
สภานายกพิเศษถกมติลงโทษ 3 หมอ คดี'ทักษิณ'ชั้น 14 นัดแรก ‘ธนกฤต'จี้'แพทยสภา'ส่งเอกสารเพิ่ม ชี้ยังขาดขั้นตอนการพิจารณา รอช้าสุด 26 พ.ค.ก่อนสรุปข้อเสนอ-‘สมศักดิ์'ลั่นทันกรอบเวลา 15 วัน
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2568 มีการประชุมคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พิจารณาปมมติแพทยสภาลงโทษแพทย์รักษา ‘ทักษิณ ชินวัตร' ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ซึ่งแต่งตั้งโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พิจารณาก่อนส่งกลับคณะกรรมการแพทยสภาว่าจะเห็นด้วย หรือวีโต้ ภายในระยะเวลา 15 วัน โดยวันนี้คณะกรรมการมาครบทุกท่าน และประชุมบริเวณใกล้ห้องทำงานรมว.สาธารณสุข ที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)
ก่อนการประชุม นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ร่วมประชุม แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา มีผู้รู้ 10 ท่านมาช่วยในการพิจารณา เนื่องจากเอกสารเป็นกองใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้อมูลที่ส่งมาให้ทางคณะกรรมการชุดนี้พิจารณายังไม่ครบ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้ต้องขอข้อมูลประกอบการพิจารณาจากคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งมีกรรมการ 4 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นชุดเริ่มต้นที่รับเรื่องราวร้องเรียนที่ยื่นเรื่องเข้ามาและคณะกรรมการชุดนี้จะมีมติ ส่งให้ชุดที่ 2 คือ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ โดยมีคณะกรรมการทั้งหมด 5 คน คณะกรรมการชุดที่ 3 คือคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งจะทำหน้าที่รับเรื่องจากคณะกรรมการชุดที่ 2 โดยจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน ก่อนจะนำเข้า และชุดที่ 4 คือ คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ที่มีคณะกรรมการ 70 คน ซึ่งกำลังประสานข้อมูลบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุดว่าทำอะไรบ้าง เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องกัน แต่ตอนนี้ข้อมูลที่ขอไปนั้น ยังไม่ครบ ต้องรอเอกสารก่อนเพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะยับยั้ง หรือไม่อย่างไร
ส่วนประเด็นว่าข้อมูลยังไม่ครบ จะประชุมพิจารณาได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ก็อยู่ที่คณะกรรมการฯ เพราะตนเชิญมาเป็นที่ปรึกษา มาช่วยดู ก็ควรให้อิสระกรรมการแต่ละท่าน ยังมีเวลาอยู่ เอกสารมากเหลือเกิน ตนอ่านไม่ไหวหรอก ซึ่งก็ต้องทำภายใน 15 วัน อย่างหนังสือมติแพทยสภามาวันที่ 16 พ.ค. ก็นับไปอีก 15 วันรวมวันเสาร์อาทิตย์ น่าจะประมาณวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งก็ควรต้องพิจารณาแล้วเสร็จวันที่ 28-29 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรี มีการกำชับหรือพูดอะไรหรือไม่เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีพูดเลย เพราะรู้ว่า บอกหรือถามตน ตนคงไม่รู้เรื่องอะไร แต่ก็รู้โครงสร้างการทำงานตามกรอบของตน
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงข้อมูลมาจากคณะกรรมการในการประชุมวันนี้ว่า ยังไม่ครบ ก็รอให้คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พิจารณาก่อน และเราจะใช้มาตรา 25 นี้เป็นหลักในการพิจารณา จะไม่พยายามล่วงรู้อะไรมากเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะหากเราไม่พิจารณาครบถ้วน เดี๋ยวจะมีคนร้องเรียนมาอีก ต้องตอบคนร้องเรียนได้ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะมีเรื่องละเว้นมาตรา 157
ส่วนกรณีที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม สถานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดีระบุว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อาจทำให้เสี่ยงการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ นั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ทุกคนต้องถูกตรวจสอบโดยกฎหมาย คณะกรรมการแพทยสภาทุกชุดก็ต้องระมัดระวัง ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ต้องดำเนินการไม่ให้ขัดต่อกฎหมายในมาตรา 157
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษฯ นัดแรก ได้มีการแถลงให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน
นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
ที่ประชุมได้พิจารณาจากข้อมูลเอกสารประกอบรวมถึงมติของแพทยสภา ซึ่งมีหลายพันหน้า แต่เมื่อพิจารณาแล้วยังมีคำถามอยู่ คณะกรรมการฯ จึงขอให้ นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา ทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติม หากส่งมาเร็วทางกรรมการฯ ก็พร้อมเรียกประชุมภายในสัปดาห์นี้ เพราะบอกทุกคนแล้วว่าอย่าเพิ่งรับงานอื่น แต่หากส่งมาไม่ทันสัปดาห์นี้ ก็มีการกำหนดนัดหมายประชุมกรรมการฯ ครั้งหน้าในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น.ทั้งนี้ เรามีเวลาในการพิจารณาสั้นๆ ก็ขอให้แพทยสภารีบส่งมา เพราะเป็นเอกสารสำคัญ ถ้าท่านส่งเร็ว เราก็เร็ว โดยจะพยายามทำให้เสร็จและสรุปภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้ หรือไม่เกินวันที่ 30 พ.ค.
นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ วันนี้ จะพิจารณาในส่วนของผู้ที่ถูกร้องเรียนทั้ง 4 คน แม้แพทยสภาจะมีมติลงโทษ 3 คน และพิจารณาทำความเป็นเป็นรายบุคคลเพื่อเสนอต่อสภานายกพิเศษเท่านั้น ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร จะวีโต้ หรือไม่วีโต้ หรือจะวีโต้ในประเด็นใดนั้น อยู่ที่สภานายกพิเศษว่าจะตัดสินใจอย่างไร
เมื่อถามว่า เอกสารที่ขอเพิ่มจากแพทยสภานั้น เป็นเอกสารประเภทใด นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า อยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาของแพทยสภา ในส่วนที่ขาด คือในส่วนของการพิจารณาของอนุกรรมการกลั่นกรอง เพราะดูจากเอกสารที่ส่งมานั้น แพทยสภามีความเห็นในแต่ละส่วนในการพิจารณาตั้งแต่การรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่อเลขาธิการแพทยสภา ส่งแพทยสภาพิจารณามีมูล ก็ส่งอนุกรรมการจริยธรรมเห็นว่ามีมูล ส่งเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองเห็นว่ามีมูลส่งให้แพทยสภาเห็นว่ามีมูลก็แต่งตั้งอนุกรรมการสอบสวนฯพิจารณา มีมติเรื่องการลงโทษ ส่งเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภาชุดใหญ่และมีมติลงโทษแพทย์
เมื่อถามว่า เป็นเอกสารชี้ขาดว่าวีโต้ หรือไม่วีโต้ หรือจะวีโต้ในประเด็นไหนหรือไม่ นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า ตอนนี้กรรมการแต่ละคนเป็นอิสระในการแสดงความเห็น จึงยังไม่มีข้อยุติถึงแนวทางการพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะไปทางไหน ยืนยันว่า จะเอาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเป็นตัวตั้ง ถ้าข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายไปกันได้ หรือมีบางส่วนที่ขาดกัน เราก็จำเป็นต้องพิจารณาเห็นต่างกันได้ หรือถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่แพทสภาเสนอมา และข้อกฎหมายรองรับ เราก็เป็นกับแพทสภาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ตรงนี้ยังเป็นความอิสระอยู่
เมื่อถามถึงกรณีสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นกลาง ของคณะกรรมการที่ตั้งโดยสภานายกพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้น มีความเชื่อมโยง ออกมาปกป้อง นายทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการรับโทษตามกฎหมาย นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า ต้องเปิดใจให้กว้างๆ เรื่องนี้เราพิจารณาเรื่องของแพทยสภามีความเห็นลงโทษแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เราพยายามไม่กล่าวถึงเรื่องการเมือง ไม่กล่าวถึงบุคคลภายนอกอื่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนั้นเป็นความเห็นส่วนตัว แล้วท่านจะแสดงความเห็นส่วนตัวอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้ เราเห็นตามแนวทางของเรา คือการพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก
“ตามหลักการพิจารณาใน 10 ท่านทำความเห็น ส่วนจะมีความเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ท่าน แล้วนำความเห็นของเราทั้งหมด ส่งให้สภานายกพิเศษ ท่านจะพิจารณาเอง เพราะในกฎหมายกำหนดให้ตัวท่านเป็นผู้ที่มีความเห็นอย่างไร ไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการนี้เป็นผู้ชี้นำท่า แต่เรามีความเห็นของฝ่ายกฎหมายที่พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเสนอไป ซึ่งท่านจะไปดำเนินการเอง แล้วเราก็ถือว่าหมดหน้าที่” นายกองตรีธนกฤต กล่าว และว่า กรรมการแต่ละคนอาจจะเห็นว่า วีโต้ ไม่วีโต้ หรือจะหนัก จะเบาอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน และยืนยันว่าเราไม่ได้มีธง
เมื่อถามว่า 10 ท่านที่เป็นคณะกรรมการ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย มีความคิดเห็นอย่างไรที่สังคมมองว่า เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อมีเหตุผลในการวีโต้ นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งรู้จักกันวันนี้วันแรก พิจารณาเรื่องข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง แต่ในคณะกรรมการชุดนี้มีหมออยู่ด้วย เพราะบางเรื่องต้องใช้ความเห็นจากการแพทย์
“จะรู้จักใครหรือไม่ นายสมศักดิ์ คงพิจารณาจากคนที่ท่านไว้วางใจในการดูเอกสาร เพราะแต่ละคนทำความเห็นอย่างตรงไปตรงมาให้รัฐมนตรี ตนเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ท่านก็ต้องส่งตนเข้าไปดูแล อย่างน้อยต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบในทุกด้าน ตนมีความจำเป็นต้องดูแลเอกสารต่างๆ หรือข้อกฎหมายให้ชัดเจน ท่านต้องเลือกคนที่ไว้วางใจในการพิจารณา” นายกองตรีธนกฤต กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า กรรมการได้พิจารณาเอกสารของแพทย์ที่มาร้องขอความเป็นธรรมด้วยหรือไม่ นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า เอกสารของแพทย์ที่มาร้องเรียนนั้นตนเป็นเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะบอกว่า รมว.สาธารณสุข ท่านถือหมวกอยู่สองใบ หากเห็นตรงกันก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติม แต่จะเป็นประโยชน์มาเป็นแนวทางพิจารณาต่อไปก็เป็นสิทธิ์ แต่ขณะนี้หนังสือดังกล่าวยังไม่เข้ามที่คณะกรรมการฯ
นายกองตรีธนกฤต กล่าวหลังการแถลงว่า ความเห็นส่วนตัว หากพิจารณาเอกสารทั้งหมดแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 157 ของกรรมการแพทยสภาหรือไม่นั้น ส่วนตัวก็จะให้ความเห็นนเรื่องมาตรา 157 นี้ด้วย ส่วนจะไปดำเนินการอย่างไรต่อกับกรรมการแพทยสภาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษจากมติแพทยสภา
ด้าน นายปิยะวัฒน์ ศิลปะรัศมี ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมีข้อบังคับหรือกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ที่จะต้องให้สภานายกพิเศษพิจารณานั้น ก่อนที่ท่านจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อบังคับของกองกฎหมายว่าเป็นไปตามกระบวนการหรือไม่ และข้อเท็จจริงครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ก่อนเสนอสภานายกพิเศษพิจารณา เป็นการปฏิบัติเหมือนกันทุกสภาสิชาชีพ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน
“เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการพิจารณาการสอบสวน เพราะฉะนั้น ก็ไปดูกระบวนการพิจารณาว่าครบถ้วนทุกกระบวนการหรือไม่ เพราะเป็นคำสั่งทางปกครอง ถ้าดูแล้วบกพร่องส่วนไหน ก็ขอข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นหลักธรรมดาที่ปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะเคสนี้ ข้อเท็จจริงใดที่ยังไม่ครบถ้วนก็ขอแพทยสภาเพิ่มเติม” นายปิยะวัฒน์ กล่าว
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )