แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/8ndo | ดู : 10 ครั้ง
ทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทย-ผ่านบทบาท-‘ธานินทร์-กรัยวิเชียร’

ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 97 ปี เมื่อ 23 ก.พ.2568 เขาเป็นบุคคลซึ่งเคยมีบทบาทสูงยิ่งในช่วงหนึ่งของการเมืองไทย และยังคงเป็นอาจารย์นักกฎหมายผู้ยิ่งใหญ่สืบต่อมา

การสูญเสียบุคคลสำคัญซึ่งเป็นทั้งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2520-2559) นำมาซึ่ง ‘คำไว้อาลัย’ ที่สะท้อนภาพการมองบทบาทของเขาที่เกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นข้อความของ ‘จักรภพ เพ็ญแข’ ที่กล่าวถึงบทบาทอาจารย์นักกฎหมายที่มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์ตัวตึงระดับชาติ เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วิษณุ เครืองาม ธงทอง จันทรางศุ เป็นต้น บทบาทต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยและรุนแรงในเวลานั้น โดยการเขียนตำรับตำราและเดินสายบรรยายทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั่วประเทศและในโทรทัศน์ ทั้งยังก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผู้ถูกยึดอำนาจเมื่อตอนหกโมงเย็นของวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ไม่ว่าจะเป็นข้อความของ ‘ธงทอง จันทราศุ’ ที่เล่าประสบการณ์ในแง่มุมส่วนตัวสมัยเรียนนิติศาสตร์และได้สัมพันธ์กับ ‘อาจารย์’ ที่เคารพรัก หลังเป็นองคมนตรีแล้วก็ยังเขียนหนังสือรับรองให้สำหรับการศึกษาต่อต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นข้อความของ ‘ไพศาล พืชมงคล’ ที่เล่าถึงประสบการณ์ระหว่างธานินทร์กับสำนักงานธรรมนิติ รวมทั้งกล่าวถึงลูกศิษย์คนสำคัญที่อาจารย์ธานินทร์ไว้วางใจและเก่งกล้าสามารถ ทรงคุณธรรมอย่างยิ่ง อย่าง ศ.วิชา มหาคุณ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ชุดของมีชัย ฤชุพันธ์ุ

หากเราหาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ในช่วงหลัง เราจะพบคำอธิบายยุคของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ในหลากหลายเล่มที่สะท้อนบทบาทในบริบทของ ‘สงครามคอมมิวนิสต์’ จึงขอคัดบางช่วงตอนมานำเสนอ ซึ่งแม้ผู้อ่านไม่มีพื้นฐานประวัติศาสตร์การเมืองที่แม่นยำก็ยังพอมองเห็นภาพบางส่วนได้

“ระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ 2516-2519 การเติบโตของนักศึกษาประชาชนหัวเอียงซ้าย การขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมทั้งทฤษฎีโดมิโนที่เกิดขึ้นภายหลังสามประเทศอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518 ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับชนชั้นนำอย่างสูง ความพยายามฟื้นฟูระบอบเผด็จการจึงเกิดขึ้นอีกครั้งโดยอาศัยการเดินทางกลับไทยหลังบวชเป็นสามเณรของถนอม ซึ่งกลายเป็นชนวนของอาชญากรรมรัฐต่อประชาชนเป็นครั้งที่สอง กองกำลังของรัฐและกึ่งรัฐที่เป็นกลุ่มขวาจัดบุกเข้าปราบปรามการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาประชาชนด้วยอาวุธสงครามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิต 46 คน รอดเสียชีวิตถูกจับกุม 3,154 คน ชนชั้นนำใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารอีกครั้ง แล้วสถาปนารัฐบาลขวาจัดที่มี ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น ‘นายกพระราชทาน’ พร้อมแผนแม่บท 12 ปีและการปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างแข็งกร้าวจนผลด้านกลับทำให้นักศึกษาหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.และจับอาวุธลุกขึ้นสู้กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่กระจายไปทั่วประเทศ รัฐบาลขวาตกขอบนี้มีอายุได้เพียง 1 ปี ก็ถูกโค่นล้มด้วยคณะปฏิวัติชุดเดิม การเมืองไทยกลับสู่ยุคที่ผู้นำทหารมีบทบาทหลักอีกครั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทหารปีกปฏิรูป ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินหน้านโยบายประนีประนอมกับฝ่ายซ้าย แต่ความพยายามควบรวมอำนาจมากเกินไปของเขาก็ทำให้ในที่สุดสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำไทยเลือกสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แทน จากนั้นหลังต้นทศวรรษ 2520 การเมืองไทยจึงเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ผู้นำทหารกับสถาบันกษัตริย์ผูกสัมพันธ์กันแนบแน่นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ตอนหนึ่งในหนังสือ ‘เนื้อในระบอบถนอม ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ.2506-2516’ โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (สนพ.ฟ้าเดียวกัน, 2566)

ชื่อของธานินทร์ยังไม่อาจแยกขาดจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะหลังเกิดเหตุล้อมปราบอย่างรุนแรงในช่วงเช้ามืด ตกเย็นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจ ต่อมาอีก 2 วันก็แต่งตั้ง ธานินทร์ ขึ้นเป็นนายกฯ

“นายธานินทร์ นั้นเป็นบุตรของนายแห กรัยวิเชียร เจ้าของโรงรับจำนำที่ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2470 จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบเนติบัณฑิตจากอังกฤษและเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมมิวนิสต์ ขณะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา นายธานินทร์อายุ 50 ปี ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้ยินชื่อในวงการเมืองมาก่อนเลย นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ออกรายการโทรทัศน์ชื่อ ‘สนทนาประชาธิปไตย’ ร่วมกับนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ และเมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว นายธานินทร์ก็เป็นที่ปรึกษาสำคัญของคณะปฏิรูปในการดำเนินการมาตรการทางกฎหมาย….

“คณะปฏิรูปได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ยกเลิกรัฐสภาและการเลือกตั้ง ยุบพรรคการเมือง แล้วให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย 13 คนร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม คณะปฏิรูปก็ได้ประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งมีทั้งหมด 29 มาตรา และมีมาตรา 21 ที่ให้อำนาจสิทธิขาดแก่นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเพื่อความมั่นคง ตามธรรมนูญนี้ให้อำนาจอย่างมากแก่ฝ่ายบริหาร และกำหนดให้มีสภาปฏิรูปทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกส่วนมากแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ เช่นเดียวกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ไม่มีสภาจาการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะทหารทั้งหมด 24 คนที่ทำการยึดอำนาจทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินคอยกำกับความเป็นไปของรัฐบาล นายธานินทร์ก็ยอมรับสถานะเช่นนี้ โดยเปรียบเทียบว่า คณะรัฐบาลที่บริหารประเทศก็เปรียบเหมือนเนื้อหอย คณะทหารก็เหมือนเปลือกหอยที่ทำหน้าที่คุ้มครอง ดังนั้น รัฐบาลธานินทร์จึงได้สมญาต่อมาว่า รัฐบาลหอย”

ตอนหนึ่งในหนังสือ ‘สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย’ โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บริษัทพี.เพรส, 2551)

ในนามานุกรมท้ายหนังสือชื่อ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวง ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530’ โดยอาสา คำภา (สนพ.ฟ้าเดียวกัน, 2564)  อธิบายชื่อของธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่า

“อดีตข้าราชการตุลาการ ‘สายวัง’ ผู้มีความใกล้ชิดกับราชสำนักตั้งแต่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ช่วงต้นทศวรรษ 2510 เขาเป็นหนึ่งในพระสหายร่วมเล่นกีฬาแบดมินตันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นสมาชิก สนช.กลุ่มดุสิต 99 ธานินทร์มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายการกระทำอันเป็นคอมนิวนิสต์ ช่วงปี 2518-2519 เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะวิทยากร “นักต่อต้านคอมมิวนิสต์” หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เขาได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี…..”

อย่างไรก็ดี รัฐบาลธานินทร์ มีอายุได้เพียง 1 ปี 12 วันก็ถูกรัฐประหารยึดอำนาจ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็นผู้นำเขาขึ้นสู่ตำแหน่งและนำเขาลงจากตำแหน่ง ในหนังสือของอาสา คำภา วิเคราะห์สาเหตุความอายุสั้นของรัฐบาลว่า นั่นเป็นเพราะบุคลิกความซื่อสัตย์ เถรตรง เป็นตัวของตัวเองสูงของธานินทร์ และแนวทางการดำเนินนโยบายแบบขวาจัดที่ทำให้ขัดแย้งกับพันธมิตรในเครือข่ายชนชั้นนำ ทั้งข้าราชการ นายทุนธุรกิจ รวมทั้งกับฝ่ายทหารเอง ทำให้ ‘แปลกแยก’ จากเครือข่ายชนชั้นนำอื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ที่ต่อมาหลังการยึดอำนาจ ได้เป็นนายกฯ ต่อจากธานินทร์) แต่แม้เขาจะไม่ฟังคณะปฏิรูปฯ เช่น การแต่งตั้งรัฐมนตรีตามใจตนเองเพราะเชื่อว่าจะดีที่สุด ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามกระชับความสัมพันธ์กับกองทัพด้วยการสนับสนุนแผนการปรับปรุงแสนยานุภาพของกองทัพตามที่คณะปฏิรูปฯ เสนอ ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อป้องกันประเทศเป็นจำนวนถึง 20,000 ล้านบาท เมื่อ 29 พ.ย.2520 จากธนาคารโลกและซาอุดิอาระเบีย กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี และเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศจากปีก่อนหน้าราว 3,000 ล้าน

ตัวอย่างลักษณะนโยบายแข็งกร้าวในยุคสมัยของรัฐบาลธานินทร์ อาทิ

  • ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ มีอำนาจกักตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วันหากสงสัยว่าเป็นภัยความมั่นคง
  • ปรับประกาศคำสั่งคณะปฏิรูปทำให้เจ้าพนักงานจับ ค้น ควบคุมตัวผู้เข้าข่ายต้องสงสัยเป็นภัยความมั่นคงโดยไม่ต้องใช้หมายจับหรือหมายค้น
  • กำหนดลักษณะบุคคล ‘ภัยสังคม’ เพื่อกำราบการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานซึ่งมีจำนวนมากในเวลานั้น ผู้ต้องสงสัยจะถูกคุมตัวได้ 30 วัน ตลอด 1 ปีเศษ มีผู้ต้องหาประมาณ 8,000 คนที่ถูกจับกุมข้อหาภัยสังคม
  • มาตรา 21 ของธรรมนูญชั่วคราว คล้ายกับมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ 2502 ยุคสฤษดิ์ ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกฯ แต่เพียงผู้เดียว ในการตัดสินโทษผู้กระทำความผิดบางประเภท คล้ายกับยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์
  • มีการควบคุมสื่ออย่างหนักหน่วง  ปิดหนังสือพิมพ์ไปถึง 22 ครั้ง โดยถูกหยุดใช้ใบอนุญาต 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง ไปจนถึง 15 – 30 วัน
  • มีการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้ามและเผาหนังสือต้องห้าม
  • ฟื้นฟูการยืนตรงเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น.และ 18.00 น.
  • ข้าราชการต้องเข้าอบรมโดยวิทยากรจาก กอ.รมน.เพื่อผูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กรมกองละ 2 สัปดาห์ต่อวัน ซึ่งมีการจัดอยู่เสมอ
  • ในทางการต่างประเทศเลือกใช้นโยบายไม่คบค้ากับประเทศสังคมนิยมใด มีการออก พ.ร.บ.ห้ามคณะผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปติดต่อเป็นทางการกับประเทศคอมมิวนิสต์

เป็นต้น

ลักษณะการดำเนินนโยบายเช่นนี้ส่งผลให้ยิ่งเร่งปฏิกิริยาให้นักศึกษาเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท.มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับการยอมรับจากเครือข่ายชนชั้นนำอื่นๆ อีกต่อไป

หนังสือดังกล่าววิเคราะห์ว่าธานินทร์เชื่อว่า “ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองต้องมาก่อน และสิ่งอื่นจะตามมาทีหลัง” ดังที่เคยให้ความเห็นในรายการสนทนาประชาธิปไตยว่า “หากเราลองชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเราต้องเคารพนี้ กับอ้ายความมั่นคงของรัฐ กับภัยคอมมิวนิสต์นี่ ก็ต้องกลับมาปัญหาอย่างแรกที่ผมได้เรียนไว้ว่ามันคุ้มกันไหม ผมถึงเห็นว่า ความมั่นคงของประเทศต้องมาก่อน”

ในทางรัฐธรรมนูญ ในสมัยรัฐบาลธานินทร์นี้เอง ที่ปรากฏคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นครั้งแรก อยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 2519 นอกจากนี้ในยุคนี้ยังเพิ่มโทษกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ให้เป็นจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี

ประชาธิปไตยไทยเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ อย่างพิศดารตลอดเส้นทางราว 93 ปีของมัน และช่วง 1 ปีเศษในยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งบริบทสถานการณ์โลกแหลมคมหนัก ก็นับเป็นช่วงเวลาที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

‘กรมคุมประพฤติ’เผยสถิติคดีสงกรานต์ ‘เมาแล้วขับ’ยังพุ่ง-ยอดสะสม 2 วันกว่า 1,300 คดี

เปิด "สถิติหวยวันที่ 16 เมษายน" ย้อนหลัง 10 ปี ที่ผ่านมา (2558-2567) | ข่าวช่อง8

เดบิวต์ ศิลปินหน้าใหม่ จาก CIB กับบทเพลงด้วยรักและห่วงใย… .

สวัสดีปีใหม่ไทย ขอให้ทุกท่านมีแต่ความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแ

! เข้าสู่ครึ่งเดือน หวังปาฏิหาริย์แสงไฟในโพรงซากตึก สตง

‘คมนาคม' กังวลภาระดอกเบี้ย Vo สายสีแดง ตรวจสอบเนื้องานเพิ่ม ก่อนพิจารณาปรับกรอบวงเงิน

ราชกิจจาฯ แพร่ ‘พ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่’ แบงก์-ค่ายมือถือรับผิดด้วย โทษปรับสูงสุด 5 แสน

ยิ่งเย็น สีลม ยิ่งคึกคัก ภาพมุมสูง ที่ถนนสีลม ขณะนี้มีพี่น้อ 2025-04-12 08:39:00

สันธนะ ถูกลอบยิvหนังสติ๊ก ท้าใช้ปืนจริงยิvเลย 100 วันชำระคืน 12 เม.ย

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/8ndo | ดู : 10 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend