4 ลูกเรือประมงไทยจะถูกเมียนมาปล่อยตัวหรือไม่ หลังผ่านไปแล้วกว่า 1 เดือน
ผ่านไปแล้ว 37 วัน นับตั้งแต่เกิดเหตุเรือรบของกองทัพเมียนมาใช้อาวุธยิงใส่กลุ่มเรือประมงไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ปีที่แล้ว แต่ 4 คนไทยซึ่งถูกจับกุมและถูกตัดสินต้องโทษจำคุก ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
.รวบรวมความเคลื่อนไหวตลอดช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าเรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
ลูกเรือทั้ง 4 คนมีใครบ้าง และถูกดำเนินคดีในฐานความผิดใด
ปัจจุบัน นายสุนันท์ มงกุฎทอง อายุ 68 ปี ผู้ควบคุมเรือ, นายสมปอง วิวัฒน์ อายุ 61 ปี ช่างเครื่อง, นายถาวร พรหมนิมิต อายุ 64 ปี ช่างเครื่อง และ นายวิโรจน์ สพานทอง ณ นคร อายุ 69 ปี เจ้าของเรือ ส.เจริญชัย 8 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกาะสอง ประเทศเมียนมา
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2024 ไทยพีบีเอสรายงานว่า ศาลจังหวัดเกาะสองได้ตัดสินจำคุกเจ้าของเรือเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาลักลอบทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งหมด 6 ปี และปรับเป็นเงิน 200,000 จัต (ราว 3,200 บาท)
ขณะที่ลูกเรือไทยอีก 3 คน สั่งจำคุกคนละ 3 ปี ในข้อหาทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมา โดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปีในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 30,000 จัต (ประมาณ 500 บาท)
กำหนดการปล่อยตัวที่เลื่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ก่อนหน้านี้กองทัพเรือของไทยระบุว่าลูกเรือทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 ธ.ค. ผ่านการประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) แต่แล้วก็ไม่มีลูกเรือคนใดได้รับการปล่อยตัว
ตรงกันข้าม ศาลจังหวัดเกาะสองกลับพิพากษาให้ลูกเรือไทยทั้งหมดมีความผิดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2024 ซึ่งในตอนแรกมีการประเมินสถานการณ์กันว่าเป็นการตัดสินคดีเพื่อเข้าสู่กระบวนการอภัยโทษของเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีการนำตัวคนไทยทั้ง 4 คนกลับมายังประเทศ เนื่องจากในวันต่อมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่าจากการประสานงานเบื้องต้นคาดว่าทางการเมียนมาจะปล่อยตัวลูกเรือไทยในวันที่ 4 ม.ค. 2025 ซึ่งเป็นวันเอกราชหรือวันชาติเมียนมา แต่แล้วก็ไม่มีรายชื่อคนไทยทั้ง 4 คนได้รับการอภัยโทษ และมีเพียงคนไทย 152 คนไทยที่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันออนไลน์ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใน จ.ท่าขี้เหล็ก ของเมียนมา
“จนตอนนี้ต้องถามกันแล้วว่าคำพูดของคนระดับรัฐมนตรีที่สื่อสารกับสังคม เราจะเชื่อถืออะไรได้บ้าง” นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง จากพรรคประชาชน ตั้งคำถามผ่านโพสต์เฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุด นายภูมิธรรม เปิดเผยวันนี้ (6 ม.ค.) ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามทำหน้าที่ โดยพบว่าทางเมียนมาก็ตอบสนองโดยปล่อยคนไทยกว่า 150 คนออกมา ส่วนลูกเรือทั้ง 4 คนนั้น “เป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามประสานงานอยู่”
เมื่อถามว่าทั้ง 4 คนต้องรอรับโทษของเมียนมาก่อนใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า ไม่ใช่ แต่ต้องให้กระบวนการทำหน้าที่ไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่จบ
“กระบวนการต่างประเทศหากมาพูดกันชัดเจนจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร จะยิ่งเกิดความยากลำบาก แต่อยากให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การพูดคุยกัน ส่วนระยะเวลาคงตอบไม่ได้ อาจจะจบพรุ่งนี้หรือสัปดาห์หน้าก็ได้ อยู่ที่กระบวนการและประเทศเมียนมาด้วย แต่ละคดีไม่เหมือนกัน เอามาเป็นบรรทัดฐานเหมือนกันไม่ได้ ขอให้รอให้จบก่อนดีกว่า อย่ารู้รายละเอียดมาก เพราะจะทำให้การพูดคุยยากลำบาก” รมว.กลาโหม กล่าว
ไทยทำอะไรไปแล้วบ้าง
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ว่า ขอบคุณฝ่ายเมียนมาที่ดำเนินการปล่อยนักโทษคนไทยทั้ง 152 คน แต่สำหรับกรณี 4 คนนั้น “เป็นที่ผิดหวังที่กระบวนการปล่อยตัวกลุ่มดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จในครั้งนี้ โดยฝ่ายเมียนมายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง”
พร้อมกับกล่าวต่อว่าทางกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอด และจะดำเนินการต่อไป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
“พยายามผลักดันให้มีการปล่อยตัวโดยเร็ว บนพื้นฐานของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
เขาบอกว่าในห้วงที่ผ่านมา มีการขอการเข้าถึงทางกงสุล (consular gain entry to) ในหลายช่องทาง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง ได้รับอนุญาตให้นำตัวแทนญาติเข้าเยี่ยมลูกเรือไทยที่จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี ซึ่งพบว่าลูกเรือไทยทั้ง 4 คน มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจดี ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม และได้รับอาหารครบ 3 มื้อ โดยพร้อมกันนี้ได้แจ้งสถานะการดำเนินการล่าสุดให้กับลูกเรือทราบด้วย
“สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่ากรณีนี้มีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่เรื่องการปล่อยตัวลูกเรือชาวไทย ประเด็นปัญหาการทำประมงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งความสัมพันธ์ในภาพรวมของสองประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทนและช่องทางการเจรจาอย่างแนบเนียน” นายนิกรเดช กล่าว และบอกว่าทางกระทรวงการต่างประเทศจะผลักดันทางการทูตต่อไป และแก้ไขปัญหาผ่านกลไก TBC ร่วมกับฝ่ายเมียนมา
สรุปเรือประมงไทยล้ำน่านน้ำเมียนมาหรือไม่
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. หลังเกิดเหตุได้ไม่นาน พล.ร.ท.สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 (ผบ.ทรภ.3) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ผอ.ศรชล.ภาค 3) ให้สัมภาษณ์กับ.ว่า สาเหตุที่ทำให้เรือรบเมียนมายิงใส่เรือประมงไทยนั้นคาดว่าเป็นเพราะเรือที่เกิดเหตุทั้ง 3 ลำอาจล้ำเข้าไปในฝั่งน่านน้ำเมียนมา โดยจากการตรวจสอบด้วยระบบซี วิชัน (Sea Vision การตรวจจับเรดาร์ของเรือจากต้นทางเครือข่ายเรดาร์ทางทะเล) พบว่า “เส้นเขตแดนเรือไทยล้ำเข้าไปประมาณ 3 ไมล์[ทะเล]” เนื่องจากชาวประมงอาจยังคิดว่าอยู่ในพื้นที่ของไทย
แต่ไม่นานหลังจากนั้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่า ขอเวลาหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าเรือประมงไทยล้ำเขตแดนเมียนมาจริงหรือไม่
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร บอกกับ.ว่า จากข้อมูลที่ทางกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงกับ กมธ.การทหารฯ บอกว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้น “เป็นพื้นที่พิเศษที่ยังไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอ้างสิทธิ และไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนด้วย”
ทั้งนี้ ทางกองทัพเรือให้ข้อมูลกับ กมธ.การทหารฯ ว่าเรือประมงของไทยออกนอก “เส้นปฏิบัติการ” ของกองทัพเรือ
เขาอธิบายต่อว่าเส้นปฏิบัติการดังกล่าวนั้นเป็นเส้นสมมติที่ทางกองทัพเรือกำหนดขึ้นมา “เพื่อคุ้มครองเรือและน่านน้ำของไทย หมายความว่าหากออกนอกเส้นปฏิบัติการไปก็จะมีความสุ่มเสี่ยงถูกดำเนินการใด ๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน” แต่ยืนยันว่าเรือประมงไทยไม่ได้ล้ำเข้าไปในเขตแดนของเมียนมาอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษดังที่อธิบายไว้แล้วในเบื้องต้น
กมธ.การทหารฯ เตรียมเยี่ยม 4 ลูกเรือคนไทยในเรือนจำเกาะสอง
นายวิโรจน์เปิดเผยต่อว่าวันที่ 12-13 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ทางตนเองจะนำ กมธ.การทหารฯ เดินทางไปเยี่ยมลูกเรือทั้ง 4 คน ซึ่งขณะนี้ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำเกาะสอง โดยอยู่ระหว่างรอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในสมัยประชุม ซึ่งหากประธานสภาฯ อนุมัติแล้ว ก็จะดำเนินการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยต่อเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะเป็นการเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะตัวแทนสภา
การไปเยือนในสัปดาห์หน้านี้ นอกจากเป็นการให้กำลังใจกับลูกเรือแล้ว ประธาน กมธ.การทหารฯ ยังบอกว่ามีเป้าหมายเพื่อ “ยืนยันว่าเราต้องการให้ลูกเรือไทยกลับสู่มาตุภูมิโดยเร็ว”
“เรายังคิดว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยควรมีความประณีตกว่านี้ และควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่านี้ และรอบคอบกว่านี้” นายวิโรจน์ กล่าว
เขายังยืนยันด้วยว่าทางกองทัพเรือของไทยได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังทางการเมียนมา กรณีการตอบโต้เรือประมงไทยที่รุนแรงเกินกว่าเหตุไปแล้ว แต่ไม่ได้ทักท้วงเรื่องเขตแดน
“หลายคนบอกว่าทำไมกองทัพเรือของเราไม่ดำเนินการตอบโต้ที่รุนแรงกลับไปบ้าง ผมก็ยืนยันว่าสิ่งที่กองทัพเรือไทยนั้นยึดตามหลักสากลซึ่งถูกต้องแล้ว แม้คาดว่าอีกฟากฝ่ายใดได้ดำเนินการใดไม่เป็นไปตามหลักสากลก็ตาม” ประธาน กมธ.การทหารฯ บอกกับ.
ที่มา BBC.co.uk