
สารพันความรู้เรื่องครีมกันแดด ทาอย่างไรผิวไม่แก่ไม่คล้ำ ไม่เป็นมะเร็งผิวหนัง

ที่มาของภาพ : Getty Photos
Article data
- Author, เจสสิกา แบรดลีย์
- Role, บีบีซี ฟิวเจอร์
การทาครีมกันแดดเป็นประจำ คือหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma pores and skin cancer) กว่า 80% เกิดจากผิวถูกแดดเผาไหม้เกรียม และตัวเลขสถิติผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยแพทย์ประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ถึง 1.5 ล้านรายทั่วโลก ทั้งคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 50% ภายในปี 2040
แม้จะมีการเผยแพร่ข่าวถึงสถิติผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่น่าตกใจดังกล่าว ทั้งองค์กรสาธารณสุขต่าง ๆ ก็ได้ออกคำเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเน้นย้ำถึงอันตรายของแสงแดดที่ร้อนแรงอย่างยิ่งในทุกวันนี้ แต่หลายคนก็ยังคงเพิกเฉยไม่ทาครีมป้องกันแสงแดด หรือยังคงมีความสับสนไม่เข้าใจถึงวิธีใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง บีบีซีจึงรวบรวมข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับสารพัดข้อสงสัยว่าด้วยครีมกันแดดไว้ดังต่อไปนี้
เหตุใดเราต้องปกป้องผิวจากแสงแดด
นพ. ริชาร์ด กาโญ อาจารย์แพทย์โรคผิวหนังจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก (UCSD) อธิบายว่าเมื่อผิวหนังของคนเราสัมผัสกับแสงแดด รังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือยูวี (UV) พลังงานสูง จะทำลายสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) รวมทั้งโปรตีนและโมเลกุลของสารอื่น ๆ ในเซลล์ผิวหนังด้วย
หากผิวของมนุษย์สัมผัสกับแสงแดดในระดับปานกลาง รังสียูวีในแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดี (D) ขึ้นมาได้ แต่หากเราโดนแดดที่มีความร้อนแรงสูงในระยะเวลาที่นานขึ้น ผิวหนังจะพยายามปกป้องตนเองโดยผลิตเม็ดสีออกมาเพิ่มจนผิวคล้ำลง “หากระดับของการสัมผัสโดนแสงแดดนั้นสูงมากเกินไป ผิวหนังจะไม่สามารถปกป้องตนเอง และผิวของคุณจะเกิดการไหม้แดด (sunburn) ในที่สุด” นพ.กาโญกล่าว
“ภาวะผิวไหม้แดดจะทำให้ดีเอ็นเอได้รับความเสียหาย ซึ่งจะนำไปสู่การที่ผิวหนังแก่ก่อนวัย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังให้เพิ่มสูงขึ้น” นพ.กาโญยังกล่าวเสริมด้วยว่า การโดนรังสียูวีคือสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบบ่อยมากที่สุด
“ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำ ช่วยลดการสัมผัสโดนรังสียูวีในแสงแดดลงได้เล็กน้อย แต่โดยทั่วไปแล้ว ครีมกันแดดแบบนี้ยังคงเปิดโอกาสให้ความเสียหายและอันตรายต่าง ๆ เกิดขึ้นกับผิวหนังได้เสมอ เพราะรังสียูวีนั้นสามารถจะเป็นสารก่อมะเร็งได้ แม้ร่างกายจะโดนรังสียูวีในระดับเพียงเล็กน้อย” นพ.กาโญกล่าว

ที่มาของภาพ : Getty Photos
SPF คืออะไร และเราต้องใช้ครีมกันแดดที่มี SPF เท่าไหร่
ค่าประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดหรือ “เอสพีเอฟ” (solar protection bid – SPF) มักถูกแสดงเป็นตัวเลขอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ของครีมกันแดด โดยค่า SPF ช่วยบ่งบอกว่า ครีมกันแดดนั้นสามารถรับปริมาณรังสียูวีได้เท่าใด ก่อนจะหมดประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดไป
ยิ่งตัวเลข SPF สูงขึ้นเท่าไหร่ ผิวของเราก็จะยิ่งได้รับการปกป้องในระดับสูงขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ค่า SPF บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีบี (UVB) เท่านั้น ส่วนความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ (UVA) จะถูกบ่งบอกโดยใช้ระบบการให้คะแนนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบทความนี้จะอธิบายโดยละเอียดในภายหลัง
ระดับความเข้มข้นรุนแรงของรังสียูวี เปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาในช่วงกลางวัน แต่ในช่วงที่แสงแดดแผดเผารุนแรงที่สุดของวัน ระหว่าง 10.00 – 16.00 น. ผิวของเราจะได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ในระดับสูงเกินไป
วิธีทาครีมกันแดดแบบไหนดีที่สุด
ผลการศึกษาหนึ่งเมื่อปี 2018 พบว่าหลังจากทาครีมกันแดดลงบนผิวหนังแล้ว คุณสมบัติบางอย่างในการป้องกันรังสียูวีจะเริ่มออกฤทธิ์ได้ทันที แต่เราอาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 นาที กว่าที่ครีมกันแดดจะมีความเสถียรในเรื่องของประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำโดยทั่วไปว่า ควรรอ 20-30 นาที หลังทาครีมกันแดด เพื่อให้ครีมซึมเข้าสู่ผิวก่อนจะออกจากที่ร่มไปสัมผัสโดนแดดกลางแจ้ง ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำให้ทาครีมกันแดดซ้ำสองครั้ง เพราะมีผลการวิจัยบ่งชี้ว่า คนส่วนใหญ่มักทาครีมกันแดดในปริมาณที่ไม่มากพอ
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งได้ทดลองให้อาสาสมัคร 31 คน ทาครีมกันแดดภายใต้แสงสีม่วง (sad mild) ซึ่งมีรังสียูวีอยู่ ก่อนจะพบว่าการทาครีมกันแดดทับซ้ำลงไปอีกชั้นก่อนออกแดด ช่วยลดพื้นที่ผิวของส่วนที่ไม่ได้รับการปกป้องให้น้อยลงสองเท่า เพราะการทาครีมซ้ำจะช่วยปกคลุมผิวส่วนที่ไม่โดนครีมกันแดดในการทาครั้งแรก
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ทาครีมกันแดดซ้ำหลังเหงื่อออก หรือหลังจุ่มอวัยวะส่วนที่ทาครีมกันแดดลงแช่ในน้ำ รวมทั้งทาซ้ำเมื่อผิวหนังบางส่วนไปขัดถูกับเสื้อผ้าหรือทราย
ดร.ริชาร์ด แบล็กเบิร์น อาจารย์ผู้สอนประจำสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ที่ยั่งยืน (sustainable materials) จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของสหราชอาณาจักร ให้คำแนะนำว่าไม่ควรผสมครีมกันแดดเข้ากับเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอื่น ๆ เช่นสารให้ความชุ่มชื้นหรือมอยส์เจอไรเซอร์ เพราะครีมกันแดดหลายยี่ห้อมีส่วนผสมของอนุภาคนาโนที่เป็นโลหะ เช่นสังกะสีออกไซด์ (ZnO) หากนำไปผสมปนเปกันตามใจชอบแล้ว สารกันแดดดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ ในเครื่องสำอาง จนครีมกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพได้
“คำเตือนนี้ไม่ได้บอกให้เราเลิกใช้ครีมกันแดด แต่เน้นย้ำถึงหลักปฏิบัติสำคัญที่เราควรต้องทาครีมกันแดดทุกวัน โดยในภูมิภาคยุโรป ทุกคนจะต้องทาครีมกันแดดตลอดช่วงฤดูกาลที่มีแสงแดดจ้า ตั้งแต่เดือนเม.ย. ไปจนถึง ก.ย. ของทุกปี” ดร.แบล็กเบิร์นกล่าว
สูตรในการผลิตครีมกันแดดของสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่นั้น สามารถไว้วางใจได้ว่าจะปกป้องผิวจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่นำไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอื่น ๆ ดร.แบล็กเบิร์นยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ควรผสมครีมกันแดดต่างสูตรต่างยี่ห้อเข้าด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สารเคมีต่าง ๆ ออกฤทธิ์ขัดแย้งกันเอง
ครีมกันแดดของสหรัฐฯ ต่างจากของอังกฤษหรือไม่
ครีมกันแดดที่วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักร มีความแตกต่างจากครีมกันแดดที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ อยู่บ้างในบางเรื่อง เพราะครีมกันแดดในตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันนั้น ถือว่าเป็น “ยา” ที่สามารถวางจำหน่ายได้ตามร้านค้าทั่วไป โดยผู้ซื้อไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ในขณะที่ครีมกันแดดของอังกฤษและที่วางขายในสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น ถือว่าเป็น “เครื่องสำอาง”
ความแตกต่างในการจัดประเภทดังกล่าว ทำให้ครีมกันแดดที่เตรียมนำออกวางจำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องผ่านกระบวนการควบคุมตรวจสอบความปลอดภัยและมาตรฐานของส่วนผสมต่าง ๆ ยาวนานกว่าของที่อื่น ดังนั้นกว่าที่สารกันแดดตัวใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม จะผ่านการอนุมัติให้ใช้กับผู้บริโภคทั่วไปในสหรัฐฯได้ ทางฝั่งยุโรปที่ไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดเท่าก็อาจจะแซงหน้าไปก่อนนานแล้ว จนมีผลการวิจัยพบว่า ครีมกันแดดหลายยี่ห้อจากสหรัฐฯ มีค่าประสิทธิภาพการปกป้องรังสียูวีเอไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปที่กำหนดไว้สูงกว่า
ผิวไหม้แดดได้ไหมหากมีกระจกกั้น ?
นพ.กาโญ ตอบคำถามนี้ว่า การใช้กระจกกรองแสงเพื่อหลบเลี่ยงรังสีอันตรายในแสงแดดนั้น สามารถป้องกันรังสียูวีบี ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดได้เกือบทั้งหมด แต่กระจกกรองแสงก็ยังปล่อยให้รังสีที่สร้างความเสียหายระดับต่ำต่อผิว เล็ดลอดผ่านเข้ามาถึงตัวเราได้บางส่วน ดังนั้นการนั่งตากแดดที่ส่องเข้ามาทางกระจกหน้าต่างหรือประตูบ่อย ๆ ก็สามารถทำให้ผิวเสียได้ เนื่องจากผิวได้สัมผัสกับรังสียูวีเอ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดริ้วรอยแห่งวัยชรา และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนผิวหนังถึง 90%

ที่มาของภาพ : Getty Photos
ครีมกันแดดจะหมดอายุเมื่อไหร่
เมื่อเวลาผ่านไปครีมกันแดดจะค่อย ๆ เสื่อมประสิทธิภาพลงเรื่อย ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ครีมกันแดดที่ดีควรจะคงประสิทธิภาพของมันเอาไว้ได้นานสูงสุดถึง 3 ปี หลังวันที่ผู้บริโภคซื้อหามาจากชั้นวางจำหน่าย ขวดบรรจุครีมกันแดดส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักร จะมีสัญลักษณ์รูปโถหรือกระปุก ซึ่งระบุว่าครีมกันแดดนั้นจะมีอายุการใช้งานต่อไปได้กี่เดือนหลังถูกเปิดใช้
ด้านคณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอ (FDA) ของสหรัฐฯ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์กันแดดทุกยี่ห้อมีอายุการเก็บรักษาหลังจำหน่ายอย่างต่ำ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องเก็บให้พ้นแสงแดดในสถานที่ซึ่งไม่ร้อนเกินไป หรือไม่อย่างนั้นผู้ผลิตก็ต้องระบุวันเดือนปีที่หมดอายุให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ผู้บริโภคตรวจสอบครีมกันแดดด้วยตนเอง ว่ามีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อสารกันแดดเช่นลักษณะของความคงตัวหรือสีครีม ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่ การเก็บรักษาครีมกันแดดในที่ร่มโดยไม่ให้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในสถานที่ร้อนจัดอย่างเช่นรถยนต์ ก็ช่วยยืดอายุของครีมกันแดดไม่ให้เสื่อมสภาพเร็วจนเกินไปได้
ครีมกันแดดขัดขวางการสร้างวิตามินดีจริงหรือ
วิตามินดี (D) มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูดซึมแคลเซียม เพื่อนำไปเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานเป็นปกติอีกด้วย บางคนจึงอาจมีความวิตกกังวลว่า การทาครีมกันแดดจะขัดขวางไม่ให้ร่างกายได้รับรังสียูวี ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างวิตามินดีได้ แต่ผลการวิเคราะห์ทบทวนงานวิจัยหลายชิ้นในอดีตกลับพบว่า โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงที่เราจะขาดวิตามินดีเพราะทาครีมกันแดดนั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก
ครีมกันแดดมีสารพิษปนเปื้อนอยู่หรือไม่
บางคนอาจเคยได้ยินข่าวที่ว่า ครีมกันแดดมีส่วนผสมบางอย่างที่อาจสะสมจนเป็นพิษในร่างกายของคนเราได้ ทว่าหลักฐานจากการตรวจสอบส่วนผสมต่าง ๆ ของครีมกันแดดหลายยี่ห้อ ที่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในสหรัฐฯ ยุโรป และสหราชอาณาจักรได้นั้น ล้วนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีในการปกป้องผิวจากแสงแดด และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอันตรายบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ กับประโยชน์มากมายมหาศาลที่จะได้รับจากการทาครีมกันแดดแล้ว เหล่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าควรเลือกใช้ครีมกันแดดจะเป็นการดีกว่า
อย่างไรก็ตาม นพ.กาโญบอกว่าผู้ใช้บางคนอาจเกิดผื่นแดงได้ หากแพ้ส่วนผสมบางอย่างของครีมกันแดด เขายังบอกว่าประเด็นนี้คือปัญหาที่น่าห่วงกังวลอย่างแท้จริงยิ่งกว่าเรื่องสารพิษ “ความเชื่อเรื่องสารพิษในครีมกันแดดนั้น เป็นการกล่าวอ้างเกินจริงเพื่อสร้างความตื่นตระหนกของคนบางกลุ่ม และหากจะมีสารพิษอยู่ในนั้นจริงแล้ว มันเทียบไม่ได้เลยกับพิษร้ายจากรังสียูวี ครีมกันแดดนั้นปลอดภัยหากใช้ตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งผลที่ได้นั้นดีกว่าปล่อยให้ตัวเองเป็นมะเร็งผิวหนังมาก”

ที่มาของภาพ : Getty Photos
ผู้ใหญ่ควรทาครีมกันแดดมากแค่ไหน
เอฟดีเอแนะนำให้ทาครีมกันแดดลงบนผิวหนัง ในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร (2 mg / cm2) ซึ่งเป็นปริมาณที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของครีมกันแดดทั่วไป หากเราทาครีมกันแดดในปริมาณน้อยกว่านี้ ประสิทธิภาพในการปกป้องรังสียูวีก็อาจลดลง จนไม่ถึงระดับที่ระบุเอาไว้บนบรรจุภัณฑ์
หากคิดเป็นหน่วยชั่วตวงวัดที่กะประมาณได้ง่าย ๆ แล้ว ผู้ใหญ่รูปร่างสันทัดปานกลาง ควรทาครีมกันแดดอย่างน้อย 6 ช้อนชา สำหรับพื้นที่ผิวบนใบหน้าและส่วนของร่างกายที่ยื่นออกมานอกร่มผ้าทั้งหมด แต่ผลการศึกษาในอดีตชี้ว่า คนส่วนใหญ่มักทาครีมกันแดดในปริมาณน้อยกว่านั้นมาก จนไม่ได้รับการปกป้องเพียงพออย่างที่คิด
เด็กอ่อนและเด็กเล็กควรทาครีมกันแดดไหม
ผิวหนังของเด็กน้อยนั้นไวต่อรังสียูวียิ่งกว่าผู้ใหญ่ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องปกป้องผิวอ่อนบางของเด็กจากแสงแดด อย่างไรก็ตาม เด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรทาครีมกันแดดเลย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ควรนำลูกอ่อนออกไปตากแดดโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้อาจใช้เสื้อผ้าหลวม ๆ ปกปิดผิวกายของเด็กแทน รวมทั้งให้เด็กหลบอยู่ในร่มเงาเสมอ
สำหรับเด็กเล็กที่โตขึ้นมาสักหน่อย อาจใช้ครีมกันแดด 2 ช้อนชา ทาทั่วร่างกายให้กับเด็กวัยสองขวบขึ้นไป, ส่วนเด็กวัย 5 ขวบนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ช้อนชา, วัย 9 ขวบจะใช้ครีมกันแดดถึง 4 ช้อนชา, ในขณะที่เด็กอายุ 13 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ช้อนชา สำหรับเด็กโตที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงด้วย
ควรเลือกใช้ครีมกันแดดแบบไหนดี
สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจดจำไว้เสมอก็คือ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ซึ่งบนฉลากระบุคำว่า “ช่วงสเปกตรัมกว้าง” (board spectrum) หมายถึงว่าครีมกันแดดนั้นสามารถป้องกันได้ครอบคลุมหลายช่วงสเปกตรัมของแสง ทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี
สำหรับการบ่งบอกค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอนั้น ทั่วโลกใช้กันอยู่ 2 ระบบ โดยที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งในอีกหลายประเทศในเอเชีย ใช้ระดับคะแนนหรือเกรดการป้องกัน (Safety Grade – PA) ซึ่งในบางครั้งอาจใช้อักษรย่อ UVA-PF หรือ PPD แทนได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ใช้ประเมินความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ ค่าการปกป้องสูงสุดของระบบนี้คือ PA++++ ซึ่งหมายความว่าผิวของคุณได้รับการปกป้องจากรังสียูวีเอ สูงกว่าเวลาปกติที่ไม่ทาครีมกันแดดถึง 16 เท่า ส่วนค่า PA ที่มีสัญลักษณ์ + หรือ * น้อยกว่านี้ จะมีประสิทธิภาพในการปกป้องยูวีเอลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ
ส่วนการบ่งบอกค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเออีกระบบนั้น ใช้กันแพร่หลายในยุโรปและสหราชอาณาจักร เรียกว่า “ระบบดาวคะแนนยูวีเอ” (UVA star rating) ซึ่งจะปรากฏเป็นสัญลักษณ์วงกลมที่มีอักษร UVA อยู่ข้างใน ตามมาด้วยสัญลักษณ์รูปดาวเรียงกัน ซึ่งหากมีจำนวนของดาวอยู่มาก ยิ่งแสดงว่ามีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีเอสูง เมื่อคิดเทียบกับสัดส่วนของประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีบี
นั่นหมายความว่า ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 และมีดาวคะแนนยูวีเอ 5 ดวง จะมีความสามารถในการป้องกันรังสียูวีทั้งสองชนิด สูงกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 และมีดาวคะแนนยูวีเอเท่ากันที่ 5 ดวง
ดร.แบล็กเบิร์นแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดในระบบข้างต้น ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และต้องมีดาวคะแนนยูวีเอ 5 ดวง รวมทั้งใช้มาตรการเสริมคือสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวด้วย บรรดาองค์กรการกุศลที่รณรงค์เพื่อการป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง ต่างก็แนะนำให้ทุกคนทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันตลอดปี กับผิวหนังทุกส่วนที่ยื่นออกมานอกร่มผ้า รวมทั้งพยายามจำกัดการใช้เวลาอยู่กลางแจ้ง แม้จะได้ทาครีมกันแดดแล้วก็ตาม
ซันสครีนและซันบล็อกต่างกันอย่างไร
ครีมกันแดดแบบซันสครีน (sunscreen) คือสารเคมีซึ่งทำหน้าที่เป็นม่านหรือฉาก ที่คอยกั้นกลางระหว่างตัวคุณกับแสงแดดไม่ให้สัมผัสกัน โดยจะดูดซับรังสียูวีที่ตกกระทบผิวแล้วเปลี่ยนมันเป็นพลังงานความร้อน ในขณะที่ซันบล็อก (sunblock) คือครีมกันแดดที่สร้างเกราะป้องกันทางกายภาพให้ผิว โดยจะสะท้อนรังสียูวีออกไปไม่ให้ผ่านเข้าสู่ผิวได้
คำเตือน: เนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลทั่วไปเท่านั้น ผู้อ่านไม่ควรนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติแทนคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพการดูแลสุขภาพ บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ต่อการวินิจฉัยโรคของผู้อ่าน หากใช้เนื้อหาในบทความนี้เป็นหลักในการวินิจฉัยโรคดังกล่าว นอกจากนี้ บีบีซียังไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาจากลิงก์ภายนอก และไม่ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงพาณิชย์ใด ๆ ที่มีการแนะนำหรือเอ่ยถึงในหน้าเว็บไซต์นี้ กรุณาขอคำปรึกษาจากแพทย์ทั่วไปประจำตัวของคุณทุกครั้งหากมีความกังวลเรื่องสุขภาพ
ที่มา BBC.co.uk