผู้หนึ่งอ้างว่า เขาหายจากโรคมะเร็งเพราะกินยานี้ร่วมกับการใช้วิธีบำบัดทางเลือกแบบอื่น ๆ แต่ความจริงแล้วเขากล่าวอวดอ้างโดยแอบปิดบังเรื่องที่ว่า เคยเข้าร่วมการทดลองระดับคลินิกซึ่งทดสอบวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ด้วย
ยานี้ถูกขายจนหมดเกลี้ยงท้องตลาดในเกาหลีใต้ ผู้ใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งหลายคนได้เขียนและเผยแพร่บันทึกประจำวันถึงผลของการใช้ยาที่เกิดขึ้น รวมถึงนักร้องและนักแสดงตลกคนดังที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด แต่ต่อมาคนทั้งสองออกมาเผยว่า ได้หยุดใช้ยาตัวนี้ไปเพราะไม่ได้ผล ส่วนองค์กรวิจัยมะเร็ง Most cancers Study UK ระบุว่ายานี้ไม่เคยผ่านการทดลองระดับคลินิก เพื่อทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพมาก่อน
ใช้ต้นทุเรียนเทศเป็นยา
ใบ, ผล, และเปลือกไม้ของต้นทุเรียนเทศหรือกราวิโอลา (Graviola) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิด ในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคอเมริกาใต้มาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ยืนยันว่า มันช่วยรักษาอาการติดเชื้อบางชนิดได้
อย่างไรก็ตาม มีผู้แอบอ้างสรรพคุณเกินจริงว่าผลทุเรียนเทศสามารถรักษาโรคมะเร็ง โดยข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์บางแห่งถึงกับบอกว่า มันมีประสิทธิภาพสูงกว่าเคมีบำบัดถึงหมื่นเท่า ในขณะที่บรรดามูลนิธิโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักรและสถาบันมะเร็งแห่งชาติฝรั่งเศสออกมาเตือนว่า ไม่มี “อาหารวิเศษ” ชนิดใด ที่ใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งได้
ความเห็นของแพทย์และมูลนิธิโรคมะเร็ง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ใช้วิธีบำบัดรักษาทางเลือก จะปฏิเสธเข้ารับการรักษาแบบมาตรฐานของแพทย์แผนปัจจุบัน “การบำบัดแบบทางเลือกนั้นใช้ได้ หากเป็นเพียงการรักษาแบบเสริมหรือใช้ควบคู่กันไปกับวิธีรักษาแบบมาตรฐาน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ผู้ป่วยกลับใช้วิธีทางเลือกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้มากขึ้นถึง 2.5 เท่า” พญ.โอเรียดานกล่าว
ส่วนดร.กริมส์ เน้นย้ำว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มาจากข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทำขึ้นอย่างจริงจัง และมีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่นน่าเชื่อถือ “สิ่งยืนยันก็คือทั่วโลกมีผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และตัวเลขนี้จะยิ่งดีขึ้นไปอีกในอนาคต เพราะว่าแพทย์ทำงานร่วมกับนักวิจัยศึกษาค้นคว้าอย่างหนัก ไม่ใช่เพราะวิธีรักษาแบบทางเลือก”
ที่มา BBC.co.uk