
คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือทางกฎหมาย สำนักงาน กกพ. ปม มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงาน ชี้ ไม่เป็นลักษณะต้องห้าม ดำรงตำแหน่ง ‘บอร์ดสรรหา กกพ.’ ระบุ ‘รมว.พลังงาน-ครม.’ สามารถใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงได้ หากปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 8 คน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ
อ่านข่าวประกอบ : ครม.ไฟเขียว บอร์ดสรรหา กกพ. ‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ ’ อดีตรมช.คลัง คัมแบ็ก
ต่อมากระแสสังคมโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติของคณะกรรรมการสรรฯ หาอย่างกว้างขวาง รวมถึงพรรคประชาชน (ปชน.) พรรคแกนนำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ออกมาตั้งคำถามถึงคุณสมบัติเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทพลังงานเช่นเดียวกัน
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายพีระพันธ์ ได้ลงนามในคำสั่ง ที่ พน 0100/753 ให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและการประชุมคณะกรรมการสรรหาไว้ก่อน
หลังจากนั้นนายพีระพันธุ์ได้นำเรื่องเข้าครม.เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานรับเรื่องการขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานคืน เพื่อกลับไปทบทวนให้ถูกต้อง เนื่องจากเรื่องนี้ยังมีปัญหาบางประการเกี่ยวกับองค์ประกอบของกรรมการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามนัยมาตรา 14 ก่อนเสนอครม.อีกครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 315/2568 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของกรรมการสรรหาตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สกพ. 5502/0766 ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 ถึงสำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกา ขอหารือปัญหาข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.การประกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ว่า
การพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาฯ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 13 และมาตรา 14 วรรคเก้าเท่านั้นหรือไม่ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของกรรมการสรรหาฯ ตามมาตรา 14 วรรคสาม ว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรรมการสรรหาฯ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เคยถือหุ้นหรือถือหุ้น เคยดำรงตำแหน่งหรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน
รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารในบริษัทพลังงาน แต่เป็นกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกโดยผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าและแต่งตั้งโดยภาครัฐ หรือดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งสองกรณีดังกล่าว ถือเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 และมาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือของ กกพ.แล้วเห็นว่า การพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาต้องพิจารณาตามมาตรา 14 วรรคสาม และมาตรา 14 วรรคเก้า ประกอบกับมาตรา 13 และกรณีมาตรา 14 วรรคสาม กำหนดหน้าที่ของกรรมการสรรหาจะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงสองปีที่ผ่านมาให้สาธารณชนทราบนั้น เป็นการกำหนดหน้าที่ของกรรมการสรรหาในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นบทบัญญัติห้ามการมีส่วนได้ส่วนเสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงาน จึงไม่ได้เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหา
ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยข้อมูลของกรรมการสรรหาทั้งสองกรณีดังกล่าว หรือมีกรณีอื่นใดซี่งปรากฏในเวลาต่อมาอันอาจเป็นเหตุให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นั้นไม่เป็นกลาง จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานผู้เสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาและคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )