การประหารชีวิตทั่วโลกทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ในจีนตัวเลขยังเป็นปริศนา

หลายประเทศยังคงใช้การแขวนคอ การตัดศีรษะ ฉีดยาพิษ ยิvสังหาร และรมด้วยแก๊สไนโตรเจนเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ ในการลงโทษประหารชีวิต

Article info

  • Creator, สวามินาธาน นาตาราจัน
  • Feature, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า จำนวนผู้ที่ถูกลงโทษประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2024

ตามรายงานล่าสุดขององค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนี้เกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ระบุว่า ในปี 2024 มีผู้ถูกประหารชีวิตจำนวนถึง 1,518 คน เพิ่มขึ้นถึง 32% จากจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดในปี 2023 แม้ว่าจำนวนประเทศที่บังคับใช้โทษประหารชีวิตจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม

ข้อมูลของแอมเนสตี้ฯ แสดงให้เห็นว่า ยอดการเสียชีวิตดังกล่าวในปีที่แล้วถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ขณะที่จำนวนประเทศที่บังคับใช้โทษดังกล่าวลดลงจาก 16 ประเทศมาเป็น 15 ประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศที่เชื่อว่ามีการประหารชีวิตนักโทษมากที่สุดในโลกคือ ประเทศจีน ทว่าไม่มีสถิติตัวเลขการประหารชีวิตที่แน่ชัดสำหรับประเทศนี้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดยแอมเนสตี้ระบุว่า ทางการจีนจัดให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีเวียดนามและเกาหลีเหนือที่เชื่อว่ายังคงใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนการประหารชีวิต

การประหารชีวิตที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

อิหร่านถือว่าเป็นผู้นำของโลกในแง่การประหารชีวิตซึ่งมีข้อมูลเปิดเผย

“อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่แล้ว โดยมีการประหารชีวิตคิดเป็นกว่า 91% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดที่เป็นที่รับรู้ การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการพรากชีวิตผู้คนอย่างโหดร้าย จากข้อหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการก่อการร้าย” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

รายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ในปี 2024 มีอย่างน้อย 972 คนถูกทางการอิหร่านประหารชีวิต ในจำนวนนั้นมีผู้หญิง 30 คนรวมอยู่ด้วย ขณะที่ในปี 2023 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 853 คน

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอิหร่านระบุว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวโยงกับความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ

“เราเห็นจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นหลังการประท้วงครั้งใหญ่และในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมือง” โรยา โบรูมานด์ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์อาบอร์ราห์มาน โบรูมานด์ เพื่อสิทธิมนุษยชน (Aborrahman Boroumand Center for Human Rights) ในอิหร่าน กล่าว

โบรูมานด์ชี้ให้เห็นว่า มีผู้หญิง 12 คน ถูกสั่งประหารชีวิตในปี 2022 และ 25 คน ในปี 2023 บางคนในจำนวนนั้นถูกตั้งข้อหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เธอบอกว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองก็ตกเป็นเป้าหมายเช่นกัน

“นักเคลื่อนไหวสตรีหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนสตรีชาวอิหร่านที่ต่อต้านกฎหมายและการเลือกปฏิบัติในอิหร่านอย่างได้ผล” โบรูมานด์บอกกับบีบีซี

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่าน อย่าง ซาอุดีอาระเบีย สั่งประหารชีวิต 345 คน รองลงมาคือ อิรัก ที่สั่งประหารชีวิต 63 คน

เอมเนสตี้ฯ ระบุว่า อิหร่านและโซมาเลีย แต่ละประเทศประหารชีวิตบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 4 คน

ส่วนอิหร่านและอัฟกานิสถานเป็นสองประเทศที่มีการจัดการประหารชีวิตในที่สาธารณะในปี 2024

สั่งประหารชีวิตหลายพันราย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแอมเนสตี้ฯ ก็มีจุดที่น่าตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม

เชียรา ซานจิออร์จิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารชีวิตจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกกับบีบีซีว่า “ตัวเลขทั่วโลกของเราในปี 2024 ไม่ได้รวมการประหารชีวิตและโทษประหารชีวิตหลายพันกรณีที่เราเชื่อว่ายังคงเกิดขึ้นในจีน ยอดของผู้ได้รับโทษประหารชีวิตยังคงเป็นความลับของรัฐ แต่ข้อมูลที่เราสามารถรวบรวมได้นั้นได้ให้ภาพที่น่าสะเทือนใจ”

แอมเนสตี้ฯ เชื่อว่า ทางการจีนบังคับใช้โทษประหารชีวิตสำหรับคดีทุจริตคอร์รัปชัน ค้ายาเสพติด ซึ่งถือว่าละเมิดมติองค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า การกำหนดโทษประหารชีวิตต้องจำกัดเฉพาะ “อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด” ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกำหนดว่าหมายถึงอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฆ่-าโดยเจตนา ส่วนอาชญากรรมที่ไม่ได้ส่งผลให้เสียชีวิตโดยตรงหรือโดยเจตนา เช่น อาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดทางเพศ ไม่เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว

“เราเห็นว่าทางการจีนยังคงใช้การประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการควบคุมของรัฐ เพื่อส่งสัญญาณว่าอาชญากรรมและการเห็นต่างทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทนได้” ซานจิออร์จิโอ กล่าว

ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในแง่การใช้โทษประหารชีวิต ในปี 1983 ทางการจีนบังคับใช้นโยบาย “โจมตีอย่างหนัก” มุ่งเป้าไปที่กลุ่มอาชญากร สื่อมวลชนรายงานว่า การประหารชีวิตบางกรณีเป็นการประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรง เช่น การขโมยวัวหรือยานพาหนะ

กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดก็เป็นเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งเป็นการโดยเฉพาะ แอมเนสตี้รายงานในปี 1996 ว่า “วันต่อต้านยาเสพติดสากลในวันที่ 26 มิ.ย. มีผู้ถูกประหารชีวิตมากกว่า 230 รายในวันเดียวในหลายเมือง”

โทษประหารชีวิตมีแนวโน้มลดลงหรือไม่ ?

ศาสตราจารย์มิเชลล์ เมียว จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese language University of Hong Kong) ได้พิจารณาปัจจัยที่แตกต่างกันที่ส่งผลให้ยอดการลงโทษประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยเธอบอกกับบีบีซีเกี่ยวกับงานวิจัยที่เธอทำมาและอธิบายว่า การประเมินจำนวนการประหารชีวิตโดยคำสั่งศาลในประเทศจีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีโทษประหารชีวิต จีนไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลการประหารชีวิตที่ครอบคลุม การวิจัยของฉันแสดงให้เห็นว่าความไม่โปร่งใสนี้เกิดจากทั้งประเพณีนโยบายและเรื่องธรรมชาติอันละเอียดอ่อนของเรื่องนี้” ศ.เมียว อธิบาย

สำหรับงานวิจัยนี้ เธอได้สัมภาษณ์ผู้พิพากษาชาวจีน 40 คน และสัมภาษณ์ทนายความฝ่ายจำเลยอีก 40 คน และบทสรุปของเธอพบว่า ยังขาดมาตรฐานที่คงเส้นคงวาในการตัดสินประหารชีวิตและยังมีความคลุมเครือทางกฎหมาย

“กฎหมายอาญากำหนดว่าโทษประหารชีวิตโดยรอลงอาญาควรใช้ได้เฉพาะในกรณีที่การประหารชีวิตโดยทันทีนั้นไม่จำเป็นเท่านั้น แต่ผู้พิพากษาชาวจีนควรใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณาความจำเป็นนี้” ศาสตราจารย์เมียวตั้งคำถาม “ผู้ให้สัมภาษณ์ของฉันมากกว่าสองในสาม รวมทั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้ได้”

กลุ่มสิทธิมนุษยชน ตุ้ย หัว (Dui Hua) ในสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนการประหารชีวิตในจีนทั้งหมดลดลงจาก 12,000 คนในปี 2002 มาอยู่ที่ราว 2,000 คนในปี 2018 อย่างไรก็ตาม กลุ่มดังกล่าวนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดข้อมูลสำหรับปีถัด ๆ มา ทั้งนี้ ตุ้ย หัว ได้ปฏิเสธการขอความเห็นเพิ่มเติมจากบีบีซีเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในจีน

ศ.เมียว ระบุว่า จำนวนการประหารชีวิตที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญาหลายระลอกที่นำมาใช้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ผู้ต้องโทษสามารถอุทธรณ์ได้ 2 ครั้งแทนที่จะเป็น 1 ครั้ง และแม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาของจีนปี 1979 จะระบุถึงความผิด 74 ประการที่ต้องรับโทษประหารชีวิต แต่ความผิดที่ต้องรับโทษประหารดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขให้ลดลงในปี 2011 และ 2015

ปัจจุบัน มีความผิดอาญา 46 ข้อหา ในจีน ที่อาจส่งผลให้ต้องรับโทษประหารชีวิต

ที่มาของภาพ : Michelle Miao

ศ.เมียว คาดว่า การประหารชีวิตจะลดลงในช่วงหลายปีข้างหน้า

“ข้อหาเกี่ยวกับการฆาตกรรรมและยาเสพติด คือความผิดทางอาญาหลักที่จะนำไปสู่การตัดสินโทษประหารชีวิต” ศ.เมียว กล่าว

เธอยังมองโลกใน่แง่ดีและเชื่อว่า ในหลายปีถัดไป การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายเชิงป้องกัน และการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในประเทศจีนจะช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมลง

“เมื่อพิจารณาถึงจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น การค้ามนุษย์ การลักลอบขนของ การผลิต และการขนส่ง สิ่งผิดกฎหมาย รวมไปถึงการฆาตกรรมที่ลดลง และแนวโน้มที่แนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป เราอาจคาดหวังการลดลงของการประหารชีวิตโดยรวมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้”

อัตราการพิพากษาลงโทษ

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

อัตราการพิพากษาลงโทษในจีนสูงใกล้ 100%

ศาลในจีนต้องจัดการกับคดีต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และอัตราการพิพากษาลงโทษยังคงอยู่ในระดับสูง จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยตุ้ย หัว “จากจำเลยทั้งหมด 1,431,585 คน มีผู้ถูกศาลอาญาตัดสินว่าไม่มีความผิดในปี 2565 เพียง 631 รายเท่านั้น”

“อัตราการพิพากษาลงโทษในปี 2022 อยู่ที่ Ninety nine.95% ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามสถิติของ China Legislation Yearbook” บทความในตุ้ย หัว ระบุไว้

งานวิชาการอีกฉบับที่เผยแพร่โดยวารสารระดับนานาชาติเกี่ยวกับกฎหมาย อาชญากรรมและความยุติธรรม (International Journal of Legislation, Crime and Justice) ระบุว่า ศาลในเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ตัดสินให้จำเลยทุกคนมีความผิดระหว่างปี 1995 ถึง 1999

ศ.เมียว กล่าวว่า อัตราการพิพากษาลงโทษสูงเกิดขึ้นเพราะขั้นตอนการตรวจสอบด้านอาชญากรรม

“ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของจีน คดีต่าง ๆ จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองก่อนการพิจารณาคดี มีเพียงคดีที่มีแนวโน้มจะถูกตัดสินลงโทษเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อไป เนื่องจากมีความเสี่ยงทางกฎหมายและมีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่สร้างแรงจูงใจให้อัยการคัดกรองคดีที่อ่อนแอออกไป” เธออธิบาย

“ขั้นตอนนี้ถูกนำไปใช้ไม่เพียงแต่คดีที่ลงโทษประหารชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีอาชญากรรมอื่น ๆ โดยทั่วไปอีกด้วย”

ด้วยอัตราการตัดสินลงโทษที่สูงเช่นนี้ การพิพากษาตัดสินโทษอย่างผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่นในปี 2016 เจ้าหน้าที่รัฐ 27 คนถูกลงโทษ ฐานประหารชีวิตวัยรุ่นที่ถูกกล่าวหาว่าข่xขืxและฆ่-าคนอย่างผิดกฎหมาย และในเวลาต่อมา พ่อแม่ของวัยรุ่นอายุ 18 ปีคนดังกล่าวก็ได้รับเงินชดเชย

จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีอัตราการตัดสินลงโทษสูงเช่นนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยก็สามารถอวดได้ว่ามีผู้ถูกตัดสินลงโทษมากกว่า Ninety nine% หลังจากถูกตั้งข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่ได้ประหารชีวิตใครเลยนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2022

แม้จะมีข้อกังวลในระดับนานาชาติเกี่ยวกับจำนวนการประหารชีวิตในจีน ศ.เมียวกล่าวว่า ความคิดเห็นของประชาชนภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนโทษประหารชีวิต