มาตรการตัดตอนสแกมเมอร์ของไทยได้ผลแค่ไหน และพวกเขากำลังย้ายฐานไปที่ใดต่อ ?

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ทหารไทยลาดตระเวนตรงข้ามเมืองชเวโก๊กโก่ ฐานสแกมเมอร์ที่อยู่ตรงข้ามชายแดนไทย

Article files

  • Author, จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

มาตรการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ควบคู่ไปกับการผนึกแนวชายแดน เพื่อตัดตอนเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทยได้ดำเนินการมาครบ 1 สัปดาห์แล้ว

เริ่มแรกทางการไทยใช้นโยบายเหล่านี้กับชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีฐานสแกมเมอร์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่าหลายสิบแห่ง จากนั้นทางการไทยเริ่มเล็งชายแดนฝั่งตะวันออกของไทยฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งพบว่าเป็นทั้งฐานที่ตั้งของกาสิโนและบริษัทพนันออนไลน์ โดยมีกลุ่มสแกมเมอร์เข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่นั่นด้วย

มาตรการที่รัฐบาลไทยใช้กับชายแดนฝั่งตะวันออกติดกัมพูชา ยังไม่รุนแรงเด็ดขาดถึงขั้นระงับการจ่ายไฟฟ้าที่ประเทศไทยส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เริ่มมีการคัดกรองผู้คนที่เข้าออกตามจุดผ่านแดนถาวรอย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงไล่ตัดสายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต เสาส่งสัญญาณต่าง ๆ โดยพร้อมกันนี้มีการเสนอแนวคิดสร้างกำแพงกั้นระหว่างไทย-กัมพูชา และติดตั้งกล้องวงจรปิด หลังจากพบว่าช่องทางธรรมชาติกลายเป็นจุดลักลอบข้ามแดน ราวกับว่าแค่เดินหายไปหลังบ้านใครสักคนจากฝั่งไทย ก็สามารถโผล่ไปยังประเทศกัมพูชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพาสปอร์ต

ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการปราบปรามบัญชีม้า และกำหนดให้ชื่อผู้ใช้งานต้องตรงกับชื่อเจ้าของซิมโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ใช้บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile Banking)

ที่มาของภาพ : สวท.สระแก้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางมาตรวจราชการชายแดนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 12 ก.พ.

ผลลัพธ์เบื้องต้นที่เห็นรูปธรรมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบอกว่า พบกิจกรรมในเมืองสแกมเมอร์ลดลง เช่น ชเวโก๊กโก่ที่ลดการใช้ไฟฟ้าลง 40%

ขณะที่เมืองอื่น ๆ ยังพบการดำเนินกิจกรรมอยู่ แต่น้อยลง และพึ่งพาเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่แทน แม้ว่าทางการไทยและเมียนมาจะระงับการส่งน้ำมันไปยังเมียวดีแล้วก็ตาม

ด้านกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดูแลพื้นที่เมืองสแกมเมอร์ เช่น กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Military – KNA) หรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟเดิม และกองกำลังกะเหรี่ยงเพื่อประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Military – DKBA) หรือกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยเดิม ต่างออกมาตอบรับว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับทางการไทยและนานาชาติในการร่วมกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยทาง DKBA แจ้งให้ชาวจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับการลวงลวงทางออนไลน์และกาสิโน ออกจากเมืองพญาตองซู รัฐกะเหรี่ยง ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 68 หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

พร้อมกันนี้ทั้ง KNA และ DKBA ยังส่งตัวผู้ที่ถูกลวงให้ไปทำงานในเมืองสแกมเมอร์มากกว่า 300 คนมายังประเทศไทย และมีแผนจะส่งตัวผู้เสียหายหลากหลายสัญชาติเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางกลุ่มให้ความร่วมมือกับทางการไทย จีน และเมียนมาอย่างจริงจัง

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ว่ามาตรการต่าง ๆ ของไทยได้ผลแค่ไหน และเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่

“เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ปฏิบัติการตัดตอนเมืองสแกมเมอร์เกิดขึ้นเพราะกรณีนายหวัง ซิง หรือ ซิง ซิง นักแสดงชาวจีนที่ถูกล่อลวงไปเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดนแม่สอด ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสียหายอย่างมาก และจนถึงตอนนี้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ในจีนก็ยังคงเผยแพร่เนื้อหาแง่ลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทั้งที่การมีอยู่ของเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนเหล่านี้เกิดมานานหลายปีแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีว่าพวกเขาเลือกที่ตั้งติดชายแดนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐานจากฝั่งไทย

“แต่ก็ถือว่าเกิดการติดกระดุมเม็ดแรกแล้ว” เธอบอก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจาก ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการทั้งหมดในฝั่งไทยเกิดขึ้นหลังการมาเยือนของนายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคงของจีน ในช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

“พอมีเรื่องการกดดันจากจีน ก็ทำให้รัฐบาลไทยเร่งสปีด (tempo) อย่างเต็มที่” ผศ.ดร.ลลิตา บอก “มันเป็น red tape (ความเชื่องช้าของระบบราชการ) สำหรับผู้มีอำนาจในไทย คุณจะทำให้ซาอุดีอาระเบีย upset (ไม่พอใจ) อะไรก็ได้ คุณจะทำให้สหรัฐอเมริกา upset ประมาณหนึ่งก็ได้ แต่คุณทำให้จีน upset ไม่ได้ เพราะมันหมายถึงเม็ดเงินการท่องเที่ยว การค้า และหมายถึงอำนาจของรัฐบาลปักกิ่งที่ไทยยังคงหงออยู่มาก ๆ”

ด้าน ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับทุนนิยมกาสิโนและเมืองสแกมเมอร์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา บอกกับบีบีซีไทยว่า “ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่นี่เป็นอิฐก้อนแรกเท่านั้น” เนื่องจากลำพังการตัดโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อการตัดตอนและปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมรอบชายแดน

“มันต้องมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อเข้าไปยังใจกลางของปัญหา นี่จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น” เธอกล่าว

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ภาพภายในเคเค พาร์ค ฐานสแกมเมอร์ในพื้นที่ของกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ หรือ KNA

เสนอตัดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เสนอว่าควรนำตัวบอสชาวจีนและผู้นำกองกำลังในรัฐกะเหรี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเมืองสแกมเมอร์มาดำเนินการรับโทษตามกฎหมายไทย ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีหมายจับผู้นำกองกำลังคนใดออกมา แม้มีท่าทีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่าต้องการออกหมายจับ พ.อ.ชิต ตุ ผู้นำ KNA ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญของบริษัทหย่าไท้ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป กลุ่มทุนจีนที่เข้าไปลงทุนทำเมืองสแกมเมอร์ แต่ทางสำนักอัยการสูงสุดเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการออกหมายจับ

ที่ผ่านมาสหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันแถลงคว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องกับเมืองใหม่ทุนจีนรอบชายแดนไทย หนึ่งในนั้นมีรายชื่อของ พ.อ.ชิต ตุ และ พ.อ.ซอว์ มิน มิน อู แห่ง KNA อยู่ด้วยเนื่องจากเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุน หรือรับประโยชน์จากการค้ามนุษย์ที่ถูกส่งเข้าไปยังเมืองชเวโก๊กโก่ โดยเหตุผลการคว่ำบาตรครั้งนี้พิจารณาจากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

“คุณจะเอาหลักฐานอะไรอีกในเมื่อมีหลักฐานประจักษ์มากมายว่าบริษัทหย่าไท้ฯ เป็นบริษัทอาชญากรรมและ พ.อ.ชิต ตุ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะหุ้นส่วน” อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ตั้งคำถาม

ที่มาของภาพ : HANDOUT

พ.อ.ชิต ตุ ผู้นำ KNA (คนกลาง) และ พลจัตวา ซาย จอ หล่า หรือ โกซาย (ใส่หมวกดำ ขวาสุด) ผู้นำอันดับ 3 ของ DKBA คุมพื้นที่ในเมียนมาบริเวณตรงข้าม ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก

ในช่วงเก็บข้อมูลงานวิจัยเมื่อปี 2566 ศ.ดร.ปิ่นแก้วทราบมาว่า พ.อ.ชิต ตุ และบริวารมีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารของประเทศไทย และใช้บัญชีเหล่านี้ทำธุรกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ กับนายทุนท้องถิ่นในเมืองชายแดนของไทยมาโดยตลอด

เธอจึงเสนอว่าไทยต้องดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นมาตรการ 3 ตัดที่ทางไทยดำเนินการมาจะเป็นแค่มาตรการป้องปรามชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ได้กระทบกระเทือนกับความมั่งคั่งของผู้นำกลุ่มกองกำลังที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ระดับโลก

ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เชียงใหม่ ยังหยิบยกกรณีการลวงลวงชาวอเมริกัน ซึ่งสุดท้ายจากการสืบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่ามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตของนายทุนจีนคนหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯ และมีความเชื่อมโยงกับเมืองเคเค พาร์ค (KK Park) พื้นที่อิทธิพลของ KNA ที่ดำเนินการร่วมกันกับอดีตหัวหน้ากลุ่ม 14K ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมระดับโลก รวมถึงนักการเมืองและนายตำรวจของไทย

“ถ้าเราไม่จัดการตัดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน อาชญากรเหล่านี้ก็แค่ย้ายฐานไปเรื่อย ๆ แต่ยังคงดำเนินธุรกิจด้วยระบบการเงินของไทย” ศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าว

ปิดท่าข้าม ?

นอกจากนี้อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ ยังเสนอให้ปิดท่าข้ามที่อยู่ตรงข้ามเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดนไทย เนื่องจากเป็นช่องทางส่งสิ่งของ ผู้คน และทรัพยากรต่าง ๆ เข้าไปหล่อเลี้ยงเมืองสแกมเมอร์เหล่านั้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้สั่งปิดท่าข้ามกว่า 50 แห่งตลอดแนวชายแดน จ.ตาก แต่เข้มงวดไม่ให้ขนส่งน้ำมัน เครื่องปั่นไฟ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เข้าใจว่าใช้ในธุรกิจลวงลวงผู้คนออนไลน์

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ตาก บอกกับบีบีซีไทยว่า เอกชนทุกแห่งเต็มใจให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เนื่องจากเห็นว่ามาตรการครั้งนี้อาจทำให้พวกเขาเจ็บตัวไม่น้อย “แต่ทำได้เพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เพราะวันนี้ทุกคนต้องนึกถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวม”

“แต่ไม่ยุติธรรมหากจะบอกว่าท่าข้ามเป็นสีเทา เพราะเอกชนทำธุรกิจกับ กะเหรี่ยง บีจีเอฟ ที่ผ่านมากะเหรี่ยงบีจีเอฟเป็นกองกำลังที่ทางการเมียนมาให้สิทธิดูแลพื้นที่ชายแดนมาตลอด และให้สิทธิอย่างเป็นทางการ คำว่าจีนเทา คำว่าอาชญากร เพิ่งจะปรากฏจากปากทางการไทยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง” เขาบอก พร้อมกับยืนยันว่าหากผู้ประกอบธุรกิจในชายแดนทราบแต่แรกว่ากำลังทำธุรกิจกับอาชญากร พวกเขาคงไม่เข้าไปดำเนินธุรกิจแต่แรก เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกอายัดทรัพย์สินหรือเงินในบัญชีธนาคาร หากเป็นคดีความแล้วพบว่ามีพวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงิน

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ในจำนวนท่าข้ามกว่า 50 แห่งของ จ.ตาก บางท่าข้ามอยู่ตรงข้ามเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าดำเนินกิจกรรมสแกมเมอร์

ด้าน ผศ.ดร. ลลิตา มองว่า การปิดทุกท่าข้ามอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ดีนัก เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union – KNU) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา แต่เห็นด้วยว่าบางท่าข้ามที่อยู่ตรงข้ามเมืองสแกมเมอร์ต่าง ๆ นั้นควรระงับการดำเนินการไปก่อน

“แต่อย่าลืมว่าท่าเหล่านั้นเป็นท่าที่เปิดถูกต้องตามกฎหมาย รัฐก็ต้องมาคิดโจทย์ว่าจะปิดเขาอย่างไร มีเหตุผลและมาตรการรองรับ หากจะปิดท่าดังกล่าวลง” อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ กล่าว

เสนอเพิ่ม 1 ตัด 2 ประสาน

ผศ.ดร.ลลิตา เสนอว่าลำพังแค่การตัดไฟฟ้า น้ำมัน และอินเทอร์เน็ต ยังไม่พอ สิ่งที่ทางการไทยต้องทำเพิ่มเติมประการแรกคือ การตัดตอนขบวนการส่วยและสินบนในอำเภอชายแดน เช่น แม่สอด แม่สาย พบพระ แม่ระมาด สังขละบุรี ฯลฯ ให้ได้ด้วย เนื่องจากเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสแกมเมอร์ชายแดนดำเนินมาได้จนถึงตอนนี้ โดยเงินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับขบวนการนำพาผู้คนลักลอบข้ามแดนและขบวนการค้ามนุษย์

“ถ้าไทยตรึงชายแดนหนาแน่น ทำให้แน่ใจว่าไม่มีส่วยหรือสินบน หรือส่วยลดลงมาก ๆ กิจกรรมอาชญากรรมที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งจะดำเนินยากมากหรือแทบไม่ได้เลย” เธอบอก

ประการที่สอง ทางการไทยต้องทำให้ทางสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC ของนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าใจและเห็นภาพตรงกันว่าปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ไทยกำลังทำอยู่นี้จะนำไปสู่อะไร เพื่อให้ทาง “SAC เห็นชอบ และยินยอมให้ไทยดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้” รวมถึงโน้มน้าวให้ทางรัฐบาลเมียนมาออกมาตรการและนโยบายจากฝั่งเมียนมาเพื่อกดดันและตัดตอนเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ร่วมกัน

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

กองกำลัง DKBA ส่งตัวเหยื่อที่เข้าข่ายการถูกลวงลวงและการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ โดยประกอบด้วยชาวต่างชาติ 261 คน เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา

การที่ KNA และ DKBA แสดงบทบาทให้ความร่วมมือกับทางการไทย โดยส่งคืนเหยื่อสแกมเมอร์หลายร้อยคน และออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อต้านการค้ามนุษย์และสแกมเมอร์จนกระทั่งนายภูมิธรรมออกมาชื่นชมความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของ พ.อ.ชิต ตุ นั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายภาพให้เห็นว่า ท่าทีของกองกำลังดังกล่าวเป็นผลมาจากกองทัพเมียนมาภายใต้ SAC ยังมีแสนยานุภาพที่กองกำลังเหล่านี้ไม่อาจต่อกรได้ นั่นคือ การโจมตีทางอากาศ (air strike) ซึ่งเธอบอกว่า “วันใดวันหนึ่งหาก SAC ไม่พอใจขึ้นมา ก็สามารถ air strike ชเวโก๊กโก่ เคเค พาร์ค หรือ ช่องแคบ ตอนไหนก็ได้”

“คุณต้องเข้าใจธรรมชาติของ SAC ที่เป็นประเภทเสียอะไรเสียได้ แต่เสียหน้าไม่ได้ ธรรมชาติของ มิน อ่อง หล่าย เป็นแบบนี้ ดังนั้นหากทำอะไรที่ส่งผลต่อฝั่งเมียนมา ก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติอันนี้ของ SAC ไว้”

ทว่า ผศ.ดร.ลลิตา มองว่านี่ไม่ใช่จังหวะที่ดีนักหากไทยจะใช้หมายจับเข้ามาเล่นงานผู้นำกองกำลังที่ดูแลพื้นที่ชายแดนติดกับไทย เนื่องจากมองว่าอาจทำให้พื้นที่ชายแดนของไทยกลายเป็นพื้นที่เปราะบางในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อความมั่นคงชายแดน

“การกดดันให้เขาทำตาม ปรับตัว และเลิกสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ น่าจะดีกว่าในจังหวะนี้”

ท้ายที่สุด เธอยังเสนอเช่นเดิมว่าไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมา และนำประเทศนี้กลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย และสนับสนุนให้เมียนมาเป็นสหพันธรัฐให้ได้ เนื่องจากปัญหาสแกมเมอร์ต่าง ๆ เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองจนถึงตอนนี้ และเงินสีเทาเหล่านี้เป็นทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาพยุงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่พยายามเสริมความแข็งแกร่งของตนเอง เพื่อสร้างแต้มต่อเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง

“ถ้าเขามีเศรษฐกิจที่ดี เป็นเพื่อนกับเรา มันก็ไม่มีโรงงานผลิตยาเสพติด ไม่มีเมืองสแกมเมอร์”

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวต่อว่า เป็นที่รู้กันมานานว่าทางการจีนส่งตำรวจจีนเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน จ.ตาก นานหลายปีแล้ว เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับการลวงลวงผู้คนผ่านช่องทางออนไลน์ “เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเขา” โดยบางครั้งก็ทำงานอย่างเปิดเผย หรือแฝงตัวเข้าไปในเมืองสแกมเมอร์ต่าง ๆ

“ไทยต้องพูดคุยกับทางจีนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในเมื่อคนจีนเข้ามาก่ออาชญากรรมในพื้นที่นี้และเขามีข้อมูลอยู่แล้ว ก็ต้องแบ่งปันกัน จีนต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการล้างบางคนกลุ่มนี้ด้วย”

เสนอทบทวนฟรีวีซ่า

ไม่กี่วันที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่ากรณีที่มองว่าการให้ฟรีวีซ่ากลายเป็นช่องทางที่ทำให้จีนเทาเข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายนี้ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยปีก่อนมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 27 ล้านคน และปีที่แล้ว 35 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของประเทศดีขึ้น ผู้ประกอบการได้ประโยชน์

“หากจะแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการยกเลิกเรื่องฟรีวีซ่า มันเป็นคนละส่วนกัน การท่องเที่ยวเสียแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวดีขึ้นมาก ๆ จากมาตรการฟรีวีซ่า” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนที่บีบีซีพูดคุย มีความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรทบทวนมาตรการฟรีวีซ่า โดย ผศ.ดร.ลลิตา เห็นว่าควรให้ฟรีวีซ่าคนจีนเพียง 14 วัน ซึ่งเพียงพอต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว และเป็นช่วงเวลาโดยเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวจีนใช้ในประเทศไทย

ด้าน ศ.ดร.ปิ่นแก้ว ซึ่งมีลูกศิษย์เป็นชาวจีนที่เข้ามาเรียนใน ม.เชียงใหม่ ได้สะท้อนว่าตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ในประเทศจีนพากันเผยแพร่ข่าวสารในทำนองว่าการเดินทางมายังประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีความปลอดภัย “เพราะให้ฟรีวีซ่ากับใครก็ได้ เลยทำให้ใครก็ได้เดินทางมายังประเทศไทย ไม่ว่าคนดีหรือคนเลว”

“การทบทวนนโยบายฟรีวีซ่าต่างหากที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ เพราะเขาเห็นแล้วว่าเรามีนโยบายคัดกรองผู้คน” อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ กล่าว

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ลลิตา ก็ตั้งคำถามว่าเหตุใดมีพลเมืองจากประเทศแถบแอฟริกาจำนวนมาก เดินทางผ่านไทย และเข้าไปทำงานในเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผู้คนจากประเทศแถบนี้ไม่สามารถเข้าไทยได้หากปราศจากการขอวีซ่าล่วงหน้า

“เราเห็นเหยื่อชาวเอธิโอเปีย ไนจีเรีย เคนยา วัย 20-30 ปี ซึ่งไม่ได้มีท่าทีเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวเลย แต่ทำไมพวกเขาขอวีซ่าจากสถานทูตไทยในแอฟริกามาได้” เธอตั้งคำถาม “ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาทางสถานทูตไทยทำงานคัดกรองอย่างไร แต่ต่อไปนี้ต้องเข้มงวดกับการให้วีซ่ากับคนกลุ่มนี้หรือเปล่า เพื่อสกัดกั้นไม่ให้นายหน้าในต่างประเทศ recruited (รับคนเข้าทำงาน) คนเข้ามาให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเหมือนเดิม”

กลุ่มอาชญากรกำลังเคลื่อนไปทางไหน ?

ที่ผ่านมากลุ่มอาชญากรเหล่านี้ปรับตัวและโยกย้ายฐานทำงานเพื่อหนีการจับกุมและติดตามของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ

ความเฟื่องฟูของเมืองสแกมเมอร์ในเมียวดี เป็นผลจากการปราบปรามสแกมเมอร์ออนไลน์ในกัมพูชาและเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาว ขณะที่การการเติบโตของเมืองสแกมเมอร์ตรงข้ามเมืองช่องแคบ บ้านวัลเลย์ อ.พบพระ รวมถึง เมืองพญาตองซู ตรงข้ามบ้านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นผลจากการกดดันและปราบปรามฐานสแกมเมอร์ในรัฐฉานของประเทศเมียนมา ซึ่งมีจีนเป็นผู้รับบทบาทนำ

“เราเริ่มเห็นจีนเทาทิ้งร้างพญาตองซูไป” ผศ.ดร.ลลิตา บอก และกล่าวว่าตนเองทราบมาว่าบริษัทสแกมเมอร์บางส่วนได้ไหลเข้าไปตั้งหลักในพื้นที่ บก.พัน. 903 สถานที่ฝึกของกองกำลัง DKBA และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (Folks's Protection Forces – PDF) ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านเจ่เชาว์ หรือบ้านเลวะโพ อ.พญาตองซู จ.จะอินเซ็กจี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา แทน

ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม DKBA และ KNA เริ่มเล่นบทบาทเป็นผู้กวดขันจีนเทาและควานหาเหยื่อแก๊งสแกมเมอร์ที่ถูกกักขังอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ในฐานทำงานของพวกจีนเทาอย่างแข็งขัน โดยระบุตัวเลขเหยื่อที่คาดว่าจะส่งกลับจากหลักร้อยคนเป็น 7,000 คน ภายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ศ.ดร.ปิ่นแก้วมองว่า การปล่อยตัวเหยื่อจำนวนมากเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางหนึ่งสามารถมองได้ว่าทางกลุ่มกองกำลังถูกบีบจากทางการจีน ไทย และเมียนมาอย่างหนักจนต้อง “รับบทตามน้ำ เพื่อความอยู่รอด” มากกว่าจะปรับตัวเลิกทำธุรกิจผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

เธอตั้งข้อสังเกตว่าการปล่อยเหยื่อจำนวนมากอาจเป็นความพยายามลดแรงกดดัน ขณะที่ทางบริษัทสแกมเมอร์ซึ่งถูกตัดโครงสร้างพื้นฐานก็เห็นว่าจำเป็นต้องลดกิจกรรมลง ไม่สามารถทำงานเช่นเดิมได้ ดังนั้นการปล่อยตัวแรงงานระดับล่างที่ไม่ได้มีความสำคัญในระดับบอสจีน ผู้จัดการ และโปรแกรมเมอร์ผู้ดูแลแพลตฟอร์ม ย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะผู้คุมระบบหลังบ้านยังคงปลอดภัยดี

“พวกเขาอาจประเมินว่าไทยน่าจะดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ประมาณ 6 เดือน ในช่วงนี้ก็แค่ชะลอกิจกรรมไปก่อน แล้วกลับมาดำเนินกิจกรรมอีกครั้งหลังจากนี้” อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ กล่าว และเสริมว่าจากการเก็บข้อมูลวิจัยและได้พูดคุยกับล่ามซึ่งทำงานกับบอสจีน พบว่าชาวจีนเหล่านี้มีธุรกิจหลายอย่าง

“เขาบอกว่าบอสมีธุรกิจหลายอย่างในไทย เช่น ขายของ ทำร้านอาหาร” ศ.ดร.ปิ่นแก้ว บอก “ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเลย หากในช่วงนี้เขาจะปิดบริษัทลง แล้วเข้ามาทำธุรกิจถูกกฎหมายอื่น ๆ ในไทย”

อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ มองว่า หากสแกมเมอร์ชายแดนไทย-เมียนมา จะหาฐานทำงานแห่งใหม่ กัมพูชาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร