
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 – พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ให้สถาบันการเงิน-ค่ายมือถือ รับผิดชอบความเสียหายจากภัยไซเบอร์ โทษปรับสูงุสุด 5 แสนบาท-จำคุกสูงสุด 1 ปี มีผลบังคับใช้ 13 เมษายน 2568
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org.) รายงานว่า วันที่ 12 เมษายน 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ฉบับแรก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 10 มาตรา สาระสำคัญ อาทิ มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า ผู้ประกอบการ ในมาตรา 3 ของพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และให้ใช้ความว่า ผู้ประกอบธุรกิจ หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามความหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
มาตรา 4 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) และ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 4 แห่งพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 4 เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีที่มี ‘เหตุอันควรสงสัย’ ว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้อง และกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เห็นชอบร่วมกัน”
มาตรา 6 ให้เพิ่มความมาตรา 4/1 วรรคสอง ว่า ให้ผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่นมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาการบริการสารสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรฐานหรือมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทสช.) กำหนด
มาตรา 4/2 เมื่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ศปอท.” (ศูนย์จัดตั้งใหม่ในสำนักงานปลัดกระทรวงดีอีเอส ตามมาตรา 8/5) ได้แจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการเปิดบัญชี ระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรม หรือปิดบัญชีกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว จนกว่าจะมีการเพิกถอนรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น
มาตรา 9 ให้เพิ่ม มาตรา 8/10 ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริหารสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 8/11 สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 4/2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท ในกรณีเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือนิติบุคคล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 ให้เพิ่ม มาตรา 11/1 ในกรณีที่ผู้ซื้อหมายเลขโทรศัพท์ลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ คณะกรรมการ กสทช. หรือ สำนักงาน กสทช.กำหนด โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11/2 ผู้ใดใช้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือผู้ถึงแก่กรรมซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงผู้ใดเก็บรวบรวม ครอบครอง หรือเปิดเผยข้อมูล เพื่อกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ : https://ratchakitcha.soc.plod.th/documents/67320.pdf
ฉบับที่สอง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 4 มาตรา โดยสาระสำคัญในมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 26 แห่งพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาญาจักรไทยแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่เป็นการให้บริการตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด”
อ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงค์ : https://ratchakitcha.soc.plod.th/documents/67321.pdf
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )